จิตตปัญญาเวชศึกษา 121: อภิชาตศิษย์ (4) สัมผัสชีวิตแพทย์ ตอน 1


อภิชาตศิษย์ (4) สัมผัสชีวิตแพทย์ ตอน 1

นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะมีช่วงหนึ่งที่ทางคณะฯส่งไป "immersion" จุ่มจ่อมสัมผัสชีวิตแพทย์ เป็นรายวิชา Clinical Immersion โดยแบ่งนักศึกษาออกเป็นกลุ่มย่อยๆประมาณ 4-5 คน ส่งไป รพ.ขนาดเล็ก (มีตั้งแต่ 10 เตียง ขึ้นไปถึง 60 เตียง) ประมาณเกือบสองอาทิตย์ ซึ่งงานหลักของ รพ.ขนาดนี้มักจะเป็นการดูแลปฐมภูมิ คือด้านการสร้างเสริมสุขภาพ คละๆกันกับการดูแลรักษา (ซึ่งทำไม่ได้มากนัก เพราะจำนวนคน เตียง และเครื่องมือเครื่องไม้จำกัด) สัดส่วนก็จะประมาณ 50/50 วัตถุประสงค์ของรายวิชานี้คือการได้มองเห็นงาน หน้าที่ การใช้ชีวิตของแพทย์ไทยในบริบทจริง เห็นสุขภาวะกำเนิดของชาวบ้าน สายใยที่สอดประสานกันกับวัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณี และวิถีชีวิตกับความเจ็บไข้ได้ป่วย มุมมองและทัศนคติในการทำงานและปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรกับบุคลากร และระหว่างโรงพยาบาลกับชุมชน

สาเหตุที่ส่งไปตอนปี 2 ก็เพราะว่าน้อง นศพ. จะยังไม่ได้มีความรู้ทางการแพทย์มากนัก ทำให้ความ "อยาก" ลงมือไปทำอะไรๆแบบหมอจะมีข้อจำกัด เพราะรายการนี้ เราอยากให้ นศพ.ลงไปสัมผัสโดยใช้ "ความเป็นมนุษย์" (ซีึ่ง ironically บางทีเราพบว่าถ้าเผอเรอ จะลดลงเป็นสัดส่วนกับความเป็นแพทย์ที่เพิ่มขึ้น!!!! .... เรื่องนี้ต้องคุยแยกต่างหาก)

ผมได้ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ขณะที่น้องจะไปอยู่ที่ รพ.ประมาณ 13 วัน เราจะไปเยี่ยมหนึ่งครั้ง ประมาณกลางๆอาทิตย์ เพื่อเยี่ยมเยียนไต่ถามทุกข์สุข มีอะไรกินไหม ออกกำลังกายไหม ไปเที่ยวไหนมาบ้าง ถูกผีหลอกบ้างไหม ผีดุรึเปล่าหรือคนดุกว่า ฯลฯ

ปีนี้เขาจัดให้ผมไปเยี่ยม 5 รพ. สองจังหวัด คือพังงา ไปที่ทับปุดกับบางไทร และสุราษฎธานี ไปที่สมเด็จพระยุพราชเวียงสระ บ้านนาสาร และเคียนซา สาเหตุที่พังงาไปเยี่ยมแค่ 2 โรงก็เพราะมันไกลมากจากหาดใหญ่ นั่งรถเรียกว่าหลับไปหนึ่งงีบสบายๆ (จำเป็น เพราะผมโชคดีได้คนขับเก๋ากึ๊กที่สุดของคณะคือพี่ประยุทธ์ แกขับจาก ม.อ.ไปถึงทับปุด พังงา ใช้เวลาแค่ 3 ชั่วโมงครึ่่งเท่านั้นเอง เจ้าบิ๊ก นักวิชาการแพทยศาสตร์ไม่ยอมหลับ ถึงกับรากแตกรากแตนไปสองรอบ ผมหลับสนิทอยู่เบาะหลัง)

การไปเยี่ยม รพ. clinical immersion เป็นการผจญภัยประเภทหนึ่ง เพราะคนขับและเราก็มักจะไม่ได้เดินทางไปบ่อยๆเหมือนพวก รพ.ศูนย์ รพ.จังหวัด บาง รพ.มีแค่ 10 เตียงก็แทบจะไม่ต่างจาก สอ. (สถานีอนามัย) มีขนาดเล็ก อยู่ตามตำบล อำเภอ เล็กๆ เรามีแผนที่ที่ download มาจาก internet พอบอกตำแหน่งอำเภอเท่านั้น ที่เหลือเราต้องใช้ทักษะของแมลงสาบ คือใช้หนวดไต่ผนังหาทิศทางไปเรื่อยๆ อัตราการหลง ขับวนไปวนมารอบนี่ประมาณ 80% คือ 4 ใน 5 โรง ที่ต้องหยุดถามทางชาวบ้าน ที่สุราษฎรธานี รพ.ที่ส่งเด็กไปจะใหญ่กว่าที่พังงา และถนนสาย Southern พึ่งตัดใหม่ ใหญ่โต แต่ทำให้หลงได้ระเบิดเถิดเทิงพอกัน เพราะไม่คุ้น ใครจะซื้อแผนที่ขับรถแถวนี้ให้เปิดดูก่อนว่ามี Southern road ลงไปรึยัง ไม่งั้นจะใช้ไม่ได้แน่นอน เนื่องจากบทความนี้ใช้ชื่อเรื่องอภิชาตศิษย์ ไม่ใช่ "นิราศทักษิณ" ขอตัดต่อไปอีกรายการ คือการ presentation ประสบการณ๋์ที่ประทับใจของน้องๆตอนสิ้่นสุดโปรแกรม ผมได้เจอน้องที่ไปเยี่ยมแค่ 3 โรง คือ เวียงสระ ทับปุด และบางไทร มีอีกที่หนึ่งคือไชยา ไม่ได้ไปเยี่ยมแต่ได้มาฟัง presentation แทน

เราแยกกลุ่มย่อยการนำเสนอออกเป็นสิบๆกลุ่ม แต่ละกลุ่มจะประมาณ 4 โรง ใช้เวลา 3 ชั่วโมง ดังนั้นจะมีเวลาค่อนข้างเหลือเฟือ (แต่ก็เกินเวลา!!!) ห้องผมมีคุณมาริยา นักวิชาการแพทยศาสตร์ กับ อ.นพ.ปรเมศวร์ จากออร์โธปิดิกส์มานั่งเป็นเพื่อนอีกคน

สิ่งต่อไปนี้ คือหลักฐานเชิงประจักษ์ของ "อภิชาตศิษย์"

รพ.สมเด็จพระยุพราชเวียงสระ "Story Tellers"

น้องๆจาก รพ.แรกคือ รพ.สมเด็จพระยุพราชเวียงสระมานำเสนอก่อน กลุ่มนี้เปิดประเดิมด้วยการทำ presentation เป็น movie หนึ่งเรื่องเต็มๆ เรียกว่าทำให้ฮือฮาเลยทีเดียว ลำพังการถ่าย video slip ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับ generation นี้อีกต่อไป ใครๆก็ทำได้ มีมือถือก็ถ่าย clip ได้แล้ว และตอนผมไปเยี่ยม ก็สังเกตเห็นทุกกลุ่มจะมีกล้อง Digital SLR ชนิดเปลี่ยนเลนส์ได้ติดตัวไปหมด ภาพออกมาชัดคม เป็น portrait, landscape, wide angle ครบครัน แต่การนำมาประกอบเป็นภาพยนต์สารคดี และ dubbing เสียงลงบน clip ต้องใช้ฝีมือ และการจัด script

"วันนี้มีคนไช้มา clinic เบาหวานหลายคน มีคนหนึ่งมาด้วยอาการปัจจุบันคือปวดศีรษะ นอนไม่หลับ มีโรคเดิมคือเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ถามไปถามมาจึงได้ความว่ามีงานศพของญาติสองคน ทำให้นอนไม่เพียงพอ"

"ได้พูดคุยกับคุณยายที่มานั่งรอตรวจที่แผนกผู้ป่วยนอก คุณยายนั่งรออยู่คนเดียว โดยลูกมาส่งแล้วจะมารับทีหลัง คุณยายใจดี น่ารักมาก แม้ว่าคนไข้จะเยอะ ต้องนั่งรอหน้าห้องตรวจเป็นเวลานาน แต่ยายก็มีความเข้าใจ และเห็นใจว่ามีคุณหมอน้อย คนไข้มีเยอะ ก็ต้องรอตามคิว คุณยายพูดคุยด้วยอารมณ์ที่ยิ้มแย้มแจ่มใส"

"คนไข้มาด้วยอาการไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบริเวณหลัง และยังมีปัญหาคือพูดไม่ได้ มีปัญหากล่องเสียง แต่ก็สามารถสื่อสารได้อย่างสนุกสนาน คนไข้มีอาชีพแล่เนื้อปลาส่ง วันละหลายกิโลกรัม ทำให้ปัจจุบันมีอาการปวดเมื่อยบริเวณหลัง อาศัยอยู่กับสามี มีลูกแต่เสียชีวิตไปแล้ว คนไข้เล่าว่าแม้จะมีรายได้ไม่มากนัก แต่มีพออยู่ พอกิน มีบ้าน ผ่อนรถได้ มีความสุขและภาคภูมิใจกับสิ่งที่ได้มาด้วยน้ำพักนำ้แรง"

"มีน้องอายุ 4 ขวบมาที่ห้องฉุกเฉิน น้องคนนี้พวกเราเคยไปเยี่ยมที่บ้าน มีพัฒนาการช้า เพราะคลอดก่อนกำหนด มา รพ.ด้วยหายใจไม่ออก เสมหะเต็มลำคอ จึงมาพ่นยาที่ ER ช่วงแรกน้องค่อนข้างซึม แต่พอพ่นยาไปสักพัก ก็สดชื่นขึ้น เล่นกับพี่ชายได้อย่างสนุุกสนาน แม่ก็เริ่มสดชื่นขึ้นเช่นกัน"

รพ.เวียงสระมีชื่อเสียงโด่งดังที่เป็นเอกลักษณ์อีกอย่างคือห้องน้ำสวยที่สุดในจังหวัด (เผลอๆจากที่สุดในภาคใต้!!) เป็นอาคารเดี่ยวชั้นเดียว ผนังด้านนอกแกะสลักปูนเป็นภาพสลักนูนสูง เกือบจะเป็นสามมิติของช้างในป่า ทาสีสวยงาม หน้าห้องน้ำมีแผงนำ้ตก ภายในห้องน้ำที่แยกหญิงชายชัดเจนก็มีสุขภัณฑ์ที่สะอาดเอี่ยม hi-tech ด้วยระบบ sensor ปล่อยน้ำอัตโนมัติ

ใน clip video ยังมีเรื่องราวสั้นๆอีกมากมาย ที่ผมชอบมากก็คือ น้องเขาใส่ music เบาๆประกอบภาพยนต์ แต่เป็นเพลงบรรเลง ไม่เศร้า ไม่ตื่นเต้นเกินไป ดังนั้นอารมณ์เพลงจึงไปมากระทบกับเนื้อหาของหนัง และออกกลางๆ ทำให้แม้บางฉากที่ดูเศร้า เช่น ภาพคนไข้ที่บ้าน ที่นอนติดเตียง เป็นอัมพาต แต่โทนของเพลงทำให้เราสามารถหยุด และห้องแขวนอารมณ์ไว้ได้นิดนึง พิจารณา "ความจริง" เบื้องหน้า เหมือนยั้งม้าริมหน้าผา ทำให้เราเกิด empathy โดยไม่ถึงกับ sympathy เสียงน้องผู้บรรยายก็ทำได้อย่างมืออาชีพ คือเล่าเรื่องด้วยเสียงธรรมดา ไม่ใช่ monotone มีอารมณ์บ้าง แต่ออกไปทางสารคดีนิดๆ message ว่าเรื่องราวเหล่านี้ทำไมกลุ่มถึงได้ประทับใจ อยู่ในเนื้อหาของภาพยนต์ที่ผู้ชมต้องกลั่นออกมาเอง เพราะกลุ่มเองก็ไม่ได้อธิบายออกมาว่าทำไมถึงประทับใจ ซึ่งผมคิดว่าเป็นเทคนิกที่ดี และทำให้เรื่องราวที่ออกมา ถูกแปลไปได้อย่างอิสระ ตามแต่ละ background ของผู้เข้าชม

ที่ผม highlight ไว้ในบทข้างต้น ก็เพราะว่า ผมคิดว่านี่เป็นบันทึกที่ unique มี "ความเป็นคน" ปะปนอยู่เยอะ เราจะไม่เห็นภาษาและเนื้อหาแบบนี้ในเวชระเบียน หรือ บันทึกสักเท่าไหร่ (หรือไม่มีเลย) มีแต่ภาษาที่แห้งแล้ง เป็น fact แต่พออ่านบันทึกสิ่งที่น้อง นศพ. ได้ "ค้นพบ" และ "สะท้อน" ออกมา เราได้ความเป็นมนุษย์ ความเป็นคน อารมณ์ความรู้สึกที่ชัดเจน อย่างน้อยก็ของคนบันทึกเอง

รพ.ไชยา "ทัศนา เกิดทัศนะ"

กลุ่มที่สองที่นำเสนอคือ รพ.ไชยา จ.สุราษฎรธานี เมืองที่ชื่อเสียงโด่งดังทั่วประเทศสองเรื่อง คือ ไข่เค็ม และเป็นที่ตั้งของสวนโมกข์ ของท่านพุทธทาสนั่นเอง

กลุ่มนี้มี clip video เหมือนกัน แต่เป็น clip ถ่ายทำการทำ "ไข่เค็มไชยา" อันลือชื่อ โดยน้องๆได้ไปเยี่ยมศูนย์ไข่เค็ม อสม. และลงมือทำเองตั้งแต่ต้นจนจบ สนุกสนานมาก

สิ่งที่น้องประทับใจและนำมาเล่า มีหลายเรื่อง

สมุดโน็ตความในใจ

น้องๆสังเกตที่ข้างเตียงคนไข้ จะมีสมุดโน็ตวางอยู่ทุกเตียง พี่พยาบาลอธิบายว่านี่เป็นสมุดบันทึกความรู้สึกของคนไข้ ที่อยากจะระบาย อยากจะแสดงความรู้สึกอะไร ก็เขียนมาได้ พอแสดงให้น้องอ่านดู ก็พบว่ามีการเขียนเยอะแยะ เต็มไปหมด มีทั้งแบบบวก แบบลบ อาทิ "ร้อนจังเลย ไม่มีพัดลม อยากให้มีีพัดลมประจำทุกเตียง" หรือ "ขอบคุณคุณหมอ คุณพยาบาลมาก ดูแลดีจัง น่ารักจังเลย" ฯลฯ และทีมบริหาร รพ.จะนำเอาสมุดเหล่านี้มา review กันทุกเดือน เพื่อที่จะได้ทราบว่าผู้บริการคิดอย่างไรกับ รพ.และมีอะไรที่พอจะปรับปรุงได้บ้าง

รพ.ที่ทำแบบนี้ได้ แสดงว่า No Fear สามารถมอง criticism แบบ positive และใจกว้าง เข้าใจบทบาทขององค์กรว่าเป็น service provider ซึ่งหัวใจของผู้บริการก็คือความรู้สึก ความต้องการ ความจำเป็นของผู้รับบริการนั่นเอง แสดงวัฒนธรรมและระดับจิตที่ "กล้า" และ No Fear (อาจารย์ ส.ศิวลักษณ์ แปลคำนี้ว่า "อภัยทาน")

  • มีคนไข้คนหนึ่ง ที่น้องนักศึกษาแพทย์เข้าไปถาม ปรากฏว่าญาติแกเล่าว่าที่เอายากลับบ้านไป แกไม่ยอมกิน แต่แอบเอาไปทิ้งหมด เพราะไม่อยากหาย จะได้มาอยู่ รพ. เพราะอยู่ รพ.สบายกว่า มีอาหารการกิน มีคนน่ารักดูแลตลอดเวลา
  • มีคุณลุงคนหนึ่ง อายุ 70 ปี เป็นวัณโรค รักษามานานแต่ก็ไม่หาย ให้ยาไปทานก็ทานไม่ค่อยครบ พอได้ไปเยี่ยมที่บ้านพูดคุยด้วยก็ได้ความรู้เพ่ิม คือถ้าถามตอนแรกๆทำไมไม่ทานยา หรือไม่พยายามรักษาให้ครบ คุณลุงก็จะบอกว่า อายุมากแล้ว ไม่ต้องรักษา ยังไงๆก็อยู่อีกไม่นาน ถามไปถามมาปรากฏว่า คุณลุงตอบมาอีกว่า คุณป้า (ภรรยาคุณลุง) ตายไปสองปีแล้ว แกก็เลยไม่รู้จะอยู่ไปทำไม ถึงตอนนี้ น้องๆนักศึกษาเริ่มมองออกนอกตัวคุณลุงเอง และก็สังเกตเห็นว่า ที่บ้าน ถึงจะมีลูก มีลูกละใภ้ และหลานๆอยู่ด้วย แต่ไม่ค่อยมีคนมาดูแลคุณลุง ไม่มีใครมาพูดด้วย มาเตรียมยาอะไรให้ ก็คิดว่าเพราะเหตุนี้ อาจจะทำให้คุณลุงไม่อยากจะอยู่ต่อ เพราะชีวิตไร้ความหมาย
  • ที่ รพ.นี้มีคลินิกโรคเรื้อนด้วย น่าสนใจ เพราะไม่เคยเห็น และไม่เคยได้ยินมานานแล้ว พอน้องๆเข้าไปดู ก็เห็นรอยโรคแปลกๆเยอะ คุยกับคนไข้่ พอเขาทราบว่าเป็นนักศึกษาแพทย์มาจาก ม.อ. เขาก็ดีใจและใจดี อนุญาตให้น้องๆมาดู lesion (รอยโรค) และถ่ายรูปเก็บไว้ดู บอกว่าดีแล้ว จะได้ให้หมอเก่งๆ

สิ่งที่น้องกลุ่มนี้่ได้สัมผัสและเลือกมานำเสนอ มีประเด็นที่ลึกซึ้งและน่าสนใจมาก ตั้งแต่การสังเกตเห็นสมุดบันทึก น้องๆหลายคนก็คิดว่า ม.อ. น่าจะทำแบบนี้บ้าง (เท่าที่ผมทราบ รู้สึกจะมีที่แผนกรังสีรักษาที่หนึ่ง ที่จะมีสมุดโน็ตแบบนี้ให้แก่คนไข้ได้เขียนบรรยาย พรรณนา ความรู้สึกลงไป)

ประเด็นเรื่องคุณลุงที่เป็นวัณโรคก็เช่นกัน อันนี้ตรงกับ paradigm ใหม่ของ WHO คือ People-centred healthcare ที่น้องเริ่มมองเห็นว่า อืม ชีวิตมันไม่ได้มีแค่ survive อย่างเดียว แต่มันต้อง "มีความหมาย" ด้วย พอชีวิตหมดความหมาย คนเราก็ไม่อยากอยู่ต่อไปซะอย่างนั้น เกิดคำถามสำคัญสำหรับโรงพยาบาลทุกแห่งว่า นอกเหนือจากงาน "ต่อชีวิต" แล้ว เรามองเห็นแง่มุมของ "ความหมายของชีวิต" และให้ความสำคัญกับสิ่งนี้มากน้อยเพียงไร และเรา "ทำอะไรบ้าง"​ ที่สะท้อนว่าเราเห็นความสำคัญในเรื่องนี้?

อภิชาตศิษย์จริงๆ!

หมายเลขบันทึก: 334011เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2010 10:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 12:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

"..แต่พอพ่นยาไปสักพัก ก็สดชื่นขึ้น เล่นกับพี่ชายได้อย่างสนุุกสนาน แม่ก็เริ่มสดชื่นขึ้นเช่นกัน"

มุมมอง นศพ. พรีคลินิค ต่อคนไข้ มีความใสอย่างที่อาจารย์ว่า

ขึ้นปี 4 มา อาจบัันทึกว่า "หลังจากพ่นยา ผู้ป่วยมีอาการหอบลดลง"

ขึ้นปี 5 มา อาจบันทึกว่า " จาก chest film..." :>

อาจารย์ CMUpal เหน็บได้คมจริงๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท