เพลงหล้อแหง็ง


การแสดงพื้นเมืองภาคใต้ ฝั่งทะเลตะวันตก

 

 

หล้อแหง็ง

ครูสมเกียรติ  คำแหง 

ประวัติ 

                หล้อแหง็ง  รองแง็งตันหยง  เพลงตันหยง ก็ว่า  เป็นการละเล่นพื้นเมืองชนิดหนึ่งของชาวบ้านภาคใต้แถบฝั่งทะเลตะวันตก เช่นจังหวัดตรัง กระบี่ พังงา ภูเก็ต  การละเล่นเช่นนี้นิยมเล่นทั้งในหมู่ชาวไทยพุทธและไทยมุสลิม  มีลักษณะผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมพื้นบ้านภาคใต้กับวัฒนธรรมพื้นบ้านของมลายูอย่างเห็นได้ชัด  นิยมเล่นกันมาแต่โบราณจนกระทั้งปัจจุบัน

ความเป็นมา 

                ยากที่จะระบุได้ชัดว่าหล้อแหง็งเกิดเมื่อใด  จากการสอบถามผู้สูงอายุในอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง  พอสรุปความได้ว่า  การละเล่นชนิดนี้สืบทอดมาอย่างน้อย ๔- ๕ ชั่วอายุคน  คือไม่น้อยกว่า ๒๐๐ ปี  โดยได้รับแบบอย่างมาจาก “รองแง็ง”  ทั้งท่าเต้นและทำนองเพลง  ส่วนการเข้ามานั้นมีความเห็นต่างกันเป็น ๒ กระแสใหญ่

                กระแสแรกว่าเข้ามาทางราชสำนักในบริเวณหัวเมืองมุสลิมภาคใต้ในสมัยก่อน  แล้วภายหลังก็แพร่ไปสู่ประชาชนโดยผ่านการแสดงมะโย่ง

                อีกกระแสหนึ่งกล่าวว่าการเต้นรองแง็งแบบที่นิยมเล่นกันแถบเมืองชายฝั่งทะเลตะวันตกปัจจุบันได้รับมาจากมลายูโดยตรง โดยชาวบ้านหัวแหลม อำเภอเกาะลันตา ซึ่งมีญาติอยู่ที่เมืองปีนังเป็นผู้นำมาแสดงเผยแพร่ ครั้งแรกมีเพียงการร้องและรำเท่านั้น ยังไม่มีดนตรีประกอบ  บทร้องก็เป็นภาษามลายูยากแก่การเข้าใจของคนในท้องถิ่นซึ่งไม่สามารถพูดภาษาดังกล่าวได้ ภายหลังจึงได้มีการปรับเนื้อร้องให้เป็นภาษาไทย พร้อมกับนำเอาเครื่องดนตรีอันมีซอ และรำมะนามาใช้ประกอบ  จึงทำให้การเต้นและการร้องเพิ่มความสนุกสนานยิ่งขึ้น  การละเล่นชนิดนี้จึงแพร่กระจายไปในหมู่บ้านริมฝั่งทะเลตะวันตกอย่างรวดเร็ว และเรียกกันว่า”หล้อแหง็ง” หรือเพลง”ตันหยง” หรือบางแห่งเรียก “รองแง็งตันหยง” แต่ที่นิยมเรียกกันมากคือหล้อแหง็ง  คำนี้น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่ารองแง็ง  ส่วนที่เรียกว่า “เพลงตันหยง” คงเป็นเพราะบทร้องโดยทั่วไปของการละเล่นมักเริ่มต้นว่า “ตันหยง ตันหยง” อันหมายถึงการนำดอกไม้แต่ละชนิดมาขึ้นต้น เปรียบเทียบ หรืออ้างถึง

ข้อสังเกตุ

                รองแง็งที่เข้ามาทางหมู่ชาวบ้านริมฝั่งตะวันตกของภาคใต้มีลักษณะที่ค่อนข้างแตกต่างกับเจ้าของตำรับเดิมคือมลายูเกือบสิ้นเชิง  มีเพียงทำนองและท่าเต้นเท่านั้นที่ยังคงลักษณะคล้ายคลึงกันอยู่บ้าง  โดยเฉพาะบทร้องนั้นเนื่องจากใช้ภาษาไทย จึงทำให้แตกต่างกันออกไปอย่างมาก  ลักษณะกลอนที่ผูกขึ้นร้องโต้ตอบ  ระหว่างนางรำกับชายคู่รำก็มักเป็นกลอนปฏิภาณมากกว่ากลอนท่องจำกันต่อๆมา  ทั้งการละเล่นชนิดนี้ก็ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะคนไทยมุสลิม  แต่ยังเป็นที่นิยมของชาวไทยพุทธในท้องถิ่นแถบนี้อีกด้วย  โดยจะเห็นได้จากมีการรับหล้อแหง็งแสดงในงานบวช งานมงคลของชาวไทยพุทธอยู่เสมอ  และผู้มารำกับนางรำส่วนใหญ่ก็มักเป็นชาวพุทธ

 

ครูสมเกียรติ  คำแหงผู้เขียน

การแสดง

        ๑. ผู้แสดง  นักแสดงชายหญิงแบ่งออกเป็น ๒ ฝ่ายๆละเท่าๆกัน ประมาณ ๔-๕ คนผู้แสดงยืนเป็นแถว ตรงกันข้ามระหว่างชายและหญิง

         ๒. ผู้ชายนำผ้าคล้องคอไปคล้องให้ผู้หญิงที่ที่ตนพอใจ โค้งแล้วเดินก้าวออกมาข้างหน้าเวทีการแสดงหันหน้าเข้หากัน  ผู้ชายเป็นฝ่ายร้องเพลงโต้โดยแสดงท่ารำไปพร้อมกับผู้หญิง

        (ผู้ชายร้อง)              ตันยงตันหยง        ยงไหรละน้องยังดอกเหมฺ

                          พี่ไปกไม่รอดเสียแล้วเน      โถกเหน่น้ำตาปลาดุหยง

                                    คดข้าวสักหวัก       คิดถึงน้องรักบังกินไม่ลง

                          โถกเหน่น้ำตาปลาดุหยง      บังกินไม่ลงสักคำเดียว

        (ผู้หญิงร้องตอบ)        ตันยงตันหยง        ยงไหรละบังยังดอกเหมฺ

                           ตัวบังต้องตายเสียแล้วเน้     ด้วยเหน่น้ำตาปลาดุหยง

                                     อยากสับกับหวัก     คนเขาไม่รักบังอี้ไหลหลง

                           ด้วยเหน่น้ำตาปลาดุหยง     ทำกินไม่ลงของของเมีย

       ๓.ขณะที่คู่รำคู่แรกร้องโต้ตอบ  คู่ที่รอจะแสดงเป็นคู่ต่อไป แสดงท่ารำอยู่กับที่ และร้องรับคำสร้อยของเพลงไปพร้อมๆกัน  เมื่อคู่แรกร้องโต้ตอบจบเพลง  คู่ต่อไปก็ออกมาร้องต่อ

การแต่งกาย

        ผู้ชาย  สวมเสื้อแขนยาวสีขาว  นุ่งกางเกงขายาวสีดำ  สวมผ้าโสรงไว้นอกชายข้างล่างเหนือเข่า  สวมหมวกลอมพอก ผูกหูกระต่าย สวมรองเท้าหนังสีดำถุงเท้าสีขาว

        ผู้หญิง  สวมเสื้อลูกไม้ นุ่งผ้าปาเต๊ะ มีผ้าลูกไม้คล้องคอ

เครื่องดนตรี

        รำมะนา ๑-๒ ใบ  ไวโอลิน (ใช้ซอแทนก็มี)  ฆ้อง

ฉันทลักษณ์เพลงล้อแหง็ง

        หนึ่งเพลง  มี๔ บาท  หนึ่งบาท มี ๒ วรรค  จำนวนคำ วรรคที่ ๑ และ ๔

มีวรรคละ๔คำ  วรรคที่เหลือ ๗-๘ คำ  วรรคที่ ๔และ๗ ซ้ำกัน

วิเคราะห์เพลงดอกย่าหนัด

      (สร้อย)  หน่อย นอย น๊อย น้อย             หน่อย น้อย นอย น้อย หน่อย นอย น้อย

 หนอ่ย นอย น้อย นอย  หน่อย หน่อย นอย    หน่อ นอย น็อย น้อย นอย นอย น้อย 

      (ชาย)             ตั่นยงตันยง                  ยงไหรเวอน้องยังดอกย่าหนัด

                ขอถามสักคำแม่ผมดัด                สุเหร่ากับวัดน้องหนัดไหน

                           คิดให้รอบคอบ              บังเคร่าน้องตอบให้ชื่นใจ

                สุเหร่ากับวัดน้องหนัดไหน           ถ้ารักคนไทยได้กินหมู

      (หญิง)             ตันยงดันยง                  หยงไหรละน้องยังดอกย่าหนัด  

                คำถามของบังน้องฟังชัด              หนัดรักน้องหญิงแชอยู่ไตร

                            น้องคิดรอบคอบ            แล้วน้องจึงตอบอย่างมั่นใจ

                หนัดรักน้องหญิงแชอยู่ไตร           แขบแขบตัดไขเข้าสุเหร่า

๑.คำและความหมาย

ย่าหนัด  หมายถึง สับปะรด  คนพัทลุง เรียก มะลิ  เคร่า หมายถึง รอ เป็นคำไทยโบราณ ถ้า ก็พูด
หนัด หมายถึง ถนัด  ชอบ  ชำนาญ เก่ง  บัง  เป็นคำสรรพนาม หมายถึง พี่ชายที่เป็นมุสลิม
แช  หมายถึง ช้า นาน ไตร หมายถึง ทำไม  แขบ หมายถึง รีบ  อย่าช้า  ไข อวัยวะเพศชาย

๒.คุณค่าของคำ สำนวน ที่เกียวกับวัฒนธรรม

แม่ผมดัด  เป็นค่านิยมในการแต่งกายของผู้หญิงสมัย ๖๐ ปีก่อน ผู้หญิงนิยมดัดผม ให้หยิกเป็นลอน โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีครอบครัวแล้ว (เป็นเรินแล้ว)
กินหมู  หมายถึง งานแต่งงาน  ได้กินหมูคือมีงานแต่ง บางครั้งก็พูดว่ากินเหนียว เฉพาะไทยพุทธจะนำเนื้อหมู่ไปปรุงอาหารเลี้ยงแขกในงานแต่งงาน เพราะประกอบเป็นอาหารได้หลายอย่าง สะดวก และปรุงได้รวดเร็ว แต่ไม่รับประทานเป็นอาหารหลักทุกมื้อเหมือนคนจีน  แต่มุสลิมจะไม่กินหมูตามความเชื่อทางศาสนา
ตัดไข หมายถึงการขริบปลายอวัยวะเพศชาย  เมื่อถึงวัยอันควร (ผู้เขียนก็ไม่ทราบว่าอายุเท่าไร) เป็นการทำสุหนัติ  ที่เรียกว่า มาโซะยาวี (สุหนัติ คือการปฏิบัติตามหลักศานาอิสลาม  เช่นการทำละมาด ถือศิลอด เป็นต้น )
เข้าสุเหรา  เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศานาอิสลาม เช่นทำละมาด สถานที่ดังกล่าว ถ้ามีอาคารมั่นคงถาวร เรียกว่า มัสยิด (แต่ตามเนื้องเพลง สุเหร่าหมายถึงนับถือศาสนาอิสลาม วัด หมายถึงนับถือศาสนาพุทธ)

คุณค่าของเพลง

๑. วัฒนธรรมเป็นสื่อประสานความรัก  ความเข้าใจของคนในสังคม ในโลก แม้ต่างศาสนา ต่างความเชื่อ แต่เราก็เกิดมาร่วมโลก ร่วมเวลา เรานำศิลปการแสดง เพลงมาเป็นสื่อสัมพันธ์ คล้องใจ

๒.  คนเราควรมีความมั่นคง ความเข้าใจในความรักเมื่ออยู่ด้วยกันแล้ว  เพราะก่อนตัดสินใจแต่งงานกัน เรายอมรับตามเหตุผลที่ตนพิจารณาว่าดีแล้วทั้งเรื่อง ญาติพี่น้อง พ่อแม่  ฐานะทางสังคม เชื้อชาติ ประเพณีว้ฒนธรรม และศาสนา 

มือซอจากลิบง (ผมขอยืมมาประกอบนะ)

ผู้ดูแล

 

http://learners.in.th/file/su-nee/nee-9.jpg

เพลงดอกเหมฺ

         (ชาย)     ตันยงตันหยง                         ยงไหรละน้องยังดอกเหมฺ

                พี่ไปไม่รอดเสียแล้วเน้                  โถกเหน่น้ำตาปลาดุหยง

                      คดข้าวสักหวัก                      คิดถึงน้องรักบังกินไม่ลง

                โถกเหน่น้ำตาปลาดุหยง               กินข้าวไม่ลงสักคำเดียว 

                 (หญิง)    ตันยงตันหยง                        ยงไหรละบังยังดอกเหมฺ

                         ตัวบังต้องตายเสียแล้วเน               ด้วยเหนย่น้ำตาปลาดุหยง

                         อยากสับกับหวัก                          คนที่ไม่รักบังอี้ไหลหลง

                         ด้วยเหน่น้ำตาปลาดุหยง                ทำกินไม่ลงของของเมีย

เพลงดอกลอกอ 

                 (ชาย)   ตันยงตันหยง                         ยงไหรละน้องยังดอกลอกอ

                         รักพี่มั่งหม้ายอีไปขอ                   แหลงกับแม่พ่อทอหวันช้าย

                           น้องเกิดเป็นหญิง                     พอเลิกแขวนปิ้งต้องอยู่กับชาย

                         บอกกับแม่พ่อทอหวันช้าย           เคร่าถึงเดือนอ้ายจิไปขอ

                 (หญิง)  ตันยงตันหยง                        ยงไหรละบังยังดอกลอกอ 

                         ถ้ารักน้องจริงก็ต้องรอ                ค่อยมาสู่ขอกันก็ได้

                            พี่ว่าเป็นหญิง                       พอหาหม้ายปิ้งต้องอยู่กับชาย 

                         ค่อยมาสู่ขอกันก้าได้                 น้องเชื่อพี่ชายถ้ารักจริง

           

 

 

หมายเลขบันทึก: 335361เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2010 18:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อธิบายศัพท์ ดอกเหมฺ หมายถึงดอกมังเร

ไหร หมายถึง อะไร ,ไปไม่รอด หมายถึง หมดกำลังใจ ไม่มีที่ไป ,โถกเหนฺ หมายถึง ถูกยาเสน่ห์

ปลาดุหยง หมายถึง ปลาประยูน (ตามความเชื่อนำน้ำตาปลาประยูน มาเสกคาถาอาคม ทำเสน่ห์ให้ผู้หญิงหรือชาย รกตน) ,หวัก คือ จวัก ทับพี , กินข้าวไม่ลง คือ กินข้าวไม่ได้

หล้อแหง็ง

หล้อแหง็งหรือรองแง็งตันหยง หรือเพลงตันหยงเป็นการละเล่นพื้นเมืองที่ชาวบ้านภาคใต้ทั้งชาวไทยพุทธและไทยมุสลิมฝั่งทะเลตะวันตกแถบจังหวัดตรัง กระบี่ พังงา และภูเก็ตนิยมนำมาเล่นกัน

ที่มาขอการละเล่นชนิดนี้ กระแสหนึ่งว่าดัดแปลงมาจากรองแง็งซึ่งมาจากราชสำนักของหัวเมืองมุสลิมภาคใต้แล้วแพร่สู่ชาวบ้านโดยการแสดงมะโย่ง อีกกระแสหนึ่งบอกว่าชาวบ้านหัวแหลม อำเภอเกาะลันตา ไปรับมาจากการแสดงที่เมืองปีนัง โดยครั้งแรกๆมีเพียง การร้องและรำ ไม่มีดนตรีประกอบ บทร้องเป็นภาษามลายู ต่อมามีการปรับเนื้อร้องให้เป็นภาษาไทยพร้อมกับเอาเครื่องดนตรีซึ่งประกอบด้วยซอและรำมะนา มาใช้ประกอบ ทำให้การเต้นและการร้องเพิ่มความสนุกสนาน จึงแพร่กระจายไปในหมู่ชาวบ้านริมฝั่งทะเลตะวันตกอย่างรวดเร็ว

คณะหล้อแหง็งคณะหนึ่งๆ มีนางรำประมาณ 4 - 10 คน จะมีความชำนาญในจังหวะการเต้นแบบต่างๆ พร้อมกันนั้นก็สามารถร้องเนื้อร้องได้ทุกทำนอง ซึ่งบทร้องหล้อแหง็งมี 2 ลักษณะ คือ บทร้องเก่าที่จำสืบต่อกันมา และการร้องสดๆ เพื่อโต้ตอบกับคู่ต่อเต้นในขณะเต้น ส่วนท่าเต้นหรือท่ารำนั้นนางรำและคู่เต้นจะยืนที่เดียว ใช้ท่าเท้า ท่ามือ การโอนอ่อน การโยกตัวและย่อตัวเป็นหลัก เครื่องดนตรีที่ใช้เล่นประกอบจังหวะเพลงหล้อแหง็งที่สำคัญมี 2 ชิ้นคือ รำมะนา 1 - 2 ลูก และซอ 1 - 2 คัน แต่ระยะหลังได้นำไวโอลินมาใช้แทนซอ ก็มี

ส่วนเครื่องแต่งกาย นางรำนิยมแต่งแบบผู้หญิงไทยมุสลิมทั่วไป คือนุ่งผ้าปาเต๊ะ ใส่เสื้อยาวอแขนลีบยาว มีผ้าลูกไม้คล้องคอและมีผ้าเช็ดหน้าถือคนละผืน ส่วนผู้ชายคู่เต้นนั้น ถ้าเป็นการรำโชว์จะแต่งกายแบบชุดพิธีของชาวมลายู คือนุ่งกางเกงขายาว ใช้ผ้าโสร่งพับครึ่งนุ่งทับกางเกงอีกที ใส่เสื้อแขนยาว นิยมใช้สีขาวหรือสีอ่อนๆ สอดชายเสื้อไว้ในกางเกงและสวมหมวกหนีบสีดำ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท