จากผู้ป่วยระยะสุดท้าย…สู่การดูแลด้วยหัวใจ ตอนที่ 3


เพื่อการแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืน โรงพยาบาลเลือกวิธีการนำธรรมะมาพัฒนาจิตวิญญาณ มุ่งหวังให้เกิดการมีชีวิตที่ดี (Good Life) สามารถนำหลักธรรมะมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ทั้งในหมู่เจ้าหน้าที่ ผู้ป่วย ญาติและประชาชน
     “ตอนแรกเราคิดจะเริ่มทำเฉพาะในหน่วยงานนำร่องก่อนและขออาสาสมัครที่มีใจจริงๆ แต่ทางผู้บริหารเห็นว่าไหนๆ ทำแล้วก็ให้ทุกหอผู้ป่วยส่งตัวแทน 1-2 คน มาเรียนรู้และนำไปปฏิบัติด้วยเลย”
 
     “พี่จิน” เล่าถึงปัญหาและอุปสรรคในการทำงานในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของเธอ
 
     “เมื่อทำไประยะหนึ่ง ก็พบว่ามีหน่วยงานที่ทำได้ดีเพียงไม่กี่หน่วย เราจึงมาประชุม หาปัญหาและอุปสรรคในการทำงานโดยให้คนที่ได้ทดลองปฏิบัติมาพูดคุยให้อาสาสมัครคนอื่นฟังทุกเดือน พบว่า พยาบาลยังขาดความเข้มแข็งทางจิตวิญญาณ บางคนทำไปแล้วเกิดความไม่แน่ใจว่าจะช่วยผู้ป่วยไปสู่สุขคติได้จริง กลัวว่าจะเป็นบ่วงกรรมผูกพันต่อกัน จึงทำให้ไม่กล้าให้การช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้าย”
 
      เพื่อการแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืน โรงพยาบาลเลือกวิธีการนำธรรมะมาพัฒนาจิตวิญญาณ มุ่งหวังให้เกิดการมีชีวิตที่ดี (Good Life) สามารถนำหลักธรรมะมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ทั้งในหมู่เจ้าหน้าที่ ผู้ป่วย ญาติและประชาชน
 
      ชมรมจริยธรรมจึงถูกก่อตั้งขึ้นและช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการนำธรรมะสู่คนทำให้การปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาในโรงพยาบาลแห่งนี้กลายเป็นเรื่องปกติที่อาจพบเห็นได้ทั่วไปเกือบทุกเวลา
         

       “เราจะคิดดี ทำดี พูดดี เพื่อสุขภาพที่ดีของพวกเราทุกคน”

 
      นี่เป็นเสียงกล่าวปฏิญาณตนของบรรดาเจ้าหน้าที่ก่อนการปฏิบัติงานทุกวัน หลังจากนั่งสมาธิ แผ่เมตตาแล้ว ในช่วงเวลา 08.00 น. และช่วงบ่ายเวลาประมาณ 13.30 น ที่มีการเชิญชวนผู้ป่วยและญาติเข้าร่วมกิจกรรมดีๆ นี้ด้วย ภายใต้โครงการพัฒนาจิตและ Smile OPD ที่สนับสนุนให้นำกิจกรรมนั่งสมาธิ แผ่เมตตา ปฏิญาณตนมาปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง 
 
     โครงการสมาธิบำบัดในระบบสุขภาพ มีแนวคิดในการนำธรรมะ ได้แก่ ทาน ศีล ภาวนา ไปสู่คน โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ เจ้าหน้าที่ ผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย รวมทั้งประชาชนในชุมชน
 
      จึงเกิดการจัดธรรมบรรยายในโรงพยาบาล โดยนิมนต์พระเถระที่มีชื่อเสียงมาเทศนาธรรมและเชื้อเชิญให้ผู้ป่วยและญาติ ประชาชนทั่วไปรวมทั้งเจ้าหน้าที่ได้มีโอกาสเข้ามาร่วมฟังธรรม ทำบุญทอดผ้าป่าสามัคคีร่วมกัน
 
      ณ ลานกว้างกลางตึกอุบัติเหตุ ชั้น 5 ซึ่งปกติ ใช้เป็นที่พักญาติ แต่ในทุกเย็นวันพุธ เวลาประมาณ 18.30 น. ลานแห่งนี้ได้ถูกดัดแปลงให้กลายเป็นลานธรรม เหล่าพระสงฆ์และแม่ชีจากวัดปราสาททอง จะมานำสวดมนต์ทำวัดเย็น นั่งสมาธิ ฟังธรรมและในบางครั้งก็มีการถวายสังฆทานด้วย
 
      ดวงตะวันกำลังจะลับขอบฟ้าแล้ว บริเวณลานโล่งหน้าอาคารชั้นเดียวที่สร้างจากไม้เชอร่าสีขาว หลังคาสีฟ้า มีรั้วไม้สีน้ำตาล เมื่อต้องแสงแดดอ่อนยามเย็น มองผิวเผินช่างดูอบอุ่น สวยงามจนอาจเผลอนึกไปได้ว่ากำลังอยู่ในบ้านพักตากอากาศ ณ สถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง
   
      หากไม่มีป้ายระบุชื่ออาคารหลังนี้ว่า “ห้องปลายฟ้า” สถานที่เก็บศพของโรงพยาบาล
 
      ในเวลาโผล้เพล้ ผู้คนในโรงพยาบาลมักหลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางนี้ แต่วันนี้แตกต่างจากทุกวันที่ผ่านมา
 
       “พี่จิน” ได้เชิญชวนผู้มีจิตศรัทธามาร่วมกันรับเป็นเจ้าภาพศพไร้ญาติ ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่เสียชีวิตในโรงพยาบาล พระสงฆ์ 4 รูป นั่งสวดมนต์อยู่ภายในอาคาร หน้าโลงศพที่ทุกคนร่วมใจกันซื้อบริจาคให้ผู้วายชนม์
 
      ผู้คนในชุดดำมาจากหลากหลายอาชีพ ทั้งเจ้าหน้าที่ ญาติผู้ป่วยอื่นและบรรดาพ่อค้าแม่ค้า ต่างรวมใจกันมาร่วมพิธีนั่งสมาธิส่งบุญ สวดอภิธรรมศพ ทอดผ้าป่า เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้เสียชีวิตที่ไม่ใช่ญาตินั้นด้วยความเมตตา 
    
      บริเวณพื้นหน้าอาคารเก็บศพถูกดัดแปลงให้เป็นศาสนพิธี โดยมีเพียงผ้าพลาสติกสีฟ้าปูรองที่พื้นสำหรับกันเปื้อน ทุกคนอยู่ร่วมงานจนเสร็จพิธีก่อนที่จะมีการเคลื่อนย้ายศพไปฝังในโอกาสต่อไป
 
     ในอดีตศาสนกิจที่ชาวโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราชมักทำร่วมกับวัดปราสาททองซึ่งเป็นวัดที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลเป็นประจำ คือ งานฌาปนกิจศพที่จัดขึ้นภายในวัด
   
      แต่ในปัจจุบันนี้บทบาทของวัดกับโรงพยาบาลเปลี่ยนไป วัดได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการนำธรรมะเข้ามาเยียวยาผู้คนที่กำลังทุกข์ยากในโรงพยาบาล ที่ไม่ได้หมายถึงเพียงผู้ป่วยและญาติเท่านั้น หากแต่หมายรวมถึงบรรดาเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลด้วย
 
      เสียงดนตรีดังกังวานแว่วขึ้นจากเสียงตามสายของโรงพยาบาล ในเวลา 20.00 น. ก่อนที่จะมีเสียงพูดอย่างนิ่มนวลตามมา  
    
     “สวัสดีค่ะ เสียงนี้เป็นเสียงจากชมรมจริยธรรมของโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช ขอเชิญผู้ป่วย ญาติผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ ร่วมฟังธรรมร่วมกันค่ะ สำหรับวันนี้จะเสนอบทสวดแผ่เมตตา” แล้วเสียงบทสวดแผ่เมตตาก็เริ่มดังขึ้นอย่างเนิบช้าพร้อมๆ กับเสียงดนตรีอันไพเราะ  “นะโม..ตัสสะ.. ภะคะวะโต... อรหโต... สัมมา.. สัมพุทธ.. ตัสสะ...”
 
     นี่คือส่วนหนึ่งของความพยายามในการเยียวยาด้วยหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ ของโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จังหวัดสุพรรณบุรี ที่เมื่อแรกเริ่มได้มุ่งโฟกัสไปที่การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย
 
      แต่ในที่สุดแล้วก็ได้เรียนรู้ว่า หากจะให้เกิดการดูแลด้วยหัวใจอย่างยั่งยืนแล้ว ต้องเริ่มจากการพัฒนาจิตวิญญาณของผู้คนให้เข้มแข็งจนสามารถมองเห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ปฏิบัติต่อกันด้วยความเมตตาและนำหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนามาปรับใช้ในการปฏิบัติงานและปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้
 
     หากทำได้เช่นนั้นเมื่อใด... สุขภาวะก็จะเกิดขึ้นตามมาได้ครบทุกมิติทั้งกาย ใจ สังคมและจิตวิญญาณ
 
 
หมายเลขบันทึก: 334221เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2010 22:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 11:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ขอบคุณที่ช่วยให้ผู้ป่วยและผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับสิ่งดี เป็นเสบียงใจสู่ทิฏฐานุคติที่ดี

ปัญญาธรรมนั้นสามารถช่วยได้ตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตจนวาระสุดท้าย ระยะสุดท้ายทีเดียว

อนุโมทนาทั้งรพ.วัดที่เห็นคุณค่าแห่งธรรมและได้ช่วยเยียวยาแก่ทุก ๆ คนให้ได้รับสิ่งดี ๆ

เจริญพร

สวัสดีค่ะ

มาอ่านและเรียนรู้

เยี่ยมมากค่ะ

สวัสดีครับพี่เจี๊ยบ

ชอบบันทึกนี้มาก ๆ ครับ

อ่านเพลิน แต่ได้แง่มุมคิดใหม่ ๆ แยะเลยครับ

ฝากความคิดถึงพี่หน่อยด้วยนะครับ...

สวัสดีค่ะ

อ่านแล้วมีความรู้สึกดีๆ  ชื่นชมมาก มิได้ชมตามมารยาทนะคะ  รู้สึกเช่นนั้นจริงๆ

การช่วยเหลือเอื้ออาทรต่อเพื่อมนุษย์ด้วยกัน เป็นการยกระดับจิตวิญญาณของมุษุย์ให้มีคุณค่า ขอเป็นกำลังใจให้ค่ะ

 

มีประสบการณ์ดีๆแบบนี้เหมือนกัน ใครไม่เคยทำจะไม่รู้ว่ามันรู้สึกดีจริงๆนะ

ขออนุโมทนาบุญครับ

ผมก็เป็นอาสาจิตวิญญาณช่วยอยู่โรงพยาบาลสงฆ์ครับ

ส่วนใหญ่ใช้เครื่องมือสื่อช่วยเช่น ซีดี ดีวีดี ธรรมะท่านครูบาอาจารย์

ช่วยนำจิตวิญญาณให้สงบและปล่อยวาง ถ้าพระเคยปฏิบัติกรรมฐาน

ก็จะมีคุณภาพจิตดี

อ่านแล้วได้ประโยชน์มากครับ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้กันเพราะบางครั้ง

ผมมีโอกาสไปบรรยายตามโรงพยาบาลบ้าง

มีความสุขดีครับ ขอขอบคุณมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท