คิดเรื่องงาน (55) : พูดให้ฟัง...ทำให้ดู...อยู่เป็นเพื่อน


รณรงค์เรื่อง ”วัฒนธรรมทางใจในองค์กร” ที่มีต่อเรื่อง “จิตอาสา” หรือการสร้างเสริมให้บุคลากรเป็น “ต้นแบบ” ของ “จิตอาสา” แก่นิสิตไปในตัว

ถึงแม้ว่าช่วงนี้  ดูเหมือนลมหนาวจะกำลังโบกมือลาไปทุกขณะ  แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า บางพื้นที่ ยังคงก่อกองไฟไล่ลมหนาวอยู่อย่างไม่จากจาง  ขณะที่บางพื้นที่กลับออกอาการเดี๋ยวหนาวเดี๋ยวร้อน  เอาแน่
เอานอนไม่ได้

 

สำหรับผมและทีมงาน  ยังคงเดินหน้าทำโครงการ “ต้านลมหนาวถามข่าวคราวชาวบ้าน”  
กันอย่างไม่ละมือ  กิจกรรมนี้จัดขึ้นโดยเป็นความร่วมมือระหว่างกองกิจการนิสิต กับนิสิตกลุ่มโครงการส่งเสริมเยาวชนดีเด่นด้านศิลปวัฒนธรรม  โดยมีบ้านเหล่าหลวง หมู่ที่ 8  และบ้านเหล่าหลวงกลาง หมู่ที่ 12 ต.ภูดิน อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์  เป็นพื้นที่เป้าหมาย

 

กิจกรรมประมูลสิ่งของในองค์กร-อีกหนึ่งกระบวนการสร้างวัฒนธรรมทางใจในองค์กร

 

จะว่าไปแล้ว  หมู่บ้านดังกล่าว  คงไม่ถือเป็นพื้นที่เข้าขั้นประสบภัยหนาวเหมือนหมู่บ้านอื่นๆ  
ถึงกระนั้น  ผมก็ยังอยากจะยืนยันอีกครั้งว่า “ได้ชื่อว่าลมหนาว  ยังไง-ก็ยังต้องหนาวเหน็บเหมือนกันทุกโค้งคุ้ง  ขึ้นอยู่กับว่าที่ไหน-จะหนาวทน.. หนาวนาน ... และที่ใด-ผู้คนจะขัดสนมากกว่ากันเท่านั้นเอง”

 

และอีกเหตุผลที่เราตัดสินใจมายังที่นี่ ก็คงไม่ใช่เพราะเหตุผลของภัยหนาวล้วนๆ หรอกนะครับ  หากแต่เป็นเพราะว่า  เมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา  หมู่บ้านดังกล่าวเคยเป็นชุมชนที่นิสิตกลุ่มนี้เคยได้มาฝากตัวเป็น “ลูกฮัก”  เพื่อทำการศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้าน
มาแล้วนั่นเอง

 

ดังนั้น  เราจึงกลับมาที่นี่อีกครั้ง  เพื่อทำการสรุปผลการเรียนรู้และมอบสื่อการเรียนรู้ทั้งหมด
แก่ชุมชน  หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ  ผมต้องการให้กิจกรรมที่ว่านี้  เป็นเสมือนการนำพาให้เหล่าบรรดา “ลูกฮัก”  ทั้งหลายได้กลับไป “เยี่ยมยามถามข่าวพ่อฮักและแม่ฮัก” ของตัวเองอีกครั้ง  

 

บรรดาลูกฮักออกโรงประชาสัมพันธ์และขอรับบริจาคด้วยตัวเอง

 

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้  จะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม  ไม่ว่าค่ายใดก็ตามเถอะ  ผมก็มักย้ำแนวคิดเรื่องการติดต่อสื่อสารระหว่างชาวค่ายกับชาวบ้านกับนิสิตอย่างจริงจังเสมอ  เป็นต้นว่า  ผมไม่อยากให้นิสิตไปทำค่ายแค่ครั้งเดียวก็เร้นหายไปจากชาวบ้าน  ถ้าเป็นไปได้  ก็ควรจัดกิจกรรม
กลับไปเยี่ยมเยียนชาวบ้านบ้าง  หรือไม่ก็ขอให้คิดที่จะติดต่อสื่อสารกับชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง... 
มีงานบุญงานทาน  หากมีเวลา  ก็อาจปลีกตัวไปช่วยงานพ่อฮักแม่ฮักบ้างก็เป็นได้

 

เกี่ยวกับประเด็นนี้  ผมหมายถึงว่า หากเป็นไปได้  ก็ควรจัดกิจกรรมต่อเนื่องร่วมกับชุมชนบ้าง 
เพื่อการกระตุ้น  หรือสร้างกระบวนการให้ชุมชนได้บริหารจัดการตัวเองอย่างมีระบบ  อันเป็นกลไกพื้นฐานที่จะนำพาชุมชนไปสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืน  มิใช่ทำครั้งเดียวแล้วก็เร้นกายหายไปในกลีบเมฆ  เพราะเรื่องบางเรื่อง  เราต้องยอมรับว่า...ชาวบ้านก็ยังต้องการแรงหนุนส่งอยู่อีกสักระยะ 

 

 
อีกมุมหนึ่งของการร่วมลงแรงกับนิสิต

 

ด้วยเหตุนี้  ผมถึงต้องพยายามให้นิสิตลงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งอย่างน้อยสองถึงสามครั้งเสมอ รวมถึงการพยายามทุ่มเททำให้เป็นรูปธรรมมากที่สุดเท่าที่ศักยภาพของเราจะพึงกระทำได้  พร้อมๆ กับการชวนเชิญ และสร้างแรงกระตุ้นให้ชุมชนได้ตระหนักในตัวตนและคุณค่าของตัวเอง  เพื่อจะได้ลุกขึ้นมาทำอะไรๆ ด้วยตัวเองอย่างแข็งขัน-ภาคภูมิ

ในทำนองเดียวกันนั้น  เกี่ยวกับความรักและความผูกพันที่เกิดขึ้นระหว่างนิสิตกับชาวบ้าน  ก็ถือเป็นเรื่องมหัศจรรย์อยู่มาก  สิ่งเหล่านี้ถือเป็นภาพสะท้อนสายใยความผูกพันของหัวใจจากคนที่ไม่ใช่ญาติ แต่เหมือนญาติที่ขาดไม่ได้อย่างน่าทึ่ง

ครับ,ไม่ใช่ลูก ก็เหมือนลูก ไม่ใช่พ่อ ก็เหมือนพ่อ  ไม่ใช่แม่ ก็เหมือนแม่...ต่างคน
ต่างเติมเต็มกันและกัน  บางครั้ง หรือแม้แต่บางที  นิสิตที่กำพร้า ก็มาได้พ่อฮักเยียวยาหัวใจ  ชาวบ้านที่ไม่มีลูก หรือลูกไปทำงานอยู่ไกลจากบ้าน  ก็พลอยได้นิสิตนี่แหละมาเป็นลูกอีกคนให้คลายเหงา-มีแรงใจในการใช้ชีวิต  บางคนถึงขั้นยังเคยบอกกับผมในทำนองว่า
“ลูกฮักที่เป็นนิสิต...โทรมาหาบ่อยกว่าลูกจริงๆ เลยก็มี” ...

 

 
สวมบทบาทนักแสดงบนเวทีร่วมกับนิสิต

แต่อย่างไรก็ดี  การกลับไปยังชุมชนในแต่ละครั้ง  ผมก็มักกระตุ้นให้นิสิตกลับไปแบบมี
ของติดไม้ติดมือไปฝากพ่อฮักแม่ฮักด้วยเสมอ  ไม่ใช่สัญจรไปมือเปล่าๆ
  หรือไม่ก็ควรต้อง
ไม่สะพายกระเป๋าใบใหญ่ไปเปล่าๆ  เพราะในตอนกลับ  ไม่ว่าที่ไหนก็เถอะ  ผมไม่เคยเห็นชาวบ้านแล้งน้ำใจเลยสักที่  มีอะไรๆ ก็ขนมาฝากจนล้นกระเป๋าของนิสิตทุกครั้งก็ว่าได้  สิ่งเหล่านี้ 
เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็จริง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม และนั่นก็คือกระบวนการของการเรียนรู้วิถีอันเป็น “วัฒนธรรมทางใจ” ที่ผมพยายามสื่อสารไปยังนิสิต 

แน่นอนครับ  การสื่อสารของผม  ก็มิได้หมายถึงพูด.. และพูดปาวๆ ร่ำไป และไม่ได้ปล่อยปละ
ให้นิสิตที่ฟังแนวคิดของผมนั้นต้องลงทุนลงแรงอยู่อย่างเดียวดายเสมอไป  แต่ทั้งผมและทีมงาน ก็ล้วนแล้วแต่ได้เทใจไปลงแรงกับนิสิตอยู่อย่างต่อเนื่อง  ด้วยการร่วมคิดร่วมทำในกิจกรรม
เหล่านั้น ราวกับทั้งผมและทีมงาน “เป็นลูกฮัก”  ของชาวบ้านเสียเอง

ดังนั้น  เจ้าหน้าที่ของผม  จึงมักกระโจนลงไปร่วมกระบวนการกับนิสิตอยู่เสมอ มีการร่วมด้วย
ช่วยกันกับนิสิตอย่างต่อเนื่อง เป็นต้นว่า  สนับสนุนกระบวนการต่างๆ ของนิสิต อาทิ การช่วยประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ  ช่วยสร้างบรรยากาศในขอรับบริจาคทั้งในหมู่นิสิตและคณาจารย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  การกระตุ้นให้บุคลากรในองค์กรของเราเองได้มีส่วนในการเติมเต็มแรงคิดของนิสิต  ทั้งการบริจาคสิ่งของ  บริจาคทุนทรัพย์  หรือแม้แต่การนำเอาสิ่งของที่ได้รับบริจาคมาจากคนกันเอง เพื่อจัดประมูลในองค์กร  เสร็จแล้วก็นำเงินที่ได้ไปสมทบเป็นกองทุนจัดกิจกรรม “ต้านลมหนาว”  เรียกได้ว่า เป็นการรณรงค์เรื่อง ”วัฒนธรรมทางใจในองค์กร” ที่มีต่อเรื่อง “จิตอาสา” หรือการสร้างเสริมให้บุคลากรเป็น “ต้นแบบ” ของ “จิตอาสา”  แก่นิสิตไปในตัว ...

นี่ก็เป็นวิธีการหนึ่งตามแนวคิดของผม ดังว่า “พูดให้ฟัง...ทำให้ดู...อยู่เป็นเพื่อน” 

 

 
ถอดหัวโขนการเป็นเจ้าหน้าที่เพื่อร้องลำกับนิสิต


ครับ, ก็เป็นธรรมดามิใช่หรือ  หากเราพบเจอว่าใครสักคนกำลังทำในเรื่องอันดีงาม  
เราก็ควรไม่ทำตัว
“ดูดาย-ธุระไม่ใช่”  และในสิ่งที่เราสอน หรือแม้แต่ชักชวนให้นิสิตมีแรงบันดาลใจที่จะลงมือทำ  เราก็ยิ่งไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะละเลยปล่อยให้เขาดุ่มเดินไปในวิถีนั้นอย่างลำพัง –

 

เฉกเช่นเดียวกัน  การ “พูดให้ฟัง...ทำให้ดู...อยู่เป็นเพื่อน”  ของผมและทีมงาน ก็คงมิได้หมายถึงการหยัดเยียด หรือแม้แต่สรรหา หรือเสกสร้างอะไรๆ ให้นิสิตเสียทั้งหมด  จนดูราวกับว่า  นิสิตไม่ได้ลงแรงใดๆ คล้ายกับนั่งรอปอกกล้วยเข้าปากเสียเฉยๆ เสียเมื่อไหร่  ตรงกันข้าม  ทั้งผมและทีมงาน กลับหนุนส่งให้พวกเขาได้ลงมือที่จะขับเคลื่อนเรื่องเหล่านั้นด้วยตนเองด้วยเหมือนกัน 

 

ดังนั้น  การกลับไปเยือนเพื่อถามข่าวคราว “พ่อฮักแม่ฮัก” ของนิสิตตามโครงการ “ต้านลมหนาวถามข่าวคราวชาวบ้าน”  ในครั้งนี้  จึงถือได้ว่า  เป็นความร่วมมือกันของนิสิตกับทีมของมหาวิทยาลัย  ภายใต้แนวคิด  “พูดให้ฟัง...ทำให้ดู...อยู่เป็นเพื่อน”  โดยแท้

 

ภาพความเป็นกันเองของเจ้าหน้าที่กับนิสิต


สิ่งเหล่านี้  ไม่เพียงสะท้อนภาพความผูกพันของนิสิตกับชาวบ้านเท่านั้น  แต่ยังหมายถึงความสัมพันธ์อันเป็นหนึ่งเดียวของนิสิตกับบุคลากรด้วยเหมือนกัน ...

 

แน่นอนครับ ทั้งหลายทั้งปวงนั้น  ไม่ว่าผมและทีมงาน หรือแม้แต่นิสิตและชาวบ้าน  ต่างก็ปรารถนาที่จะนั่งอยู่ในหัวใจของกันและกัน  และวิธีการที่ว่านี้ ผมก็เชื่อว่ามันคือเครื่องมือและเส้นทางที่จะนำพาให้ทุกคนไปอยู่ ณ พื้นที่ทางใจของกันและกันอย่างไม่ยากเย็น

 

ผมเชื่อเช่นนั้น  และเชื่อมานานแล้ว...

 

10 ม.ค.53
บ้านเหล่าหลวง,กาฬสินธุ์

 

 

หมายเลขบันทึก: 328429เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2010 23:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (29)

เห็นด้วยคะ  ความรักความผูกพันคือน้ำหล่อเลี้ยงจิตใจ

และความสามัคคีของกลุ่มคะอาจารย์

พูดให้ฟัง...ทำให้ดู...อยู่เป็นเพื่อน

ความหมายตรงตัวและครอบคลุม

เห็นบรรยากาศแล้ว  เริ่มเข้าใจวิธีการสร้างจิตอาสามากขึ้น

มาใกล้แค่นี้...คราวหน้าบอกข่าวพี่บ้างนะคะ

ชื่นชมและขอเป็นกำลังใจให้ค่ะ

สวัสดีวันครูค่ะ

ขอให้อาจารย์มีสุขภาพแข็งแรงค่ะ

       

สวัสดีครับ คุณปีตานามาจิตต์

เราต่างทำงานบนพื้นฐานของการเป็นทีม  และพยายามเป็นกลไกสนับสนุนการขับเคลื่อนของนิสิตอย่างใกล้ชิด เพื่อให้นิสิตรู้สึกว่า พวกเขา ไม่ได้เดินไปอย่างเดียวดายในวิถีนั้น

เมื่อชวนพวกเขาคิด..เราก็ต้องร่วมเป็นส่วนหนึ่งในชะตากรรมนั้นๆ...นั่นคือวิธีคิดของผม..

ขอบคุณครับ

 

สวัสดีครับ พี่ครูอรวรรณ

กิจกรรมนี้ เป็นกิจกรรมต่อเนื่องในสองพื้นที่ครับ...พื้นที่แรกคือ บ้านเหล่าหลวง ของผมเอง  กลุ่มนี้เน้นนิสิตโครงการส่งเสริมเยาวชนดีดเนด้านศิลปวัฒนธรรม  นอกจากการเรียนรู้ในหมู่บ้านแล้ว  ยังเพื่อผูกโยงให้นิสิต ได้เรียนรู้วิถีคนเขื่อน-วัด-พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ ส่วนอีกพื้นที่หนึ่ง  เป็นบ้านหนองบัวแปะ อ.ยางสีสุราช จ.มหาสารคาม  พื้นที่ตรงนี้เน้นกลุ่มนิสิตทั่วไปและผู้นำนิสิต ชุมชนนี้ เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง  และวันนี้ก็ลงไปสรุปงานในพื้นที่...

ไว้คราวหน้า  จะแจ้งล่วงหน้า นะครับ  จะได้สัญจรมาร่วมกัน

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ krutoiting

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยม นะครับ...

ขอเป็นกำลังใจให้เช่นกัน.

 

สวัสดีครับ namsha

เช่นกันนะครับ-ขอให้มีพลังใจ สุขสมหวังทั้งในโลกแห่งชีวิตและการงาน

ผมเป็นกำลังใจให้ นะครับ

สวัสดีครับ พี่ครูคิม

วันครูปีนี้ ขอให้พบเจอแต่เรื่องอันดีงาม และมีพลังกับการสร้างสรรค์,ปั้นแต่งลูกศิษย์ต่อไปนะครับ

ผมเป็นกำลังใจให้-

ขอชื่นชมการทำกิจกรรมที่ทำอย่างต่อเนื่อง และทำด้วยวิธี “พูดให้ฟัง...ทำให้ดู...อยู่เป็นเพื่อน”

  • สิ่งเหล่านี้ อย่างน้อยก็ได้ชึมชับเข้าไปใน คนแห่งความรักน้อย สองหน่อด้วย
  • ชื่นชมจริงๆค่ะ นายยอดมาก

สวัสดีคุณครูอย่างนอบน้อม

ลูกศิษย์ก้มประนมกรวอนไหว้

พระคุณครูยิ่งใหญ่มหันต์นาม

ทั่วเขตคามระลึกถึงพระคุณครู

                ครูอ้อยเล็ก

สวัสดีครับ คุณบุษรา

วันครูปีนี้..
พานิสิตไปจัดต้านลมหนาวถามข่าวคราวชาวบ้านที่ บ้านหนองบัวแปะ...อ.ยางสีสุราช จ.มหาสารคาม

เป็นกิจกรรมหนึ่งที่เกี่ยวโยงไปถึงเด็กนักเรียน วันนี้-เราไปสอนอ่าน สอนเขียนอักษรธรรมในใบลาน รวมถึงการจัดเก็บและทำความสะอาดใบลานอันเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ด้วยเหมือนกัน

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยม นะครับ

สวัสดีครับ พี่ใบบุญ

  • พูดให้ฟัง (สอน) ...ทำให้ดู (สอน)...อยู่เป็นเพื่อน (พี่เลี้ยง)
  • ประเด็นข้างต้น ก็ขยายจากวาทกรรมค่านิยมที่ผมใช้กับทีมงานในหน่วยงานว่า "สอนงาน สร้างทีม" นั่นแหละ
  • หากแต่ครานี้ นำมาแปลงประยุกต์ใช้กับนิสิต..และระหว่างบุคลากรกับนิสิต...
  • ...
  • ครับ สำหรับเจ้าตัวเล้กทั้งสอง  เมื่ออยู่ในบรรยากาศเช่นนั้น ก็กลายเป็นผู้ร่วมชะตากรรมไปโดยปริยาย และเขาก็ได้รับการเรียนรู้ในวิถีนั้นด้วยเช่นกัน
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ คุณอ้อยเล็ก

ขอบคุณที่แวะมาทักทายด้วยกลอนสวยๆ ..ไพเราะๆ...
ขอบคุณอีกครั้งนะครับ  ขอให้เต็มไปด้วยพลังแห่งการใช้ชีวิต นะครับ

  • “พูดให้ฟัง...ทำให้ดู...อยู่เป็นเพื่อน”
  • เป็นข้อคิดที่คิดได้ดีจริงๆนะคะ
  • สุขกายสบายใจนะคะ

สวัสดีครับ พี่add

เมื่อสักครู่ไปเยี่ยมที่บันทึก  ภาพการเดินทางบนแผ่นดินไทยงดงามและสวยงามมาก และก็ช่วยย้ำให้เราตระหนักว่า เมืองไทย, ประเทศไทย น่าอยู่เสมอ...

ขอบคุณครับ

 

แก่งเลิงจานบ้านเราสวยใช่เล่นเหมือนกันนะคะ

Dsc_5275-1

ครับ พี่add

นี่เป็นภาพเถียงนาและทุ่งนาในแถวๆ ใกล้ๆ จะเข้าเขต อ.วาปีปทุม..นี่เอง ครับ ช่วงนั้นก็น่าจะเวลาประมาณ 4 โมงเย็นได้กระมัง

 

 

สวัสดีปีใหม่และสุขสันต์วันครูค่ะ

พูดให้ฟัง...ทำให้ดู...อยู่เป็นเพื่อน”  โดยแท้

  ชอบจังเลยวิธีคิดของอาจารย์ และแอบอิจฉานิสิตที่มีพี่เลี้ยงที่มีแนวคิดดีๆ ใช่เลยค่ะถ้าเราให้แนวคิดการเป็นจิตอาสา  คือเครื่องมือและเส้นทางที่จะนำพาให้ทุกคนไปอยู่ ณ พื้นที่ทางใจของกันและกันอย่างไม่ยากเย็น

ท่านมาเฮาดีใจ ท่านจากไปเฮาคึดฮอด

หากได้นั่งอยู่ในหัวใจของกันและกันแล้ว

คึดจะเฮ็ดอีหยังก็ซำบายโลดใช่บ่ เด้อค่าเลย ;)

รำลึกวันครู คุณแผ่นดิน ครูติดดิน ด้วยจิตคารวะค่ะ

สวัสดีค่ะ อาจารย์แผ่นดิน
   คุณค่าของคนคือการที่ได้ทำงาน โดยเฉพาะงานที่เสียสละและทำประโยชน์ให้แก่ชุมชน
   หนังครูบ้านนอกเวอร์ชั่นใหม่นี้  มาถ่ายทำที่สวนดอนทัม ของคุณโชดึก ที่บ้านต้อน จ.กาฬสินธุ์ เรานี่เองค่ะ ทราบว่าพระเอกก็เป็นเด็กนักศึกษา เทคโนฯ กาฬสินธุ์ด้วยค่ะ ไปดูให้ได้นะคะ

สวัสดีวันครูนะคะ

  • เป็นโครงการที่ดีเยี่ยม
  • การสอนให้เด็กๆมีจิตอาสา..และพาย้อนกลับมาดูผลพวงที่ตนเองทำไว้นับว่าเป็นแนวคิดที่ดีมากๆ...จริงๆแล้วเราได้ช่วยพัฒนาที่ไหนไว้ได้กลับไปเยือนอีกรอบแล้วสุขใจจริงๆ
  • ส่งกำลังใจมาให้ในวันครูนะคะ...ชื่นชมในผลงานที่ทั้งสอนทั้งเป็นพี่เลี้ยงยอดเยี่ยมจริงๆค่ะ
  • เรียนรู้ไปด้วยกัน ทั้งครู เจ้าหน้าที่ และนิสิต รวมทั้งชาวบ้าน..ที่จะเข้าไปนั่งในหัวใจซึ่งกันและกัน
  • ขอบคุณประสบการณ์ดีๆที่มีให้อย่างสม่ำเสมอครับ

สวัสดีครับ คุณท้องฟ้า

เกี่ยวกับการทำงานนั้น  ผมมองว่า นิสิตยุคนี้ก็เถอะ เรื่องบางเรื่องปล่อยให้เขาคิดเอง ก็คงยากยิ่ง หรืออย่างน้อยก็ใช้เวลาเนิ่นนานไม่ใช่ย่อย และกว่าจะถึงจุดนั้น  อะไรๆ ก็คงลำบากที่จะลงมือทำอยู่เหมือนกัน  ดังนั้นบางเรื่องผมจึงใช้วิธีร่วมคิด-ชวนคิด-ชวนทำ-แล้วปล่อยให้ทำ โดยเราถอยมาดูอยู่ใกล้ๆ

สิ่งหนึ่งที่เราเห็นว่าเรามาถูกทางก็คือ  สายสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างเรากับนิสิตนั้นดูแนบแน่นเป็นกันเองมากเลยก็ว่าได้ กลายเป็นสมือนพี่พ้องน้องเพื่อนไปโดยปริยายแล้วก็ว่าได้

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ คุณปิ่นธิดา

ท่านมาเฮาดีใจ ท่านจากไปเฮาคึดฮอด

..

เห็นด้วยกับวาทกรรมข้างต้นครับ สะท้อนความผูกพันระหว่างผู้มาเยือนกับเจ้าบ้านได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะวิถีที่เกิดกับชาวค่ายอันเกี่ยวโยงกับลูกฮักและพ่อฮัก-แม่ฮัก

ไปมาหลายที,บางบ้าน เขียนป้าย ท่านมาเฮาดีใจ ท่านจากไปเฮาคึดฮอด ไว้เป็นถาวรเลยก็มีเหมือนกัน

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ คุณปูpoo

คึดจะเฮ็ดอีหยังก็ซำบายโลด

ชอบมากครับ  ขอสรุปด้วยประเด็นนี้อีกรอบก็แล้วกัน

มักคักๆ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท