Instructional Design เพื่อกระบวนการเรียนรู้แบบการคิดมโนทัศน์


ทำให้ผู้เรียนเกิดการคิดเชิงมโนทัศน์และมีพื้นฐานที่ดีสำหรับการเข้าถึงความเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ในยุควิทยาศาสตร์ อีกทั้งเป็นวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ที่เริ่มต้นด้วยการผสมผสานความเป็นวัตถุและจิตใจ เพื่อมุ่งสู่ความสมดุลและความยั่งยืนของการพัฒนา

การพัฒนาผู้เรียนให้สามารถเกิดกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ รวมทั้งสร้างมโนทัศน์ในสิ่งต่างๆได้ นับว่าเป็นศักยภาพการเรียนรู้ที่จะช่วยพัฒนาผู้เรียนกลุ่มต่างๆ ให้มีความสามารถในการใช้วิจารณญาณ สร้างความรู้และประมวลข้อมูลเพื่อการตัดสินใจอย่างเป็นระบบได้อย่างเหมาะสมในสถานการณ์แวดล้อมที่แตกต่างกันออกไป

กระบวนการเรียนรู้ดังกล่าว จัดว่ามีความก้าวหน้าทางการเรียนรู้มากกว่าการเรียนรู้แบบท่องจำ รวมทั้งการเรียนรู้ที่รู้จักแต่รูปแบบและเทคนิคการปฏิบัติแบบสำเร็จรูป ซึ่งจะทำให้ปัจเจกและชุมชนไม่สามารถเข้าสู่ปัญหาและใช้ความรู้แก้ปัญหาในโลกความเป็นจริงได้ เพราะเงื่อนไขแวดล้อมและสถานการณ์ต่างๆมีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปอย่างสลับซับซ้อนอยู่ตลอดเวลา

วิถีการเรียนรู้ดังกล่าว ทำให้การพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ทั้งในภาคที่เป็นทางการดังเช่นการศึกษาในระบบโรงเรียน สถานศึกษา มหาวิทยาลัย และการจัดการศึกษาเรียนรู้ทั้งหลายเพื่อพัฒนาพลเมือง ไม่เพียงพอที่จะทำให้คนได้วิธีคิดและมียุทธศาสตร์การประยุกต์ใช้การคิดอย่างเป็นระบบเพื่อสร้างการตัดสินใจและเผชิญปัญหาต่างๆด้วยตนเองได้ มักจำและเรียนรู้โดยมีความรู้แบบท่องจำเป็นตัวตั้ง การเรียนรู้ของชุมชนก็มักจำเพียงเทคนิคและรูปแบบ เช่น  AIC | FSC | KM | Dialogue | เทคนิคการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบ PAR แต่ไม่มีหลักพอที่จะออกแบบและปฏิบัติให้เหมาะสมไปตามความจำเป็น จึงอาจเกิดปรากฏการณ์ทำตามๆกันไปทั้งในระดับท้องถิ่นและโลกาภิวัตน์ อย่างไม่มีเหตุผล

หากเรียนรู้แบบท่องจำ ไม่เข้าใจหลักการ ไม่รู้เหตุผลเบื้องหลังและขาดมโนทัศน์ที่จะช่วยชี้นำการเริ่มต้นเข้าสู่การแก้ปัญหาต่างๆด้วยตนเองด้วยท่าทีของผู้เรียนรู้และใช้ความรู้แก้ปัญหาแล้ว การพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ก็จะไม่สามารถสนองตอบต่อความจำเป็นของสังคม อีกทั้งประชาชนและผู้เรียนก็ขาดความสามารถในการปรับตัวให้สนองตอบต่อความจำเป็นต่างๆที่เกิดขึ้นได้ด้วยตนเอง ทำให้ชุมชนและสังคมอ่อนแอ ขาดการเรียนรู้และจัดการความรู้ที่พอเพียง ให้ผสมกลมกลืนกับเงื่อนไขแวดล้อมอันหลากหลาย

                 

                

การเรียนรู้แบบการคิดมโนทัศน์ หรือแผนภาพการคิด Mind Map และแผนภาพปรากฏการณ์วิทยา เป็นเครื่องมือและวิธีการเชิงกระบวนการเพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้แบบการคิดมโนทัศน์อย่างเป็นระบบ

แผนภาพมโนทัศน์การคิดนั้น สามารถออกแบบและพัฒนากระบวนการเรียนรู้อย่างเชื่อมโยงและนำไปสู่การคิดเชิงยุทธศาสตร์ สามารถร่วมกันค้นหาทางออกและวางแผนปฏิบัติการ พร้อมกับระดมพลังกลุ่มก้อนให้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนาสุขภาวะชุมชน ตามที่ผู้คนต้องการร่วมกันได้

ส่วนแผนภาพการถอดบทเรียนเชิงปรากฏการณ์วิทยา เป็นเครื่องมือและวิธีการเชิงกระบวนการที่พัฒนาการเรียนรู้การคิดเชิงระบบและการเรียนรู้ทางสังคมที่ผสมผสานหลักคิดสำคัญของความเป็นวิทยาศาสตร์และความเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนเกิดการคิดเชิงมโนทัศน์และมีพื้นฐานที่ดีสำหรับการเข้าถึงความเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ในยุควิทยาศาสตร์ อีกทั้งเป็นวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ที่เริ่มต้นด้วยการผสมผสานความเป็นวัตถุและจิตใจ เพื่อมุ่งสู่ความสมดุลและความยั่งยืนของการพัฒนา

ทั้งสองตัวอย่างจะทำให้เราสามารถพัฒนาแนวคิดและออกแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความจำเป็นในปัจจุบันให้ดีมากขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบูรณาการมิติความเป็นชุมชนเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ในแนวคิดต่อการศึกษาเรียนรู้ที่มีความเป็นองค์รวมและมีขอบเขตกว้างขวางมากขึ้น และการพึ่งศักยภาพของคนก่อนเป็นลำดับแรก ซึ่งเป็นวิธีคิดของการพัฒนาที่ถือเอาคนและชุมชนเป็นตัวตั้ง

แนวดำเนินการดังกล่าว เชื่อกันว่าจะช่วยลดช่องว่างและช่วยเสริมการศึกษาเรียนรู้ที่ถือเอาอย่างอื่นเป็นแกนกลาง เช่น การถือเอาความรู้ในหนังสือเป็นตัวตั้ง ความต้องการของครู ข้อมูลภายนอกที่ไม่คำนึงถึงเงื่อนไขจำเพาะของผู้เรียน ความต้องการแข่งขันของโรงเรียนและสถานศึกษา หลักสูตรการศึกษาแบบรวมศูนย์ เหล่านี้เป็นต้น ให้มีผลสัมฤทธิ์ที่ดีและมีความเป็นบูรณาการมากขึ้น

คลิ๊กเข้าไปดูพาวเวอร์พ๊อยต์ การเรียนรู้แบบการคิดมโนทัศน์ ได้เลยครับ

หมายเลขบันทึก: 325429เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2010 14:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • ประสงค์จะเห็นปรากฏการณ์เอาใจเขามาใส่ใจเรา ใส่ใจคนรอบข้าง
  • มีแต่ปรากฏการณ์แห่งความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ โดยไม่ต้องการความรู้ฐานข้อมูลข้อเท็จจริง
  • มองคนรอบข้างโดยใช้แว่นตาหรือสายตาของบุคคลที่เราเกี่ยวข้องด้วย
  • ไม่รู้จะเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ไหมอาจารย์

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย)ครับ

การเอาใจเขามาใส่ใจเรา รวมทั้งการมองปรากฏการณ์ต่างๆจากจุดยืนร่วมกับผู้อื่น ในกรณีอย่างที่พระคุณเจ้ากล่าวถึงนี้ อาจจะพิจารณาได้สัก ๒-๓ เรื่องครับ

  • คงไม่นับว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ครับ แต่จัดว่าเป็นผลลัพธ์ของกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาตนเองของปัจเจกครับ ความที่เป็นขั้นผลลัพธ์นั้น ก็หมายความว่า กว่าจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องการกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสม ดังนั้น เมื่อมองอย่างนี้ก่อนแล้ว จึงจะเริ่มเกี่ยวกับเรื่องกระบวนการเรียนรู้ ครับ
  • การที่ปัจเจกรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ใส่ใจคนรอบข้าง รวมทั้งมองโลกรอบข้างด้วยสายตาหรือแว่นตาของคนที่เราเกี่ยวข้องดูบ้าง ซึ่งในทางการวิจัยก็มีศัพท์เรียกแนวคิดอย่างนี้เหมือนกันครับว่า การสร้างมุมมองและจุดยืนร่วมกับผู้ที่เราไปศึกษาเรียนรู้จากเขา
  • กระบวนการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ดังกล่าว ก็มีหลายแนวครับ เช่น บางคนก็เชื่อว่าต้องใช้กระบวนการพัฒนาจิตใจ เรียนรู้และกล่อมเกลาด้วยกิจกรรมทางศาสนธรรม บางคนก็เชื่อว่าต้องเข้าไปอยู่ร่วมกับความเป็นจริงของผู้อื่น บางคนก็เชื่อว่าต้องส่งเสริมบทบาทของสื่อ บทบาทครอบครัว การให้เลี้ยงสัตว์เพื่อจะได้มีพื้นฐานจิตใจที่รู้จักอ่อนโยนและเอื้ออาทรผู้อื่น เหล่านี้เป็นต้น
  • การจัดกระบวนการเรียนรู้เชิงมโนทัศน์ อาจช่วยพัฒนาความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้บ้างในระดับความตระหนักและรับรู้เท่านั้นครับ 
  • ทว่า ความรู้สึกใส่ใจผู้อื่น และมีจุดยืนร่วมกับผู้อื่นนั้น เป็นกิจกรรมที่ต้องสะท้อนออกมาจากพื้นฐานจิตใจ ซึ่งองค์ประกอบด้านนี้ของปัจเจกและชุมชนนั้น นักการศึกษาและนักพัฒนาชุมชนจะเชื่อกันว่า ต้องใช้กระบวนการเรียนรู้ที่ต้องใช้มิติจิตใจและความเป็นสุนทรียภาพของมนุษย์ให้เข้ามามีบทบาทให้มากที่สุด เช่น การเรียนรู้จากการปฏิบัติด้วยตนเอง การเรียนรู้เป็นกลุ่ม การเรียนรู้ทางสังคมเพื่อให้ความเป็นจริงของสังคมกล่อมเกลาจิตใจ การพัฒนาจิตใจให้ละเอียดอ่อนโดยวิธีการทางศิลปะ ศาสนา เหล่านี้เป็นต้นครับ
  • สื่อการบรรยายชุดนี้ ผมเพิ่งเตรียมและนำไปบรรยายให้แก่นักศึกษาปริญญาโท ของมหาวิทยาลัยศิลปากรมาครับ ปีที่แล้ว หัวข้อนี้ผมไปบรรยายให้กลุ่มที่เรียนปริญญาเอกและได้คุยกันไปถึงประเด็นการวิจัยทั้งในปัจจุบนและอนาคต แต่ปีนี้ได้ลดลงมาคุยให้ออกไปในเรื่องให้แนวคิด ทฤษฎี และตัวอย่างวิธีการลองทำกิจกรรมดู เพราะเป็นกลุ่มนักศึกษาระดับปริญญาโท
  • แต่พอไปบรรยายแล้ว ก็กลายเป็นว่า นักศึกษากลุ่มนี้กลับมีพลังวิชาการและกระตือรือล้นในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มาก และการอภิปรายกับนักศึกษา ก็เห็นว่ามีหลายอย่างที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น โดยเฉพาะคนทำงานแนวชุมชน และนักพัฒนาสาขาต่างๆที่เน้นการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม การเรียนรู้เป็นกลุ่มก้อน และการเรียนรู้ที่นำไปสู่การคิดและแก้ปัญหาด้วยการจัดการอย่างมีส่วนร่วมของกลุ่มคนต่างๆ ก็เลยนำมาเผยแพร่ไว้ให้แก่ผู้สนใจทั่วไปด้วยครับ 

สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์ :

                            

 เรียนรู้แบบเด็กประถมในการใช้แผนที่ทางความคิด  ผ่านกระบวนการเรียนรู้โดยมีคุณครูชวนกันคุย พากันทำ มองจากภาพรวมแล้ว ผลที่ได้ไม่ซับซ้อน ถามมา ตอบไป ผลไม้สีเหลือง ก็กล้วย ผลไม้รูปร่างยาวๆ ก็มะละกอ รูปร่างกลมๆ ก็นึกถึงส้มเป็นอันดับแรกๆ รูปร่างใหญ่ก็แตงโมผลใหญ่ๆ แต่ถ้าไปดู Mind Map ของเพื่อนคนอื่นอาจจะได้ชื่อผลไม้ที่แตกต่างไปจากของเรา ก็ตามแต่ใครจะรู้จักผลไม้ชนิดไหน ถ้าคุณครูเอา Mind Map ของทุกคนมารวมเป็นภาพใหญ่ นักเรียนก็จะได้รู้จักผลไม้ชนิดอื่นๆ จากเพื่อนในห้องอีกด้วย ...

มองแบบบูรณาการการสอน คุณครูสามารถนำกระบวนการนี้ หรือนำ Mind Map แผ่นนี้ผนวกการสอนวิชาอื่นๆ ลงไปด้วย นอกเหนือจากวิชาวิทยาศาสตร์แล้ว อย่าง วิชาศิลปะ คณิตศาสตร์ สังคมศาสตร์ วิชาภาษาไทย หรืออาจจะเพิ่มภาษาอังกฤษ (ถ้าบ้างโรงเรียนเริ่มสอนแล้ว โรงเรียนรัฐบาลเริ่มเรียนชั้นประถม ๕)

เมื่อไม่นานได้นำกระบวนการเรียนรู้ผ่าน แผนที่ทางความคิด และแผนภาพปรากฏการณ์วิทยา ไปทดลองใช้กับนักศึกษาระดับปริญญาตรี เพื่ออธิบายผลงานวิจัยชิ้นเล็กๆ ของเค้า อีกส่วนนึงก็เพื่อนำมาเป็นเครื่องมือแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในกลุ่ม แต่นักศึกษากลับใช้ผิดวิธี เพราะบางกลุ่มชวนคุยกันแล้วจดลงในกระดาษก่อนนำมาบันทึกลงในแผนภาพปรากฏการณ์ .. ความผิดพลาดนี้เดาได้ไม่ยาก เป็นเพราะตัวอาจารย์เอง Conceptual Thinking ยังอ่อนแต่ริอาจหยิบไปใช้ ทำให้นักศึกษาเห็นเป็นเรื่องยากไป จะว่าตัวอาจารย์ไม่คุ้นเคยก็ไม่ใช่ แต่ขาดการฝึกฝนนั่นเอง สงสัยว่าจะต้องหันกลับไปใช้กระบวนการของเด็กประถม ๑ ถามมา ตอบไป ตรงไป ตรงมาดี อันนี้ถือว่าเป็นเงื่อนไข(ปัญหา) ของตัวอาจารย์มือใหม่หัดสอน .....

  สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ 

น่าสนใจมากเลยนะครับ ไม่น่าเชื่อเลยว่าเป็นงานของเด็กประถม ๑ นะครับ

หากให้ผมคิดทำก็คงไม่กล้าคิดแน่นอนเลยครับ เพราะคงจะติดกรอบความรู้เดิมว่าเด็กประถม ๑-๒ ลงไปจนถึงอนุบาลและวัยก่อนเรียนนั้น ประสบการณ์และข้อมูลสำหรับทำงานความคิดที่ซับซ้อน-เชื่อมโยง จะมีอยู่อย่างจำกัด รวมทั้งสมาธิและช่วงความสนใจต่อเฉพาะเรื่องก็สั้นมาก โดยเฉลี่ยต่ำกว่า ๑๐ นาที ดังนั้น คงต้องเชื่อและคิดไปก่อนว่านำ Mind Map มาใช้เพื่อให้ได้กระบวนการคิดเชิงระบบ และการเรียนรู้เชิงมโนทัศน์ ไม่ได้  หากนำมาใช้เพื่อให้มีความคุ้นเคยและได้ความสนุกทางอื่นก็คงจะได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท