การวิเคราะห์ประสิทธิภาพในการดำเนินงานของสถานบริการสาธารณสุข


การวิเคราะห์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร เป็นการวิเคราะห์ทางการเงินที่มุ่งวัดประสิทธิภาพใน 2 ประเภทหลัก คือ ประสิทธิภาพในการบริหารสินทรัพย์ และประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ

การวิเคราะห์ประสิทธิภาพในการดำเนินงานของสถานบริการสาธารณสุข
การวิเคราะห์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร (DuPont’s Analysis)

อนุชา  หนูนุ่น : ผู้เขียน (30 มิถุนายน 2548)


     การวิเคราะห์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร  เป็นการวิเคราะห์ทางการเงินที่มุ่งวัดประสิทธิภาพใน 2 ประเภทหลัก  คือ  ประสิทธิภาพในการบริหารสินทรัพย์  และประสิทธิภาพในการบริหารจัดการโดยใช้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์สะสม  (Return on total Assets – ROA) ซึ่งมาจากสูตร ROA  = กำไรสุทธิ/สินทรัพย์สะสม

     ซึ่งถ้าหากพิจารณาจากสูตรจะทำให้มองภาพของประสิทธิภาพในการบริหารสินทรัพย์  และประสิทธิภาพในการบริหารจัดการได้เห็นอย่างเด่นชัด  จึงต้องกลับไปทบทวนที่มาของสูตรนี้

     อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวม  จะอธิบายได้ว่าเป็นการประเมินดูว่าการประกอบกิจการใด ๆ ซึ่งต้องใช้สินทรัพย์เป็นต้นทุนในการผลิต  (ค่าใช้จ่าย, ค่าที่ดิน, อาคาร สถานที่,               ค่าแรงฯลฯ )  นั้นจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนต่อการประกอบการ (สถานพยาบาล) มากน้อยอย่างไร  หรือจะดูว่าคุ้มหรือไม่นั้นเอง  ก็จะประเมินได้ในสองประเด็น  คือ 1.)  สถานประกอบการนั้น (สถานพยาบาล) ได้บริหารให้สินทรัพย์นั้นเกิดประโยชน์สูงสุดแล้วหรือยัง  (ประสิทธิภาพในการบริหาร  สินทรัพย์)  และ  2.)  สถานประกอบการ (สถานพยาบาล)  นั้นได้จัดการให้ผลผลิต (บริการ)  ที่มีอยู่เกิดกำไรสูงสุดแล้ว หรือยัง (ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ)
จากที่เราประเมินและได้ตั้งคำถามไว้  2  คำถามดังกล่าวข้างต้นจะขออธิบายแยกที่ละประเด็น  ไปตามลำดับเงื่อนไขการเกิดเหตุการณ์ก่อนหลัง  ดังนี้

     1. คำถามที่จะประเมินว่าสถานประกอบการเหล่านั้น  ได้บริหารสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดหรือยัง  (ประสิทธิภาพในการบริหารสินทรัพย์)  ข้อสังเกตจากข้อคำถาม  คือ โดยปกติการประกอบการใด ๆ  ย่อมจะต้องมีสินทรัพย์เป็นองค์ประกอบแรก  ประสิทธิภาพในการบริหารสินทรัพย์จึงเป็นที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกด้วย  จากแนวคิดของการบริหารสินทรัพย์ที่ดี  คือ  การทำให้สินทรัพย์นั้นเกิดเป็นผลผลิต  (บริการ)  และขายออกได้มากที่สุด (ขายสิทธิ)  โดยยังไม่ต้องสนใจว่าจะมีต้นทุนที่เกิดจากการขาย  หรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเป็นอย่างไร  ฉะนั้น       ประสิทธิภาพของการบริหารสินทรัพย์  ก็คือ  อัตราส่วนของการขายสุทธิ ต่อสินทรัพย์ที่มีอยู่         (สินทรัพย์รวม)  ซึ่งก็คือ อัตราการหมุนของสินทรัพย์  ฉะนั้นโดยสรุปก็คือ ประสิทธิภาพของการบริหารสินทรัพย์ หรืออัตราการหมุนของสินทรัพย์  =  ขายสุทธิ/สินทรัพย์รวม

     ประเด็นอยู่ที่การหาสินทรัพย์รวมว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง  ซึ่งก็จะประกอบด้วย 1.)  สินทรัพย์หมุนเวียน (เงินสด ลูกหนี้ สินค้า หรืออื่น ๆ ที่หมุนเวียนกลับมาเป็นเงินสดหรือเทียมเท่าเงินสดได้) 2.) สินทรัพย์ถาวร (ที่ดิน  อาคาร  สิ่งก่อสร้าง  อุปกรณ์  ครุภัณฑ์  หรืออื่น ๆ ที่เทียมเท่าครุภัณฑ์)  และ  3.)  สินทรัพย์อื่น ๆ  ที่ยังไม่ได้ระบุอีก  แต่มีลักษณะเข้าได้ว่าให้จัดเป็น   สินทรัพย์   ส่วนการขายสุทธิ ก็คือ รายได้จากการขายสินค้าหรือบริการทั้งหมดที่ยังได้หักค่าอะไรออก
     ข้อสังเกตจากประเด็นคำถามนี้  จึงสามารถตอบได้เฉพาะว่าได้มีการพยายามทำให้สินทรัพย์ที่มีอยู่ทั้งหมดเกิดประโยชน์สูงสุดแล้วหรือยัง  แต่ก็ยังไม่สามารถตอบคำถามต่อไปที่จะได้กล่าวถึง คือ  และประโยชน์ที่เกิดขึ้นนั้น  มีส่วนที่เป็นกำไรจริง ๆ  เหลืออยู่เท่าไร  ความหมายก็คือ  ถ้าเกิดประโยชน์สูงสุดแล้วจริง  แต่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูง  หรือต้นทุนการขายก็สูง  (รวมเรียกว่าต้นทุนในการดำเนินการสูง)  ก็แสดงว่าไม่ได้ช่วยให้สถานประกอบการนั้นได้รับกำไรสูงสุดจริง ๆ  ซึ่งในประเด็นนี้จะต้องมีการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดเป็นกำไรสูงสุดด้วย  ดังนั้นคำถามในข้อต่อไป  จึงมุ่งไปยังประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ

     2. คำถามที่จะประเมินว่าสถานประกอบการแห่งนั้น  ได้บริหารจัดการให้ผลผลิต (บริการ) ที่มีอยู่เกิดกำไรสูงสุดแล้วหรือยัง  (ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ)  ข้อสังเกตจากคำถามนี้มุ่งหวังที่จะทราบว่า  กระบวนการในการนำผลผลิต (บริการ)  ออกขาย  (ให้บริการ)  นั้นใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและมีต้นทุนการขาย  มากน้อยอย่างไร  เพราะถ้าใช้น้อย ๆ  ก็จะมีส่วนที่เป็นกำไรมากขึ้น  หรือแม้แต่จะพิจารณาไปถึงการกำหนดราคาขายหรือราคาของบริการ  หากผลผลิตหรือบริการนั้นเป็นสินค้าที่ไม่ถูกจำกัดด้วยข้อจำกัดทางการตลาด  (หมายถึงสินค้านั้นถูกควบคุมราคาหรือไม่นั้นเอง)

     และจากการคิดกำไร  จะคิดจาก  ราคาขาย ลบด้วย ต้นทุน  ฉะนั้น  กำไรจากการดำเนินงาน  จึงหมายถึง  ขายสุทธิ  ลบด้วย  ต้นทุนในการดำเนินงาน  ซึ่งต้นทุนในการดำเนินงานนั้นจะมี  2  ส่วนหลัก  คือ  ต้นทุนขาย  และค่าใช้จ่ายในการขาย  และกำไรสุทธินั้นคือ  กำไรจากการดำเนินงานที่คำนวณได้ ลบด้วย ดอกเบี้ย และภาษีที่จะต้องจ่าย โดยสรุปกำไรสุทธิจึงเป็นขายสุทธิที่เกิดขึ้นจากการขายสินค้า  (บริการ)  ออกไปแล้วหักต้นทุนขาย  ค่าใช้จ่ายในการขาย  ดอกเบี้ย  และภาษีออกไป

     จากประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ  คือ อัตราส่วนของกำไรสุทธิ ต่อขายสุทธิ ซึ่งก็คือ อัตรากำไรต่อขายเขียนในรูปสมการได้ว่า

              ประสิทธิภาพของการบริหารจัดการ (อัตรากำไรต่อข่าย) = กำไรสุทธิ/ขายสุทธิ

     ข้อสังเกตจากประเด็นคำถามนี้  จะเห็นได้ว่า  สามารถตอบได้ดีว่าสถานประกอบการนั้น  สามารถทำกำไรจากการลดต้นทุนขาย  ลดค่าใช้จ่ายในการขาย  หรือแม้แต่การกำหนดราคาขายหรือบริการ  ได้หรือไม่  มากน้อยอย่างไร  แต่ในขณะเดียวกันถ้าไม่สามารถบอกได้ว่าสถานบริการนั้น    ได้ใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่คุ้มแล้วหรือไม่ในการผลิตสินค้า (บริการ) ออกมา  การนำดัชนีนี้ตัวใดตัวหนึ่งมาใช้เพื่อบอกว่าสถานประกอบการนั้นมีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรโดยรวม  จึงยังไม่มีความเหมาะสม  ดัชนีที่จะบอกได้จึงต้องใช้ทั้ง  2  ตัวร่วมกัน  เรียกว่า  อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์รวม  (ROA) ที่จะได้กล่าวต่อไปนี้

     จากกรณีทั้งอัตราการหมุนของสินทรัพย์รวม (ประสิทธิภาพการบริหารสินทรัพย์)  และอัตรากำไรต่อขาย  (ประสิทธิภาพการบริหารจัดการ)  ล้วนประเมินตรงกับประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร  จึงนำมาคิดคำนวณพร้อม ๆ กัน (คูณกัน)  ก็จะได้ว่า

               ประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร (อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์รวม)
                           =   อัตราการหมุนของสินทรัพย์  X  อัตรากำไรต่อขาย
                           =   (ขายสิทธิ/สินทรัพย์รวม) X (กำไรสุทธิ/ขายสุทธิ)          
                           =   กำไรสุทธิ/สินทรัพย์รวม

     ทั้งนี้ในการแปลผลนั้น  จะต้องมีการเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานกลางว่าต่ำกว่าหรือไม่  ถ้าหากต่ำกว่าก็จะต้องย้อนไปดูว่าเกิดจากประสิทธิภาพในด้านการบริหารสินทรัพย์  และ / หรือ ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการที่ยังด้อยอยู่  ตลอดจนการย้อนไปดูถึงต้นเหตุ  ตั้งแต่  ต้นทุนขาย  ค่าใช้จ่ายในการขาย  ดอกเบี้ย  ภาษี  มีมากเกินไปหรือไม่  หรือย้อนกลับไปดูว่ามีสินทรัพย์ใดที่ยังใช้ไม่คุ้ม  เพื่อจะได้แก้ปัญหาได้ตรงกับเหตุของปัญหาที่แท้จริง

     หมายเหตุ :  หากจะมีการทำให้เป็นร้อยละ  (%)  ก็ได้แต่จะต้องคำนวณเป็นร้อยละ ในทุกค่าที่คำนวณได้ให้เหมือนกัน  และเมื่อรวบรวมผลก็ต้องแสดงในรูปของ  (%)  หรือเขียน “ร้อยละ” กำกับไว้ด้วยเสมอ


 

หมายเลขบันทึก: 3253เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2005 02:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท