แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ กับมาบตาพุด


บทบาทของแพทย์อาชีวเวชศาสตร์

บทบาทแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และกรณีมาบตาพุด

                เนื่องจากกรณีมาบตาพุดนี้เป็นกรณีศึกษาที่สำคัญ ทั้งด้านสาธารณสุข อุตสาหกรรม แรงงาน ภาคสังคม ภาคประชาชน และยังเป็นสนามตรวจสอบจริยธรรมของคนที่มีชื่อว่าเป็นข้าราชการและนักวิชาการต่างๆ อีกหลายคนด้วย แต่ในที่นี้ผมขอพูดถึงแต่กรณีบทบาทของแพทย์อาชีวเวชศาสตร์เท่านั้นครับ

                แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ ที่จบวุฒิบัตร หรือสอบอนุมัติบัตร ไปนั้น ไม่มีการเรียนการสอนเรื่องเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม สิ่งที่แตกต่างกันในเรื่องอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม คือ การประเมินความเสี่ยง และการจัดการความเสี่ยง รูปแบบหรือ model ที่ใช้นั้นต่างกัน ในเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมนั้น ใช้ความเกี่ยวข้องมากกว่าสาเหตุที่แน่ชัด ดังนั้นจะถามว่าบทบาทแพทย์อาชีวเวชศาสตร์มีแค่ใหน ขอตอบว่า competency มีไม่พอครับ จำเป็นต้องมีการปรับหลักสูตร และมีการอบรมเพิ่มด้านเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม ซึ่งสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสี่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เป็นสมาคมทางวิชาชีพซึ่งดูแลเรื่องนี้อยู่ กำลังจะปรับหลักสูตรของแพทย์ประจำบ้านให้ครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อมด้วย แต่จะได้มากน้อยขนาดใด ยังต้องดูอีกครั้งครับ

                ดังนั้นถ้าจะถามบทบาทของแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ ซึ่งในที่นี้จะไม่ขอพูดถึงกลุ่มที่จบการอบรมสองเดือนนะครับ เนื่องจากจะต้องมีการสำรวจว่าขณะนี้ทำอะไรอยู่บ้าง มีการ practice มากน้อยขนาดไหน ซึ่งในอนาคตคงหยุดการอบรม และจะต้องเข้ามาสอบอนุมัติบัตรทุกท่าน แพทย์อาชีวเวชศาสตร์คงเป็นที่คาดหวังของประชาชนมาก เนื่องจากมีการเปิดศูนย์อาชีวเวชศาสตร์ที่จังหวัดระยอง โดยใช้ชื่อศูนย์อาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับกลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ จริงอยู่แพทย์อาชีวเวชศาสตร์บางท่านอาจจะสับสนบ้างว่าเราเป็นสาขาป้องกัน สามารถเปิดโรงพยาบาลใหญ่โตได้เชียวหรือ คงไม่ถึงขนาดนั้นหรอกครับ ศูนย์นี้ศักยภาพเป็นอย่างไรไม่ทราบ แต่แพทย์อาชีวเวชศาสตร์คงไม่สามารถ round ผู้ป่วยได้เหมือนแพทย์อายุรกรรม แพทย์ศัลยกรรม แพทย์ออร์โธปีดิกส์ เนื่องจากเท่าที่มีความร่วมมือ ทางศูนย์ที่มาบตาพุดพยายามทำเรื่องป้องกันเป็นหลัก จริงแล้ว เรื่องนี้สามารถ integrate ไปในงานของโรงพยาบาลระยอง หรือโรงพยาบาลมาบตาพุดเอง ก็ได้ครับ อย่างไรก็ดีเนื่องจากเป็น issue สำคัญ  เกือบจะเป็นวาระแห่งชาติ คงจะต้องมีอะไรให้ครบ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน

                ดังที่ผมเคยเขียนบทความไว้แล้วเรื่องการแก้ไขปัญหามาบตาพุดนี้ ชาวบ้านเดือดร้อน แต่รัฐบาลเดือดร้อนกว่า เคยมีคนถามว่าทำไมผมจึงไม่มีบทบาทในมาบตาพุดบ้าง ขอตอบกว้างๆ ว่าไม่มีการร้องขอ เนื่องจากเป็นหน่วยงานของรัฐ ผมคงไม่สามารถลงไปทำอะไรเองได้  ปัญหาเรื่องโรคจากสิ่งแวดล้อมที่ชาวบ้านกลัว หรือต้องการป้องกันนั้นบอกยากครับ ส่วนใหญ่โรคจากสิ่งแวดล้อม มีมากมาย ถ้าดู end point ด้านสุขภาพจากโรคสิ่งแวดล้อม เอาเฉพาะสารเคมี ก็จะมีโรคมะเร็ง โรคปอด โรคเอสแอลอี โรคหัวใจ โรคปลายประสาทอักเสบ โรคสมองเสื่อม โรคพาร์กินสัน กล่าวโดยสรุป โรคอะไรที่ไม่สามารถหาสาเหตุได้ ถือว่าเกิดจากสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการที่จะหาความเกี่ยวข้องกันให้เป็นหลักฐานนั้นแทบจะหาไม่ได้เลย จะต้องมีการค้นหาโดยวิธีทางระบาดวิทยา ซึ่งมีข้อจำกัดหลายอย่าง ปัญหาในมาบตาพุดนี้ต้องการ คณะทำงานมาจัดการ โดยคณะนี้จะต้องประกอบด้วยคนที่มีอำนาจ  คนที่ตรวจวัดมลพิษเป็น คนที่สามารถลดมลพิษได้ คนที่สามารถสื่อสารความเสี่ยงกับประชาชนได้ เรื่องมาบตาพุดนี้ผมขออยู่เป็นกองหนุน คงไม่ใช่แพทย์ที่เป็นพระเอก

                มีการยื่นพรบ อาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นเรื่องดี เนื่องจากจะได้มีการดูแลวิชาชีพของเรา  เมื่อมีการยื่นพรบ ก็จะต้องมีการตั้งสำนัก แต่สำนักนี้จะเป็นสำนักอะไรก็ไม่ทราบ เนื่องจากเนื้อหาในพรบ ไม่มีการนำเสนอมายังสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม จริงอยู่สมาคมเป็นคนนำเสนอร่างให้กับนายกรัฐมนตรี แต่หลังจากนั้นสมาคมฯ กลับไม่มีบทบาท ร่างฉบับนี้จะต้องนำมาตีแผ่ให้แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ทั่วประเทศได้ดูและวิจารณ์ รวมทั้งเพื่อนร่วมอาชีพคือพยาบาลอาชีวอนามัย เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย นักอาชีวอนามัย พรบ ควรส่งเสริมเรื่องแพทย์ การผลิตแพทย์ competency ของแพทย์ การรับรองแพทย์ การศึกษาหลังปริญญาของแพทย์ และการพัฒนคุณภาพแพทย์ รวมทั้ง career path ที่เป็นที่ต้องการนักหนาของแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และพยาบาลอาชีวอนามัย ผมขอยืนยันการขอมีส่วนร่วมในการปรับปรุงร่างฉบับนี้

                ไม่รู้ว่าตอบคำถามบทบาทแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ไปหรือยัง ถ้ายังผมขอตอบว่า แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ ควรดูแลสุขภาพของพนักงานให้มีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจ โดยทำงานในสถานที่ทำงานที่ปราศจากโรคและอุบัติเหตุ รวมทั้งสามารถธำรงสถานะทางสังคมได้อย่างเหมาะสม ครับสำหรับตอนนี้แพทย์อาชีวเวชศาสตร์จะต้องเข้าไปทำงานในโรงงานในมาบตาพุดเพื่อดูแลสุขภาพของพนักงาน ในเรื่องสิ่งแวดล้อม จะต้องมีความร่วมมือกับ toxicologists และ แพทย์เวชศาสตร์ป้องกัน แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ในการทำงานป้องกัน และแพทย์อายุรกรรม กุมารแพทย์ในงานรักษา ถ้าจะตอบคำถามเรื่องศูนย์ที่ระยอง ผมเห็นเป็นเรื่องดี แต่ขณะนี้มีศูนย์มากมาย ศูนย์ที่คลองเตย ศูนย์ที่แม่เมาะ อยากจะเห็นศูนย์ที่จัดตั้งแล้วตอบสนองแก้ปัญหาได้ครับ ไม่อยากเห็นศูนย์ที่มีคนไปจัดตั้งแล้วคาราคาซัง ไม่สามารถแก้ปัญหาได้

                ผมขอให้ความเห็นแบบตรงไปตรงมาครับ ขอบคุณ

หมายเลขบันทึก: 338287เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2010 23:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 09:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท