ลัวะเมืองน่าน.....มิติด้านสุขภาพ ตอน ๓


...ภูบ่สูง แต่ว่าห้วยมันลึก
ภูบ่ลึก แต่ว่าเมืองมันไกล
ภูบ่เล็ก แต่ว่าฟ้ามันใหญ่
นกเขาไฟ บินร่ายเริงลม..
เจ้าฟ้อน ไม่อ่อนแต่สวย
ผ้ามวยโพกสวยสุดสม
ผิวคล้ำ ผมดำ ตาตม
เอวกลม ฟ้อนรอบกองไฟ
สูบยา พันด้ายสีแดง
ลงแรง ถางดงพงไพร
ดอกเหงื่อ มันหอมหวลนวลใย
สุขใจ ไร่ข้าวหอมกรุ่น...

 

เสียงเพลง นกเขาไฟ ของศิลปินพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ที่สะท้อนให้เห็นภาพของชีวิตชาวดงดอยเป็นอย่างดี ในช่วงที่คุณพงษ์เทพ ได้เข้าป่าที่เมืองน่าน ก็ได้สัมผัสกับวิถีชนเผ่าต่างๆ ในน่าน รวมถึงชาวลัวะเมืองน่านด้วย

ชาวลัวะแต่เดิมจะช่วยกันลงแรงถางดงไพรเพื่อปลูกข้าวไร่ “ข้าว” ถือว่าเป็นทุนชีวิตสำคัญของชาวลัวะ ขอเพียงมีข้าวพอกิน ชาวลัวะก็อยู่ได้อย่างมีความสุข พอของกินอื่นๆ ก็หาได้จากป่า ล่าสัตว์ ในไร่ข้าวก็มีพืชผักต่างๆ ให้ได้เก็บกิน เช่น แตง ถั่ว ข้าวโพด อีกสารพัด การปลูกข้าวไร่ของชาวลัวะก็จะเป็นการถางไร่ข้าวปลูกหมุนเวียนไปแต่ละพื้นที่ในไร่ คือปลูกในพื้นที่หนึ่งซัก 3-5 ปีพอดินไม่ดี ผลผลิตน้อย ก็หมุนเปลี่ยนไปถางที่ใหม่ และวนกลับมาที่เดิมอย่างนี้เป็นวงรอบไปเรื่อยๆ (คนส่วนใหญ่ใช้คำว่า “ทำไร่เลื่อนลอย” แต่จริงๆ ไม่ได้เลื่อนลอยหากแต่เป็นการหมุนเวียนไปในพื้นที่ของตนเองที่มีอยู่)

วิถีชีวิตวัฒนธรรมประเพณีและความเชื่อของชาวลัวะจึงผูกโยงกับเรื่องข้าวและความเชื่อเรื่องผีค่อนข้างมาก อย่างเช่น ประเพณีพิธีกินดอกแดง เป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการเรียกขวัญข้าวให้กลับมาอยู่ที่ยุ้งข้าว จากนั้นก็จะมีการเซ่นไหว้ โดยที่จะจัดขึ้นหลังจากที่ชาวบ้านเสร็จสิ้นจากการเก็บเกี่ยวผลลลิตเสร็จทุกหลังคาเรือน จากนั้นผู้นำทางจิตวิญญาณหรือ หมอฮีต จะปรึกษาหารือแล้วกำหนดวันจัดพิธีกรรมขึ้น ในพิธีกินดอกแดงจึงมีการกินปีใหม่อย่างสนุกสนาน เป็นงานฉลองที่ชาวลัวะร่วมกันฆ่าไก่ หมู อาจฆ่าควายด้วย ซึ่งหลังจากพิธีทำผีสิ้นสุดแล้ว ก็จะเอามากินเลี้ยงกันอย่างสนุกสนาน ส่วนที่สำคัญคือการเสี่ยงทาย ชาวลัวะจะตำข้าวเม่าเป็นเมล็ด เอามาให้หมอผีเสี่ยงทาย หมอผีจะกำข้าวเม่าเดินหว่านไปทั่ว คนที่อยู่รอบๆจะชิงกันเอามือรับ ใครได้มากก็หมายความว่า ฤดูการผลิตปีต่อไปจะได้ข้าวมาก นอกจากนี้ จะมีการเอาสีต่างๆ ทั้ง สีแดง เขียว ขาว มาป้ายตามเนื้อตัว ป้ายให้กันได้ทั้งหญิงชายเล่นกันได้ไม่ถือสาเฉพาะงานนี้ การฉลองจะดำเนินไปสามวันสามคืน ซึ่งในระหว่างนั้น จะมีข้อห้ามไม้ให้ทำงานหนักใดๆไม่ว่าเก็บผัก หาฟืน ตักน้ำ ตำข้าว

ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ชาวลัวะได้รับการพัฒนาสู่โลกกว้างมากขึ้น มีการไปมาหาสู่กันกับคนพื้นเมืองมากขึ้น บางส่วนก็มีการอพยพไปทำงานในพื้นราบ ในเมือง และต่างจังหวัด ในขณะที่ชาวลัวะที่อยู่ก็ปรับตัวเองอยู่ระหว่างสองยุค คือ ยุคดั้งเดิมแบบทำมาหากินปลูกข้าวหาของป่า และยุคทำมาหากินและขาย คือมีการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวจำพวกข้าวโพดเพื่อสร้างรายได้ ประกอบกับการที่มีประชากรมากขึ้น ทำให้จำเป็นต้องขยายพื้นที่ปลูกข้าวและข้าวโพดออกไป จึงทำให้มีการถางป่ามากขึ้น การปลูกพืชแบบหมุนเวียนในไร่ก็ทำได้ยาก เพราะมีพื้นที่จำกัด จำเป็นต้องปลูกในพื้นที่เดิมซ้ำๆ ทำให้ผลผลิตต่อไร่ที่ได้น้อยลง ต้องพึ่งพาปุ๋ย สารเคมี ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ยิ่งการขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดออกไปมาก การใช้สารเคมีก็มากขึ้น ถากถางพื้นที่ทำไร่ออกไปมากขึ้น ป่าก็น้อยลง

อย่างไรก็ตามข้าวไร่ที่ปลูกได้ บางครัวเรือนก็ไม่พอกิน ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากชาวลัวะไม่นิยมปลูกพืชผักสวนครัวเนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นเขา ในขณะที่เลี้ยงมีไม่กี่ประเภท รวมไปถึงความเชื่อของชาวลัวะที่ห้ามกินสัตว์ต่างๆ มีอยู่มากมาย ทำให้แหล่งอาหารที่มีอยู่ตามธรรมชาติและที่ทำมาหากินนั้นถูกจำกัดไปด้วย ส่งผลโดยตรงต่อภาวะโภชนาการ โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์และเด็กที่พบว่ามีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ค่อนข้างมาก แต่ชาวลัวะเองก็ไม่ได้เห็นว่าเรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาด้านสุขภาพเฉกเช่นกับบุคลากรสาธารณสุขที่เห็นว่านี่เป็นปัญหาสุขภาพระดับพื้นฐานเลยทีเดียว ดังนั้นการที่จะให้ชาวลัวะสนใจเรื่องปัญหาโภชนาการจึงค่อนข้างลำบาก เพราะเรื่องที่สำคัญของเขาคือการมีข้าวพอกิน มีรายได้ที่สามารถเลี้ยงดูตัวเอง ส่งลูกหลานไปเรียนได้

ดังนั้นจังหวัดน่านจึงได้เลือกพื้นที่ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ เป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องใน “โครงการปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ” โดยได้สนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรทำนาข้าวบันไดแทนการปลูกข้าวไร่ ถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีด้านการผลิตพืช และบริหารจัดการกลุ่มการใช้น้ำ การทำนาขั้นบันได ให้แก่กลุ่มชาวลัวะ เพื่อเป็นแกนนำในการขยายการทำนาขั้นบันไดในพื้นที่ของตนเอง โดยเริ่มต้นนำร่องที่บ้านเปียงซ้อ ในพื้นที่ 1,500 ไร่ ซึ่งเชื่อว่าการทำนาขั้นบันไดที่นอกจากจะสามารถลดการชะล้างพังทลายของดิน และกักเก็บน้ำได้แล้วยังจะทำให้ได้ผลผลิตที่สูงกว่าการการปลูกข้าวไร่ สามารถผลิตข้าวกินได้ทั้งปี ไม่ต้องบุกรุกทำไร่เลื่อนลอย ใช้พื้นที่น้อยแต่ได้ข้าวในปริมาณมาก ลดพื้นที่ปลูกข้าวไร่ลง ไม่มีการเผา เป็นโครงการที่ยั่งยืน และเตรียมนำเป็นตัวอย่างแก่พื้นที่อื่นด้วย

อ่างเก็บน้ำสำหรับทำนา

การขุดนาขั้นบันได

ดอยที่เคยเป็นไร่ข้าวโพด ไร่ข้าว ถูกขุดเป็นนา

การพัฒนาด้านแหล่งอาหารและรายได้ให้กับชุมชนก่อน แล้วตามด้วยการพัฒนาสังคมและสุขภาพ ก็อาจเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวลัวะ

อย่างไรก็ตามเนื่องจากการเข้าถึงบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานของชาวลัวะยังเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากสภาพพื้นที่ที่ห่างไกลกัน การคมนาคมลำบาก โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน การมีศูนย์บริการสุขภาพที่ใกล้บ้านจึงเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน ร่วมกับชาวบ้านบวกอุ้ม จึงได้มีแนวคิดในการพัฒนา “ศูนย์สุขภาพภูฟ้า” ขึ้น โดยพัฒนาคนในชุมชนให้มีศักยภาพในการให้บริการสุขภาพขั้นพื้นฐานมาให้บริการกับคนในชุมชน นี่ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการพัฒนาสุขภาพของชาวลัวะ

................................................

บันทึกการเดินทางสะจุก-เปียงซ้อ-บวกอุ้ม วันที่ ๑๔-๑๕ มกราคม ๒๕๕๒

อ้างอิง

http://www.cesd-thai.info/vpicture.php?picID=151&lang=th

 

หมายเลขบันทึก: 335808เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2010 10:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

พอเขียนถึง"ลั้วะ" ผมคิดถึงงานวิจัยชิ้นหนึ่งของคนลั๊วะที่เเม่ฮ่องสอน งานิจัยชิ้นนี้ว่าด้วยความหลากหลายของข้าว - -- ช่วงนำเสนอผลงาน ทำให้ผมอึ้ง ทึ่ง มากเลย ความงดงามผ่านทุนทางสังคมของคนลั๊วะนั้นมากมายเกินกว่าที่เราคิดไว้

ว่ากันว่า บรรพบุรุษของพวกเรา(คนเมืองล้านนาแบบผม) เป็น "ลั๊วะ" ด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท