หลวงพ่อเขียน


หลวงพ่อเขียน

หลวงพ่อเขียน  ธมฺมรกฺขิโต 
ที่มา  :  (โดยสุเทพ  สอนทิม) 

 1.  ประวัติ
     หลวงพ่อเขียนเมื่อเป็นฆราวาส  มีชื่อว่า  เสถียร  จันทร์แสง  เกิดเมื่อวันเสาร์  เดือน  4  ปีขาล  ตรงกับ  พ.ศ.  2399  หลวงพ่อเกิดที่บ้านตลิ่งชัน  ตำบล   ชอนไพร  อำเภอเมือง  จังหวัดเพชรบูรณ์  บ้านอยู่ติดกับวัดทุ่งเรไร  บิดาชื่อทอง  มารดาชื่อปลิด  ภายหลังได้ใช้นามสกุลว่า  จันทร์แสง  หลวงพ่อเขียนมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม  5  คน  เป็นชาย 3 คน  เป็นหญิง 2 คน  ดังนี้

              คนที่  1  ชื่อ  อินทร์ประยุกต์   (ชาย)
              คนที่  2  ชื่อ  ทองใบ            (หญิง)
              คนที่  3  ชื่อ  เสถียร             (ชาย)
              คนที่  4  ชื่อ  แสง                (ชาย)
              คนที่  5  ชื่อ  ระทวย             (หญิง)

       บิดา –  มารดา  ของหลวงพ่อเขียนมีอาชีพหลักคือ  การทำนาและทำไร่  นอกจากอาชีพเหล่านี้แล้วบิดาหลวงพ่อเขียนยังเป็นคนทรงประจำหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านมักเรียกกันว่า  “สมุนเจ้าบ้าน” เมื่อยังเด็ก  หลวงพ่อเขียนเป็นคนที่ว่านอนสอนง่ายและเฉลียวฉลาด เมื่ออายุได้  12  ปี  หลวงพ่อเขียนได้ขออนุญาตบิดา – มารดา  ขอบรรพชาเป็นสามเณร  (พ.ศ.  2411)  อยู่ที่วัดทุ่งเรไร  ในขณะที่บรรพชาเป็นสามเณรนั้น  ได้ศึกษาอักษรสมัยตามควรแก่การ  จากท่านอาจารย์วัด  พออ่านออกเขียนได้  นอกจากนี้ยังได้ศึกษาภาษาขอมควบคู่ไปกับภาษาไทย  อันเนื่องมาจากความขยันเล่าเรียนเขียนอ่าน  อาจารย์ผู้สอนจึงได้เปลี่ยนชื่อจากเสถียร  เป็น  “เขียน”  สามเณรเขียนได้บรรพชาเป็นสามเณรตลอดมาจนกระทั่งอายุใกล้จะอุปสมบทได้  จึงได้ลาสิกขาออกมาเป็นฆราวาส

        ปี  พ.ศ.  2420  นายเขียนอายุ  20  ปีบริบูรณ์  จึงได้อุปสมบท ณ  วัดภูเขาดิน  (บางคนเรียกวัดนี้ว่า  วัดภูกระดึง)  ซึ่งอยู่ใกล้กับปากแม่น้ำป่าสัก อำเภอเมือง  จังหวัดเพชรบูรณ์  ซึ่งมีอาจารย์ประดิษฐ์  เป็นพระอุปัชฌาย์  และมี พระอาจารย์สอน  กับพระอาจารย์ทองมี  เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลังจากหลวงพ่อเขียนอุปสมบทได้  1  พรรษา  บิดา – มารดาได้รบเร้าให้ หลวงพ่อเขียนลาสิกขาจากสมณะเพศ  เพื่อจะได้มาแต่งงานกับผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งอยู่บ้านใกล้กัน  หลวงพ่อเขียนไม่ยอมลาสิกขา  จึงได้ลาโยมบิดา –  มารดาไปเยี่ยมญาติชื่อบุญมา  ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกับท่าน  บุญมาแต่งงานกับนายอินทร์  บุญต้อ  และได้พากันมาอยู่ที่บ้านวังตะกู  อำเภอบางมูลนาก  จังหวัดพิจิตร

         หลวงพ่อเขียนมาเยี่ยมญาติที่วัดวังตะกู  มีกำนันขุนพล  (มาด  สุขขำ)  กำนันตำบลวังตะกู  กับนายอินทร์  บุญต้อ  ได้นิมนต์ให้หลวงพ่อเขียนจำพรรษาอยู่ที่วัดวังตะกู  หลวงพ่อเขียนก็ไม่ขัดนิมนต์  จึงได้จำพรรษาอยู่ที่วัดนี้  1  พรรษาหลังจากนั้นท่านได้ออกจากวัดวังตะกูไปศึกษาปริยัติธรรมอยู่ที่วัดเสาธงทอง  จังหวัดลพบุรี  โดยมีพระอาจารย์ทองเป็นอาจารย์ผู้สอน  เมื่อได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่วัดนี้เป็นเวลานานถึง  8  พรรษา  หลวงพ่อเขียนก็ลาอาจารย์ทองเดินทางเข้ากรุงเทพ ฯ เพื่อไปศึกษาปริยัติธรรมต่อ  และได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดรังสี  ซึ่งมีเจ้าคุณธรรมกิตติเป็นเจ้าอาวาส  หลวงพ่อเขียนได้ศึกษาเล่าเรียนทั้งคันถธุระและวิปัสสนาธุระอยู่วัดรังสีนานถึง  16  พรรษา  พอดีขณะนั้นวัดรังสีจะโอนจากวัดมหานิกายเข้าเป็นวัดธรรมยุตติกนิกาย  หลวงพ่อเขียนและพระอีก  2  องค์  ไม่ยอมโอนจากมหานิกาย  หลวงพ่อเขียนจึงต้องออกจากวัดรังสีตั้งแต่นั้นมา  และได้เดินทางมาจำพรรษาอยู่ที่วัดเสาธงทอง  จังหวัดลพบุรีอีกครั้งหนึ่ง  ขณะนั้นท่านเจ้าคุณสังฆสภาเป็นเจ้าอาวาส  หลวงพ่อเขียนได้จำพรรษาอยู่วัดนี้อีก  9  พรรษา

         ในปี  พ.ศ.  2442  กำนันขุนพล  พร้อมด้วยนายอินทร์  บุญต้อ  ได้พากันเดินทางจากวัดวังตะกู  ไปนิมนต์หลวงพ่อเขียนให้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดวังตะกู หลวงพ่อเขียนก็รับนิมนต์  และได้ออกเดินทางมาพร้อมกับกำนันขุนพลและนายอินทร์  มาจำพรรษาอยู่ที่วัดวังตะกูตั้งแต่นั้นมา  ในปี  พ.ศ.  2459  ซึ่งขณะนั้นหลวงพ่อเขียนยังจำพรรษาอยู่ที่วัดวังตะกู ผู้ใหญ่พลาย  บ้านห้วยเรียงใต้  ได้นำม้าตัวเมียมาถวายหลวงพ่อ  1  ตัว  และนายทอง  บ้านวังอีแร้ง  ได้นำม้าตัวผู้มาถวายอีก  1  ตัว  ในช่วงระยะเวลา  5  ปี  ม้าทั้งสองขยายพันธุ์ออกมาประมาณ  70  ตัว  นับว่าเป็นม้าที่มากฝูงหนึ่ง  ในวัดของหลวงพ่อเขียน  นอกจากจะมีม้าแล้ว  ยังมีลิง  ชะนี  เก้ง  กวาง  วัวแดง  จระเข้    (ขณะนี้จระเข้ตัวที่ชื่อสี  ตายแล้ว  อยู่ที่ศาลาเก้าเหลี่ยม  อำเภอเมืองพิจิตร)  เป็นที่น่าสังเกตว่าวัดนี้มีสัตว์เป็นจำนวนมาก  คล้ายวัดของหลวงพ่อเงิน  วัดบางคลาน

           พ.ศ.  2484  ได้มีอาจารย์วัดรูปหนึ่งชื่อใหญ่  สนิทบุรุษ  มาจากจังหวัดนครราชสีมา  ได้มาขอพักอยู่ที่วัดวังตะกู  ครั้นอยู่มานาน ๆ  เข้า  มีประชาชนนับถือมาก  เลยถือโอกาสตั้งตัวเป็นเจ้าอาวาสเสียเอง  ทั้งนี้เนื่องจากมีทายกบางคนให้ความสนับสนุน  จึงได้รื้อกุฏิปลูกใหม่ให้เข้าแถวเป็นระเบียบ  เป็นการขับไล่    หลวงพ่อเขียนทางอ้อม  เว้นกุฏิหลวงพ่อเขียนไว้ให้อยู่โดดเดี่ยวรูปเดียว  นอกจากนี้ยังได้สร้างเชิงตะกอนเผาศพไว้ด้านตะวันออกใกล้ ๆ  กุฏิหลวงพ่อเขียน  เวลาเผาศพลมจะพัดควันและกลิ่นเข้าหากุฏิหลวงพ่อเขียน  เรื่องนี้หลวงพ่อเขียนได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก  เพราะการเผาศพกว่าจะไหม้หมดต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง ถึงแม้หลวงพ่อเขียนจะได้รับความทุกข์ทรมานอย่างใด  หลวงพ่อเขียนก็ทนอยู่ได้  ไม่ยอมหนีไปไหน  ท่านชอบอยู่อย่างไม่จองเวรจองกรรม  หลวงพ่อเขียนท่านระงับความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นด้วยขันติธรรม  ในขณะนั้นหลวงพ่อเขียนหมดที่พึ่ง  เนื่องจากทายกเก่า ๆ  ตายเกือบหมด

            พ.ศ.  2491  กำนันเถาว์  ทิพย์ประเสริฐ  บ้านสำนักขุนเณร  ขณะนั้นดำรงตำแหน่งกำนันตำบลวังงิ้ว  ซึ่งเป็นผู้มองเห็นการณ์ไกล  กำนันพร้อมคณะทายกจึงได้  พากันมานิมนต์หลวงพ่อเขียนให้ไปจำพรรษาอยู่วัดสำนักขุนเณร  ซึ่งอยู่ห่างจากวัดวังตะกูไปทางตะวันออก  ระยะทางวัดวังตะกูถึงวัดสำนักขุนเณร  ประมาณ 5  กิโลเมตร  และคณะที่ไปนิมนต์ได้รับปากบอกหลวงพ่อเขียนว่า  จะช่วยกันสร้างกุฏิให้เพียงพอกับจำนวนพระภิกษุสงฆ์  ที่จะนำมาพำนักอยู่ที่วัดสำนักขุนเณรอย่างเพียงพอ  นอกจากนั้นจะสร้างคอกม้าให้อย่างกว้างขวาง  หลวงพ่อเขียนได้มองเห็นเจตนาดีและด้วยทนการอ้อนวอนไม่ไหว  หลวงพ่อเขียนจึงรับนิมนต์ไปอยู่วัดสำนักขุนเณร  ถึงแม้ว่าหลวงพ่อเขียนจะไปอยู่สำนักขุนเณรแล้วก็ตามหลวงพ่อเขียนก็ยังเทียวไปมาระหว่างวัดวังตะกูมิได้ขาด

              พ.ศ.  2493  หลวงพ่อเขียนตัดสินใจอย่างเด็ดขาดที่จะจำพรรษาอยู่วัดสำนักขุนเณร  ด้วยความอาลัยอาวรณ์วัดวังตะกู  หลวงพ่อเขียนได้ไปกราบไหว้ต้นไม้ใหญ่ ๆ  ทุกต้น  ในบริเวณวัดวังตะกู  ทั้งนี้  อาจจะเป็นเพราะว่าท่านเคยจำพรรษาอยู่วัดวังตะกูนานถึง  30  พรรษาก็อาจจะเป็นได้ เมื่อหลวงพ่อเขียนไปอยู่วัดสำนักขุนเณรแล้ว  คณะทายกวัดวังตะกูก็พากันไปนิมนต์หลวงพ่อเขียนให้มาจำพรรษาอยู่วัดวังตะกู  หลวงพ่อเขียนก็รับนิมนต์มาอยู่วัดวังตะกูตามเดิม  ครั้นหลวงพ่อเขียนมาอยู่ได้  1  อาทิตย์  หลวงพ่อเขียนก็ขอตัวกลับไปอยู่วัดสำนักขุนเณรอีก  ด้วยความอาลัยรักวัดทั้งสองหลวงพ่อเขียนจึงเทียวไปเทียวมามิได้ขาด

               กาลอวสานแห่งชีวิต 
               หลวงพ่อเขียนมีโรคประจำตัวอยู่  คือ  โรคหืด  ซึ่งเป็นโรคที่ทรมานหลวงพ่อเขียนอย่างมาก  คราใดที่โรคกำเริบ  หลวงพ่อเขียนจะไม่แสดงอาการใด ๆ  ทั้งสิ้น  แต่หลวงพ่อเขียนจะระงับด้วยขันติธรรมอันสูง  หลวงพ่อเขียนฉันภัตตาหารไม่ค่อยได้  เรี่ยวแรงก็หมดไปทุกที  ด้วยความห่วงใยของคณะกรรมการวัดและผู้ที่เคารพนับถือในตัวหลวงพ่อเขียน  จึงได้พาหลวงพ่อเขียนมารักษาที่คลีนิคธรรมพยาบาล  ตลาดบางมูลนาก  เนื่องด้วยความชราและโรคหืดกำเริบ  สุดความสามารถของหมอจะรักษาท่านได้  หลวงพ่อเขียนมรณภาพด้วยอาการสงบ  เมื่อคืนวันที่  21  ธันวาคม  2507  เวลา  23.50  น.  ตรงกับวันแรม  2  ค่ำ  เดือนอ้าย  ปีมะโรง  รวมอายุได้  108  ปี  คณะศิษยานุศิษย์จึงได้นำศพของหลวงพ่อเขียนไปทำแจงที่วัดชัยมงคล 7  วัน 7   คืน  การมรณภาพของหลวงพ่อเขียนนำความเศร้าโศกเสียใจอย่างสุดซึ้งแก่ศิษยานุศิษย์และประชาชนทั่วไป  และได้พากันมาเป็นเจ้าภาพงานศพของหลวงพ่อเขียนมากเป็นประวัติการณ์ หลังจากบำเพ็ญกุศลแก่หลวงพ่อเขียนครบ  7  วัน  7  คืนแล้ว  จึงแห่ศพมาทำแจงต่อที่วัดสำนักขุนเณรอีก  7  วัน  7  คืน  ก่อนมรณภาพหลวงพ่อเขียนสั่งไว้ว่า  ไม่ให้เผาศพท่าน  และให้นำศพท่านบรรจุในอนุสาวรีย์เข้าไว้  ดังนั้น  คณะกรรมการจึงได้จัดการตามสั่งของหลวงพ่อเขียน
         ปัจจุบันศพหลวงพ่อเขียนได้บรรจุไว้  ณ  อนุสาวรีย์  วัดสำนักขุนเณร  ตำบลสำนักขุนเณร  อำเภอดงเจริญ 

   

 อนุสาวรีย์หลวงพ่อเขียน  ธมฺมรกฺขิโต 
ที่มา  :  (โดยสุเทพ  สอนทิม) 

 

 ศพหลวงพ่อเขียนที่บรรจุไว้  ณ  อนุสาวรีย์หลวงพ่อเขียน  ธมฺมรกฺขิโต 
วัดสำนักขุนเณร
ที่มา  :  (โดยสุเทพ  สอนทิม)

1.2   ผลงาน
     หลวงพ่อเขียนนับว่าเป็นพระนักก่อสร้างรูปหนึ่ง  จะสังเกตได้ว่า เมื่อหลวงพ่อเขียนไปอยู่  ณ  วัดใด  จะพยายามสร้างสรรค์วัดนั้นให้เจริญรุ่งเรือง                    

          การก่อสร้างวัดวังตะกู
             เมื่อหลวงพ่อเขียนจำพรรษาอยู่วัดวังตะกู  ได้มีประชาชนในตำบลนั้นและตำบลใกล้เคียงพากันมาทำบุญ  และด้วยความศรัทธาได้นำบุตรหลานมาฝากเป็นลูกศิษย์  เพื่อศึกษาหาความรู้จากหลวงพ่อเขียนเป็นจำนวนมาก  ในขณะนั้นทางบ้านดอนของอำเภอบางมูลนาก  ตำบลวังตะกูได้เปิดโรงเรียนประชาบาลขึ้น โดยอาศัยศาลาวัดวังตะกูเป็นสถานศึกษาเล่าเรียนของบุตร  ธิดา  ในตำบลนั้น ในความอุปการะของหลวงพ่อเขียนเป็นแห่งที่สองรองจากตำบลภูมิ  จะเห็นได้ว่าหลวงพ่อเขียนเป็นผู้สนับสนุนการศึกษาเป็นอย่างดียิ่ง
              นอกจากนี้  หลวงพ่อเขียนได้ร่วมมือกับทายก  ช่วยกันทำการก่อสร้างถาวรวัตถุไว้ให้ปรากฏในพระพุทธศาสนา  คือ 

                      1.  สร้างกุฏิ  4  ห้อง  จำนวน  2  หลัง
                      2.  สร้างกุฏิ  3  ห้อง  จำนวน  2  หลัง  

กุฏิที่วัดวังตะกู
ที่มา  :  (โดยสุเทพ  สอนทิม)

                       3.  สร้างสะพานไม้ถาวรข้ามคลอง  พร้อมกับสร้างศาลารมณ์ที่สะพาน ข้ามคลอง  1  หลัง
                      4.  สร้างหอระฆัง – สร้างระฆัง  3  ลูก
                      5.  สร้างพระสารีบุตร – พระโมคคัลลานะ  พระศรีอาริยะ
                      6.  สร้างพระประธานและเริ่มสร้างอุโบสถ  1  หลัง  สร้างกำแพงแก้วล้อมรอบ  สร้างซุ้มประตูพระอุโบสถ  ก่ออิฐยังไม่ทันจะฉาบปูนก็มีลมพายุพัดอย่างแรง  ทำให้พังลงไปหมด  ปัจจุบันได้รื้อถอนไปหมดแล้ว
                      7.  นอกจากนี้หลวงพ่อเขียนยังได้สร้างโรงเรียนให้เด็กได้ศึกษาเล่าเรียนถึง  1  หลัง

 

 โรงเรียนที่หลวงพ่อเขียนสร้าง  โรงเรียนวังตะกูราษฎร์อุทิศ
ที่มา  :  (โดยสุเทพ  สอนทิม)

                     มีผู้เล่าว่า  ก่อนที่ลมจะพัดพระอุโบสถพัง  หลวงพ่อเขียนได้รับความกระทบกระเทือนใจอย่างแรง  ทั้งนี้เนื่องจากการเก็บรักษาเงินสดของวัดนั้นได้มอบให้ทายกเป็นผู้เก็บรักษาและถือบัญชีการก่อสร้างพระอุโบสถ  ทายกได้นำเงินที่ตนเก็บรักษาเหล่านั้นไปซื้อไร่  ซื้อนา  ปลูกบ้านของตน  เมื่อทางวัดเรียกเอาเงินเพื่อมาชำระการก่อสร้างพระอุโบสถ  ทายกผู้นั้นบอกว่าเงินหมด  บัญชีเรี่ยไรก็สูญหาย  ไม่ยอมนำมาแสดง  หลังจากนั้นพายุก็พัดพระอุโบสถพังหมด  เป็นอันว่าการสร้างพระอุโบสถไม่สำเร็จดังความประสงค์ของหลวงพ่อเขียน

                      การก่อสร้างวัดสำนักขุนเณร

                      หลวงพ่อเขียนพร้อมด้วยกำนันเถาว์  ทิพย์ประเสริฐ  ครูเจริญ  อาจอง  ครูใหญ่โรงเรียนวัดสำนักขุนเณร  และคณะทายก  ตลอดจนพ่อค้าประชาชน ได้ช่วยกันก่อสร้างถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนาขึ้น  ณ  ที่วัดสำนักขุนเณร  ดังนี้

                      1.  สร้างหอสวดมนต์  1  หลัง
                      2.  สร้างหอประชุมสงฆ์
                      3.  สร้างสะพานข้ามคลองเชื่อมวัดกับบ้าน
                      4.  สร้างศาลาหลังใหญ่  กว้าง  12  วา  ยาว  15  วา  สิ้นเงิน  120,000  บาท

 

ศาลาหลังใหญ่  (ปัจจุบันกำลังดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่)
ที่มา  :  (โดยสุเทพ  สอนทิม)

                       5.  สร้างพระอุโบสถ  1  หลัง  สิ้นเงิน  200,000  บาท

 

 พระอุโบสถ  สร้างเมื่อ  พ.ศ.  2505
ที่มา  :  (โดยสุเทพ  สอนทิม)

                      6.  สร้างพิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น  1  หลัง  ลักษณะทรงไทยประยุกต์  ซึ่งสิ่งของทุกชิ้นที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์  ชาวบ้านเป็นผู้บริจาคให้กับทางวัด  เพื่อเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ให้กับเยาวชนรุ่นหลังสืบต่อไป

 

พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น  ลักษณะทรงไทยประยุกต์
ที่มา  :  (ประวัติหลวงพ่อเขียน   ธมฺมรกฺขิโต  วัดสำนักขุนเณร,  ม.ป.ป.)

 

 สิ่งของทุกชิ้นที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์  ชาวบ้านเป็นผู้บริจาคให้กับทางวัด
เพื่อเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ให้กับเยาวชนรุ่นหลังสืบต่อไป
ที่มา  :  (ประวัติหลวงพ่อเขียน   ธมฺมรกฺขิโต  วัดสำนักขุนเณร,  ม.ป.ป.)

                       หลวงพ่อเขียนสร้างโรงเรียน

                      กำนันเถาว์  ทิพย์ประเสริฐ  ได้ยกที่ดินให้  เพื่อทำการก่อสร้างอาคารเรียน  หลวงพ่อเขียนท่านได้มองเห็นความสำคัญของการศึกษาเล่าเรียน  จึงได้มอบเงินจำนวน  150,000  บาท  มอบให้แก่ทางราชการ  เพื่อเป็นเงินสมทบการก่อสร้างอาคารเรียนแห่งนี้  อยู่ในบริเวณวัดสำนักขุนเณร  เมื่อสร้างเสร็จทางราชการจึงได้  ตั้งชื่อโรงเรียนหลังนี้ว่า  โรงเรียนวัดสำนักขุนเณร  (หลวงพ่อเขียนอุทิศ)  เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งคุณความดีของหลวงพ่อเขียน  โรงเรียนหลังนี้เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่  1  ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่  7  (ปัจจุบันเปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่  1  ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่  3  อยู่ทางทิศตะวันออกของวัด)  นับว่าหลวงพ่อเขียนได้ช่วยสนับสนุนการศึกษาของบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า  ควรแก่การสรรเสริญบูชาน้ำใจ  อันเต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณา  ยากยิ่งที่จะหาผู้ใดมาทัดเทียมหลวงพ่อเขียนได้ 

                      หลวงพ่อเขียนกับการเปลี่ยนแปลงของชุมชน

                      เหตุที่พูดว่า  หลวงพ่อเขียนกับการเปลี่ยนแปลงของชุมชนนั้น  ด้วยเหตุผลว่า  บ้านสำนักขุนเณรเป็นชนบทเล็ก ๆ  แห่งหนึ่ง ของท้องที่อำเภอบางมูลนาก  หมู่บ้านนี้อยู่ใกล้กับวัดสำนักขุนเณร  มีห้องแถวขายของเล็ก ๆ  น้อย ๆ  อยู่ 2 – 3  ห้องเท่านั้น  การคมนาคมก็ไม่สะดวก  หลังจากหลวงพ่อเขียนได้มาจำพรรษาอยู่วัดนี้แล้ว  มีประชาชนหลั่งไหลมานมัสการหลวงพ่อเขียนด้วยความเลื่อมใสศรัทธาทุกวัน  วันหนึ่ง ๆ  เป็นจำนวนมาก  บางวันถึงร้อยคนก็มี  ทั้งนี้ก็เพื่อมาให้หลวงพ่อเขียนรดน้ำมนต์ – สะเดาะเคราะห์  ขอเครื่องรางของขลัง  บางคนก็มาให้หลวงพ่อเขียนดูดวงชะตาราศี  มาขอโชคลาภจากหลวงพ่อเขียน  บางคนถึงกับมานอนค้างที่วัดเลยก็มี  หลวงพ่อเขียนต้องสร้างโรงครัวเพื่อเลี้ยงคนเหล่านั้น  โรงครัวของหลวงพ่อเขียนอยู่ได้ก็เพราะมีผู้มีจิตศรัทธาในหลวงพ่อเขียน  นำข้าวสารและอาหารมาเข้าโรงครัวมิได้ขาด

                      ด้วยเหตุที่มีประชาชนมาหาหลวงพ่อเขียนทุกวันนี้เอง  ตลาดห้องแถวที่เดิมมีอยู่  2 – 3  ห้อง  ก็กลายเป็นห้องแถวจำนวนสิบ ๆ  ห้องเกิดขึ้น  มีอาหารและเครื่องดื่มจำหน่าย  บรรดาร้านค้าได้เปิดกันคึกคัก  ความเจริญที่เกิดขึ้นเพราะหลวงพ่อเขียนโดยแท้  อาจจะพูดได้ว่าบารมีของหลวงพ่อเขียนทำให้ชุมชนเจริญก้าวหน้า                              

                3.  เรื่องเล่าอภินิหาร

                      3.1  เรื่องทายกยักยอกเงินก่อสร้างอุโบสถ

                               ปี  พ.ศ.  2471  หลวงพ่อเขียนพร้อมด้วยทายก  ทายิกา  ได้ช่วยกันออกทุนทรัพย์และช่วยกันหาเงินสร้างพระอุโบสถ  กำแพงแก้ว  ซุ้มประตูและเจดีย์  ทายกผู้หนึ่งเป็นผู้รักษาเงินและบัญชีได้ยักยอกเอาเงินก่อสร้างพระอุโบสถไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว  ได้ทำลายหลักฐานบัญชีเดิม  และทำบัญชีปลอมแปลงขึ้นมาใหม่  เมื่อหลวงพ่อเขียนให้นำเงินมาจ่ายเป็นค่าแรงงานก่อสร้างให้แก่นายช่าง  ทายกผู้นั้นปฏิเสธว่าเงินที่ตนเก็บไว้นั้นได้เบิกจ่ายไปหมดบัญชีแล้ว  การก่อสร้างพระอุโบสถจึงได้หยุดชะงักลงทันทีไม่แล้วเสร็จ เมื่อชาวบ้านรู้เรื่องก็พากันมาถามหลวงพ่อเขียน ๆ บอกชาวบ้านว่า  “ใครมันโกงเงินสร้างโบสถ์  ไม่ว่ารายไหนก็รายนั้น  เป็นต้องคลานขี้คลานเยี่ยว  มันจะต้องฉิบหายวายวอด  ในที่สุดมันจะต้องถือกะลาขอทานเขากิน  มันไม่จำเริญสักคนหรอกน่อ” อยู่ต่อมาไม่นาน  ทายกผู้นั้นกับภรรยาตลอดจนลูกชายลูกสาวเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาในคราวเดียวกัน  คันลูกนัยน์ตา  รักษาอย่างไรก็ไม่หาย  ผลที่สุดตาบอดกันหมดทุกคน  หลานของทายกซึ่งเป็นลูกของลูกชายลูกสาวของทายกก็เกิดมาเสียนัยน์ตากันคนละข้าง  ต้องทนทุกข์ทรมานคลานขี้คลานเยี่ยวดังปากหลวงพ่อเขียนว่า  เงินทองที่มีอยู่ก็ได้ใช้รักษาตัวจนหมดสิ้น  ขายไร่ขายนาบ้านช่อง  เพื่อนำเงินมารักษา  รักษาอย่างไรก็ไม่หาย  ต้องสิ้นเนื้อประดาตัว  ลูกหลานต้องจูงไปเที่ยวขอทานเขากิน 

                      3.2  อ้ายเขียวยักษ์กัดหลวงพ่อเขียน

                               เมื่อปี  พ.ศ.  2477  นายทอง  บ้านวังอีแร้ง  ได้นำม้าตัวผู้สีเขียว ชื่ออ้ายเขียวยักษ์  รูปร่างใหญ่  ค่อนข้างดุ  เจ้าของเห็นว่าเป็นอันตรายต่อเด็กเล็ก  จึงได้นำมาถวายหลวงพ่อเขียน  ประมาณสักหนึ่งอาทิตย์ต่อมา  หลวงพ่อเขียนจูงอ้ายเขียวยักษ์ไปกินน้ำที่สระน้ำ  ขณะที่อ้ายเขียวยักษ์เดินนำหน้าหลวงพ่อเขียนมันได้วิ่ง      หวนกลับมาชนหลวงพ่อเขียนและกัดหลวงพ่อเขียนที่หน้าผาก  ไหล่ขวา  และที่หน้าอก  แต่กัดหลวงพ่อเขียนไม่เข้า  มีแต่รอยบุบ  เขียวช้ำ  หลายคนที่อยู่  ณ  ที่นั่น  ได้พากันคว้าไม้ตรงเข้าจะตีอ้ายเขียวยักษ์  หลวงพ่อเขียนได้ห้ามไว้ไม่ให้ตี  พร้อมกับพูดว่า  “อ้ายเขียวมันลองหลวงพ่อน่อ”  วันรุ่งขึ้นหลวงพ่อเขียนได้เสกหญ้า เสกข้าวเปลือกให้มันกิน  แล้วลงอักขระที่เล็บเท้าทั้งสี่ข้าง  ตั้งแต่นั้นมาอ้ายเขียวยักษ์กลายเป็นม้าเชื่องสำหรับหลวงพ่อเขียน 

                      3.3  ม้าหลวงพ่อเขียนถูกยิง

                            อ้ายเขียวยักษ์ได้หลุดเชือกไปกินข้าวในนาของทายกนวม  ทายกนวมโมโหคว้าปืนลูกยิงอ้ายเขียวยักษ์  แต่ไม่ระคายผิวหนังอ้ายเขียวยักษ์เลย  ฝ่ายนางมาภรรยาทายกนวมโมโหได้ไปยืนด่าว่าหลวงพ่อเขียนด้วยถ้อยคำหยาบคาย  หลวงพ่อเขียนจึงบอกว่า  “มึงทำเป็นด่ากูดีไปเถอะ  ระวังปากมึงจะเน่า”  ต่อมานางมาได้เกิดป่วยปากเน่าถึงกับล้มหมอน  นอนเสื่อ  หลวงพ่อเขียนสงสารจึงให้นางขาวภรรยาตาแป๊ะหลี ไปบอกนางมาให้หาดอกไม้ธูปเทียนมาขอขมาหลวงพ่อเขียน  นางมาได้ปฏิบัติตาม  ไม่ช้าก็หายป่วย 

                      3.4  ม้าหลวงพ่อเขียนแบ่งกันเองเป็น  3  ฝูง

                               พ.ศ.  2477  ม้าของหลวงพ่อเขียนมีจำนวนถึง  70  ตัว  ในจำนวนนี้มันได้แบ่งพวกกันเองออกเป็น  3  ฝูง  ฝูงละเกือบจะเท่า ๆ  กัน
                               ฝูงที่  1  มีอ้ายเขียวยักษ์เป็นจ่าฝูง
                               ฝูงที่  2  มีอ้ายสีประดู่เป็นจ่าฝูง
                               ฝูงที่  3  มีอ้ายแสงจันทร์เป็นจ่าฝูง

           ในฤดูร้อน  หน้าแล้งม้าจะถูกปล่อยให้ไปหากิน  โดยหัวหน้าฝูงจะเป็นผู้นำฝูงออกไปหากินในถิ่นไกล ๆ  แต่ละฝูงจะอยู่ห่างกันไม่เกิน  200  เมตร พอเย็นลงมันก็จะทยอยกันกลับมาวัด  เข้าคอกเองโดยไม่ต้องมีคนเลี้ยง  และไล่เข้าคอก

                      3.5  เรื่องที่เกิดขึ้นกับนายอินทร์  บุญต้อ  ผู้เป็นพี่เขย 

                     ม้าไปกินข้าวของนายอินทร์  นายอินทร์โมโหคว้ามีดหวดขว้างไปถูกขาม้าพอดี  อยู่ต่อมาได้  2  วัน  นายอินทร์ไปหวดหญ้าที่รั้วข้างบ้าน  มีดหวดหลุดกระเด็นมาโดนขาตนเองอย่างไม่น่าเชื่อ  ต้องมาให้หลวงพ่อเขียนทำน้ำมันใส่ให้
                    ครั้งที่สอง  ม้าไปกินข้าวของนายอินทร์อีก  นายอินทร์ได้ใช้เหล็กแหลมพุ่งโดนขาหน้าม้า พอตกค่ำลงนายอินทร์นั่งคุยกับญาติที่ระเบียงเรือน  ขณะที่นั่งคุยอยู่งูตัวหนึ่งตกลงมาจากหลังคาได้กัดที่นิ้วก้อยเท้าของนายอินทร์  มีอาการปวด  บวม  แผลเน่าจนกระทั้งนิ้วก้อยหลุด  จึงได้ไปกราบไหว้ขอโทษหลวงพ่อเขียน  จึงหายเป็นปกติ

                      3.6  เรื่องที่เกิดกับนายแสน

                       ม้าของหลวงพ่อเขียนไปกินข้าวโพดของนายแสน  นายแสนคว้ามีด ฟันถูกท้องม้าตัวเมียเป็นบาดแผลฉกรรจ์  ม้าพากันวิ่งกลับวัด  หลวงพ่อเขียนรู้ว่าม้า  ถูกฟันจึงคว้าผ้าสบงลงจากกุฏิเอาผ้าชุบน้ำมันปิดทาบที่แผล  แล้วเอาไปคาดท้องม้า  มัดผ้าทาบน้ำมันไว้จนแน่น  จนกระทั่งแผลหายสนิท  ส่วนนายแสนอยู่ต่อมาไม่นานได้ป่วยเป็นโรคท้องมารไปไหนมาไหนไม่ได้  จึงให้ญาติช่วยหามไปหาหลวงพ่อเขียนและขอขมาหลวงพ่อเขียน  ไม่นานนายแสนก็หายจากโรคท้องมารเป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง

                      3.7  เรื่องที่เกิดกับกำนันอิทธิพลผู้หนึ่ง

                               อ้ายเขียวยักษ์นำฝูงออกหากินได้พบกับเจ้าลอยลมม้าของกำนันตำบลวังตะกูผู้หนึ่งก็เลยกัดกันขึ้น  กำนันโมโหมากคว้าปืนลูกซองยิงอ้ายเขียวยักษ์  แต่เมื่อลั่นปืนออกไปกระสุนปืนกลับถูกเจ้าลอยลมล้มตายในทันทีทำให้กำนันโมโหมาก    ยิงปืนใส่ฝูงม้าหลายนัด  ม้าตายไปทั้งหมด  7  ตัว  ม้าที่เหลือจากถูกยิงตายได้พากันวิ่งกลับวัด  ตัวเมียลูกอ่อนวิ่งไปตายที่หน้ากุฏิหลวงพ่อเขียน  หลวงพ่อเขียนพูดว่า      “ใครมันทำกับพวกมึงอย่างไร  ในสามวันเจ็ดวัน  มันจะต้องโดนอย่างมึงบ้างจนได้น่อ”  หลังจากเกิดเหตุสองสามวันกำนันผู้นั้นไปตรวจฝายที่กั้นน้ำที่บ้านท่าโป่งในคืนวันนั้นเองกำนันได้ถูกคนร้ายรอบยิงถึงแก่ความตาย การตายของกำนันจึงเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์มาก

                      --ต่อ--

หมายเลขบันทึก: 335871เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2010 13:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

รบกวนฝากเว็บไซต์แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวด้วยครับ

www.tamdoo.com

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท