QC สตอรี่


QC สตอรี่

 

“Quality Control Circle”

ประวัติความเป็นมา

     คิวซีซี (QCC) มาจากคำเต็มว่า “Quality Control Circle” ซึ่งหมายถึง กระบวนการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบโดยกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน เพื่อปรับปรุงคุณภาพงาน (สินค้าหรือบริการ) โดยใช้ข้อมูลจริง (Fact) จึงมีหลายท่านเรียกคิวซีซีว่า “กิจกรรมกลุ่มเพื่อการสร้างเสริมคุณภาพ” หรือ “กิจกรรมกลุ่มเพื่อการปรับปรุงงาน” กิจกรรม “คิวซีซี” ในบ้านเรามีประวัติยาวนานมากว่า 30 ปีแล้ว คือ เริ่มในประเทศไทยประมาณปี 2518 โดยกลุ่มบริษัทไทยที่ร่วมทุนกับญี่ปุ่น หลังจากที่ได้เห็นถึงความสำเร็จของธุรกิจ อุตสาหกรรมญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากได้นำคิวซีซีไปใช้เพื่อปรับปรุงแก้ปัญหาหน้างาน และนำไปสู่นวัตกรรมใหม่ ๆ บริษัทแรกที่เริ่มกิจกรรมคิวซีซีในบ้านเราก็คือ บริษัท ไทยบริดสโตน จำกัด ซึ่งต่อมาได้แพร่หลายอย่างรวดเร็วในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์

      พอสรุปได้ว่า QC Circle คือ กลุ่มคนขนาดเล็ก ประมาณ 3-10 คนที่อยู่ในสายงานเดียวกัน มารวมตัวกันอย่างอิสระ เพื่อปฏิบัติกิจกรรมในด้านการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพงาน โดยทุกคนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา และมีการควบคุมในการปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่อง

จุดประสงค์ของ QC
1. ต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการควบคุมงาน และภาวะผู้นำของผู้บังคับบัญชาชั้นต้น โดยให้เกิดการพัฒนาตนเองเป็นลำดับต่อไป
2. ให้ทุกคนจนถึงพนักงานปลายแถว ได้เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อเพิ่มขวัญ กำลังใจและควบคุมคุณภาพขั้นตอนทั่วทั้งสถานที่ปฏิบัติงาน
โดยการอาศัยกิจกรรมกลุ่มคุณภาพเป็นสื่อกลาง อีกทั้งเพื่อเพิ่มพูนความสำนึกในเรื่องคุณภาพปัญหาในงานและแก้ไขปรับปรุงงาน
3. ให้กิจกรรมควบคุมคุณภาพทั่วทั้งวิสาหกิจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยดำเนินกิจกรรมกลุ่มคุณภาพในลักษณะเป็นหัว(ใจกลาง)
ณ สถานที่ปฏิบัติงานนั้น ๆ

ทำไมต้องทำ QC
1. พื้นฐานความต้องการของมนุษย์
              จากทฤษฎีแรงจูงใจการทำงานของ Maslow พบว่ามนุษย์ ต้องการทำงานด้วยเหตุผลหลายอย่าง ไม่ใช่เพื่อเงินหรือปัจจัย 4 แต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องการความมั่นคง ความปลอดภัย การมีส่วนร่วม เกียรติยศ และความสำเร็จ

2.สนองการบริหารแบบมีส่วนร่วม
              การบริหารงานแบบมีส่วนร่วมนี้ ปัจจุบันถือว่าเป็นการบริหารที่ดี และเหมาะสมที่สุดกับคุณสมบัติของมนุษย์ ในปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะ การบริหารในอดีตแบบเผด็จการ (Dictatorship หรือ Top-Down Management) รวมทั้งการควบคุมคุณภาพแบบตะวันตกนั้น ถึงแม้จะทำให้เกิดผลงาน แต่ส่งผลเสียออกมามากมาย ตัวอย่างผลเสียหรือปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบริหาร ดังกล่าวมีดังนี้
              1. ขาดความสัมพันธ์ หรือการแตกแยกสามัคคีระหว่าง
                  ก. หัวหน้างานและลูกน้อง
                  ข. หน่วยงานต่อหน่วยงาน (ขาดทีมงานและขาดเป้าหมายขององค์การร่วมกัน)
             2. การควบคุมคุณภาพจำกัดอยู่เฉพาะบางงานเท่านั้น เช่น ผลิตภัณฑ์ หรือบัญชี ซึ่งถือว่าไม่  เพียงพอ
             3. พนักงานขาดจิตสำนึกถึงคุณภาพที่ตนเองรับผิดชอบ และขาดจิตสำนึกถึงเรื่องค่าใช้จ่าย และการสูญเสียรวมทั้งความปลอดภัย
             4. ขาดความคิดริเริ่มและสร้างสรรค์ ที่จะพัฒนาตนเองและองค์การ
             5. เบื่อหน่ายการทำงาน ทำให้มาสาย ขาดงานและเปลี่ยนงานบ่อย
             6. ไม่สามารถแก้ปัญหาหน้างานด้วยตนเอง
             7. กลัวปัญหา
             8. ขาดขวัญในการทำงาน
            9. ปัญหาแรงงานสัมพันธ์
          10. ขาดการเป็นมนุษย์ที่สมศักดิ์ศรี หรือมีคุณค่าน้อย
          11. ขาดการมีส่วนร่วม
          12. ขาดความจงรักภักดีต่อองค์การ
         13. ขาดระเบียบวินัย
         14. การสื่อข้อความไม่ดี
        15. ไม่สามารถใช้หรือถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆ มาพัฒนาให้ทันสมัย และเจริญขึ้น

3.ความอยู่รอดของบุคคล และองค์การ
               ปัจจุบันการทำธุรกิจ จะต้องมีการแข่งขันกันมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้กับหน่วยงานนั้น สิ่งต่าง ๆ จึงมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก หากบริษัทหรือองค์การใดๆ ไม่สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยี (TECHNOLOGY TRANSFER) ใหม่ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ก็ยากที่จะอยู่รอดได้เพราะหากคู่แข่งของเราสามารถใช้เทคนิคใหม่ๆ ได้ดีกว่าแน่นอน เขาย่อมมีโอกาสมากกว่า

ประโยชน์ของการทำกิจกรรม QC
1. มีส่วนร่วมในการทำงานและบริหาร
2. ยอมรับปัญหาและสามารถแก้ปัญหา
3. ลดความเบื่อหน่าย
4. ลดการขัดแย้ง
5. ลดความลำบากและอุบัติเหตุ
6. สร้างความเป็นระเบียบและวินัย
7. พอใจงาน และมีคุณค่ามากขึ้น
8. มีการพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
9. รู้จักปรับปรุงอยู่เสมอ (พัฒนาตนเอง)
10. รู้จักวางแผน
11. สร้างนิสัยประหยัด
12. สร้างความมั่นคง
13. มีอนาคตไกล
14. สร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน (ทำงานร่วมกันได้ มนุษยสัมพันธ์สามัคคี)
15. ได้รับความดีความชอบและรางวัลอื่นๆ
16. นำความรู้และประสบการณ์ไปใช้ในครอบครัว และชีวิตประจำวันทั่วไป
17. กล้าแสดงออก
18. สร้างภาวะผู้นำ
19. ภูมิใจในความสำเร็จ

 

7 ขั้นตอนการทำ QC ( 7 ขั้นตอนของ QC STORY)
1. ค้นหาปัญหาและเลือกหัวข้อ กำหนดเป้าหมาย
2. สำรวจสภาพปัจจุบัน
3. วิเคราะห์สาเหตุของปัญหาและวางมาตรการแก้ไข
4. ลงมือปฏิบัติตามแผนมาตรการแก้ไข
5. ตรวจสอบผล
6. กำหนดมาตรฐาน
7. สรุปผลและวางแผนทำกิจกรรมเรื่องต่อไป

หมายเลขบันทึก: 326444เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2010 10:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 11:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เคล็ดวิชา QCC คือ เคารพศักดิ์ศรีความเป็น ฅ ฅน ครับ ทีมงานแพทย์ภูมิภาค (มอ มช และ ขก) ใช้พัฒนา ราวปี ๒๕๒๘ เป็นต้นกำเนิด ของ UKM ในปัจจุบันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท