ท้องถิ่น-ปชป.หนุนงบฯ 35% อปท. พร้อมรับโอน "อนามัย"


ท้องถิ่น-ปชป.หนุนงบฯ 35% อปท. พร้อมรับโอน "อนามัย"
       "วิษณุ" อ้างหว่าน 5 แสนล้านให้ อปท. เรื่องเก่า สำนักงบฯ ชงแก้ปัญหาไม่สามารถรื้อ พ.ร.บ.กำหนดแผนได้ "วราเทพ" รับต้องขายผ้าเอาหน้ารอด ไม่ให้ขัด รธน. ปัดพัลวัลไม่ได้ตกเขียวหวังคะแนนเลือกตั้ง นายกฯ อบต.เชียงใหม่เชียร์สุดใจ บอกพร้อมรับถ่ายโอนศึกษา สาธารณสุข นายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ชี้มีวาระซ่อนเร้น
       นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครอง    ส่วนท้องถิ่น (กกถ.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 30 พฤษภาคม เห็นชอบจัดสรรรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในปีงบประมาณ 2550 ในสัดส่วนร้อยละ 35 หรือคิดเป็นเงิน 516,600 ล้านบาท โดยไม่แก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. พ.ศ. 2542 ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเก่าที่รัฐบาลมอบหมายให้สำนักงบประมาณไปศึกษาตั้งแต่ปลายปี 2548 ว่า    ถ้าไม่แก้ พ.ร.บ.กำหนดแผนฯ จะปรับวิธีตั้งงบประมาณและการเบิกจ่ายอย่างไร เช่น ภารกิจด้านการศึกษา ภารกิจด้านสาธารณสุข จะสามารถนำงบฯ ไปตั้งไว้ที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย    แล้วให้ อปท. เป็นคนเบิกเพื่อไปซื้อบริการจากส่วนราชการต่าง ๆ ได้หรือไม่ หากใช้วิธีนี้คาดว่าจะได้ตัวเลขไม่ถึงร้อยละ 35 แต่ก็คงขาดไม่มาก อันนี้เป็นสิ่งที่ ครม.รับทราบ   จากนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี     ได้สอบถามแนวคิดของตนว่าเห็นอย่างไร จึงบอกว่าด้วยเหตุที่รัฐบาลไม่สามารถตั้งงบประมาณได้ ไม่สามารถเสนอแก้ไขกฎหมายอะไรได้ จึงขอให้ ครม.รับทราบข้อเสนอของสำนักงบฯแล้วส่งต่อให้ กกถ. พิจารณาแล้วเตรียมเสนอรัฐบาลหน้า   "เหตุที่ ครม. ไม่ขยายเวลาการถ่ายโอนงบประมาณออกไปตั้งแต่ต้น เพราะตอนมอบการบ้านให้สำนักงบประมาณ ยังไม่เกิดเรื่องครูประท้วง รัฐบาลยังมั่นใจว่าจะจัดสรรงบประมาณได้ แม้จะไม่ถึงร้อยละ 35 แต่ก็ไม่ขาดมากอาจได้ร้อยละ 32-33 ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นเราค่อยคิดว่าจะหาอะไรมาเติม แต่พอมาเกิดเรื่องครู   ทำให้สถานการณ์บานปลายออกไปเรื่อย" นายวิษณุกล่าว
       ประธาน กกถ. กล่าวว่า ในส่วนที่สำนักงบฯ เสนอให้โยกงบฯแก้ไขปัญหาความยากจน งบฯ เอสเอ็มแอล และงบฯ ผู้ว่าฯ ซีอีโอไปให้ อปท.ดูแล หากไม่สามารถถ่ายโอนภารกิจต่าง ๆ ไป อปท. ได้นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะได้มอบหมายให้สำนักงบฯ ไปคิดว่าจะโยกอะไรได้บ้าง ภายใต้สมมติฐานไม่แก้ พ.ร.บ.กำหนดแผนฯ      ถ้าบอกว่าอาจจะแก้กฎหมายก็ไม่จำเป็นต้องคิดทำอะไรให้ยุ่ง มันก็ถอดสลักระเบิดไปแล้ว ส่วนจะดำเนินการอย่างไรต่อไปรัฐบาลชุดหน้าจะเป็นคนคิด รัฐบาลนี้ไม่คิดอะไรแล้ว
       ผู้สื่อข่าวถามว่า ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนฯ กำหนดให้จัดสรรงบฯ ให้ อปท. ร้อยละ 35 ในปี 2549 รัฐบาลต้องรับผิดชอบอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า "ก็ช่วยไม่ได้ บอกแล้วไงว่าปีนี้หมดแล้ว ขอตั้งงบฯ ก็ไม่ได้     ขอแก้กฎหมายก็ไม่ได้ ออก พ.ร.ก. (พระราชกำหนด ) อะไรก็ไม่ได้ มันเป็นเหตุสุดวิสัยจะให้ทำอย่างไร เพราะมัน   ไม่มีสภา" เมื่อถามย้ำว่า ในทางการรับผิดชอบจะอ้างคำว่าเหตุสุดวิสัยโดยไม่ทำตามกฎหมายได้หรือ รองนายกฯกล่าวว่า ใครจะเรียกให้รัฐบาลรับผิดชอบค่อยไปเรียกกันคราวหน้า รัฐบาลชุดหน้าต้องคิดว่าจะทำอย่างไร      ซึ่งอาจไม่ใช่รัฐบาลทักษิณก็ได้ อาจเป็นคนคิดใหม่ทำใหม่ก็ได้
       นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และกรรมการ กกถ. กล่าวว่า เรื่องแก้ไขกฎหมายถึงอยากทำ ก็ทำไม่ได้ หรือถึงอยากมีเงินอยากจะตั้งงบประมาณ แต่วันนี้ก็ทำไม่ได้ ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามทำอย่างถึงที่สุดแล้ว มีการวางแผนถ่ายโอนภารกิจให้ อปท.   อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าหากมีการขยายฐานภาษี มีการปรับปรุงประสิทธิภาพเรื่องการคลังของ อปท. จะทำให้ อปท. มีรายได้เพิ่มขึ้น
       วราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มติ ครม. เป็นข้อเสนอของ  สำนักงบประมาณในการจัดทำงบประมาณปี 2550 เพื่อรองรับการแก้ไขกฎหมายการกระจายอำนาจ เนื่องจาก   ยังไม่มีสภา จึงหาทางแก้ไข เพื่อไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่าต้องถ่ายโอนงบฯ ให้ท้องถิ่นในอัตรา 35%   ของรายได้รัฐ สำนักงบฯจึงเสนอให้ท้องถิ่นได้รับเงินรายได้ในส่วนที่ใช้ในภารกิจต่าง ๆ ที่ท้องถิ่นได้รับ แต่ยังไม่ได้ถ่ายโอนจากรัฐบาลกลาง ซึ่งประกอบด้วย สาธารณสุข การศึกษา รวมถึงงบฯ ผู้ว่าซีอีโอและหมู่บ้านเอสเอ็มแอล ให้โอนไปเป็นรายได้ท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้รายได้ท้องถิ่นเข้าเกณฑ์ 35% ตามที่กำหนดภายในปี 2549 (ปีปฏิทิน) ซึ่งสอดรับกับไตรมาสแรก ปีงบประมาณ 2550   "เนื่องจากภารกิจดังกล่าวยังเป็นของรัฐบาลกลาง จึงกำหนดให้ท้องถิ่นซื้อบริการจากรัฐบาลกลาง โดยใช้เงินที่รัฐบาลจัดสรรให้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำก็ต่อเมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามาเท่านั้น จึงไม่ใช่การตกเขียวหรือรองรับการเลือกตั้งอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะการดำเนินการจะเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดใหม่หรือหลังเลือกตั้งแล้ว มติ ครม. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม เป็นเพียงข้อเสนอที่ต้องเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกระจายอำนาจฯเพื่อพิจารณาว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ เพราะในข้อเสนอเหล่านั้น มีเรื่องการเพิ่มรายได้ของท้องถิ่นด้วย ซึ่งการตัดสินใจระดับนโยบายต้องหารือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง จึงจะนำกลับ เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ชุดใหม่อีกครั้ง" นายวราเทพกล่าว
       นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ว่า มติ ครม.  ในการกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจที่รัฐบาลตัดสินใจโอนงบฯ ร้อยละ 35 ในปี 2550 เป็นเรื่อง        ที่ถูกต้อง แม้ว่าจะช้าไป 1 ปี แต่ในอนาคตเพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของแผนฯ รัฐบาลต้องประสานงานกับคณะกรรมการกระจายอำนาจแห่งชาติ กำหนดแผน 2 เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้ให้ อปท. เป็นร้อยละ 50 เพราะในส่วนของร้อยละ 35 ถือเป็นเพียงอัตราขึ้นต่ำในปี 2549 หลังจากเริ่มใช้แผนเพียง 7
ปี และหากรัฐบาลมีความจริงใจ     ในการกระจายอำนาจ ก็ควรทำให้ราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเล็กลง ทำ อปท. ให้โตขึ้น อย่าพยายามหวงแหนอำนาจ เหมือนที่เคยทำผิดพลาดไว้กับระบบผู้ว่าฯซีอีโอ

มติชน  1  มิ.ย.  49
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 32867เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2006 10:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 08:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท