จิตตปัญญาเวชศึกษา 122: อภิชาตศิษย์ (5) สัมผัสชีวิตแพทย์ ตอน 2


อภิชาตศิษย์ (5) สัมผัสชีวิตแพทย์ ตอน 2

รพ.ทับปุด "รพ.ปฐมภูมิ: ที่แรกเริ่มการเยียวยา"

โรงพยาบาลทับปุดขนาดไม่ใหญ่ ไม่เล็ก ผอ.รพ.คุณหมอพิสิฐ เป็นศิษย์เก่า ม.อ. รุ่นเก๋าแล้ว (ประมาณเกือบ 20 ปี มาทันผมลงมาเป็นแพทย์ใช้ทุนและแกเป็นนักศึกษาแพทย์) จึงผ่านพังงามาหลายที่ รวมทั้งเหตุการณ์สึนามิ คุณหมอเองก็ปลูกสวนยาง มีสวนปาล์ม เรียกว่่าจะเข้าใจวิถีชีวิตชาวบ้าน และความเป็นอยู่ดี ราคายางตอนนี้เท่าไหร่ก็จะรู้ พม่ามาตัดยางคิดราคาเท่าไหร่ก็จะทราบ

น้องๆที่ทับปุด เป็นนักเขียน diary ที่น่าประทับใจ แม้จะชายล้วน แต่ฝีมือการพรรณนา เขียนเล่าเรื่องไม่เบาเลยทีเดียว และที่เลือกมาก็มีหลายประเด็น หลายมุมที่น่าสนใจ

ที่ รพ.ทับปุด ในชุมชนจะมี "เจ๊มน" ที่เป็นผู้มีอันจะกินและชอบทำบุญ จะรับเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมให้หลายๆอย่างให้กับ รพ. ขอเพียงเปิดพื้นที่ให้แก เจ๊มนจะมาช่วย ออกทั้งแรง ออกทั้งเงิน มาด้วยใจ

รร.เชิญ รพ.ไปช่วยให้ vaccine แก่เด็กๆ รพ.ก็จัดกันไป ปรากฏว่าเด็กทั้งหมดมีประมาณ 100 กว่าคน แต่ รพ.มียาเหลือแค่ 50 ก็เลยต้องทำเท่าที่มีไปก่อน ที่เหลือต้องรอ lot หน้า ค่อยมากันใหม่นะจ๊ะน้อง

ไปตรวจเยี่ยมคนไข้ที่บ้าน ก็เห็นพฤติกรรมเสี่ยงหลายอย่าง ทำให้เห็นปัญหาที่ท้าทายที่จะทำ health promotion อาทิ คนไข้ความดันสูง พอไปเยี่ยมที่บ้าน ก็เห็นทั้งผงชูรส ม่าม่า "ของต้องห้าม" ต่างๆเต็มครัวไปหมด คนไข้บอก "ก็ยายชอบ!!!"

คนไข้บอกว่า "มีความสุขมากเมื่อมีหมอมาเยี่ยมที่บ้าน" พอขอถ่ายรูป ปรากฏว่าคุณยายอายุ 70 กว่าจะ 80 ก็ขอเวลานิดนึง เปลี่ยนเสื้อกลัดกระดุมใหม่ ยิ้มแฉ่ง "เอาล่ะ" คุณยายพูด "สวยแล้วหมอ ถ่ายได้!!" (ความรักสวยรักงาม ไม่มีจำกัดอายุ) คุณลุงอีกคนหนึ่ง เป็น COPD (โรคปอดอุดตันเรื้อรัง) อยู่ที่บ้านที่ติดพื้นดิน เต็มไปด้วยฝุ่น ไม่รู้จะแนะนำให้หลบฝุ่่นได้อย่างไร พอไปเยี่ยมคุณลุงที่บ้าน แกก็ดีใจ ตอนจะลากลับ คุณลุงก็เรียกน้อง นศพ.ไปให้ศีลให้พร คุณลุงแกให้พรเป็นภาษาใต้ ชนิดเร็วจี๋เป็นรถไฟด่วนยาวเหยียด ไม่หายใจหายคอ จนคุณลุงเริ่มมีอาการหายใจสั้น หอบเล็กน้อย พี่พยาบาลที่ไปด้วยก็เลยบอกว่าพอก่อนแล้วกันลุง เดี๋ยวอาการจะกำเริบตอนนี้ไปเสียก่อน

ความตื่นเต้นก็มีบ้าง มีครั้งหนึ่งคนพม่าทะเลาะกับคนไทย คนพม่าก็ถูกทำร้ายบาดเจ็บ ต้องมานอน รพ. ปรากฏว่าชาวบ้านทราบ ก็ยกคนมาล้อม รพ. จะเข้ามาซ้ำ ต้องเอาไปซ่อนไว้อีกมุมนึง ชาวบ้านหาไม่เจอ ก็ถอยไปตั้งหลัก ตอนเช้ามากันใหม่จะมาหาว่าอยู่ไหน ปรากฏว่าหมอแอบ refer (ส่งต่อ) ไปที่ รพ.อื่นตอนกลางดึกเรียบร้อยแล้ว ก็จบเรื่องไป

มีคนไข้เป็นโรคปอดเรื้อรัง แพ้ฝุ่น แพ้เมล็ดพันธุ์พืช หมอก็แนะนำให้งดโน่น งดนี่ หลีกเลี่ยงเมล็ดพืช เช่น อาหารนก ไม่ควรจะเลี้ยงนกที่บ้าน พอน้องนักเรียนแพทย์ไปเยี่ยมที่บ้าน ก็เห็นคุณลุงกำลังรีบยกกรงนกที่แขวนเอาไปซ่อนหลังบ้าน นัยว่ากลัวหมอดุ เรื่องเลี้ยงนกนี่ึคนใต้เลี้ยงกันเยอะ บางตัวราคาเหยียบแสน แค่ไข่ของนกบางตัวก็ขายกันเป็นหลักร้อย หลักพัน เป็นอะไรที่ค่อนข้าง sensitive และเป็นวัฒนธรรมของแถวนี้ (ผมนึกถึงตอนที่ครั้งหวัดนกระบาด และรัฐบาลจะออกมาตรการฆ่านกฆ่าไก่ตัดตอน ผมยังคิดเลย ถ้าจะมาเดินสุ่มสี่สุ่มห้าฆ่านกแถวนี้ คนฆ่านกอาจจะถูกฆ่าก่อน)

น้องเจอยายเมี้ยนคนไข้ประจำของ รพ. ยากจน มา รพ.ทีไร พี่หมอ ผอ.ต้องเอาเงินค่ารถให้กลับไปทุกครั้ง น้องได้ออกไปเยี่ยมคนไข้ที่บ้านคนนึง ปรากฏว่าเป็นคนพิการ เป็นอัมพาต อยู่กับภรรยาที่แก่พอๆกัน ได้เงินแต่เบี้ยคนชรา เบี้ยคนพิการไม่ได้ เพราะเดินทางไปลงทะเบียนไม่ไหว น้อง นศพ.ก็สะท้อนออกมาว่า เขาเคยเห็นคนที่ไม่ได้พิการอะไรเลย แต่กลับดิ้นรนไปลงทะเบียนพิการจะได้เงินฟรีๆ แต่คนพิการจริงๆกลับเสียโอกาส ขาดโอกาส ถ้าเราผลักดันการดูแลให้ทั่วถึง น่าจะมีคนได้ประโยชน์มากขึ้นอีกเยอะ

น้องได้ไปสัมภาษณ์ชาวบ้านที่สถานีอนามัย เจอคุณป้าคนนึงบอกว่ามาทุกวันเลย มานานแล้ว ตอนแรกน้องก็ดีใจ เข้าใจว่าคุณป้าสนใจการออกกำลังกาย อยากมีสุขภาพแข็งแรง ถามไปถามมาว่าทำไมถึงมา คุณป้าบอกว่า "เพราะได้เจอเพื่อน มาพูดคุยกัน"

รพ.บางไทร "หมอนภนท์ กระบี่เดียวดายแห่งบางไทร"

รพ.บางไทรเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กสุดของการตรวจเยี่ยม คือขนาด 10 เตียง มีหมอคนเดียวคือหมอนภนท์ (เดิมมีสอง แต่อีกคนเพิ่งย้ายไปอยู่ทับปุด) ตอนเราไปหา ก็หาอยู่นานเหมือนกัน ดูแลชาวบ้านในพื้นที่ประมาณ 10,000 คน ย่านบางไทรเป็นพื้นที่มีพม่าเยอะ เข้ามาตัดยาง (รายได้ดีมากนะครับ มีมีดเล่มเดียวขัดหลังมา ตัดยางเนี่ย ได้ประมาณ 40-45% ของราคาขายเลยทีเดียว) เนื่องจากมี 10 เตียง และหมอ 1 ก็เหมือนอยู่เวรตลอดปี 24/7/12/365 คือทั้งวันทั้งอาทิตย์ทุกเดือนตลอดปี รพ.นี้ น้องก็จะได้เห็นงานปฐมภูมิของแท้ๆ

ออกห้องฉุกเฉิน ได้เจอคนไข้รับอุบัติเหตุศีรษะมา ไม่หายใจแล้ว แต่หมอก็ช่วยเต็มที่ เพราะส่งไปไหนก็คงจะไม่ทัน สุดท้ายก็ช่วยไม่ได้ แต่ญาติๆขอบคุณคุณหมอมากที่ช่วยทำโน้นทำนี่ให้หลายอย่าง แล้วก็ยอมรับความจริงที่คนไข้ตายในที่สุด

ได้ไปเยี่ยมบ้านคนไข้ มีเด็กคนหนึ่ง รูปตอน 3-4 ขวบน่ารัก ยิ้มแป้น แต่ตอนนี้อายุ 10 กว่าปี นอนติดเตียง เพราะเป็น cerebral palsy มีไข้สันนิบาตคตั้งแต่เด็กๆ แขนขาเกร็ง พ่อกับแม่ก็ช่วยกันดูแลอย่างดี ทำความสะอาดแต่งเนื้อแต่งตัวให้ ป้อนข้างป้อนน้ำให้ น้อง นศพ.เล่าว่า น้องคนไข้ก็ดูรู้่ตัวบ้างนิดหน่อย ตอนไปเยี่ยม และเข้าไปดูแล ปรากฏว่าคนไข้ก็ยังยิ้มให้พวกเราด้วย เลยถ่ายรูปเก็บมา เอาไว้เตือนตัวเองว่า ขนาดคนไข้อัมพาต นอนติดเตียงทุกข์ขนาดนี้ ก็ยังสามารถยิ้มได้ ไอ้ที่เราว่าทุกข์ๆนั้น แค่ขี้ไก่ เทียบกันไม่ได้เลย

น้องได้เห็นการพยาบาลปฐมภูมิหลายๆอย่าง เหมือนใน scenario ตอนเรียน PBL (problem-based learning) เลย จำได้เลาๆ เลยเข้าใจแล้วว่าอาจารย์ให้เรียนไปทำไม ในอนาคตจะต้องสนใจเรียนมากกว่านี้เพราะลืมไม่เยอะแล้วเหมือนกัน

ที่บางไทรมีชาวบ้านคนหนึ่ง เป็นคุณยายอายุ 103 ปี ยังสุขภาพดี อารมณ์ดีมาก ถามว่ากินอะไรถึงอายุยืน ปรากฏว่าคุณยายชอบกินน้ำพริก สุดท้ายน่าจะเป็นเพราะคุณยายอารมณ์ดีมากกระมังที่ทำให้อายุยืน เพราะคุยกับหลานๆนศพ. (ไม่ใช่น้องๆแล้ว) ก็หัวเราะ หัวใคร่ ตลอด มองโลกในแง่ดีจริงๆ

ทึ่งพี่หมอ ผอ.มาก เพราะอยู่คนเดียว ไม่รู้อยู่ได้ยังไง เขาได้ไปเข้าร่วมกิจกรรมประขุม รพ. ก็เห็นพี่เขาต้องรู้เรื่องงบประมาณ การบริหารเงิน การบริหารคน อะไรต่อมิอะไรเยอะแยะไปหมดเลย นี่ปีหน้าพี่หมอบอกว่าอาจจะเข้ามาเรียนต่อที่ ม.อ. แต่แกก็ยังคิดๆอยู่ เพราะตอนนี้ก็คิดว่าอยู่ที่บางไทร 10 เตียงนี้ แกทำประโยชน์ให้แก่ชาวบ้านแกคนไข้ได้เยอะมาก ไม่ทราบว่าถ้าเข้ามาเรียนแล้ว เรียนสูงขึ้น จะทำให้แกเป็นประโยชน์ได้เท่ากับตอนนี้หรือไม่ น้อง นศพ.ก็สะท้อนว่าเป็นมุมมองที่น่าสนใจ ที่พี่สนใจเรื่องทำแล้ว (เรียนสูง) จะได้ประโยชน์ต่อคนอื่นหรือไม่ มากกว่่าเรียนแล้วตัวเองจะดีขึ้นแค่่ไหน พี่หมอยังมีเวลาไปแข่งกีฬาระหว่างโรงพยาบาล ไปดำน้ำได้บ้าง (ตอนมีหมอสองคน) ก็ดูมีความสุขดี

ผมก็มีความสุขครับ เห็นน้องมีความสุข

หมายเลขบันทึก: 334022เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2010 11:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 13:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

น่าทึ่งจริงๆนะคะที่มีแพทย์ที่ดี เสียสละจริงๆมีชีวิตสมกับที่เลือกจะเป็นแพทย์อีกเยอะที่เราไม่เคยได้รับรู้ในวงกว้าง อยากให้โรงเรียนแพทย์มีชีวิตแบบนี้มาเป็นแบบอย่างให้ทั้งนักศึกษาและบุคลากรสาธารณสุขได้รับรู้ชื่นชม เป็นแรงบันดาลใจที่ดีมากเลยนะคะ

เจ๋งครับอาจารย์

เสียดายที่อาจารย์ไม่ได้ไปร่วมงานในเช้าวันศุกร์ สนุกกันสุดๆเหมือนกันครับ

สวัสดีครับอาจารย์ หมอ สกล

ทับปุด บ้านผมครับ เคยลงไปตามหาประวั๖ชุมชน ทำแผนแม่บทชุมชนครับ

ตอนนี้ของทุนสวัสดิการชุมชนก็ลงพื้นที่ ตำบลบ่อแสน อำเภอทับปุด เพื่อช่วยเหลือด้นสวัสดิการ แก่ ผู้ลูงอายุ เยาวชนและคนด้อยโอกาส ทีมสวัสดิการพังงาขอให้ผมไปช่วย ในฐานะลูกที่ครับ

ดีใจครับที่มีเรื่องราวจากทางบ้านเกิดมาเล่าให้ฟังครับ

สวัสดีครับอาจารย์ หมอ สกล ทับปุด บ้านผมครับ

แต่ไม่ค่อยได้ทำอะไรให้บ้านเกิดเลย

ส่วนพัทลุง บ้านภรรยา ลงพื้นที่ทุกทั้ง 73 ตำบลอบต/เทศบาล มีงบประมาณภาคประชาชนไปทำกระบวนการมาหมดครับ

ขอบคุณครับ ที่ได้รับรู้เรื่องราวบ้านเกิดครับ

ปีนี้ไปเยี่ยมน้องนศพ.มา 8 รพ. ใน 3 จว. (ตรัง นครศรี สุราษฎร์) รวมทั้งรพ.ไชยา ด้วยค่ะ

เหนื่อยพอดู แต่ก็เป็นเหมือนอ.สกลและอ.อีกหลายๆ ท่าน

ที่ได้ความสุขทางใจกลับมาเยอะ

ได้ฟังเรื่องเล่า และอ่าน log book ของน้องๆ แล้วก็ประทับใจค่ะ

ตอนอยู่ในกลุ่มที่ present มีกลุ่มหนึ่ง ก็น้ำตาซึม เพราะคนไข้ที่เขาตามไปเยี่ยมบ้าน

เห็นกันอยู่หลัดๆ พออาทิตย์ต่อมา แวะไปเยี่ยมอีกที กลายเป็นต้องไปงานศพ

เพราะป้า sepsis แล้วก็ dead ค่ะ

อีกกลุ่ม น้องได้ช่วยป้อนข้าวคุณลุงที่เป็น parkinson ไม่มีญาติมาเฝ้า

พอถึงเวลาที่ต้องกลับมอ. ก็ไปลาคุณลุง แกให้ศีลให้พร ขอบคุณที่มาป้อนข้าว แล้วแกก็ร้องไห้

น้องก็น้ำตาซึม เพราะความซึ้งใจ

ปีนี้ เราจะคัดเลือก log book ที่เขียนดี 3 เล่ม ส่งไปขอรางวัลจากอ.โกมาตร ด้วยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท