บ้านกาญจนาภิเษก พื้นที่ของมนุษย์นิยม


ปัญหาที่น่าขบคิดต่อก็คือ แล้ว เราจะสังเคราะห์ความรู้จากเครื่องมือชุดต่างๆที่ครูมนกับเจ้าหน้าที่สร้างร่วมกับเด็กๆในบ้านหลังนี้ เพื่อถ่อยทอดองค์ความรู้ไปยังหน่วยงานต่างๆได้อย่างไร

อันที่จริงแล้วได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมเยียนครูมน หรือ คุณทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษก บ้านที่ในทางกฎหมายเรียกว่า “คุกเด็ก” บ้านที่ คุณหญิงจันทนี สันตะบุตร ที่บุกเบิกสร้างขึ้นโดยอาศัยความร่วมมือระหว่างรัฐและยูนิเซฟตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๖ เป็นต้นมา

ในยุคแรกของการบริหารจัดการของบ้านหลังนี้ ที่นี่ยังเรียกตัวเองว่าเป็น “คุกเด็ก” ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ เด็กๆ ๓๓ คน กับเจ้าหน้าที่ ๓๓ คน แบบ ๑ ต่อ ๑ การบริหารจัดการในบ้านหลังนี้เป็นลักษณะแบบโครงการนำร่องโดยเชิญครูมน ซึ่งเป็นนักพัฒนาเอกชนหรือที่ใครๆเรียกว่า เอ็นจีโอ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเข้ามาบริหารจัดการ แน่นอนที่สุดว่า ในระยะแรกครูมนก็ต้องประสบปัญหาในด้านการบริหาร โดยเฉพาะ การต่อสู้ทางความคิด

ต่อมาในระยะหลัง บ้านหลังนี้ ได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดจาก “คุกเด็ก” ที่ๆกักขังอิสรภาพทั้งกายภาพ และความคิด ของเด็กๆที่กระทำความผิด กลายเป็น “บ้านทดแทน” ที่เป็นบ้านของเด็กที่ พลาดหลง ในช่วงระยะเวลาหนึ่งของชีวิต

ในระหว่างทางเดินเข้าบ้าน แนวคิดพื้นฐานของบ้านหลังนี้ถูกประกาศอย่างชัดเจนว่า ไม่ใช่คุก แต่เป็นบ้านทดแทน ของเด็กๆที่ก้าวพราก หรือ พลัดหลงทาง โดยเชื่อว่า เด็กๆเหล่านี้ สามารถซ่อมแซมได้หากได้รับปัจจัยเกื้อหนุนที่ดี ในการรักษา เยียวยา บาดแผลที่อยู่ข้างในของเขาได้

ความน่าสนใจของบ้านหลังนี้มี ๔ เรื่อง

เรื่องแรก แนวคิดพื้นฐานของบ้านหลังนี้ เต็มไปด้วย แนวคิดเรื่อง มนุษย์นิยม คือ “เชื่อ” ในความเป็นมนุษย์ เชื่อในการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีของมนุษย์ โดยเฉพาะเด็กๆในบ้าน ครูมนเล่าให้ฟังถือกรณีของใหญ่ ซึ่งในขณะนี้อยู่ในคุกผู้ใหญ่ แต่สื่อสารกับป้ามนผ่านทางจดหมายว่า เมล็ดพันธุ์เมล็ดนี้ยังพร้อมที่จะงอก ซึ่งครูมนก็ยืนยันหนักแน่นว่า ป้ารอคอยการงอกของเมล็ดพันธุ์นี้อย่างไม่ย่อท้อ หรือ กรณีของน้องอีกคนที่ขึ้นไปรับรางวัลร่วมกับเด็กดี เด็กเก่งที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันเด็กที่ผ่านมา น้องกลับมาเขียนบันทึกว่า รู้สึกขนลุกที่ได้อยู่ท่ามกลางเด็กเก่งๆ การขึ้นไปรับรางวัลร่วมกับเด็กๆคนอื่นในทำเนียบรัฐบาล เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า เด็กๆที่ก้าวพลาด สามารถกลับมาเดินในเส้นทางร่วมกับคนอื่นๆได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่ ผู้ใหญ่จะเชื่อมั่นในความดีในตัวมนุษย์ของเด็กๆเหล่านั้นมากน้อยแค่ไหน แต่ครูมนได้แสดงให้เราเห็นว่า ครูมน เชื่อมั่นในความดีทีซ่อนอยู่ในตัวเด็กๆทุกคนเหมือนที่เชื่อในตัวใหญ่นั่นเอง

เรื่องที่สอง แนวคิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของเด็กๆ ในบ้าน ภายใต้แนวคิดเรื่องมนุษย์นิยม ทำให้การเคารพความคิดซึ่งกันและกัน แบบมีส่วนร่วม กลายเป็นแนวคิดพื้นฐานในการทำงานในแต่ละเรื่อง เช่น เรื่องการล้างขี้นกบนโต๊ะ เก้าอี้ที่นั่งของครอบครัวที่มาเยี่ยมเด็กๆในบ้าน แม้ครูมน จะสามารถ “สั่ง” ให้เด็กๆล้างขี้นกก็สามารถทำได้ แต่ครูมนเลือกที่จะใช้การประชุมร่วมกันของเด็กๆในบ้าน พร้อมที่บอกเป้าหมายที่แท้จริงว่า การทำให้พ่อแม่สบายใจเวลาที่มาเห็นบ้านที่สะอาด พ่อแม่จะรู้สึกอย่างไร เพียงแค่นี้ เด็กๆในบ้านก็หารือกันว่า ทำเพื่ออะไร ทำดีไหม แล้วทำอย่างไร ผลสุดท้ายก็คือ เด็กๆร่วมกันล้างขี้นกที่เก้าอี้ด้วยความเต็มใจ เพราะมีเป้าหมายที่สร้างขึ้นมาร่วมกัน

เรื่องที่สาม บ้านนี้มีเส้นมาตรฐานความดี ไม่สูงเกินไป เพื่อให้เด็กๆสามารถเข้าถึงได้ แนวคิดนี้น่าสนใจสำหรับการปฏิรูประบบการศึกษา และการปฏิรูประบบฐานคิดของผู้ใหญ่ เพราะการสร้างมาตรฐานชีวิตในสังคมด้วย ความเก่ง ที่วัดกันด้วยผลการศึกษาตามระบบการศึกษา หรือ การสร้างเส้นมามาตรฐานความดีที่สูงเกินไปจนเด็กๆบางกลุ่มแตะไม่ถึง อาจะทำให้เด็กๆเหล่านั้นถูกตราว่าเป็นคนไม่ดี ไม่มีพื้นที่ยืนในสังคม และ ในท้ายที่สุด ก็ต้องกลับไปสู่อาณาบริเวณของการกระทำความผิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น บ้านหลังนี้ จึงมีกระบวนการในการออกแบบการสร้างเส้นมาตรฐานความเก่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ร่วมกัน การสร้างเส้นมาตรฐานความดี ภายใต้หลักการพื้นฐาน เรื่อง การไม่เบียดเบียนผู้อื่น การละอายหรือเกรงกลัวต่อบาป เพียงแค่นี้ เด็กๆก็รู้สึกว่าสามารถเข้าถึงความเก่งและความดีได้ไม่ยาก ยิ่งได้พบกับพี่อาสาสมัครคนหนึ่งที่เข้ามาสอนให้เด็กๆทำละคร ที่บอกว่า น้องๆเหล่านี้มีความสามารถในการเขียนบท สร้างบทที่น่าสนใจ ยิ่งบ่งชี้ได้ว่า หากไม่ปิดโอกาสด้วยการสร้างเส้นมาตรฐานความเก่ง ความดีที่สูงเกินไป น้องๆเหล่านี้พร้อมที่จะร่วมไปในเส้นทางความเก่ง และ ความดี ตามแบบฉบับที่นอ้งๆมีความสามารถเชิงบวกได้

เรื่องที่สี่ ชุดเครื่องมือในการทำงานเพื่อเยียวยา ซ่อมแซม เรื่องต่างๆของเด็กๆในบ้าน เพื่อทำให้กลับไปยืนในสังคมในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ครูมนมีชุดเครื่องมือหลายชุดในการทำงาน เช่น การวาดแผนทิศชีวิต เพื่อให้เห็นมุมมองด้านผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเด็กๆแต่ละคน ว่ามีผลต่อใครบ้างอย่างรอบตัว แผนที่ดังกล่าว ทำให้เด็กๆเห็นทางเลือกก่อนตัดสินใจกระทำอะไรลงไป หรือแม้แต่ เครื่องมือที่ทำให้รู้จักเหตุผล “อันซ่อนเร้น” ที่เราไม่อาจรู้ได้ ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่น้องคนหนึ่งต้องเรียก “แม่” ว่า พี่ และ เรียก ยายว่าแม่ เมื่อรู้ความจริง ทำให้เกิดความโกรธ ชุดเครื่องมือที่ครูมนใช้ก็คือ การตั้งคำถามเล็กๆที่ย้อนกลับไปดูว่า อะไรคือสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ แม่ต้องกลายเป็นพี่ และ ยายต้องกลายเป็นแม่ เพียงแค่ คำถามว่า ในเวลาที่แม่ที่แท้จริงตั้งท้องอายุเพียงแค่ ๑๓ ปี ในเวลานั้น เด็กอายุ ๑๓ ปีควรอยู่ที่ไหน การตั้งท้องในเวลานั้น จะรู้สึกอย่างไร เมื่อคลอดออกมา มีทางเลือกได้หลายทาง ทางหนึ่งก็คือ การทิ้งและหนีไป แต่ทั้งสองคนเลือกที่จะนำกลับมาเลี้ยงดู เห็นได้ชัดว่า การทำให้ “ฉุก” คิด ด้วยเหตุและผลโดยไม่ตัดสินก่อนที่จะมองอย่างรอบด้าน เป็นเครื่องมือในการสร้างฐานความเข้มแข็งในเชิงสติปัญญาและเหตุผลได้เป็นอย่างดี

ปัญหาที่น่าขบคิดต่อก็คือ แล้ว เราจะสังเคราะห์ความรู้จากเครื่องมือชุดต่างๆที่ครูมนกับเจ้าหน้าที่สร้างร่วมกับเด็กๆในบ้านหลังนี้ เพื่อถ่อยทอดองค์ความรู้ไปยังหน่วยงานต่างๆได้อย่างไร

หมายเลขบันทึก: 329410เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2010 09:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 00:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท