อย่างนี้ก็มีด้วย!!!


          การทำงานในองค์กรต่างๆ ย่อมต้องมีความผิดพลาดอยู่เสมอ การจะให้องค์กรเกิดการพัฒนาที่ดีได้นั้น จำเป็นที่จะต้องมีการสำรวจตรวจสอบ โดยตลอดเวลา แต่ต้องไม่ให้การตรวจสอบนั้น มีมากเกินไปจนกลายเป็นการจับผิด

          ผมเข้าใจว่าอาจเป็นความปรารถนาดี ที่เราทุกคนในองค์กรต้องคอยตรวจสอบ และพัฒนาการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ แต่การทำงานทุกสิ่งทุกอย่าง ย่อมต้องมีข้อผิดพลาดบ้างไม่มาก...ไม่น้อย ตามแต่มุมมองของแต่ละคน แต่สิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นในการทำงาน คือ

          “การจับผิดงาน”

          การจับผิดกับการตรวจสอบงานมีความแตกต่างกัน เรามักจะใช้คำในความหมายที่พยายามจะบังคับให้คล้ายกัน แต่ในความเป็นจริง ไม่ใช่ครับ คนละความหมายกันเลย

          บางท่านอ้างว่า การที่เขียนรายงานให้ทราบ ก็เพื่อให้เกิดการปรับปรุง หรือแก้ไข แต่ในการแก้ไขนั้น ต้องเสียเวลาในการตั้งคณะกรรมการ อาจจะมากหรือน้อยก็แล้วแต่ แต่ที่สำคัญและน่าเป็นห่วงในเรื่องนี้คือ

          “เวลาที่สูญเสียจากการแก้ต่าง!!!”

          เราไม่สามารถนำเวลาต่างๆ กลับคืนมาได้ แต่เราสามารถที่จะบริหารเวลานั้นได้ ผมมองเห็นว่า การติเพื่อให้เกิดการแก้ไข หรือการตรวจสอบที่ดีนั้น

          “ไม่จำเป็นต้องใช้การรายงานเป็นลายลักษณ์อักษร”!!

          เพราะการเอ่ยปากบอกกัน ผมมองว่าจะดีกว่า เพราะง่าย ลดขั้นตอนความยุ่งยาก ซึ่งส่งผลดีต่อองค์กรได้มาก ตัวอย่างเช่น ปริมาณกระดาษ เวลา อารมณ์ ซึ่งอารมณ์นี่ล่ะ เป็นตัวที่ทำให้การทำงานทุกอย่างหยุดชะงัก เหมือนที่เราอาจจะได้ยินบ่อยๆ

          “ไม่มีอารมณ์จะทำแล้ว”

          ปัญหานี้แก้ไม่ยากครับ ก่อนตรวจสอบผู้อื่น ลองตรวจสอบการทำงานของตัวเองว่าเลิศเลอเพียงใดก่อน!!! หากเลิศเลอจริง และพร้อมเป็นตัวอย่างได้ก็ขอให้แสดงเต็มที่ หรือไม่เลิศเลอจริง ก็พัฒนาให้เลิศเลออย่างที่ต้องการ แล้วการแนะนำผู้อื่น ตวจสอบผู้อื่น จะทำได้ง่าย เพราะผู้สอน สามารถปฏิบัติได้จริง!!!

          มีกรณีศึกษา อยากนำมาถ่ายทอดให้ได้ทราบกัน ผมได้พูดคุยกับเพื่อนๆ ด้าน HR แล้วก็นึกขำครับ เขาเล่าว่า

          ท่านนี้ดำรงตำแหนงเป็นระดับผู้บริหาร งานก็ค่อนข้างมาก (จะบอกว่ามากก็เพราะท่านไม่กระจายงาน ท่านทำงานเพียงคนเดียว ใช้อำนาจตัดสินใจเพียงคนเดียว) งานท่านจะเป็นอย่างไรไม่ทราบได้ ท่านมีเลขาช่วยงานเป็นอย่างดี แล้ววันดีคืนดี เลขาของท่านไม่มาทำงาน หายเงียบเข้ากลีบเมฆ ท่านเลยเดินมาที่ฝ่าย HR แล้วยิงคำถามว่า

          “HR ไปพูดอะไรกับเลขาพี่ เขาเลยไม่มาทำงาน??”

          ซึ่งผมฟังเพื่อนเล่าแล้ว...ก็อดขำไม่ได้ แสดงให้เห็นถึงวุฒิภาวะว่า ท่านไม่ได้พิจารณาตัวเองในเบื้องต้น ว่าท่านทำงานเช่นไร? แต่ท่านกลับกล่าวโทษคนอื่นว่า...ทำให้งานของท่านเสียหาย

          น่าเห็นใจผู้ที่ต้องทำงานอยู่ในระดับสูงๆ เพราะไม่ค่อยได้มีโอกาสพิจารณาการทำงานของตัวเองเหมือนตอนเป็นฝ่ายปฏิบัติการ (Operation) เพราะคงไม่มีใครกล้าที่จะอาจหาญ กล้า Complain เพราะนั่นอาจจะหมายถึง หน้าที่การงานกระเด็นกระดอน สู้อยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร ปล่อยให้เขาว่าไปเถอะ ดังนั้น พนักงานจึงมีอยู่ 2 กรณี เวลาที่สู้งานไม่ได้คือ

  1. ผลักดันให้ระดับสูงเปลี่ยนความคิด
  2. นำตัวเองออกจากองค์กร

          ซึ่งผมเชื่อว่าข้อ 2 เป็นเสียงส่วนใหญ่ที่เลือกเดิน เพราะข้อที่ 1 เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากในสังคมไทย สังคมที่มีความเป็นชนชั้นหรือยึดถืออาวุโสมากเกินความพอดี...

หมายเลขบันทึก: 328961เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2010 16:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 12:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

พุทธรรมสอนมิให้เพ่งโทษผู้อื่น แต่ให้พิจารณาแก้ไขตนเอง.."คนดีชอบแก้ไข..คนชั่วชอบแก้ตัว"...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท