พราหมณ์ : พราหมณ์ในสมัยสุโขทัย


 ศาสนาพราหมณ์ในสมัยสุโขทัย

               

                อาณาจักรสุโขทัยเป็นอาณาจักรที่อยู่ในภาคกลางตอนบนของประเทศไทย มีศูนย์กลางการปกครองที่เมืองสุโขทัย แต่เนื่องจากเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยงข้องกับอาณาจักรสุโขทัยมีอยู่จำกัดจึงทำให้เรื่องราวของอาณาจักรไม่ชัดเจนเท่าที่ควร เรื่องราวส่วนใหญ่ของสุโขทัยศึกษาได้จากศิลาจารึกร่วมสมัยในสุโขทัยเป็นหลัก ดังเช่น ศิลาจารึกวัดศรีชุม ทำให้เราทราบถึงการก่อตั้งอาณาจักรกล่าวคือ พ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราด และพ่อขุนบางกลางหาวเจ้าเมืองบางยาง ซึ่งทั้งสองเป็นพระสหายกันและได้ร่วมกันขับไล่ขอมสมาดโขลญลำพงออกจากเมืองสุโขทัย และได้สถาปนาเมืองสุโขทัยเป็นราชธานีต่อมา โดยมีพ่อขุนบางกลางหาวขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นกษัตริย์สุโขทัยพระองศ์แรงเฉลิมพระนามว่าพ่อขุนศรีอินทราทิตย์

                แม้จะขับไล่พวกขอมไปได้แล้ว แต่อิทธิพลทางศาสนาพราหมณ์จากอาณาจักรขอมก็ยังคงอยู่ ดังปรากฏทั้งในด้านการปกครองและด้านวัฒนธรรม  แม้ต่อมาในสมัยพ่อขุนรามคำแหงที่ทรงศรัทธาในพระพุทธศาสนานำพระสงฆ์ขึ้นมาจากนครศรีธรรมราชเพื่อเผยแพร่ศาสนาพุทธให้ประชาชนชาวสุโขทัยจนกลายเป็นศาสนาประจำรัฐก็ตาม แต่อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ก็มิได้ถูกเพิกถอนไปจากอาณาจักร กล่าวได้ว่า ชนชั้นปกครองและประชาชนนับถือศาสนาพุทธและพราหมณ์ควบคู่กันไป ตัวอย่างหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลทางศาสนาพราหมณ์พราหมณ์ได้แก่ 

                 ศาลตาผาแดงหรือศาลเสื้อเมืองก่อด้วยศิลายกพื้นสูงทั้งทางด้านหน้าและด้านหลังมุขหน้าเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปพระอิศวร ส่วนมุขด้านหลังประดิษฐานพระนารายณ์ จัดว่าเป็นเทวสถานแบบขอมที่อยู่ทางเหนือสุด (บำรุง คำเอก, ๒๕๕๐ : ๒๒) 

                วัดศรีสวายเป็นปรางสามยอด พบพระพุทธรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์  วัดพระพายหลวง มีลักษณะใกล้เคียงกับวัดศรีสวาย คือประกอบด้วยปรางค์สามยอด ภายในปรางค์องค์กลางของวัดพระพายหลวง ประดิษฐานรรูปศิวลึงค์ และมีฐานโยนีรองรับ มีหอเทวาลัยเกษตรพิมาน เป็นเทวสถานโบสถ์พราหมณ์สำหรับพิธีบวงสรวงของพราหมณ์ที่ประกอบพิธีในราชสำนักสุโขทัย เช่นพิธีราชาภิเษก พิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย (พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ในการอุปถัมภ์ศาสนาพราหมณ์ – ฮินดูในประเทศไทย, ๒๕๓๐ : ๑๔๑) 

                พระราชพิธีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับลัทธิพราหมณ์ในสมัยสุโขทัยคือพระราชพิธิอภิเษก  ได้กล่าวไว้ในจารึกวัดป่ามะม่วง พ.ศ. ๑๙๐๔ ว่า

               “พระยาลือไทย...รู้พระปิฏกไตรได้ขึ้นเสวยราชย์ในเมืองศรีสัชชนาลัยสุโขทัยแทนปู่พ่อฝูงเท้าเป็นพระยาเบื้องตะวันออกตะวันตกหัวนอนตีนนอน ต่างคนต่างมีใจใคร่ใจรัก เอามงกุฎ (ขันชั) ยศรีเศวตรฉัตรมายัดยัญอภิเษกให้เป็นท้าวพระยา ทั้งหลายจังสมมติขึ้นชื่อ ศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรมราชาธิราช  เสวยราชย์ชอบด้วยทศพิธราชธรรม”  (อ้างใน สุภาพรรณ ณ บางช้าง, ๒๕๓๕ : ๕๖)

                ความสำคัญของศาสนาพราหมณ์ปรากฏเด่นชัดที่สุดในสมัยพระยาลิไท (พระมหาธรรมราชาที่ ๑ พ.ศ. ๑๙๑๑ – ๑๙๑๗) กล่าวคือ มีการแต่งตั้งพราหมณ์ในราชสำนักในตำแหน่งพระศรีมโหรสถพระ มหาราชครูปุโรหิต เพื่อถวายความรู้ คำปรึกษาราชการต่าง ๆ และมีการพระราชพิธีตามคำภีร์พระเวทและพระราชพิธีสิบสองเดือน ในตำแหน่งออกพระศรีมโหสถยศกมเลศครรไลหงส์พงศ์มหาพฤฒาจารย์ เป็นตำแหน่งพราหมณ์ปุโรหิต (สุพาภรณ์ ไผ่แก้ว, ๒๕๔๙ : ๓๐) 

                สมัยนี้มีสร้างเทวรูปสัมฤทธิ์ขึ้นหลายองค์ เช่น พระอิศวร พระอุมา พระนารายณ์ พระพรหม และพระหริหระ (พระอิศวรรวมกับพระนารายณ์) ลักษณะพระพักตร์เหมือนกับเทวรูปหมวดใหญ่ของสุโขทัยต่างกันตรงที่เครื่องทรง การที่สมัยสุโขทัยซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์อย่างแน่นแฟ้น แต่หล่อเทวรูปทางศาสนาพราหมณ์หลายองค์ หม่อมเจ้า สุภัทรดิส ดิศกุล  บิดาแห่งประวติศาสตร์ศิลปะ ทรงให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า

                “พระเจ้าแผ่นดิน...ทรงจำต้องอุปถัมภ์ศาสนาพราหมณ์เพื่อประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ และเพื่อการปกครองประเทศเช่นเกี่ยวกับการตัดสินอรรถคดี เพราะพราหมณ์เป็นผู้รักษาคัมภีร์ธรรมศาสตร์ เป็นต้น...” (สุภัทรดิส ดิศกุล, หม่อมเจ้า., ๒๕๔๖ : ๒๗ - ๒๘)

---------------------------------------------

บรรณานุกรม

             บำรุง คำเอก. ายงานการวิจัยเรื่องอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในรัชสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น.ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดีได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสถาบันวิจัยและการพัฒนามหาวิทยาลัยศิลปากร, มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๐.

            พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ในการอุปถัมภ์ศาสนาพราหมณ์ – ฮินดูในประเทศไทย. ไม่ปรากฏครั้งที่พิมพ์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา. ๒๕๓๐. 

           สุภัทรดิส ดิศกุล, หม่อมเจ้า. ศิลปะในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๑๒. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ๒๕๔๖.

           สุภาพรรณ ณ บางช้าง. “ขนบธรรมเนียมประเพณี : ความเชื่อและแนวการปฏิบัติในสมัยสุโขทัยถึงสมัยอยุธยาตอนกลาง .” โครงการเผยแพร่ผลงานวิจัย ฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์. ๒๕๓๕.

           สุพาภรณ์ ไผ่แก้ว.  “สถานะและบทบาทของพราหมณ์ในราชสำนักในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (พ.ศ. ๒๓๒๕ – ๒๓๕๒).” สารนิพนธ์ศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิตย์ (ประวัติศาสตร์), มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๔๙. 

 

วาทิน ศานติ์ สันติ : เรียบเรียง

คำสำคัญ (Tags): #พราหมณ์
หมายเลขบันทึก: 328842เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2010 00:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2013 07:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท