เหลียวหลังแลหน้ากับวาระ(สื่อสร้างสรรค์เพื่อ)เด็กและเยาวชน : อดีต วันนี้ และอนาคต


ในปีนี้ อาจไม่จำเป็นที่จะต้องจัดทำวาระเด็กและเยาวชนในทิศทางใหม่ แต่น่าจะกลับมาทบทวนถึงโอกาสและความเป็นไปได้ในการทำให้ วาระเด็กและเยาวชน ที่ผ่านมา เดินได้จริงและเดินได้อย่างมั่นคง ข้อเสนอเชิงหลักการในปีนี้สำหรับวาระเด็ก เสนอให้ สั่งสมทุนทางปัญญาด้วยการร่วมทุนทางสังคม

ในวันเด็กของทุกๆปีนอกจากจะเป็นวันสำคัญที่เด็ก เยาวชนจะมีโอกาสได้รับคำขวัญ ของขวัญ และ โอกาสในการเข้าชมสถานที่สำคัญในสถานที่ต่างๆแล้ว ในช่วง ๒ ถึง ๓  ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมักจะให้คำมั่นในการจัดทำนโยบายที่เป็นกลไกสำคัญในการสร้างเสริมและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเด็กและเยาวชนในรูปของ วาระเด็กและเยาวชน ซึ่งเปรียบเสมือนคำสัญญาในเชิงหลักการที่จะให้เป็นของขวัญที่ลงไปสร้างรากฐานในระดับโครงสร้างเพื่อให้เด็ก และเยาวชน ได้มีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่

เริ่มต้นจากปี ๒๕๕๐ รัฐบาล ประกาศวาระเด็กและเยาวชนโดยมีนัยสำคัญที่มุ่งมั่นวางรากฐานการพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างจริงจัง ในกรอบของ ๕ วาระสำคัญ คือ (๑) การจัดตั้งกองทุนสื่อเพื่อเด็ก (๒)  จัดให้มีกลไกในการส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์ของเยาวชนทั้งใน และนอกสถานศึกษา (๓)  สร้างระบบพัฒนาครูพี่เลี้ยงเด็กอนุบาลที่มีคุณภาพ (๔) ส่งเสริมจังหวัดน่าอยู่สำหรับเด็ก และ (๕) พัฒนากฎหมายส่งเสริมครอบครัว โดยมีมติมอบหมายให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นแกนหลักร่วมกับกระทรวงด้านสังคม ประกอบด้วยกระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๕๑ มีวาระเด็กและเยาวชนใน ๕ ด้านเช่นกัน กล่าวคือ (๑) ส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา  เพื่อส่งเสริมศักยภาพของเด็กและเยาวชนที่หลากหลายทำให้เกิดคุณลักษณะที่ดี (๒) ส่งเสริมสถาบันครอบครัว เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการเรียนรู้ของครอบครัวในทุกภาคส่วนของสังคม (๓) ส่งเสริมสื่อเพื่อการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว  เพื่อให้เกิดรายการโทรทัศน์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว   (๔) จังหวัดน่าอยู่สำหรับเด็กและเยาวชน  เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีและปลอดอบายมุข   (๕)  ส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่มีคุณภาพ เพื่อให้เด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นช่วงที่มีโอกาสสำคัญในการเรียนรู้ด้านเชาว์ปัญญา  และความฉลาดทางอารมณ์ได้พัฒนาเต็มตามศักยภาพ

และในปี พ.ศ.๒๕๕๒ ก็ได้มีการประกาศวาระเด็กและเยาวชนใน ๔ ประเด็นหลัก (๑) การสร้างพื้นที่ที่สร้างสรรค์ที่มีคุณภาพสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว ให้มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น (๒) ส่งเสริมกลไกการเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน โดยระดมความร่วมมือจากหน่วยงานและองค์กรภาคต่าง ๆ ที่มี (๓)  ส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีประสบการณ์ และผู้ที่มีความพร้อมในด้านต่าง ๆ ของสังคมเข้ามาช่วยกันทำงาน และ (๔) ส่งเสริมบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะเข้ามาทำงานทางด้านการศึกษาและการขับเคลื่อน ในการสร้างพื้นที่ที่สร้างสรรค์ ให้เกิดความกว้างขวางมากยิ่งขึ้น

จะเห็นได้ว่าในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา วาระเด็กและเยาวชนมีสาระสำคัญหลักอยู่ใน ๒ ส่วน กล่าวคือ หนึ่ง ส่วนของเนื้อหา ซึ่งมีประเด็นหลักในกรอบหลัก ๓ เรื่อง ทั้งเรื่อง สื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ การเพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์ในการแสดงออกของเด็ก เยาวชน และ กิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ทั้งในระบบการศึกษาและนอกระบบการศึกษาเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการเรียนรู้อย่างทั้งด้านร่างกาย ปัญญา อย่างต่อเนื่อง ส่วนที่สองคือส่วนของโครงสร้าง ที่เน้นการสร้างการมีส่วนร่วมของเด็ก เยาวชน ชุมชน และ ภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักในการพัฒนากระบวนการในการทำงานในระดับพื้นที่

แต่เมื่อย้อนกลับมาดูที่ผลลัพธ์ของการทำงานเพื่อตอบสนองต่อวาระเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะประเด็นด้านสื่อ ตัวเลขเชิงสถิติของจำนวนรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชน คือกลุ่ม รายการประเภท ป และ ด พบว่า จากทุกสถานีรมกันมีรายการทั้งสองประเภทรวมกันเพียงร้อยละ ๑๐ ของจำนวนเวลาทั้งหมดที่ออกอากาศ จะพบมากที่สุดในทีวีไทย ในจำนวนของรายการเด็กทั้งหมด ก็พบว่า มีโฆษณาที่แฝงไปกับเนื้อหารายการจนแยกไม่ออกว่าอะไรคือโฆษณา อะไรคือเนื้อรายการอยู่เป็นจำนวนมาก โฆษณาขนมขบเคี้ยวปรากฏในรายการเกือบทุกรายการ นอกจากนั้น ยังพบว่าในบรรดาการ์ตูนที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็ก พบว่า ร้อยละ ๖๓ ของการ์ตูน มีการนำเสนอภาพความรุนแรงอย่างชัดเจน

ยังไม่นับรวมถึง การผลักดันให้เกิดโครงสร้างการสนับสนุนการพัฒนาสื่อเชิงสร้างสรรค์ในรูปของกองทุนสื่อสร้างสรรค์ที่มีการผลักดันมานานกว่า ๘ ปี ทั้งที่มีข้อสรุปทางวิชาการ การขับเคลื่อนทางสังคม การจัดทำนโยบาย แต่ถึงกระนั้นแล้ว ร่าง พรบ.กองทุนสื่อสร้างสรรค์ยังไม่ได้ถูกนำเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติในสภา ไม่ได้มีแม้กระทั่ง การจัดทำโครงสร้างในการทดลองจัดตั้งกองทุนในรูปของการระดมทุนสนับสนุนและระบบการสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจหันมาสนับสนุนการพัฒนาสื่อสร้างสรรค์

ในปีนี้ อาจไม่จำเป็นที่จะต้องจัดทำวาระเด็กและเยาวชนในทิศทางใหม่ แต่น่าจะกลับมาทบทวนถึงโอกาสและความเป็นไปได้ในการทำให้ วาระเด็กและเยาวชน ที่ผ่านมา เดินได้จริงและเดินได้อย่างมั่นคง

ข้อเสนอเชิงหลักการในปีนี้สำหรับวาระเด็ก เสนอให้ สั่งสมทุนทางปัญญาด้วยการร่วมทุนทางสังคม เน้นการพัฒนาและส่งเสริมต้นแบบการพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ทั้งที่ผลิตโดยมืออาชีพ สื่อสมัครเล่น โดยเฉพาะสื่อที่ถูกผลิตโดยเด็ก เยาวชน ร่วมกับชุมชน แบบมีส่วนร่วมโดยอาศัย การสนับสนุนแบบการร่วมทุนทางสังคมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับส่วนท้องถิ่น ส่วนภูมิภาค และส่วนกลาง ที่จำเป็นต้องทำในวาระเร่งด่วนก็คือ การสนับสนุนให้เกิดการส่งเสริม “ต้นแบบ” ที่มีอยู่แล้วให้เดินได้ และขยายเครือข่ายออกไปให้มีจำนวนมากขึ้น และ แข็งแรงขึ้น โดยไม่ลืมที่จะเน้นการสร้างจิตสำนึกร่วมกันถึงความสำคัญของสื่อสร้างสรรค์ในฐานะทุนทางปัญญา

ภายใต้ลายลักษณ์อักษรในวาระเด็กและเยาวชนที่เป็นการ “กล่าว” ในเชิงนโยบายในลักษณะของ “คำมั่น” ที่รัฐบาลให้สัญญากับประชาชน แต่ในความเป็นจริงแล้ว วาระเด็กและเยาวชนทั้ง ๓ ปีที่ผ่านมาเป็นการทำงานภายใต้กรอบของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีพันธะกรณีที่จะต้องปฏิบ้ติตามในฐานะรัฐที่เข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญา

ที่กล่าวเช่นนี้ กำลังที่จะบอกให้ชัดเจนว่า รัฐบาลคงต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กในฐานะกฎหมายระหว่างประเทศ และในฐานะสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน มากกว่าเป็นเพียงการผลิต “วาทกรรม” ที่ไม่เห็นผลในทางปฏิบัติ

หมายเลขบันทึก: 329407เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2010 09:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 14:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท