ณ เชตวันมหาวิหาร พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสพระธรรมแก่ภิกษุผู้มีความกระสัน ไม่สามารถข่มอารมณ์แห่งความต้องการทางเพศได้ ความว่า
อดีตกาลเนิ่นนานมา มีพระราชาทรงพระนามว่าพรหมทัตต์ ครองราชสมบัติในนครพาราณสี พระพุทธเจ้าบังเกิดในชาตินั้น เป็นลูกของนางนกยูง เมื่อเกิดออกมามีลักษณะที่แปลกแตกต่างจากนกทั่วไป มีขนสีทอง มีลักษณะที่โดดเด่นกว่านกยูงทั้งปวง เมื่อเจริญวัยขึ้น ได้ไปดื่มน้ำในสระแห่งหนึ่งเหลือบมองเห็นเงาของตน จึงคิดว่า เรานี้มีลักษณะที่โดดเด่นกว่าเพื่อนฝูง หากอยู่ในที่นี้พลอยแต่จะนำภัยมาให้ตนและหมู่คณะ จำใจที่เราต้องพรากจากไป เพื่อความปลอดภัยของหมู่คณะ และควรที่จะไปให้ไกลถึงป่าหิมพานต์
เมื่อคิดได้ดังนั้น ก็บินไปอาศัยอยู่ที่ป่านั้น และเข้าไปอาศัยในถ้ำแห่งหนึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาสูงชัน ณ ป่าหิมพานต์นั้น เป็นที่อยู่อาศัยที่มั่นคงปลอดภัย
เมื่อดวงอาทิตย์สุริยาโผล่พ้นท้องฟ้ามา พญานกยูงก็บินไปเกาะที่ภูเขาเพ่งมองแสงสุริยาพร้อมกับการสาธยายมนต์เริ่มต้นว่า อุเทตยัญจักขุมา เอกะราชา เป็นต้น เพื่อป้องกันรักษาตนในเวลากลางวัน เมื่อจะบินกลับเข้าที่อยู่ พญานกยูงทอง ก็ไม่ลืมที่จะบินขึ้นไปจับอยู่บนยอดเขา หันหน้าสู่ทิศตะวันตก แหงนมองดวงอาทิตย์ที่กำลังอัสดงลับขอบฟ้าไป แล้วสาธยายมนต์พระปริตรขึ้นว่า อะเปตะยัญจักขุมาเอกะราชา เป็นต้น เพื่อที่จะป้องกันภัย รักษาตนในเวลาตลอดราตรี
พญานกยูงทำอย่างนี้ตลอดเวลา จนสามารถรักษาตนให้อยู่รอดปลอดภัยตลอดมา
ต่อมามีพรานไพรหลงทางไปสู่ป่าหิมพานต์ ได้พบพญานกยูงเข้า แต่ก็มิได้ทำสิ่งใดเพราะกลัวหาทางออกไม่เจอพะวงกับการหาทางออก เมื่อออกไปได้ก็ไม่ได้บอกเล่าให้ใครฟัง จวบจนจะสิ้นอายุจึงเล่าให้บุตรชายฟัง
ในพระราชวังนั้น พระมเหสีของพระราชาทรงสุบินขึ้นว่า “มีพญานกยูงทองบินมาเกาะที่สระ แล้วได้แสดงธรรมให้ฟัง”
พระเทวีทรงฝันต่อไปว่า เมื่อพญายูงทองนั้น แสดงธรรมจบแล้ว นกยูงทองนั้นก็จะบินกลับ ในฝันนั้นพระนางได้ตะโกนร้องบอกแก่บริวารว่า “ช่วยกันจับนกยูงที ช่วยกันจับนกยูงที” พระนางตะโกนจนกระทั้งตื่นบรรทม นับแต่นั้นมา พระเทวีก็ให้อาลัยปรารถนาจักได้นกยูงทองตัวนั้นมา จึงออกอุบายแสร้งทำเป็นทรงพระประชวร ด้วยอาการแพ้พระครรภ์ แล้วทูลขอพระสวามีว่า การแพ้ท้องครั้งนี้จักหายได้ ก็ด้วยโอกาสที่จะเห็นพญายูงทอง และสดับธรรมที่พญานกยูงทองแสดง
พระราชารับสั่งให้ประชุมพรานทั่วราชอาณาจักร ทรงตรัสถามหาว่าใครเคยเห็นนกยูงทองบ้าง
ขณะนั้นพรานหนุ่ม ผู้ซึ่งเคยได้รับคำบอกเล่าจากบิดาว่า ได้เคยเห็นนกยูงทอง จึงลุกขึ้นกราบบังคมทูลเนื้อความนั้นแก่พระราชา พร้อมทั้งกราบทูลแจ้งที่อยู่ของพญานกยูงทองแก่พระราชาด้วย
พระราชาพรหมทัตต์ จึงทรงมีพระบัญชาว่า ในเมื่อเจ้าพอจะรู้ถึงถิ่นที่อยู่ ของพญายูงทอง เราขอตั้งให้เจ้ามีหน้าที่เป็นพรานหลวง ไปจับนกยูงทองตัวนั้นมาให้เราและพระมเหสี
พรานหนุ่มก็รับพระบัญชา จากพระราชา แล้วออกเดินทางเพื่อไปจับพญานกยูงทอง พอไปถึงป่าหิมพานต์ก็ไม่สามารถจับได้ จึงทนอยู่ในป่านั้นจวบจนดับชีวิตลง เพราะกลัวว่ากลับมาจะถูกพระราชาลงโทษ
ส่วนพระมเหสี เมื่อทนรออยู่นานก็ตรอมพระทัยและตายลงในที่สุด พระราชาจึงทรงสันนิษฐานว่า เหตุนี้เกิดจากพญานกยูงเป็นแน่ และบัดนี้เราก็แก่ชราลงมากแล้ว คงจะไม่มีโอกาสเห็นนายพรานคนใดจับนกยูงทองตัวนั้นได้เป็นแน่
พระองค์จึงได้ผูกเวรกับนกยูง โดยให้สลักข้อความลงแผ่นทองว่า ผู้ใดก็ตามได้กินเนื้อนกยูงทอง จะมีอายุมั่นขวัญยืน ไม่แก่ไม่ตาย แล้วให้เก็บไว้ในพระคลัง
ต่อมาไม่นานพระราชาพรหมทัตต์ ก็ถึงกาลทิวงคตลง แผ่นทองจารึกนั้น ก็ตกถึงมือของยุวกษัตริย์องค์ต่อมา เมื่อทรงรู้ข้อความในแผ่นทองจารึกนั้นก็หลงเชื่อ มีรับสั่งให้พรานป่า ออกไปตามจับพญานกยูงทองมาถวาย และแล้วพรานไพรนั้น ก็ต้องไปตายเสียในป่าอีก เหตุการณ์ได้ดำเนินไปเช่นนี้ จนสิ้นเวลาไป ๖๙๓ ปี พระราชาในราชวงศ์นี้ ก็ทิวงคตไป ๖ พระองค์
แม้ว่าจะสิ้นพรานป่าไป ๖ คน พระราชาทิวงคตไป ๖ พระองค์ ก็ยังไม่มีผู้ใดมีความสามารถจับพญายูงทองโพธิสัตว์ได้ จวบจนถึงรัชสมัยพระราชาองค์ที่ ๗ ผู้ครองกรุงพาราณสี ได้สรรหา คัดเลือกพรานไพร ผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เป็นคนละเอียดรู้จักสังเกต รู้กลอุบายเป็นนายพรานคนที่ ๗ เมื่อได้รับพระบัญชาจากพระราชา ให้ออกไปจับนกยูงทอง ณ ป่าหิมพานต์ นายพรานคนที่ ๗ ก็จัดเตรียมอุปกรณ์พร้อมบ่วงบาศ เพื่อจะไปดักจับพญายูงทองพรานนั้น ใช้เวลาในการดักจับพญายูงทองสิ้นเวลาไป ๗ ปี พญายูงทองก็หาได้ติดบ่วงของนายพรานไม่
นายพรานจึงมาใคร่ครวญดูว่า เอ..ทำไมบ่วงของเราจึงไม่รูดติดข้อเท้าของพญายูงทอง แต่ก็หาคำตอบได้ไม่ พรานนั้น ก็มิได้ละความพยายามเฝ้าสังเกตกิริยา และกิจวัตรประจำวันของพญายูงทอง จึงได้รู้ว่าทุกเช้า และทุกเย็นพญานกยูงทอง จะเจริญมนต์พระปริตร โดยช่วงเช้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออกมองพระอาทิตย์ ตอนเย็นหันหน้าไปทางทิศตะวันตกมองพระอาทิตย์ แล้วสาธยายมนต์
พรานนั้นสังเกตต่อไปว่า ในที่นี้หาได้มีนกยูงตัวอื่นอยู่ไม่ แสดงว่าพญานกยูงนี้ยัง รักษาพรหมจรรย์อยู่ คงด้วยอำนาจของการรักษาพรหมจรรย์ และมนต์พระปริตร ทำให้บ่วงของเราไม่ติดเท้านกยูงทอง
นายพรานเมื่อคิดได้ดังนั้น ก็ไปจับนกยูงมาหนึ่งตัว แล้วทำการฝึกหัดให้รู้จักทำสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น ถ้านายพรานดีดนิ้วมือ นางนกยูงก็จะต้องร้องขึ้น ถ้าปรบมือนางนกยูงก็จะทำการฟ้อนรำขึ้น
เมื่อฝึกสอนนางนกยูง จนชำนาญดีแล้ว พรานนั้นก็พานางนกยูง เดินทางไปยังที่ที่พญานกยูงทองอาศัยอยู่ แล้วทำการวางบ่วงดักเอาไว้ ก่อนที่พญานกยูงทองจะเจริญมนต์พระปริตร พรานได้วางนางนกยูงลงใกล้ ๆ กับที่ดักบ่วง แล้วดีดมือขึ้น นางนกยูงก็ส่งเสียงร้องด้วยสำเนียงอันไพเราะจับใจ จนได้ยินไปถึงหูของพญายูงทองโพธิสัตว์ เมื่อพญานกยูงได้ยินเสียงกิเลสกามที่ระงับด้วยอำนาจของตบะ ก็ได้ฟุ้งซ่านขึ้นในทันที เสียงนางยูงทองนั้นทำให้พญายูงทองโพธิสัตว์ มีจิตกระสัน ฟุ้งซ่าน เร่าร้อนไปด้วยไฟราคะ ไม่มีสติที่จะเจริญมนต์พระปริตรสำหรับป้องกันตนไว้
พญานกยูงทองโพธิสัตว์ จึงได้ออกจากคูหา แล้วโผผินบินไปที่นางนกยูงยืนส่งเสียงร้องในทันที ขณะที่มัวแต่สนใจแต่รูปโฉมของนางนกยูง พลันเท้านั้น ก็เหยียบยืนเข้าไปในบ่วงบาศของพรานที่วางดักไว้ บ่วงใด ๆ ที่มิได้เคยร้อยรัด พระมหาโพธิสัตว์ยูงทอง ตลอดเวลา ๗๐๐ ปีบัดนี้
พญายูงทองโพธิสัตว์ ได้โดนบ่วงทั้ง สองร้อยรัดสิ้นอิสระเสียแล้วบ่วงทั้งสองนั่นก็คือ "บ่วงกาม" "บ่วงบาศ"
เมื่อนั้น พรานไพร ได้คิดว่า “โอ้ บัดนี้ทุกข์ภัยได้บังเกิดต่อพญานกยูงทองโพธิสัตว์เสียแล้ว เพราะเผลอสติแท้ ๆ และนางนกยูงตัวนี้เป็นเหตุ จึงทำให้พญายูงทอง มีจิตอันเร่าร้อนไปด้วยกิเลส จนต้องมาติดบ่วงของเรา การที่เรามาทำสัตว์ผู้มีศีล ให้ลำบากเห็นปานนี้ เป็นการไม่สมควรเลย จำเราจะต้องปล่อยพญานกนี้ไปเสียเถิด แต่ถ้าเราจะเดินเข้าไปปล่อย พญานกยูงทองนั้น ก็จะดิ้นรนจนได้รับความลำบาก เห็นทีเราจะต้องใช้ธนูยิงสายบ่วงนั้นให้ขาด เพื่อพญานกจะได้หลุดจากบ่วง ที่คล้องรัดอยู่”
เมื่อพรานไพรใจเป็นธรรมมีจิตคิดดีอย่างนั้น ก็โก่งธนูขึ้นเพื่อจะยิงที่สายรัดให้ขาดสะบั้นลง เพียงแค่โก่งขึ้นเท่านั้น
พญานกยูงทองเมื่อได้เห็นนึกว่าพรานจะยิงตน จึงร้องวิงวอนขอชีวิตขึ้นว่า หากพ่อพรานจะยิงเราเพราะทรัพย์ ก็ขอให้จับเป็นเถิดนะ และเอาไปถวายพระราชาเถิด คงจะได้รางวัลก้อนงามเลยละ
พรานเมื่อได้ทราบ จึงบอกว่า มิได้ต้องการฆ่าท่านหรอก แต่ต้องการช่วยให้พ้นบ่วงบาศ พญานกยูงทองจึงร้องขอบใจ และได้แสดงธรรมให้พรานฟัง กล่าวถึงโทษของการฆ่าสัตว์
โทษของการขาดสติ และภัยใหญ่หลวงของการจะต้องตกสู่ขุมนรก ว่าเกิดจากความเมาประมาทขาดสติ
เมื่อสิ้นสุดธรรมโอวาท พรานนั้นก็ได้สำเร็จเป็นพระปัจเจกโพธิญาณ ส่วนพญายูงทองก็ได้พ้นจากบ่วงทั้งสอง คือ บ่วงกาม และบ่วงบาศ เมื่อนายพรานเป็นผู้ได้รู้แจ้งธรรมแล้วก็ ไปสถิตอยู่ ณ คูหาบนยอดเขานันทมูลคีรี
โมรปริตร
อุเทตะยัญจักขุมา เอกะราชา หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส
ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะฐะวิปปะภาสัง
ตะยัชชะ คุตตา วิหะเรมุ ทิวะสัง เย พราหมะณา เวทะคุ สัพพะธัมเม
เต เม นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ
นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา
นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา
อิมัง โส ปะริตตัง กัตวา โมโร จะระติ เอสะนา
อะเปตะยัญจักขุมา เอกะราชา หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส
ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะฐะวิปปะภาสัง
ตะยัชชะ คุตตา วิหะเรมุ รัตติง เย พราหมะณา เวทะคุ สัพพะธัมเม
เต เม นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ
นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา
นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา
อิมัง โส ปะริตตัง กัตวา โมโร วาสะมะกัปปะยีติ
สวัสดีท่านอาจารย์ แพรภัทร ครับ
อนุโมทนาสาธุครับ
ที่นำพระประวัติของพระโมรปริตรมาฝากครับ
ก้อ..ขออนุโมทนาบุญกับเว็บดีๆอย่างนี้ด้วยคับ
สมัยนี้หาบุคคลแบบนี้ยากจริงๆ
ผมขอเป็นกำลังจัยหั้ยนะคับ