ความสำคัญ ความหมาย และประเด็นการคิดวัสดุคงคลังที่มากกว่า 3 เดือน


วัสดุคงคลังที่มากว่า 3 เดือน เป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่สะท้อนภาพการบริหารจัดการของสถานบริการได้ระดับหนึ่ง แต่ในการวิเคราะห์จนสามารถแปรผลออกมาให้ได้ในเชิงลึกนั้นจะต้องนำไปคำนวณจนให้ได้ค่าดัชนีสินทรัพย์สำรองสุทธิ (Net working capital index) ออกมา ซึ่งสามารถอธิบายความรุนแรงและแยกประเภทของปัญหา พร้อมทั้งชี้เฉพาะถึงแนวทางที่ควรใช้แก้ปัญหาได้ตรงประเด็นมากที่สุด

ความสำคัญ ความหมาย และประเด็นการคิดวัสดุคงคลังที่มากกว่า 3 เดือน
ของสถานบริการสาธารณสุข


อนุชา  หนูนุ่น : ผู้เขียน (16 สิงหาคม 2547)

     วัสดุคงคลังที่มากว่า 3 เดือน เป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่สะท้อนภาพการบริหารจัดการของสถานบริการได้ระดับหนึ่ง แต่ในการวิเคราะห์จนสามารถแปรผลออกมาให้ได้ในเชิงลึกนั้นจะต้องนำไปคำนวณจนให้ได้ค่าดัชนีสินทรัพย์สำรองสุทธิ (Net working capital index) ออกมา ซึ่งสามารถอธิบายความรุนแรงและแยกประเภทของปัญหา พร้อมทั้งชี้เฉพาะถึงแนวทางที่ควรใช้แก้ปัญหาได้ตรงประเด็นมากที่สุด จะได้กล่าวในส่วนที่ต่อจากประเด็นนี้ไป
     จากการที่คณะทำงานพัฒนาระบบและกลไกการเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านการเงินการคลังของสถานบริการสุขภาพ (2547) ได้เสนอไว้ว่าสถานบริการสาธารณสุขควรมีการสำรอง (Reserve) สินทรัพย์ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นทรัพยากรในการดำเนินงานได้อย่างเหมาะสมโดยรวมอย่างน้อยประมาณ 3 เดือน จากประเด็นดังกล่าวจึงสามารถอนุมานมายังวัสดุคงคลังที่จะใช้ในการให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนได้อย่างเหมาะสม คล่องตัว และมีเวลาเหลือพอในการบริหารจัดการ หากเกิดภาวะวิกฤติขึ้นอย่างเฉียบพลัน เช่น สินค้าขาดตลาด ราคาสูงขึ้น หรือเกิดความเสียหายต่อสินค้าที่ทำให้มีเหตุให้การจัดส่งล่าช้า เป็นต้น ซึ่งควรจะต้องมีอยู่อย่างน้อย 3 เดือน เช่นกัน วัสดุที่กล่าวถึงในการจัดบริการสาธารณสุขนี้ จะหมายถึง วัสดุโดยทั่วไป ยา และเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา
     การคำนวณวัสดุคงคลังที่มากกว่า 3 เดือน จึงมาจากฐานคิดดังกล่าวแล้วข้างต้น ฉะนั้นวิธีคิดคำนวณจึงได้มาจากการนำรายจ่ายค่าวัสดุ ค่ายา และค่าเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยามาเฉลี่ยว่าแต่ละเดือนนั้นจะมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ (ค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าวัสดุ ยา และเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยารวมตั้งแต่ต้นปี จนถึงเดือนที่จะคำนวณ หารด้วย จำนวนเดือนนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนที่จะคำนวณ) เมื่อได้ค่าเป็นเท่าไหร่ก็นำมาคูณด้วย 3 (ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน*3) ซึ่งก็คือใน 3 เดือน จะมีค่าใช้จ่ายด้านวัสดุ ประมาณกี่บาท หรือให้ความหมายว่า สถานบริการแห่งนี้ควรจะมีวัสดุที่สำรองไว้ไม่ต่ำกว่าค่าที่คำนวณได้นั่นเอง
     จากนั้นเพื่อเป็นการตอบคำถามว่าแล้วขณะนี้ (ขณะที่ทำการคำนวณ) สถานบริการแห่งนี้ได้จัดให้มีวัสดุคงคลังมากหรือน้อยกว่าค่าที่คำนวณได้ (3 เดือน) จึงนำวัสดุที่มีอยู่จริง ณ เวลาที่ทำการคำนวณมาตั้ง แล้วลบด้วย ค่าที่คำนวณได้ ซึ่งถ้าหากพบว่าค่ามากกว่าศูนย์ก็คือ สถานบริการแห่งนี้มีวัสดุคงคลัง (สำรองไว้) มากกว่า 3 เดือน และค่าที่ได้จากการลบกันที่กล่าวถึงข้างต้นจะเรียกว่า “ค่าวัสดุคงคลังที่มากกว่า 3 เดือน” ซึ่งจะใช้ในการคำนวณในลำดับต่อไป หากค่าที่คำนวณได้น้อยกว่าหรือเท่ากับศูนย์จะเรียกว่าไม่มีวัสดุคงคลังเพียงพอในระยะ 3 เดือน (ไม่นิยมกล่าวถึงค่าที่ติดลบ) 
     โดยสรุปสูตรที่ใช้คำนวณ เขียนได้ดังนี้  วัสดุคงคลังที่มากกว่า 3 เดือน

     =วัสดุคงคลังที่มีอยู่ ณ เดือนที่ทำการวิเคราะห์  - ((รายจ่ายวัสดุ รวมตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนที่ทำการวิเคราะห์ - จำนวนเดือน ตั้งแต่ต้นปี ถึงเดือนที่ทำการวิเคราะห์)*3)

     หมายเหตุ : ค่าที่ < 0 หรือ = 0 จะให้ค่าเท่ากับ 0 ในการแปรผล

หมายเลขบันทึก: 3252เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2005 02:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท