เหตุผลที่การจัดการความรู้สามารถ"เกิด"ได้ในภาควิชาพยา-ธิ มอ.


เมื่อเปรียบเทียบกับ"ทศวิบัติของการจัดการความรู้ในหน่วยราชการ"

จากการที่ได้อ่านบทความของอ.วิจารณ์เรื่อง ทศวิบัติของการจัดการความรู้ในหน่วยราชการ ที่http://www.kmi.or.th/document/10failureKM.doc ทำให้เห็นภาพชัดขึ้นและสามารถบอกได้ว่าทำไมเราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมในบ้านพยา-ธิของเรา โดยเฉพาะตัวเองเห็นชัดมากเพราะหายไปจากบ้านนี้นานถึง 6 ปี อาจารย์วิจารณ์เขียนไว้ 10 ข้อจะขอเอามาเปรียบเทียบความตรงข้ามกับสิ่งที่เรามีทีละข้อ ดังต่อไปนี้

ข้อแรก เรามีผู้นำที่นำแบบเอื้ออำนาจ สนใจการจัดการความรู้ สนับสนุนอย่างจริงใจ ไม่มีความขัดแย้งในระดับผู้บริหารภาควิชาฯด้วยกัน ผู้นำของเราส่งเสริมให้เกิดภาวะผู้นำในทุกระดับงาน ทำให้ทุกคนอยากทำงาน เพราะผู้นำให้เราคิดด้วย ช่วยกันทำ
ข้อสอง การบริหารงานไม่ใช่แบบสั่งการ เป็นการประสานงานทั้งจากฝ่ายบริหารและฝ่ายปฏิบัติการ มีการส่งเสริมให้เกิดการติดต่อสื่อสารระหว่างหน่วยงาน ไม่แบ่งแยกสายงาน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานของต่างหน่วย ระบบงานยืดหยุ่นขึ้น
ข้อสาม การส่งเสริมการสื่อสารระหว่างหน่วยงาน ทำให้เกิดความหลากหลายทางความคิด ส่งเสริมให้สามารถคิดนอกกรอบ มีการพัฒนาทักษะให้เกิดการแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนในงานทุกส่วน ไม่เฉพาะงานตนเอง
ข้อสี่ มีการเปิดโอกาสให้คิดอะไรใหม่ๆได้ มีเวทีให้แสดงความคิดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เช่น Patho OTOP2
ข้อห้า ขยายโอกาสในการแสดงผลงานให้ออกสู่วงกว้าง และนำวิธีการจัดการความรู้จากแหล่งอื่นๆมาแนะนำเผยแพร่ เปิดโลกทัศน์ทั้งในด้านการงานและความคิด
ข้อหก ส่งเสริมให้คนทำงานสร้างงานจากสิ่งที่มีอยู่ พัฒนางานจากความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติงานและเปรียบเทียบกับความรู้ตามทฤษฏี ไม่ใช่เชื่อและทำตามวิธีดั้งเดิมเท่านั้น
ข้อเจ็ด ระเบียบปฏิบัติงานสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความเป็นจริง ไม่ยึดกฏจนเกินไป ดังนั้นคนทำงานทุกหน่วยสามารถช่วยงานในส่วนอื่นๆได้ด้วย เช่น การที่สามารถเอาคนจากศูนย์รับสิ่งส่งตรวจ มาช่วยงานหน่วยเคมีคลินิกได้ในช่วงเวลางานเข้าปริมาณมากๆ
ข้อแปด การส่งเสริมให้เกิดความคิดเพื่อพัฒนางานในส่วนที่ตัวเองทำอยู่และให้ความสำคัญกับความคิดของคนทำงานทุกระดับ ทำให้การจัดการความรู้เนียนไปกับเนื้องาน ไม่ใช่การสร้างงานขึ้นใหม่
ข้อเก้า มีแนวทางชัดเจนให้ผู้ปฏิบัติงานรู้ว่าจะพัฒนางานส่วนใด ไปเพื่ออะไร โดยผ่านผู้นำระดับต่างๆของงาน ทำให้การพัฒนางานเกิดในส่วนที่ตรงกับเป้าหมายของภาควิชาฯ
ข้อสิบ สร้างและแนะนำพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้หลากหลายรูปแบบ เพื่อเปิดโอกาสให้คนทำงานเลือกใช้ได้ตามสะดวก ทั้งในรูปเวทีเสนอผลงาน การเขียนในวารสารสายใยพยาธิ การเขียนใน web board การเขียนบล็อก GotoKnow

ที่ยกมานี้ ไม่ได้นำหัวข้อของที่อ.วิจารณ์เขียนไว้มาโดยตรง แต่เขียนสิ่งที่ตัวเอง "ปิ๊ง" ว่าเราแตกต่างยังไง และคงจะเป็นเพราะเราสามารถทำทุกอย่างที่ตรงข้ามกับ "ทศวิบัติฺ" ทำให้เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมทางความคิดในการปฏิบัติงานของแทบทุกหน่วยงานในภาคพยาธิ ไปในทาง "วิวัฒน์" นั่นเอง
 
ความจริงอาจารณ์พูดถึงบทความ “ทศปฏิบัติสู่ความเป็นองค์การเรียนรู้ของหน่วยราชการ” ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติ 10 ประการ   สำหรับพัฒนาหน่วยราชการไปสู่ความเป็นองค์การเรียนรู้ ไว้ด้วย แต่ตัวเองหาไม่พบค่ะว่าอาจารณ์เขียนไว้ว่าอย่างไร จึงไม่มีมาเปรียบเทียบให้อ่านกัน

หมายเลขบันทึก: 33217เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2006 15:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท