SWIT
สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ .

๓ >>ความไม่โปร่งใสในกระบวนการพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติ ๓ สัญชาติ -- คำถามระหว่างทางการจัดการประชากร (ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ) ข้ามพรมแดน


สรุปสถานการณ์ด้านสถานะบุคคลและสิทธิของคนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติประจำปี ๒๕๕๒

ด้านสถานะบุคคล 

๓  >>ความไม่โปร่งใสในกระบวนการพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติ ๓ สัญชาติ -- คำถามระหว่างทางการจัดการประชากร (ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ) ข้ามพรมแดน

 

การพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติ ๓ สัญชาติ (พม่า ลาวและกัมพูชา) กลายเป็นประเด็นที่ตั้งคำถามต่อระบบและแนวทางการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ รวมถึงความจริงใจของรัฐบาลต่อการแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติ ประเด็นความไม่โปร่งใส การคอรัปชันต่อการผุดขึ้นของ “บริษัทนายหน้า” ด้วยข้อกล่าวอ้างที่ว่า-เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับแรงงานในกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ กลายเป็นคำถามที่ยังคงปราศจากคำตอบจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง

การต่อสู้ขององค์กรพัฒนาเอกชนและภาควิชาการเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยยอมรับการมีอยู่จริงและความสำคัญของแรงงานข้ามชาติ เพื่อพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบและเป็นธรรม โดยเคารพต่อสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของแรงงานข้ามชาติดำเนินมาอย่างยาวนาน นับจากปี ๒๕๓๕ ที่ประเทศไทยดำเนินนโยบายเปิดให้แรงงานข้ามชาติ ๓ สัญชาติ(ลาว พม่าและกัมพูชา) ซึ่งเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายสามารถมีสิทธิอาศัยชั่วคราวและมีสิทธิทำงานได้ชั่วคราว (มติคณะรัฐมนตรี โดยอำนาจตามมาตรา ๑๗ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒) ต่อมาปี ๒๕๔๗ โดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๔๗ ประเทศไทยมุ่งปรับเปลี่ยนสถานะบุคคลของแรงงานข้ามชาติเข้าเมืองผิดกฎหมาย ให้เป็นคนเข้าเมืองโดยถูกกฎหมาย โดยกำหนดให้กรมการปกครองจัดทำทะเบียนราษฎรและกำหนดเลขประจำตัว ๑๓ หลักให้แก่แรงงาน โดยแรงงานจะได้รับเอกสารแสดงตนว่ามีสถานะเป็นราษฎรของประเทศไทย คือ ท.ร.๓๘/๑ และการขออนุญาตทำงานกับกระทรวงแรงงาน พร้อมๆ กับดำเนินขั้นตอนเจรจากับประเทศคู่ภาคีคือลาว พม่าและกัมพูชา ผ่านบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างแรงงาน โดยกำหนดให้มีกระบวนการพิสูจน์สัญชาติกับประเทศต้นทาง

ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ที่ภาคส่วนต่างๆ พยายามเสนอแนวคิดแนวทางในการแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่ปรากฏตัวในประเทศไทย การทำให้แรงงานผิดกฎหมายกลายเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย (Legalization) ที่เกิดขึ้นภายใต้นโยบายการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในปี ๒๕๔๗ อาจเป็นไปด้วยเหตุผลความมั่นคง หากมองด้วยสายตาของฝ่ายความมั่นคง แต่สำหรับแนวคิดเรื่องการจัดการประชากรแล้ว ไม่เกินเลยไปเลยที่จะกล่าวว่า มันยังหมายถึงอีกความพยายามของการจัดการประชากรไร้รัฐไร้สัญชาติ กลุ่มที่เป็นคนข้ามพรมแดนเข้ามาในประเทศไทย อีกด้วย

ด้วยเพราะคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่ปรากฏตัวในประเทศไทย อาจหมายถึงทั้งคนไทยที่ตกหล่นจากทะเบียนราษฎร และคนลาว พม่าและกัมพูชาที่ตกหล่นจากทะเบียนราษฎรของประเทศลาว พม่าและกัมพูชา การแก้ปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่ปรากฏตัวในประเทศไทยนั้น ย่อมมิได้หมายถึงการยอมรับเอาคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติมาเป็น “ผู้มีสัญชาติไทย” หากแต่สามารถดำเนินการได้ด้วยการพัฒนาสถานะบุคคลของคนไร้รัฐไร้สัญชาติเหล่านี้ ภายใต้หลักกฎหมายต่างๆ

 

ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ดำเนินการไปแล้ว คือการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติ กำหนดเลขประจำตัว ๑๓ หลักและบันทึกคนกลุ่มนี้ในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรของประเทศไทย (เป็นไปตามยุทธศาสตร์จัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ภายใต้มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๘, พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ฉบับที่ ๒ พ.ศ.๒๕๕๑) คนกลุ่มนี้จึงไม่มีสถานะเป็นคนไร้รัฐอีกต่อไป คงเหลือเพียงสถานะคนไร้สัญชาติ

การพัฒนาให้คนๆ หนึ่งมีสัญชาติใดๆ สัญชาติหนึ่ง เริ่มจากการสำรวจตรวจสอบถึงจุดเกาะเกี่ยว (genuine link) ของแต่ละคนกับประเทศที่“อาจ”เป็นประเทศเจ้าของตัวบุคคลเหล่านี้ (Personal State) โดยพิจารณาถึงสถานที่เกิด (จุดเกาะเกี่ยวกับประเทศ โดยการเกิด) อาศัยอยู่หรือมีภูมิลำเนาที่ไหน (จุดเกาะเกี่ยวโดยหลักภูมิลำเนา) มีครอบครัวอยู่ที่ไหน (จุดเกาะเกี่ยวภายหลังการเกิด โดยการมีครอบครัว) ฯลฯ และการเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ว่าตนเป็นคนของประเทศไทย พม่า ลาว หรือกัมพูชาจริงหรือไม่

แน่นอนว่า ในทางปฏิบัติแล้ว อาจมีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่อาจเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ได้ ด้วยเหตุแห่งความหวาดกลัวหรืออาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่อชีวิต หรืออาจไม่ผ่านกระบวนการพิสูจน์ ด้วยพยานหลักฐานที่มีนั้นเบาบาง ไม่เพียงพอ คนกลุ่มนี้จะยังคงอยู่ในสถานะคนไร้สัญชาติต่อไป และภายใต้ยุทธศาสตร์ฯ คนกลุ่มนี้คือ คนกลุ่มที่ ๖ (กลุ่มอื่นๆ)ที่จะต้องมีการพัฒนาข้อเสนอแนะเพื่อการดำเนินการต่อไป

คำถามและการตรวจสอบถึงความไม่โปร่งใสของกระบวนการพิสูจน์สัญชาติข้างต้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นคำถามระหว่างทางของการจัดการประชากร (ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ) ข้ามพรมแดน และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องตอบ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อหลักการหรือภาพรวมของการแก้ไขความไร้รัฐไร้สัญชาติของกลุ่มประชากรข้ามพรมแดน

หมายเลขบันทึก: 334836เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2010 18:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 12:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท