หนูทำได้...คิดแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์


เริ่มด้วยการเปิดประเด็นให้นักเรียนได้ร่วมกันคิดและนำเสนอประเด็นที่นักเรียนคิดว่าเป็นปัญหาของโรงเรียนที่นักเรียนประสบอยู่ นักเรียนหลายคนผลัดกันนำเสนอประเด็น ได้แก่ ประเด็น ขยะในโรงเรียน ขี้นกพิราบ ห้องน้ำห้องส้วม โรงอาหารไม่สะอาด วางรองเท้าไม่เป็นระเบียบ การใช้ไฟฟ้า การใช้น้ำประปา ห้องเรียนสกปรก ขี้สุนัขในโรงเรียน...

         เดือนกว่ามาแล้ว เมื่อปลายปี 2552 นี่เองที่ผมได้มีโอกาสจัดค่ายนักเรียน "อัจฉริยภาพด้านการคิด" สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 80 คน ของโรงเรียนอนุบาลทัพทัน อำเภอทัพทัน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุทัยธานี เขต 1 ซึ่งจริงๆ แล้วค่ายนี้ไม่ได้คัดเลือกนักเรียนมาเฉพาะนักเรียนที่เป็น "อัจฉริยะ" หรอกครับ แต่ค่ายของเรามีความคิดพื้นฐานว่า นักเรียนทุกคนคือนักเรียนอัจฉริยภาพ เพราะคุณครูทุกท่านมั่นใจและมีความเชื่อว่า นักเรียนทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ทุกเรื่องเมื่อเราจัดกระบวนการเรียนการสอนให้เหมาะสม นักเรียนสามารถคิดได้ทุกเรื่อง สามารถแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง หากเราได้ให้โอกาสนักเรียนได้คิด...ด้วยการสนับสนุนและจัดระบบการคิดให้นักเรียนโดยคุณครูให้ความดูแลเอาใจใส่ช่วยชี้แนะ...

 

          เช้าวันนั้น ผมประเดิมด้วยกิจกรรมแรกพบ ผมคิดว่านักเรียนแม้จะเรียนอยู่โรงเรียนเดียวกันก็ตามควรจะได้มีโอกาสได้นำเสนอภาพลักษณ์ ตัวตนของตนเองให้เพื่อนๆ ได้รับรู้ ผมให้นักเรียนวาดรูปตัวเองที่แสดงถึงลักษณะพิเศษหรือลักษณะเด่นของตัวเอง รวมถึงลักษณะของเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ หรืออะไรก็ได้ วาดเสร็จแล้วไม่ต้องเขียนชื่อ นามสกุล ส่งให้ครูรวบรวมเพื่อแจกจ่ายกลับไปให้นักเรียนคนอื่น ๆ ซึ่งไม่ใช่ภาพของตนเอง... เมื่อครูให้สัญญาณพร้อม นักเรียนเริ่มหาเจ้าของภาพที่ตัวเองได้รับภาพมา กิจกรรมเริ่มวุ่นวาย โกลาหล เพราะนักเรียนทุกคนพยายามตามหาเจ้าของภาพ แต่บรรยากาศก็สนุกสนาน นักเรียนทุกคนตื่นตัวพร้อมรับกิจกรรมต่อไป

          เริ่มกิจกรรม "กระบวนการคิดแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ (Creative Problem Solving)" ผมให้นักเรียนปฏิบัติการอย่างมีขั้นตอน สรุปได้คือ
1. สำรวจสภาพปัจจุบัน เป็นอย่างไร...
2. กำหนดความต้องการหรือสิ่งที่ควรจะเป็น คืออะไร...
3. ระบุปัญหา คืออะไร...
4. วิเคราะห์องค์ประกอบของปัญหา มีอะไรบ้าง...
5. วิเคราะห์ว่ามีสาเหตุจากอะไรบ้าง  (วิเคราะห์โดยใช้ผังก้างปลา และวิธีการระดมสมอง)
6. หาทางเลือกเพื่อแก้ปัญหา...(จัดอันดับความสำคัญของปัญหา)...
7. เลือกทางเลือก...จัดอันดับความสำคัญ ความเป็นไปได้ เพื่อนำไปปฏิบัติ
8. ปฏิบัติการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์

          แต่ละขั้นตอนผมให้นักเรียนได้ปฏิบัติกิจกรรมดังนี้
เริ่มด้วยการเปิดประเด็นให้นักเรียนได้ร่วมกันคิดและนำเสนอประเด็นที่นักเรียนคิดว่าเป็นปัญหาของโรงเรียนที่นักเรียนประสบอยู่ นักเรียนหลายคนผลัดกันนำเสนอประเด็น ได้แก่ ประเด็น ขยะในโรงเรียน ขี้นกพิราบ ห้องน้ำห้องส้วม โรงอาหารไม่สะอาด วางรองเท้าไม่เป็นระเบียบ การใช้ไฟฟ้า การใช้น้ำประปา ห้องเรียนสกปรก ขี้สุนัขในโรงเรียน

 

 

          ผมให้นักเรียนที่เสนอประเด็นหาสมาชิกหรือเพื่อนร่วมอุดมการณ์ มาเข้ากลุ่ม 5-8 คนเพื่อทำงานร่วมกันจนตลอดกระบวนการ...

          เมื่อได้ประเด็นปัญหาแล้วทุกกลุ่มเริ่มไปทำการสำรวจสภาพปัจจุบันตามประเด็นที่รับผิดชอบในสถานที่ต่างๆ ภายในโรงเรียน การสังเกต จดบันทึกตามสภาพที่พบ ไม่ต้องมีเครื่องมืออะไรมากมายให้นักเรียนคิดวางแผนกันเองว่าจะบันทึกในรูปแบบใดเพื่อให้ได้ข้อมูลมาอย่างครบถ้วน

 

นักเรียนใช้เวลาสำรวจประมาณ 30 นาทีก็กลับมาเขียนความต้องการหรือสิ่งที่ควรจะเป็น คืออะไร เช่นในเรื่องขยะสิ่งที่ควรจะเป็นหรือสิ่งที่ต้องการคือ ควรมีการทิ้งขยะให้ลงถัง มีระเบียบ มีการคัดแยกขยะ ฯลฯ เป็นต้น
          ขั้นตอนต่อไปคือการระบุปัญหา...ขั้นตอนนี้ค่อนข้างยากเนื่องจากการระบุปัญหาที่นักเรียนได้ไปสำรวจตามประเด็นนั้นต้องระบุให้ตรงกับสภาพ ซึ่งผมก็โล่งอกเมื่อนักเรียนทุกกลุ่มระบุปัญหาที่ได้เจน เช่น ปัญหาการใช้ไฟฟ้าไม่ประหยัด  ปัญหาการใช้น้ำไม่ประหยัด ปัญหาโรงอาหารไม่สะอาด ปัญหาการวางรองเท้าไม่เป็นระเบียบ ปัญหาขี้นกพิราบ ปัญหาขี้สุนัขในโรงเรียน ปัญหาห้องน้ำไม่สะอาด 
          ขั้นตอนต่อไปคือกำหนดองค์ประกอบของปัญหา หรือสาเหตุหลักๆ และขั้นตอนการวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา ผมให้นักเรียนแต่ละกลุ่มเริ่มใช้ผังก้างปลาเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์หาองค์ประกอบและสาเหตุของปัญหา แม้จะเป็นของใหม่สำหรับนักเรียน แต่นักเรียนก็เข้าใจ มีความรู้สึกท้าทายและสนุกสนานกับกิจกรรม ซึ่งจากข้อสังเกตของผมที่มีประสบการณ์จากการจัดค่ายนักเรียนพบว่านักเรียนโรงเรียนอนุบาลทัพทัน มีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ มีความคิดอิสระ กล้าแสดงออก มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นธรรมชาติ ทั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าคุณครูผู้สอนเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงออก ไม่ใช้อำนาจควบคุมนักเรียนจนเกินพอดี ใจดี ใจกว้างพอที่จะยอมรับ ความคิดเห็นของนักเรียน ทำให้การจัดกิจกรรมของผมในวันนั้นราบรื่นเป็นไปตามขั้นตอน นักเรียนทำเสร็จภายในเวลาที่กำหนด


         ไม่เพียงแค่วิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาเท่านั้น นักเรียนจะต้องคิดหาทางเลือกในการแก้ปัญหาในขั้นต่อไป จากทางเลือกที่หลากหลาย นักเรียนในกลุ่มจะต้องออกเสียง (Vote) จัดลำดับความสำคัญของปัญหาและทางเลือกในการแก้ปัญหา เพื่อนำมาปฏิบัติการแก้ปัญหาต่อไป

 


          จากทางเลือกในการแก้ปัญหาที่หลากหลาย นักเรียนจะเลือกทางเลือกที่มีความเป็นไปได้ ทางเลือกของปัญหาที่สำคัญ เร่งด่วนจำเป็นต้องแก้ไข มีความเป็นไปได้ ใช้งบประมาณเหมาะสมหรือไม่ใช้งบประมาณเลย ฯลฯ นำมาปฏิบัติการแก้ปัญหา ตัวอย่างกิจกรรมการแก้ปัญหาที่นักเรียนหยิบยกมาปฏิบัติในวันนั้น ได้แก่

กลุ่มศึกษาปัญหาขยะในโรงเรียน เสนอองค์ประกอบของปัญหาที่เป็นสาเหตุหลักๆ ได้แก่ ตัวนักเรียน แม่ค้าใน ร.ร. ภารโรง สัตว์ที่มาคุ้ยเขี่ย ลม รถรับส่งนักเรียน ครู ฯลฯ ด้วยสาเหตุ ที่หลากหลายได้แก่ ตัวนักเรียนไม่มีระเบียบวินัย มักง่าย สอนไม่จำ แม่ค้าไม่จัดการด้านความสะอาด บรรจุภัณฑ์สินค้าไม่เหมาะสม ครูหาถังขยะมาให้ไม่พอ ภารโรงไม่ค่อยดูแลความสะอาด แนวทางแก้ปัญหาหลายประการได้แก่ การรณรงค์ให้นักเรียนมีความรับผิดชอบโดยการทำป้ายรณรงค์ เขียนคำขวัญ ฯลฯ
          มาถึงขั้นตอนสุดท้ายของกิจกรรมกระบวนการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ นักเรียนทุกกลุ่ม จัดนิทรรศการ นำเสนอปัญหา การแก้ปัญหา ตลอดกระบวนการ เวียนกันไปศึกษาทีละกลุ่มโดยให้นักเรียนกลุ่มเจ้าของผลงานนำเสนอ มีการซักถาม และสรุปประเด็น จนกระทั่งครบทุกกลุ่ม
         สุดท้าย ท่านผู้อำนวยการ สิทธิศักดิ์  ชาติบุตร กล่าวสรุป ชื่นชมนักเรียนทุกคนและรับปากว่าจะนำกระทู้ ประเด็นต่างๆ ที่ต้องดำเนินการต่อไปเข้าสภานักเรียนเพื่อทำให้มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรมที่สุด

 

   

           กิจกรรมค่ายนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เพื่อส่งเสริมอัจฉริยภาพด้านการคิด สำหรับ 1 วัน (6 ชั่วโมง) เต็มอิ่มกับการเรียนรู้ การแบ่งปันความคิด ความรู้สึก เต็มอิ่มกับโอกาสที่ได้แสดงศักยภาพที่มีอยู่ในตัวตนของนักเรียน ทำให้คุณครูทุกท่านรู้สึก ภาคภูมิใจกับผลงานที่ผ่านมาซึ่งสะท้อนออกมาอย่างเป็นรูปธรรมในผลงานที่นักเรียนได้นำเสนอในขั้นตอนสุดท้ายวันนั้น...แม้กระบวนการแก้ปัญหา เพียงอย่างเดียว มีคุณครูหลายท่านก็ไม่อยากเชื่อว่าเด็กๆ จะทำได้...แต่โจทย์วันนั้นเป็น "กระบวนคิดแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์" ที่นักเรียนจะต้องใช้กระบวนการคิดแก้ปัญหาแล้วใช้กระบวนการคิดสร้างสรรค์มาทำงานในขั้นตอนสุดท้ายและอาจพัฒนาต่อๆ ไปเป็นโครงงานฯ ในภายหลัง...

 

 


          นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ที่แสดงให้เห็นว่า เด็กของเรามีความสามารถเพียงใด เด็กของเราทำได้ทุกเรื่องหากเขาได้รับโอกาส ได้รับการชี้แนะแนวทางการปฏิบัติที่ค่อยเป็นค่อยไป ไต่ระดับจากง่ายไปหายากด้วยขั้นตอนที่คลี่ออกให้เห็นเป็นแนวทาง ตามความแตกต่างของแต่ละคน บางคนใช้เวลามากกว่าจะรู้ จะเข้าใจ บางคนไม่ต้องอธิบายก็เข้าใจได้...ขอเพียงแต่คุณครูทั้งหลายมีความศรัทธาในตัวเขาและได้ให้โอกาสนั้นแก่เด็กของเรา วันละนิด วันละหน่อย ไม่ต้องคอยเวลามาเข้าค่ายฯ เพียงเท่านี้ไม่ว่าปัญหาอุปสรรคจะยากเย็นสักเพียงใด เด็กของเราจะบอกกับเราว่า "หนูทำได้..."

 

หมายเลขบันทึก: 330742เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2010 23:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

"กระบวนการคิดแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ (Creative Problem Solving)" เป็นภาษาที่สวยงามในความคิดและจินตนาการแต่จะทำอย่างไรจึงจะปลุกฝังให้ผู้เรียนนำกระบวนการนี้มาใช้ในชีวิตประจำวันจนเป็นนิสัย จะให้ครูฝ่ายเดียวเป็นผู้กำกับก็คงทำได้ไม่ตลอด

และคิดว่าสิ่งที่จำเป็นในการปลูกฝังแนวคิดดังกล่าวได้ น่าจะเป็นเรื่องการสร้างวินัย ความอดทน การเปิดใจยอมรับกับสถานการณ์จะเกิดขึ้น สุดท้ายก็น่าจะเป็นเรื่องของการคิดดี ทำดีและใส่ใจกับสิ่งดีๆ ขอบคุณอาจารย์ค่ะที่เสนอไว้เป็นแนวทางให้นำไปคิด

เด็กทุกคนมีธรรมชาติที่คิดดี ทำดีและใส่ใจกับสิ่งดีๆ อยู่แล้วครับ...เหลือแต่เพียงการปฏิบัติ ฝึกฝนจนเป็นนิสัยโดยครอบครัว คุณครู หรือผู้ใหญ่ในสังคมรอบข้างเท่านั้นก็จะสามารถนำพาเด็กๆ ของเราไปได้...ขอบคุณน้องจากนะครับที่ให้แนวคิดที่น่าสนใจ ฝากความคิดถึงถึงคณะ ศน.กระบี่ด้วยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท