ปิดสนามหลวง’ แก้ไขปัญหาคนเร่ร่อน คนขายบริการได้จริงหรือ?
สืบเนื่องจากการที่กรุงเทพมหานครมีนโยบายจัดระเบียบเรียบร้อย โดยให้ทำการปิดพื้นที่สนามหลวงในบริเวณสนามหญ้าตั้งแต่เวลา 23.00 – 05.00 น. ของทุกวัน เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2548 ที่ผ่านมา เพื่อแก้ปัญหาการค้าประเวณี ปัญหาอาชญากรรม รวมทั้งปัญหาคนเร่รอน คนจรจัดและผู้ค้าหาบเร่แผงลอย แต่ในอีกมุมหนึ่ง นโยบายการแก้ปัญหาของกรุงเทพมหานครกลับละเลยผลกระทบที่มีต่อคนเล็กคนน้อยที่ใช้พื้นที่สนามหลวงในการทำกิจกรรม จนกระทั่งเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2548 ที่ผ่านมา ทางสมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชน (VACA) กลุ่มเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) และคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้ร่วมกันจัดงานเสวนาเสียงสะท้อนจากคนด้อยโอกาส เรื่อง ‘ปิดสนามหลวง (2) : แก้ไขปัญหาคนเร่ร่อน คนด้อยโอกาส และคนขายบริการได้จริงหรือ?’ เพื่อเป็นเวทีในการรับฟังปัญหาและข้อมูลจากผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายปิดสนามหลวง ซึ่งทางประชาไทได้คัดข้อมูลบางส่วนที่เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์มานำเสนอ
สนามหลวง : ค้าขายกับค้าบริการ“ถ้าเรามีโอกาสทำงานอย่างอื่น เราคงไม่มาขายบริการทางเพศ เมื่อเรามาขายบริการทางเพศที่สนามหลวง ก็แสดงว่าเราไม่สามารถไปขายที่อื่นได้แล้ว” นี่คือเสียงสะท้อนจาก นายธนพงศ์ ผู้เสนอตนเป็นกระบอกเสียงของกลุ่มผู้ค้าบริการทางเพศบริเวณสนามหลวงในวงเสวนา ที่ช่วยเผยให้เห็นความจริงอีกด้านที่สังคมมองข้ามเกี่ยวกับกลุ่มผู้ค้าบริการ นายธนพงศ์ กล่าวต่อไปว่า “บางครั้งเราออกมาจากบ้านโดยไม่มีเงิน ออกมาขายก็หวังจะมีเงินกินข้าว มาเจอฝนตก มาเจอปิดสนามหลวง วันนั้นเราก็ไม่มีเงินกินข้าว เพราะฉะนั้นรัฐควรมองเรื่องปากท้องของคนเหล่านี้ ต้องมองปัญหาให้รอบด้าน” ด้าน ตัวแทนจากกลุ่มเพื่อนพนักงานบริการ หรือ SWING ซึ่งทำหน้าที่ให้ข้อมูลกับกลุ่มผู้ขายบริการทางเพศให้สามารถปกป้องตนเองให้ปลอดภัยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอชไอวี กล่าวถึงผลกระทบหลังจากการประกาศปิดสนามหลวง (ตั้งแต่เวลา 23.00 – 05.00 น.ของทุกวัน) ว่า “จากเดิมที่กลุ่มขายบริการบริเวณสนามหลวงจะอยู่เป็นกลุ่ม ทำให้สะดวกต่อการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และเอชไอวี แต่ปัจจุบันคนกลุ่มนี้ต้องอยู่อย่างกระจายตัว “นอกจากนี้การปิดสนามหลวงในช่วงเวลาห้าทุ่มถึงตีห้า ยังทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ต้องออกมาทำงานเร็วขึ้น ต้องเพิ่มรอบในการทำงาน และเขาจะไม่ยอมรับถุงยางอนามัยที่เราแจก เพราะหากตำรวจตรวจพบก็จะจับและปรับ...บางคนบอกว่าการทำงานรอบแรกเป็นค่าปรับให้ตำรวจ บางครั้งถ้าไม่มีเงินเสียค่าปรับ ตำรวจก็จะยึดมือถือ หรือบางทีก็ใช้ความรุนแรง อย่างอาทิตย์ที่แล้วก็มีน้องที่เขาถูกเจ้าหน้าที่จับแล้วมีอะไรกันเพื่อแลกกับการไม่เสียค่าปรับ” ตัวแทนจากกลุ่ม SWING กล่าว นที อนุกานนท์ นายกสมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชน กล่าวว่า “แต่เดิมคนขายบริการจะถูกจิ๊กโก๋ไถเงินอยู่แล้วทุกวัน แต่หลังจากมีการปิดสนามหลวงตำรวจก็ยิ่งเข้มงวดในการจับและปรับมากขึ้น ทำให้กลุ่มเป้าหมาย (ผู้ค้าบริการทางเพศ) ต้องเพิ่มรอบการทำงาน ซึ่งทำให้ยิ่งเพิ่มความเสี่ยง บางคนบอกกับเราว่า การทำงานรอบต้นเอาไว้เสียค่าปรับให้เจ้าหน้าที่ เขาใช้คำว่าเข้าใจว่าต่างคนต่างทำมาหากิน จนเราต้องอธิบายว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้มีหน้าที่แค่จับและปรับ” ด้าน ศิริวรรณ แซ่หว่อง ในฐานะแม่ค้าที่ได้รับลกระทบจากนโยบายการปิดสนามหลวง กล่าวว่า “ทางเขตเคยให้ไปลงทะเบียนแต่ไม่ได้ผล เพราะเขาส่งเราไปขายที่สนามหลวง 2 แต่มันไม่มีคนเดิน แล้วจะให้เราไปขายให้ใคร เราเคยขายอยู่ที่นี่ตั้งแต่เด็กๆ สิ่งที่เราขอร้องคืออยากให้เจ้าหน้าที่ช่วยเบาๆ การจับหน่อย อย่าตะคอกให้มาก ถ้าเรามีความรู้ เราคงไม่มาเป็นแม่ค้า”
Hate Crime สนามหลวง คนจนเมืองปฐมฤกษ์ เกตุทัต อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในเวทีเสวนาเดียวกันว่า “ประวัติศาสตร์การปิดสนามหลวงที่ผ่านมามักมีนัยยะเบื้องหลัง อย่างการปิดครั้งแรกในสมัยที่คุณสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็เป็นการปิดเพื่อการประชุม APEC เป็นการกวาดล้างคนเหล่านี้ไปเก็บไว้ การปิดสนามหลวงครั้งที่ 2 ก็เพราะรัฐบาลจะมีการจัดงานที่อยู่อาศัยสากล จึงมีการนำคนเหล่านี้ไปเก็บไว้เพื่อเป็นการหลบฝรั่ง ส่วน “ผลกระทบจากการปิดสนามหลวงทั้ง 3 ประเด็นใหญ่ (คนไร้บ้าน ผู้ที่ค้าขายในพื้นที่สนามหลวง และผู้ขายบริการทางเพศ) ต่างมีจุดร่วมกัน คือเป็นประเด็นเรื่องคนจนเมือง เป็นปัญหาในการสร้างวาทกรรมว่า คนพวกนี้ขี้เกียจ เพราะถ้าไม่ขี้เกียจมันไม่จน คนพวกนี้มันเป็นโจร เป็นคนบ้า ถ้าไม่บ้ามันไม่ทำ เป็นการนำความเลวของมนุษยชาติไปห้อยคอคนพวกนี้ เป็นการสร้างภาพประทับใจให้คนรู้สึกกลัว เจ้าหน้าที่เองก็ติดภาพจากวาทกรรมเหล่านั้น ทำให้ประพฤติกับพวกเขาอย่างรุนแรง เป็นการทำให้เขาเป็นอาชญากรทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ทำ เป็นการผลักดันให้เขาออกไปจากสังคม ก่อเกิดอาชญากรรมแห่งความโกรธ ความเกลียด (Hate Crime) อย่างในต่างประเทศก็จะมีการไล่ทุบตีคนเร่ร่อน เพราะรู้สึกว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของสังคม ทั้งที่คนจนเป็นคนเลี้ยงเมือง ไม่อย่างนั้นอาหารจานละ 10 บาทจะมาจากไหน สังคมต้องเข้าใจว่าคนจนมีคุณูปการอย่างไรกับเมือง” อาจารย์ปฐมฤกษ์ กล่าว
ทั้งนี้ ก่อนจบการเสวนา ทางนายกสมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชน นที อนุกานนท์ ได้รับปากว่า ทางสมาคมฯ กับกลุ่ม SWING จะนำข้อมูลที่ได้รับจากวงเสวนาไปปรึกษากับผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลชนะสงครามต่อไป
ไม่มีความเห็น