กลอน


หากนักเรียนจะศึกษาเรื่องการเขียนกลอน

 กลอน                          ครู สมเกียรติ  ตำแหง

              แต่เดิมโบราณเรียกคำร้อยกรองหรือคำประพันธ์ทุกชนิดที่มีลักษณะสัมผัสว่า ”บทกลอน”   ทั้งนั้นต่อมา  “กลอน”  มีความหมายแคบเข้า  คือ หมายถึงคำประพันธ์ชนิดหนึ่ง  ซึ่งใช้ถ้อยคำเรียงกันมีสัมผัส บทหนึ่งมี ๒ บาท  คือบาทเอกกับบาทโท   บาทหนึ่งแบ่งเป็น ๒ วรรค หรือ  ๒ ท่อนรวม   ๒  วรรค  เป็น ๑ คำกลอน 

              กลอนนั้นนิยมแต่งกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย  ได้รับความนิยมแพร่หลายมากกว่าคำประพันธ์อื่นๆ     มารุ่งในสมัยรัตนโกสินทร์    และรุ่งเรืองสูงสุดในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย   กวี                    สำคัญได้แก่  สุนทรภู่   ซึ่งถือว่ากลอนของท่านเป็นแบบฉบับของกลอนที่ไพเราะที่สุด

              ในตำราเล่มนี้จะจำแนกกลอนออกตามวัตถุประสงค์ในการใช้  ๒  ประเภท  คือ

               ๑.  กลอนอ่าน  เป็นกลอนที่ผู้แต่งมีจุดมุ่งหมายสำหรับอ่าน   เพื่อความเพลิดเพลินแบ่งออกได้  ๘  ชนิด ได้แก่

                        ๑.๑  กลอนสี่                              ๑.๒  กลอนหก

                        ๑.๓ กลอนเจ็ด                            ๑.๔  กลอนแปด

                        ๑.๕ กลอนเก้า                            ๑.๖  กลอนนิราศ

                        ๑.๗ กลอนเพลงยาว                   ๑.๘  กลอนนิทาน

               ๑.  กลอนร้อง  เป็นกลอนที่แต่งขึ้นเพื่อนจุดมุ่งหมายสำหรับขับร้อง   หรือขับลำนำเพื่อความไพเราะหรือเพื่อความสนุกสนาน   แบ่งออกได้ ๕  ชนิดได้แก่

                        ๒.๑ กลอนบทละคร                   ๒.๒  กลอนดอกสร้อย

                        ๒.๓ กลอนสักวา                        ๒.๔   กลอนเสภา

                        ๒.๕ กลอนเพลงชาวบ้าน

 ลักษณะของกลอนชนิดต่างๆ 

            สำหรับกลอนอ่านต่อไปนี้คือ   กลอนสี่   กลอนหก  กลอนแปด   และกลอนเก้านั้นอาจารย์กำชัย   ทองหล่อ   เรียกรวมกันว่า  กลอนสุภาพ     ซึ่งท่านอธิบายไว้ว่า   ที่เรียกว่ากลอนสุภาพนั้นเนื่องจากเป็นกลอนที่ใช้ถ้อยคำและทำนองเรียบๆง่ายๆในการแต่งนั้นเอง

                กลอนสุภาพ  บทหนึ่งมี  ๔  วรรค  กลอน  ๒  วรรค  เรียกว่า  ๑  บาท  หรือ  ๑  คำกลอน  ฉะนั้นกลอนสุภาพบทหนึ่ง  จึงมี  ๒  บาท  หรือ  ๒  คำกลอน  บาทแรกเรียกว่า   บาทเอก  เรียกว่า   บาทโท 

                 สำหรับวรรณคดีทั้งสี่ของกลอนยังมีชื่อเรียกวรรค   ตามลักษณะการบังคับสัมผัส   และนิยมใช้เสียงวรรณยุกต์ท้ายต่างกัน   ดังผังภูมิต่อไปนี้

 

 

                     วรรคแรกเรียกว่า  วรรคสลับ   หรือ   วรรคสดับ  เป็นวรรคขึ้นต้น   ทำหน้าที่ส่งสัมผัสอย่างเดียว      คำสุดท้ายใช้ได้ทุกเสียง    แต่ไม่นิยมเสียงสามัญ            

                   วรรคที่สองเรียกว่า  วรรครับ   ทำหน้าที่รับสัมผัสจากวรรคสลับ   และส่งสัมผัสไปยังวรรครอง           คำสุดท้ายนินมใช้เสียงจัตวา   ห้ามใช้เสียงสามัญ

                 วรรคที่สามเรียกว่า   วรรครอง   ทำหน้าที่รับสัมผัสจากวรรครับ   และส่งสัมผัสไปยังวรรคส่ง            คำสุดท้ายนิยมใช้เสียงสามัญหรือตรี

                 วรรคที่สี่เรียกว่า    วรรคส่ง   ทำหน้าที่รับสัมผัสจากวรรครอง   และส่งสัมผัสระหว่างบทไปยังวรรครับของบทต่อไป   คำสุดท้ายนิยมใช้เสียงสามัญ    ห้ามใช้เสียงจัตวา 

 

กลอนอ่านที่  ๘  ชนิดมีลักษณะดังนี้ 

กลอนสี่ 

 

กลอนสี่มีลักษณะบังคับเป็น  ๒  แบบ   ดังนี้

              แบบที่  ๑ 

 

ตัวอย่าง  :                       ๏   เด็กไทยวันนี้              ต้องดีต้องเก่ง 

                                       ต้องช่วยตัวเอง                 ต้องเร่งก้าวไป 

                                          ซื่อสัตย์อดทน         ฝึกฝนวินัย 

                                     เรารักเมืองไทย             ร่วมใจทำดี 

                                                                               (จากหนังสือเรียนภาษาไทย   ป.๑   เล่ม  ๒ )

กฎ :          ๑.     บทหนึ่งมี   ๒   บาท   บาทที่   ๑   เรียกว่าบาทเอกมี   ๒   วรรค   คือวรรคสลับและวรรครับ

                          บาทที่  ๒  เรียกว่าบาทโท   มี  ๒  วรรค   คือวรรครอง   และวรรคส่ง   แต่ละวรรคจะมีคำวรรคละ                                                 

                           ๔    คำ    รวมบทหนึ่งมี   ๑๖   คำ

                 ๒.     สัมผัสมีดังนี้

                                  คำสุดท้ายของวรรคสลับ   สัมผัสกับคำที่  ๒  ของวรรครับ

                                  คำสุดท้ายของวรรครับ      สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรครอง

                                  คำสุดท้ายของวรรครอง     สัมผัสกับคำที่  ๒  ของวรรคส่ง

                           

                          ถ้าจะแต่งบทต่อไป    ต้องให้ทำสุดท้ายของวรรคส่งของบทต้น    สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรครับของบทต่อไปเสมอ   ซึ่งถือเป็นสัมผัสระหว่างบท 

 

 

              แบบที่  ๒ 

  

ตัวอย่าง  :  

๏      จักกรีดจักกราย        จักย้ายจักย่อง                 ไม่เมินไม่มอง        ไม่หมองไม่หมาง 

งามเนื้องามนิ่ม                 งามยิ้มงามย่าง                  ดูคิ้วดูลาง               ดูร่างดูปรุง 

       ดั่งดาวดั่งเดือน        ดั่งจะเลือนดั่งจะลอย      พิศแช่มพิศช้อย       พิศสร้อยพิศสูง 

ช่างปลอดช่างเปลือง          ช่างเรืองช่างรุ่ง               ทรงแดงทรงดุ่ง       ทรงวุ้งทรงแวง    

 

กฎ :   ๑.   หนึ่งบทมี  ๒  บาท   บาทที่  ๑  เรียกว่า  บาทเอก   มี  ๒  วรรค   คือวรรคสลับและวรรครับ  บาทที่  ๒                         

                 เรียกว่าบาทโท  มี  ๒  วรรค   คือวรรครองและวรรคส่ง   แต่ละวรรคแบ่งออกเป็น  ๒  ช่วง   ช่วงละ                

                 ๔   คำ   จึงมีคำวรรคละ  ๘  คำ    รวมบทหนึ่งมี  ๓๒    คำ

          ๒.   สัมผัสมีดังนี้

                          บาทเอก      :   คำที่ ๔   วรรคสลับช่วงแรก      สัมผัสกับคำที่   ๒   วรรคสลับช่วงหลัง

                                                 คำที่  ๔  วรรคสลับช่วงหลัง      สัมผัสกับคำที่   ๒   วรรคสลับช่วงแรก

                                                 คำที่  ๔   วรรครับช่วงแรก        สัมผัสกับคำที่   ๒   วรรครับช่วงหลัง

                          บาทโท      :   สัมผัสระหว่างวรรคเหมือนกันกับบาทเอก   และต้องให้คำที่   ๔    วรรครับช่วง

                                                หลัง   สัมผัสกับคำที่  ๔  วรรครองช่วงหลังด้วย

                          ถ้าจะแต่งบทต่อไป    ต้องให้คำสุดท้ายของบทต้น    สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรครับช่วงหลังของบทต่อไป

                                                          

กลอนหก

ผังภูมิ 

 

 

ตัวอย่าง                  :          วอนนางพลางเพ่งเล็งพักตร์     เหตุรักให้ร้อนถอนจิต 

                 เพียงเพลิงเริงไลใกล้ชิด                          ยิ่งคิดยิ่งคร้ามขามนัก 

                             วาจาบังอรวอนว่า                    นัยนาดูองทรงศักดิ์

                 พจน์นางแพ้เนตรนงลักษณ์                    ยิ่งชมยิ่งชักให้ร้าย

 

กฎ  :      ๑.     หนึ่งบทมี  ๒  บาท   บาทที่  ๑  เรียกว่า  บาทเอก   มี  ๒  วรรค   คือวรรคสลับและวรรครับ  บาทที่ 

                       ๒   เรียกว่าบาทโท  มี  ๒  วรรค   คือวรรครองและวรรคส่ง   แต่ละวรรคมีคำ  วรรคละ  ๖  คำ

              ๒.     สัมผัสดังนี้

                                คำสุดท้ายของวรรคสลับ         สัมผัสกับคำที่  ๒  หรือ  ๔  ของวรรครับ

                                คำสุดท้ายของวรรครับ            สัมผัสคำสุดท้ายของวรรครอง

                                คำสุดท้ายของวรรครอง           สัมผัสกับคำที่  ๒   หรือ  ๔   ของวรรคส่ง

                               

                                ถ้าจะแต่งบทต่อไป    จะต้องให้คำสุดท้ายของวรรคต้น  สัมผัสกับคำสุดท้าย  วรรครับของบท

                                ต่อไปเสมอ ส่วนสัมผัสในที่โยงเส้นเป็นจุดประไว้เป็นคู่ๆ  นั้นไม่บังคับ จะมีครบทุกคู่   หรือ

                                จะมีคู่ใดคู่หนึ่งก็ได้    หรือจะใช้สัมผัสสลับบ้างก็ได้    หรือจะไม่มีเลยก็ไม่ผิด   แต่ถ้าไม่มีเลย

                                ถือว่าไม่ไพเราะแต่ถ้ามีครบทุกคู่ถือว่าดีเยี่ยม 

กลอนเจ็ด

 

 

 

ตัวอย่าง :      ๏      เสตเตลงเกรงกริ่งนิ่งรำลึก             คึกคักข่าวทัพดูคับขัน

               จักเตรียมค่ายใหญ่ก็ไม่ทัน                           จำกั้นกีดขวางหนทางทุกข์

                     ๏     ตั้งขัดตาทัพรับไว้ก่อน                    เผื่อผ่อนเวลาให้ช้าสุด

               จวนตัวกลัวว่าศาตราวุธ                               หวิดหวุดหมดหวังในครั้งนี้

                                                                                         ( สามกรุง  :   กรมหมื่นพิทยาลงกรณ )

กฎ  ;     ๑ .  หนึ่งบทมี  ๒  บาท   บาทที่  ๑  เรียกว่า  บาทเอก   มี  ๒  วรรค   คือวรรคสลับและวรรครับ  บาทที่ 

                    ๒   เรียกว่าบาทโท  มี  ๒  วรรค   คือวรรครองและวรรคส่ง   แต่ละวรรคมีคำ  วรรคละ  ๗  คำ

             ๒ .  สัมผัสมีดังนี้

                                คำสุดท้ายของวรรคสลับ         สัมผัสกับคำที่  ๒ หรือ  ๓   หรือ  ๔ หรือ  ๕ ของวรรครับ

                                คำสุดท้ายของวรรครับ            สัมผัสคำสุดท้ายของวรรครอง

                                คำสุดท้ายของวรรครอง           สัมผัสกับคำที่  ๒ หรือ  ๓  หรือ  ๔   หรือ  ๕   ของวรรคส่ง

                                ถ้าจะแต่งบทต่อไป    จะต้องให้คำสุดท้ายของวรรคต้น  สัมผัสกับคำสุดท้าย  วรรครับของบท

                                ต่อไปเสมอ

                                                            

กลอนแปด

                  

                      กลอนแปดเป็นกลอนสุภาพที่มีผู้นิยมแต่งกันมากที่สุด     เนื่องจากมีจำนวนคำไม่มากไม่น้อยเกินไป

สามารถเก็บความได้พอดีถือเป็นกลอนพื้นฐานของกลอนต่างๆไม่ว่าจะเป็นกลอนนิราศ  กลอนนิทาน  กลอนเพลงยาว   หรือ กลอนขับร้องต่างๆ

ตัวอย่าง  :               บัดเดี๋ยวดังหง่างเหง่งวังเวงแว่ว               สะดุ้งแล้วเหลียวหลังแลชะแง้หา

                    เห็นโยคีขี่รุ้งพุ่งออกมา                                          ประคองพาขึ้นไปจนบนบรรพต

                         ๏      แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์                     มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด

                    ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด                                 ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน

                                                                                                               (พระอภัยมณี :  สุนทรภู่ )

กฎ  ;     ๑ .  หนึ่งบทมี  ๒  บาท   บาทที่  ๑  เรียกว่า  บาทเอก   มี  ๒  วรรค   คือวรรคสลับและวรรครับ  บาทที่ 

                    ๒   เรียกว่าบาทโท  มี  ๒  วรรค   คือวรรครองและวรรคส่ง   แต่ละวรรคมีคำ  วรรคละ  ๘  คำ

             ๒ .  สัมผัสมีดังนี้

                                คำสุดท้ายของวรรคสลับ         สัมผัสกับคำที่    ๓   หรือ   ๕ ของวรรครับ

                                คำสุดท้ายของวรรครับ            สัมผัสคำสุดท้ายของวรรครอง

                                คำสุดท้ายของวรรครอง           สัมผัสกับคำที่    ๓  หรือ    ๕   ของวรรคส่ง

                                ถ้าจะแต่งบทต่อไป    จะต้องให้คำสุดท้ายของวรรคต้น  สัมผัสกับคำสุดท้าย  วรรครับของบท

                                ต่อไปเสมอ

                                                            กลอนเก้า

 

ตัวอย่าง  :               รักประเทศรักเพื่อนบ้านงานทุกสิ่ง            รักสัตย์จริงรักวิชาใจกล้าหาญ

                      สามัคคีไมตรีมิตรจิตรชื่นบาน                               ตลอดกาลมรณะอย่าละธรรม์

                                 อย่าเสียศีลกินสินบนขนเงินหลวง            อย่าล่อลวงโกงเงินราษฎร์ขาดขยัน

                      หนักก็เอาเบาก็ทำประจำวัน                                   ยุติธรรม์ขันเลิศประเสริฐแล

                                                                                                       (หลักภาษาไทย  :  กำชัย   ทองหล่อ )

 

กฎ  ;     ๑ .  หนึ่งบทมี  ๒  บาท   บาทที่  ๑  เรียกว่า  บาทเอก   มี  ๒  วรรค   คือวรรคสลับและวรรครับ  บาทที่ 

                    ๒   เรียกว่าบาทโท  มี  ๒  วรรค   คือวรรครองและวรรคส่ง   แต่ละวรรคมีคำ  วรรคละ  ๙ คำ

             ๒ .  สัมผัสมีดังนี้

                                คำสุดท้ายของวรรคสลับ         สัมผัสกับคำที่    ๓   หรือ   ๖ ของวรรครับ

                                คำสุดท้ายของวรรครับ            สัมผัสคำสุดท้ายของวรรครอง

                                คำสุดท้ายของวรรครอง           สัมผัสกับคำที่    ๓  หรือ    ๖  ของวรรคส่ง

                                ถ้าจะแต่งบทต่อไป    จะต้องให้คำสุดท้ายของวรรคต้น  สัมผัสกับคำสุดท้าย  วรรครับของบท

                                ต่อไปเสมอ

                                                             

กลอนนิราศ

                        นิราศ      แปลว่า    การจากไป   การพรากไป   ในทางฉันทลักษณ์   หมายถึงบทประพันธ์ที่พรรรณาถึงการจากถิ่นฐานที่อยู่ไปในที่ต่างๆ   และต้องรำพึงรำพันถึงการจากคนรักหรือภรรยา   ถ้าไม่มีก็ต้องสมมุติขึ้น   จึงจะนับว่าถูกต้องตามแบบนิยมของนิราศ

                             อนึ่งการบรรยายถึงการเดินทางนั้น  นอกจากจะบรรยายภูมิประเทศที่ผ่าน  เหตุที่เกิดขึ้น  และความรู้สึกของตนแล้ว    กวีส่วนใหญ่ยังนิยมเปรียบเทียบสิ่งที่พบเห็นกับความในใจของตน  เมื่อต้องพรากจากคนรัก   ทั้งในแง่ความรักและความทุกข์หรือวิถีชีวิต

                             วรรณกรรมนิราศ   ใช้คำประพันธ์ได้ทั้ง   โคลง  ฉันท์  กาพย์  กลอน ร่าย  แต่ที่นิยมกันมากคือโคลงและกลอน   ถ้าตั้งด้วยกลอนเรียกว่า  กลอนนิราศ       ซึ่งมีปรากฏครั้งแรกในสมัยธนบุรีได้แก่  นิราศกวางตุ้ง

พระยามหานุภาพที่บรรยายการเดินทางไปเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับประเทศจีน ปี   พ.ศ.  ๒๓๒๔

                             กลอนนิราศที่รุ่งเรืองในสมัยรัตนโกสินทร์ ได้แก่

๑.  นิราศรบพม่าที่ท่าดินแดง    พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่  ๑

๒.  นิราศปราบพม่าที่นครศรีธรรมราช  พระนิพนธ์ในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท

๓.  นิราศตลาดเกรียบ  ของพระเทพโมฬี (กลิ่น)

๔.  นิราศของสุนทรภู่ (เมืองแกลง  พระบาท  ภูเขาทอง  วัดเจ้าฟ้า  อิเหนา  พระประธม  เมืองเพชร  รำพันพิลาป)

๕.  นิราศลอนดอน  ของหม่อมราโชทัย

๖.  นิราศพระปฐม  และนิราศทวาราวดี  ของหลวงจักรปาณี (มหาฤกษ์)

                                การตั้งชื่อนิราศ  มีอยู่ด้วยกัน ๔ วิธี  ได้แก่

๑.        ตั้งชื่อตามนามสถานที่ที่จะมุ่งไป  เช่น นิราศเมืองเพชร  นิราศเชียงใหม่  เป็นต้น

๒.     ตั้งชื่อตามนามผู้แต่ง  เช่น  นิราศพระยาตรัง  นิราศนรินทร์  เป็นต้น

๓.      ตั้งชื่อตามนามตัวเอกของเรื่อง  นิราศสีดา  นิราศอิเหนา  เป็นต้น

๔.      ตังชื่อตามเหตุการณ์ที่พรรณนา  เช่น  นิราศเดือน  เป็นต้น

ผังภูมิ

 

กฎ  :  ๑.    กลอนนิราศเหมือนกับกลอนเพลงยาว  คือ  ขึ้นต้นด้วยวรรครับของบาทเอกส่วนวรรคสลับเว้นว่างไว้

๒.     วรรคหนึ่งใช้คำตั้งแต่ ๗ ถึง ๙ คำ

๓.      สัมผัสและความไพเราะอื่นๆ เหมือนกับกลอนแปด

๔.      กลอนนิราศ  มักนิยมขึ้นต้นด้วยคำว่า  “นิราศ”  จบด้วยบาทโท  และคำสุดท้ายจะต้องลงท้ายด้วย “เอย”เสมอ

กลอนเพลงยาว

                กลอนเพลงยาวเป็นกลอนสังวาลที่ใช้เป็นจดหมายเกี้ยวพาราสีกันระหว่างชายกับหญิงที่มีการรำพึงรำพันถึงความรัก  หรือความพลัดพรากกันอย่างยืดยาว  โดยไม่จำกัดบท  จึงเรียกว่า  “เพลงยาว”  บางทีก็เรียกว่า  “กลอนสังวาส”  หรือ  “กลอนเพลงยาวสังวาส”

                ด้วยเหตุที่กลอนเพลงยาวเป็นกลอนสังวาส  จึงนิยมเล่นคำและเล่นสัมผัสในยักย้ายหลายแบบหลายวิธี  สุดแต่จะแสดงภูมิให้เกิดความไพเราะจนกลายเป็นกลอนกลบทมีชื่อเรียกต่างๆตามความนิยมของผู้ประพันธ์ขึ้น

                นอกจากจะใช้เป็นจดหมายส่วนตัวแล้วเพลงยาวยังใช้เป็นบันทึกเหตุการณ์ร่วมสมัยเช่นเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา  เป็นต้น  รวมทั้งใช้เป็นบัตรสนเท่ห์  เช่น  เพลงยาวว่าพระยามหาเทพ  (ทองปาน  ปาณิกบุตร)  ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นต้น

                นอกจากนี้เพลงยาวยังใช้เป็นบทสดุดี  เช่น  เพลงยาวเฉลิมพระเกรียรติต่างๆ  และเป็นคำสอน  เช่น  เพลงยาวถวายโอวาทของสุนทรภู่  เป็นต้น

ผังภูมิ

ตัวอย่าง

                                                                                                                ¤คิดยิ่งแสนแค้นยิ่งศรเสียบทรวงหมอง

                เหตุมัวรักหากไม่รู้ถึงทำนอง                                                  ไม่หวังหน่ายหมายว่าน้องน้ำใจเดียว

                คู่สนิทคิดเสน่ห์ถนอมนัก                                                       ไม่นึกร้างหมางในรักสักประเดี๋ยว

                แท้ว่าซื่อถือสัจขัดจริงเจียว                                                     นานรู้สึกนึกรู้เสียวสิเสียการ

                สมเหมือนคำซ้ำเหมือนข้อบุราณว่า                                       โฉดหลงเนื้อเชื่อหลงหน้าสตรีหวาน

                ใจของหญิงจริงคงยับอัประมาณ                                            ปราชญ์มักเทียบเปรียบเหมือนธารชลาลัย

                ถ้าพอมีที่ผู้มาว่ากาขาว                                                             คำที่กล่าวขานที่กลั่นนั้นเชื่อได้

                จัดว่าหญิงจริงว่าอย่าให้เชื่อใจ                                                แน่จะกลับนับจะไกลต้องเกลียดกลัว

                แม้นจงรักมักจะร้างพลันจางจืด                              

คำสำคัญ (Tags): #การเรียนการสอน
หมายเลขบันทึก: 326438เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2010 09:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท