SWIT
สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ .

๔ >> สิทธิในเสรีภาพการเดินทางของคนไร้สัญชาติ -- แรงเหวี่ยงของเครื่องบินกระดาษพับ


สรุปสถานการณ์ด้านสถานะบุคคลและสิทธิของคนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติประจำปี ๒๕๕๒

ด้านสิทธิขั้นพื้นฐาน

๔ >> สิทธิในเสรีภาพการเดินทางของคนไร้สัญชาติ -- แรงเหวี่ยงของเครื่องบินกระดาษพับ

ที่ผ่านมา แม้จะไม่มีข้อกำหนดเฉพาะเกี่ยวกับการเดินทางออกนอกประเทศไทยของคนไร้สัญชาติ แต่ในทางปฏิบัติแล้วคนไร้สัญชาติหลายคนก็เดินทางออกนอกประเทศไทยและกลับเข้ามาในประเทศไทยได้ กรณีที่คนในสังคมไทยพอจะจดจำได้เห็นจะเป็นกรณีของอาจารย์อายุ นามเทพ อาจารย์สอนดนตรีคลาสสิคแห่งมหาวิทยาลัยพายัพที่เดินทางไปแสดงดนตรีและเข้าร่วมการแข่งขันในเวทีระหว่างประเทศหลายครั้ง (ไปจีนปี ๒๕๔๙, กรุงเวียนนา ปี ๒๕๕๑ และเกาหลี ปี ๒๕๕๒) การปฏิเสธไม่ให้เด็กชายหม่อง ทองดีเดินทางไปแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับที่ประเทศญี่ปุ่น จึงเป็นเรื่องที่สร้างความประหลาดใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุผล(โดยวาจา) ที่ว่า “ทางกระทรวงมหาดไทยอาจจะไม่อนุญาตให้เด็กชายหม่อง ทองดี เดินทางออกนอกประเทศ เพราะเป็นภัยต่อความมั่นคง”[1]

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแง่ของสิทธิในเสรีภาพที่จะเดินทางแล้ว เป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ได้รับความคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ ที่คุ้มครองแก่บุคคลทุกคนโดยเสมอภาค โดยจะถูกเลือกปฏิบัติไม่ได้ อีกทั้งจะถูกจำกัดมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยบทบัญญัติของกฎหมาย (มาตรา ๓, ๔, ๕,๖ และ ๓๐ แห่งรัฐธรรมนูญฯ) นอกจากนี้ ด้วยสถานะบุคคลของเด็กชายหม่องซึ่งเป็นคนไร้สัญชาติในทะเบียนราษฎรไทย ย่อมมีสิทธิอาศัยตามมาตรา ๑๗ แห่งพ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ดังนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ย่อมมีอำนาจในการอนุญาตให้เด็กชายหม่องเดินทางออกนอกประเทศและกลับเข้ามาได้

คณะอนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ โดยการสนับสนุนทางวิชาการจาก SWIT นักวิชาการด้านกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลได้ร่างคำฟ้องรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ต่อศาลปกครองขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยปฏิบัติหน้าที่ในการอนุญาตให้เด็กชายหม่อง สามารถเดินทางออกนอกประเทศและกลับเข้ามาในประเทศได้ ประกอบกับการประสานการทำงานจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาควิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน ไปยังนักการเมือง ข้าราชการประจำ ทำให้เด็กชายหม่อง ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศในวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๒ สภาทนายความจึงขอถอนฟ้องคดีดังกล่าว

วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๒ กระทรวงมหาดไทย ได้ออกประกาศเรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับและกำหนดเขตพื้นที่ควบคุม  เพื่อกำหนดขั้นตอนกระบวนการการเดินทางออกนอกพื้นที่ (นอกเขตอำเภอ จังหวัดรวมถึงออกนอกประเทศ) ของคนไร้สัญชาติ ประกาศฉบับนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นกฎหมายลำดับรองที่ช่วยสร้างความชัดเจนในสิทธิเสรีภาพในการเดินทางของคนไร้สัญชาติให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ เป็นไปได้ว่ากระทรวงมหาดไทยอาจมีแนวทางที่จะดำเนินการอยู่แล้ว แต่กรณีของเด็กชายหม่อง ทองดี ก็ทำช่วยทำให้แนวปฏิบัตินี้ถูกประกาศใช้รวดเร็วขึ้น

 


[1] บันทึกรายละเอียดการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่เด็กชายหม่อง ทองดี โดยอัจฉรา สุทธิสุนทรินทร์, โครงการบางกอกคลินิคเพื่อให้คำปรึกษากฎหมายด้านสถานะและสิทธิบุคคล ภายใต้กองทุนศาสตราจารย์คนึง ฦาไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๒

หมายเลขบันทึก: 334838เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2010 18:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท