เบญจกูล ยาคุมธาตุทั้ง ๕ ของมนุษย์


เบญจกูล ยาคุมธาตุทั้ง ๕ ของมนุษย์

เบญจกูล ยาคุมธาตุทั้ง ๕ ของมนุษย์

          ตามความ เข้าใจแบบ ไทยๆ ร่างกายคนเราประกอบขึ้นด้วยธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ แต่ในคัมภีร์ฉันทศาสตร์ของแพทย์แผนไทยโบราณยังเพิ่มธาตุในร่างกายขึ้นมาอีก ตัวหนึ่งคือ อากาศธาตุ รวมเป็น ๕ ธาตุ อันเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างยิ่งยวดของร่างกาย มีค่าดั่งแก้วมณีอันควรแก่การถนุถนอม ดังนั้นธาตุทั้ง ๕ จึงมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า "รัตนธาตุ" อย่างธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ คืออะไรก็ยังพอนึกเห็นภาพเป็นรูปธรรมได้ เช่น เนื้อ หนัง กระดูก ฯลฯ ก็เป็นปถวีธาตุ ส่วนเลือด น้ำลายหรือน้ำปัสสาวะ ฯลฯ เป็นอาโปธาตุ ลมหายใจเข้าออก ฯลฯ เป็นวาโยธาตุ หรือความอุ่นของร่างกายก็เป็นเตโชธาตุ เป็นต้น

         แต่พอมาถึงคำว่า อากาศธาตุ เรามักจะคิดว่าเป็นอย่างเดียวกับวาโยธาตุ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดถนัด ตรงนี้ถ้าเทียบกับภาษาอังกฤษอาจจะช่วยให้เข้าใจดีขึ้น ธาตุลม(wind) ส่วนอากาศธาตุ(space) หมายถึงช่องว่างหรือช่องทางต่างๆ ของร่างกายที่เห็นง่ายๆ ได้แก่ ทวารทั้ง ๑๐ คือ ๒ ตา ๒ หู ๒ รูจมูก ปาก ทวารหนัก ทวารเบา รวมเป็น ๙ หรือนวอากาศทวาร ส่วนทวารหมายเลข ๑๐ หรือทศอากาศทวาร ท่านสงเคราะห์ให้มีเฉพาะแต่ในสตรีเพศเท่านั้นแล

นอก จากนี้ยังมีช่องว่างอันลี้ลับซับซ้อนอีกมากมายที่เป็นช่องทางไหลผ่านของพลัง ชีวิต ซึ่งไม่ปรากฏในกายวิภาคศาสตร์ของตะวันตก แต่มีแสดงไว้ในตำรากายวิภาคของตะวันออก เช่นในคัมภีร์นวดไทยกล่าวว่า "เส้นเอ็นย่อมเป็นรู เลือดลมชูให้ฟูฟอน" เป็นต้น "รู" ในที่นี้ก็คืออากาศธาตุนั่นเอง

ความสำคัญของอากาศธาตุมีแค่ไหนนั้น เป็นได้จากบทสรุปในคัมภีร์แพทย์แผนไทยที่ว่า เมื่อธาตุต่างๆ จะนิราศร้างออกจากกายนั้นให้แพทย์เร่งวางยาแก้ไข สำหรับปัญหาธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ นั้นอาจมีเวลาเยียวยารักษาได้ตั้งแต่ ๕ วันถึง ๑๑ วัน แต่ถ้าเป็นอากาศธาตุต้องเร่งวางยาภายใน ๑ วัน มิฉะนั้นก็หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี

เชื่อ กันว่าพระฤาษีในชมพูทวีปก่อนสมัยพุทธกาลหลายร้อยปี ได้ค้นพบตำรายาสมุนไพรเพื่อควบคุมกำกับรัตนธาตุหรือธาตุทั้ง ๕ ของมนุษย์ให้คงอยู่ในสมดุลย์ ยาโบราณตำรับนี้มีชื่อว่า "เบญจกูล" ซึ่งหมายถึงสมุนไพรที่มาร่วมด้วยช่วยกันเกื้อกูลชีวิต ๕ ชนิด ได้แก่

๑. ผลดีปลี ช่วย ระงับ "ธาตุปถวี โทษนั้นมี ๔๒ สถาน" เป็นต้นว่า อาการผมร่วง เจ็บปาก เจ็บฟัน เจ็บอก เจ็บในท้อง เจ็บในสมอง เจ็บเนื้อ เจ็บหลัง เจ็บเอ็น เจ็บกระดูก ขนลุกชัน ผิวหนังแตกระแหง เจ็บหลัง เจ็บตามข้อ เมื่อเป็นหนักเข้าก็เจ็บไปทั่วตัว ผอมเหลือง รวมไปถึงแสดงอาการวิปริตทางจิต นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย มักโกรธฉุนเฉียวง่าย กระทั่งเพ้อคลั่ง

๒. รากช้าพลู ช่วยระงับสรรพโทษ อันเกิดจากกองธาตุน้ำทั้ง ๑๒ แปรปรวน เป็นต้นว่า มีน้ำตาไหล เลือดกำเดาออกง่าย น้ำลายมาก เหงื่อโทรมตัว ปัสสาวะมากเกินไป ปัสสาวะขัด ท้องแน่นเป็นดาน ส่วนในทางจิตใจนั้นจะมีอาการหวาดสะดุ้งง่าย

๓. เถาสะค้าน ช่วย แก้อาการทั้งปวงในกองธาตุลมทั้ง ๖ เป็นต้นว่า ท้องเต็มไปด้วยลม หาวเรอ ผายลม ถอนหายใจใหญ่ เบื่ออาหาร มือเท้าเย็น ปากแห้ง คอแห้ง คลื่นเหียนอาเจียนจนถึงขั้นหายใจขัดหรือหายใจเข้าน้อย หายใจออกมา

๔. รากเจตมูลเพลิงแดง ช่วยระงับโทษอันบังเกิดจากธาตุไฟทั้ง ๔ เป็นต้นว่า ตัวเย็น ไอแห้ง ปวดท้องไม่หาย นัยน์ตามัว มือเท้าเป็นเหน็บชา เบื่ออาหาร ชอบนอนนานแล้วไม่อยากลุกขึ้น หายใจถี่

๕. เหง้าขิง ช่วยคุมกองอากาศธาตุทั้ง ๑๐ ให้เป็นปกติ โทษของอากาศธาตุนั้นมีเพียง ๒ ประการคือหูลั่นดังกรอกแกรก และถ้าถึงขั้นมองดูมือตนเองไม่เห็น ก็เป็นสัญญาณว่าจะสิ้นชีวิตภายใน ๒ วัน ดังคำแพทย์โบราณท่านว่า "อากาศธาตุแตกนั้น ในหูลั่นกรอก กลอกตาแลดูนิ้วแลหัตถาห่อนปรากฏจักษุตน โทษสองประการนั้น ยังสองวันชีวาตน จักดับถึงอับจน กล่าวไว้แท้แน่ตำรา"

สมุนไพร ทั้ง ๕ ตัว ได้แก่ ดีปลี ช้าพลู สะค้าน เจตมูลเพลิงแดง และขิง ซึ่งนำมาสังเคราะห์เป็นยาเบญจกูลนี้เป็นเครื่องยาไทยที่หาได้ง่าย ซึ่งแพทย์แผนไทยทุกคนต้องรู้และร้านขายยาสมุนไพรไทยทุกร้านต้องเจียดยาตำรับ นี้ได้ เพียงแต่ผู้คนนอกวงการส่วนใหญ่ ยังไม่รู้จักชื่อเสียงสรรพคุณครอบจักรวาลธาตุของยาพระฤาษีบอกตำรับนี้


สูตรยามหาพิกัดเบญจกูล มีตัวยาและส่วนน้ำหนักยาดังนี้
ผงดีปลี ๒๐ ส่วน เทียบเท่ากับธาตุดิน ๒๐ ประการ
รากช้าพลู ๑๒ ส่วน เทียบเท่ากับธาตุน้ำ ๑๒ ประการ
เถาสะค้าน ๖ ส่วน เทียบเท่ากับธาตุลม ๖ ประการ
รากเจตมูลเพลิงแดง ๔ ส่วน เทียบเท่ากับธาตุไฟ ๔ ประการ
เหง้าขิง ๑๐ ส่วน เทียบเท่ากับเท่ากับธาตุอากาศ ๑๐ ประการ

การปรุงยา นำตัวยาทั้งหมดมาบดเป็นผงละเอียด ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน จะรับประทานเป็นยาผง หรือนำไปผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นเม็ดลูกกลอนหรือนำไปบรรจุเป็นแคปซูลก็ได้

ขนาดรับประทาน
ยาผง ผู้ใหญ่ ครั้งละ ๑ ช้อนชาละลายน้ำสุกอุ่น
เด็กอายุ ๑๒ - ๑๕ ปี ครั้งละ ๑/๒ ช้อนชาละลายน้ำสุกอุ่น
ยาเม็ด ผู้ใหญ่ ครั้งละ ๕-๘ เม็ด (ขนาดเม็ดละ ๒๕๐ มิลลิกรัม)
เด็กอายุ ๑๒ - ๑๕ ปี ครั้งละ ๒- ๔ เม็ด
ยาแคปซูล ผู้ใหญ่ ครั้งละ ๒ แคปซูล (ขนาดแคปซูลละ ๒๕๐ มิลลิกรัม)
เด็กอายุ ๑๒ - ๑๕ ปีครั้งละ ๑ แคปซูล
รับประทาน วันละ ๓ เวลา ก่อนอาหาร

ยาเบญจกูล รับประทานได้เป็นประจำทุกวันเพื่อบำรุงธาตุทั้ง ๕ ให้เป็นปกติ มีข้อห้ามสำหรับเด็กเล็กและสตรีมีครรภ์ ไม่ควรรับประทาน เพราะเบญจกูลเป็นยารสเผ็ดร้อน มีฤทธิ์บีบมดลูก หากจะรับประทานต้องลดขนาดลงครึ่งหนึ่ง

ตำรับยาพระฤาษีบอกอย่างเบญจกูล เป็นภูมิปัญญาสมุนไพรที่เคยใช้ดูแลรักษาสุขภาพมานานนับพันปี น่าจะนำกลับมาใช้กันอย่างต่อเนื่องในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะยาตำรับนี้เป็นยาเพื่อส่งเสริมสุขภาพและดุลยภาพของร่างกาย จิตใจให้เป็นปกติ แข็งแรง เข้าทำนองสุภาษิต "กันไว้ดีกว่าแก้ แย่แล้วแก้ไม่ทัน" จริงไหม

         ยาเบญจกูล โรงพยาบาลสอง ตอนนี้ ผลิตออกมาเเล้วน่ะค่ะ เป็นรูปแบบ เเคปซูล ขนาดบรรจุด 500 มิลลิกรัม / 1 แคปซูล

เอกสารอ้างอิง : มูลนิธิสุขภาพไทย.http://www.thaihof.org/.10 มกราคม 2553

หมายเลขบันทึก: 326734เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2010 22:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 08:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ยาเเคปซูลเบญจกูล ถือเป็นตัวยาใหม่สำหรับกลุ่มงานเเพทย์แผนไทย ยังไงก็ขอฝากด้วยน่ะค่้ะ

เบญจกูลต้นกำเนิดของแพทย์แผนไทย ศึกษาเรื่องยาไทยต้องรู้จักเบญจกูล

สนใจครับ สอบถามราคาบวกค่าจัดส่งด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท