สรุปบทเรียนจากตลาดพระเครื่องเดือนที่ ๑๓ : หลักการแยกพระแท้ออกจากพระเก๊


ต้องพิจารณาอายุ การเก็บรักษา การใช้งานที่ผ่านมาประกอบด้วยอย่างใกล้ชิดจึงจะไม่พลาด

หลังจาก ๑๓ เดือนของการเข้ามาเรียนรู้ในตลาดพระเครื่อง ผมเริ่มทำตัวอิสระจากท่าน “เซียนใหญ่” มากขึ้นเรื่อย

แต่ท่านเซียนใหญ่ก็คอยตามประเมินพฤติกรรม และผลงานการเรียนรู้ผมอยู่ห่างๆ

พร้อมกับช่วยหาพระที่ผมชอบมาให้ผมศึกษาอยู่เป็นประจำ ทำให้ผมเริ่มเรียนรู้เข้าไปถึง “พุทธศิลป์” ได้มากขึ้นเรื่อยๆ

ประกอบกับท่านครูบาสุทธินันท์ก็ได้กรุณามอบหนังสือ “กาลานุกรมพุทธศาสนาในโลก” ที่เขียนโดยท่าน ป. ปยุตโต ทำให้ผมได้เข้าใจที่ไปที่มาของพุทธศาสนา และพุทธศิลป์มากขึ้นไปอีก และทำให้เกิดความประทับใจในความงามของพระพุทธรูป อย่างไม่เคยมีมาก่อน

พอจะเริ่มแยกแยะยุคสมัย กลุ่มศิลป์ หรือกลุ่มช่างได้บ้างเล็กน้อย

เมื่อเห็นพระพุทธรูป สามารถอนุมานได้ว่ามีศิลปะใดปนกันอยู่บ้าง หรือว่าเป็นศิลปะบริสุทธิ์ยุคไหน ของที่ไหน

โดยตั้งต้นจากประเภทศิลปะ และกลุ่มช่างเป็นหลัก อันได้แก่ ศิลปะตั้งต้นหลักๆ เช่น

  • ศิลปะคุปตะ
  • ศิลปะปาละ
  • ศิลปะอมราวดี

แล้วนำมาผสมผสานกับ

  • แนวคิดของผู้สร้าง
  • วัตถุประสงค์
  • ขีดความสามารถ
  • ความรู้

ที่ผสมผสานศิลปะท้องถิ่น และยุคต่างๆ  เข้าด้วยกัน จนเกิดเป็น

  • ศิลปะทวาราวดี
  • ศิลปะศรีวิชัย
  • ศิลปะจีน
  • ศิลปะชวา
  • ศิลปะล้านช้าง
  • ศิลปะเชียงแสน
  • ศิลปะเชียงรุ้ง
  • ศิลปะประจำเมืองต่างๆ ในเขตสุวรรณภูมิ
  • ศิลปะลพบุรี
  • ศิลปะลำพูน
  • ศิลปะอู่ทอง
  • ศิลปะกำแพง
  • ศิลปะล้านนา
  • ศิลปะสุโขทัย
  • ศิลปะอยุธยา ยุคต่างๆ
  • จนกระทั่งศิลปะรัตนโกสินทร์
  • ฯลฯ

เมื่อเข้าใจพื้นฐานของศิลปะ ก็จะทำให้การดูพิมพ์พระ พลาดน้อยลง และแยกพระเก๊ออกจากพระแท้ได้เร็วขึ้น

นอกจากศิลปะ ก็จะต้องดูเนื้อพระ และสภาพที่น่าจะเป็นจาก

  • วัสดุที่ทำ ที่หลากหลายทั้งเชิงมวลสาร และเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิต
  • สภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะความชื้นของแต่ละกรุ แต่ละภาค
  • สภาพที่พระอยู่ หรือถูกเก็บไว้ แบบหลากหลายมาก

ทำให้เกิดสภาพเนื้อพระที่หลากหลายมากขึ้นไปอีก

เช่น

  • เนื้อดินเผา ก็มีทั้งดินเผาแกร่ง ดินเผาธรรมดา ดินเผาผสมหินแร่ เม็ดทราย ที่มีความกร่อนของส่วนต่างๆเป็นประเด็นจำแนกพระแท้ออกจากพระเก๊
  • เนื้อตะกั่วสนิมแดง ที่มีโทนสีหลากหลาย มีระดับการเกิดสนิมที่ต่างกันมากทีเดียว
  • เนื้อสำริด
  • เนื้อโลหะผสมหรือโลหะเดี่ยวๆ ที่มักมีโลหะอื่นๆปนบ้าง ไม่ว่าจะเป็นตะกั่ว เงิน ทองแดง ทองคำ ฯลฯ

 

และที่สำคัญ ต้องพิจารณาและมีข้อมูลว่ายุคไหน น่าจะมีโลหะหรือวัสดุอะไรบ้าง และโลหะหรือวัสดุเหล่านั้นเมื่อผ่านสภาพการเก็บและกาลเวลา ควรจะมีสภาพให้เห็นอย่างไร ตั้งแต่

  • ดินดิบ
  • ดินเผาเนื้อแกร่ง
  • คราบผุ และคราบกรุ ที่ต้องเกาะเป็นเนื้อเดียวกันกับเนื้อแกนในองค์พระ
  • ตะกั่วสนิมแดง การเกิดสนิมขาวแบบผง เป็นไข และการแตกของสนิมเป็นใยแมงมุม และสนิมกับโลหะต้องเกาะเป็นเนื้อเดียวกัน
  • ชินเขียว ชินเงิน ที่ต้องดูการแตกแยกของผิวและขอบพระเป็นสำคัญ
  • สำริดที่ต้องมีสนิมสีฟ้าเขียวคลุมบนสนิมแดง และเกาะแน่นบนผิวโลหะเดิมแบบเป็นเนื้อเดียวกัน ถ้ามีทองแดงมากจะแน่นมาก ถ้ามีทองคำมาก จะร่อนง่าย แต่สีสนิมจะต่างกันเล็กน้อย กล่าวคือ สนิมชั้นในของทองแดงจะออกแดงเข้ม แต่สนิมเนื้อทองคำจะออกแดงจางกว่าเล็กน้อย

ทั้งหมดนี้ต้องพิจารณาอายุ การเก็บรักษา การใช้งานที่ผ่านมาประกอบด้วยอย่างใกล้ชิดจึงจะไม่พลาด

 

ดังนั้นขั้นตอนที่ต้องดูพระแท้คือ

  1. ดูศิลปะเพื่อกำหนดยุค แหล่งที่สร้าง และอายุของพระทั้งในกรุ และนอกกรุ
  2. ดูเนื้อ มวลสาร และสภาพผิวพระ เพื่อพิจารณาความเก่า
  3. ศึกษาประวัติการแตกกรุของพระ เพื่อพิจารณาอายุ และระยะเวลาการใช้ที่ผ่านมา
  4. ดูสภาพของพระที่ผุกร่อนทั้งจากในกรุ และจากการใช้ที่ผ่านมา
  5. สืบประวัติที่มาของพระเท่าที่จะทำได้ (ส่วนใหญ่จะเป็นนิทานที่สร้างขึ้นมา จึงไม่ควรเชื่อมากนัก) ต้องดูบริบทของพระ และสภาพการใช้ประกอบด้วยจึงจะกรองข้อมูลได้มากขึ้น
  6. ดูความน่าเชื่อถือของผู้ที่นำพระมาปล่อย (แต่ก็อย่าเชื่อมาก เพราะมักมีการทำให้ดูดีเสมอๆ)

 

ทั้งหมดนี้คือชุดความรู้ที่ผมได้มาตลอดระยะเวลา ๑๓ เดือนที่ผ่านมาครับ

ทำให้ได้พระเครื่องที่ “น่าจะแท้” พอสมควร โดยเฉพาะที่ผมสนใจ ก็มีเบญจภาคีเนื้อดินประมาณ สิบกว่าชุด เบญจภาคีเนื้อชินประมาณห้าหกชุด พระยุคทวาราวดี ศรีวิชัย ลพบุรี ลำพูน กำแพง อู่ทอง สุโขทัย อยุธยา แบบเก็บตามความชอบครับ

 ดังนั้น ท่านที่อยากสะสมพระแท้ ต้องมีความรู้ประมาณนี้เป็นอย่างน้อยครับ

 และยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทุกท่าน ด้านพระกรุอย่างเดียวครับ

 เพราะผมไม่สนใจพระเกจิอาจารย์ (แม้จะมีอยู่บ้างเล็กน้อย) เพราะผมคิดว่าไม่น่าจะมีความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์มากนัก จึงเก็บบ้าง ศึกษาบ้างแต่ไม่ค่อยสนใจ

ยกเว้นพระสมเด็จทั้ง ๓ วัด ที่ผมจำเป็นต้องศึกษาเพื่อนำมาจัดเป็นเบญจภาคีครับ

 สำหรับระบบตลาดพระนั้น ผมได้ความรู้มาพอสมควร และจะนำมาแจกแจงในโอกาสต่อไปครับ

หมายเลขบันทึก: 327808เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2010 07:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 17:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท