คำเรียก การเรียกใช้คำ - พระมหาเปรียญ พระเปรียญ สามเณรเปรียญ?


โดย ส.ท้ายอาสน์สงฆ์

http://upload.wikimedia.org/wikipedia/th/thumb/9/99/%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%8D%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1_%E0%B9%96_%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%84.jpg/640px-%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%8D%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1_%E0%B9%96_%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%84.jpg

"มหา" ถือเป็นสมณศักดิ์ชนิดหนึ่ง ที่พระมหากษัตริย์พระราชทานแก่พระสงฆ์ผู้ไล่ได้เปรียญธรรม พระสงฆ์ผู้ได้รับพระราชทาน สามารถใช้นามมหานำหน้าชื่อตนได้เสมอ เท่าที่ยังคงในสมณเพศตราบจนมรณภาพหรือลาสิกขาบท

หากผู้นั้นเป็นพระมหา เมื่อลาสิกขาบทและเข้ามาอุปสมบทใหม่ภายหลัง คงให้เรียกเป็นเพียง พระเปรียญ แม้จะเป็นมหามาก่อนก็ตาม คงใช้ ป. ต่อท้ายฉายา เช่น พระสมชาย มหิทฺธิโก ป. (พระสมชาย เปรียญ) ไม่ใช่พระมหาสมชาย เหมือนก่อนลาสิกขาบท

อนึ่ง เกณฑ์ดังกล่าวมา ถือนับโดยการตั้งเปรียญพระราชทานของพระมหากษัตริย์เป็นเกณฑ์กำหนดสำคัญ ด้วยการพระราชทานนั้น เป็นการพระราชทานแก่พระสงฆ์ผู้เป็นเปรียญใหม่ให้เป็นพระมหาเปรียญเฉพาะจบ คราวครองสมณเพศต่อเนื่องไปนั้น เมื่อลาสิกขาบทหรือมรณภาพ จึงถือว่าหลุดจากสมณศักดิ์มหาเปรียญนั้น ด้วยสละซึ่งฐานะอันจะทรงไว้ซึ่งสมณศักดิ์นั้น ๆ แล้ว

พระมหาผู้ลาสิกขาบทนั้น เป็นคฤหัสถ์หรืออนุปสัมบัน ก็ยังสามารถใช้นามเปรียญต่อท้ายนามสกุลได้เสมอ เพราะถือเป็นเครื่องประกอบคุณวุฒิอย่างหนึ่ง แต่ไม่สามารถแก้ไขเพิ่มในทะเบียนราษฎร์ได้

และพระเปรียญผู้อุปสมบทใหม่เช่นนั้น ย่อมกลายเป็นพระมหาได้อีกครั้ง ก็ต่อเมื่อสอบไล่ได้บาลีใหม่ชั้นถัดไป หรือสอบไล่ได้บาลีตั้งแต่ชั้นเปรียญธรรม ๓ ประโยคเป็นต้นไปชั้นใดชั้นหนึ่งแล้ว จึงถือว่าได้รับตั้งเป็นเปรียญใหม่ และมีสิทธิ์ใช้คำนำหน้าชื่อว่าพระมหา เพราะถือว่าได้รับพระราชทานตั้งเป็นเปรียญใหม่แล้ว

สำหรับกรณีเรียกสามเณรเปรียญ. พึงถือกำหนดโดยความดังกล่าวนั้น ที่ใช้เพียง สามเณรเปรียญ ไม่ใช้สามเณรมหา เช่น สามเณรสมชาย สมชัย ป. (สามเณรเปรียญ) ไม่ใช่ สามเณรมหาสมชาย สมชัย

กรณีสามเณรเปรียญนี้ พึงพิจารณาจากพระราชศรัทธาที่มีพระราชประสงค์ยกย่องเชิดชูพระสงฆ์และสามเณร ผู้สอบไล่ได้เปรียญธรรมบาลี สามเณรผู้ได้ตั้งเป็นเปรียญ แม้ลาสิกขาบทไปคราวหนึ่งแล้ว เมื่อมาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ย่อมถือว่าเป็นพระมหาเปรียญโดยอัตโนมัติ เพราะสามเณร ถือว่าได้รับตั้งเป็นเพียงเปรียญ ยังไม่ได้เคยดำรงฐานะในสมณศักดิ์มหาเปรียญ เพียงแต่ได้รับพระราชทานสิทธิ์ที่จะใช้คำเรียกสมณศักดิ์นำหน้าชื่อได้ต่อ เมื่ออุปสมบทในภายหลัง ซึ่งถือได้ว่ายังมิได้เป็นพระมหาสมพระราชประสงค์ที่ทรงพระราชทานพัดยศและเปรียญ อันเป็นสมณศักดิ์ที่จะใช้และนับลำดับในงานพระราชพิธีได้เฉพาะผู้เป็นพระสงฆ์

อย่างไรก็ดี เกณฑ์ข้อนี้ในปัจจุบัน ยังมิได้มีการวินิจฉัยให้ชัดแจ้งลงไปเช่นกรณีของพระมหาลาสิกขาบท แต่โดยทางปฏิบัติทั่วไปทั้งในพระอารามหลวงและวัดราษฏร์ จะเรียกสามเณรผู้ลาสิกขาลงเป็นนาคก่อนเพื่อบวชใหม่ว่าพระมหาทันทีเมื่ออุปสมบทเสร็จ และออกใบสุทธิสงฆ์เป็นพระมหาโดยทั่วไป เพราะเป็นการใช้สิทธิ์ของสามเณรเปรียญอุปสมบทใหม่ในการใช้คำนำหน้าสมณศักดิ์พระมหาตามพระราชประสงค์ที่ทรงพระราชทานตั้งถวายให้แล้วเป็นครั้งแรกนั่นเอง ซึ่งจะต่างจากกรณีพระมหาผู้ลาสิกขา ที่ถือเป็นการสละการได้รับฐานะดำรงสมณศักดิ์พระมหาแล้ว และเมื่ออุปสมบทใหม่จะไม่สามารถใช้คำนำหน้าพระมหาใหม่ได้ จนกว่าจะสอบไล่ได้เพื่อได้รับการตั้งเป็นพระมหาใหม่อีกครั้งหนึ่งดังกล่าวข้างต้น

___________________________________________________

อ้างอิง

สำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคม.  (๒๕๔๕).  มติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๑๕/๒๕๔๕ เรื่อง ขอหารือกรณีพระเปรียญลาสิกขาแล้วอุปสมบทใหม่ในการประชุมมหาเถรสมาคมครั้งที่ ๑๕/๒๕๔๕ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม.  [ออน-ไลน์].  แหล่งที่มา : http://www.mahathera.org/uploaded_pdf/CCF02982551_00231.pdf

หมายเลขบันทึก: 335188เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2010 04:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

พระสงฆ์ที่ไม่ใช่ชาวไทย

เมื่อเข้ามาบวชญัติในธรรมยุตินิกาย

มีการศึกษาจบปริญญาเอก และเชี่ยวภาษาบาลีปริญญาโท

จะเรียกว่า พระมหา ดร.....หรือเปล่าคะ

พระมหา เป็นสมณฐานันดรชนิดหนึ่ง ดุจเดียวกับราชทินนาม

ซึ่งก็จะได้รับก็ต่อเมื่อ

"ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์"

กฎเกณฑ์ที่จะได้รับคือ ->เป็นพระสงฆ์หรือสามเณร-ในสังกัดคณะสงฆ์เถรวาท (ธรรมยุติหรือมหานิกาย)-สอบไล่ได้ชั้นเปรียญตรีขึ้นไปในสนามหลวงแผนกบาลี

ถ้าจบดร.หรือจบปริญญาทางสาขาบาลี มีความเชี่ยวชาญ ก็ยังไม่เรียกว่าพระมหาได้

เพราะไม่ได้สอบไล่ตามลำดับชั้นป.ธ.๓ (เปรียญตรี) แผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทยได้

คำว่า มหา ที่พระราชาทรงพระราชทานย่อมาจากคำว่า อะไร ชื่อเต็มๆขอพระมหาคืออะไร ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท