ประสบการณ์ผู้ป่วยมะเร็ง ตอนที่ 2


ขอบพระคุณคุณทนงศักดิ์ กรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จหลังเข้าร่วมโปรแกรม Self-Management ด้วยระยะเวลา 6 สัปดาห์ ซึ่งดัดแปลงเนื้อหาจาก Prof.Tanya L. Packer: Fatigue Management Program

การดูแลตัวเองแบบ Self Management

อาการอ่อนเปลี้ยเพลียแรง (Fatigue-weakness) คืออาการที่ผู้ป่วยรู้สึกว่าหมดเรี่ยวหมดแรงทั้งกายและใจที่จะทำงานใดๆ ทั้งยังไม่สามารถดีขึ้นได้จากนอนผักผ่อนเป็นอาการที่พบในผู้ป่วยโรคมะเร็ง ถึงร้อยละ 70 – 80   ที่ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและญาติลดลงอย่างไรก็ตามอาการนี้สามารถเกิดขึ้นกับคนทั่วไปที่ไม่ใช่คนป่วยได้เช่นกัน โดยมีความรู้สึก อ่อนเพลีย อยู่ตลอดเวลาทั้งที่ไม่ได้เป็นโรค

สาเหตุของอาการอ่อนเพลีย

ในผู้ป่วยมะเร็งหรือโรคระยะสุดท้ายอื่นๆแบ่งได้เป็น 4 สาเหตุคือ

  1. สาเหตุจากตัวโรคมะเร็ง อาการอ่อนเพลียเป็นผลมาจากปฏิกิริยาระหว่างตัวมะเร็งและการตอบสนองทางเคมีของร่างกาย  พบได้ถึงร้อยละ 80 ของมะเร็งระยะสุดท้าย
  2. สาเหตุจากการรักษา เช่น อ่อนเพลียจากเคมีบำบัด  มักเกิดอาการมากที่สุดในช่วงวันแรกๆ ของการรักษา  อ่อนเพลียจากรังสีรักษา  มักเกิดอาการสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  อ่อนเพลียจากการผ่าตัด
  3. สาเหตุอื่นๆ เช่นนอนไม่พอ ซึมเศร้า วิตกกังวล โลหิตจาง ยา ภาวะติดเชื่อต่างๆ
  4. เกิดจากตัวผู้ป่วยเองเมื่อรู้ตัวว่ารักษาไม่ได้หรือมีจิตใจห่อเหี่ยว ท้อถอยไม่สู้ไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

 การดูแลอาการอ่อนเพลีย

1.  การดูแลรักษาโดยไม่ใช้ยา  คือการแก้ไขตามสาเหตุ และการแก้ไขโดยการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมตามสภาพของโรค  รวมทั้งการรักษาแบบอื่นๆ  เช่นการนอนหลับ การปรับอาหารการกิน   การเปลี่ยนอิริยาบถในสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติหรือการผ่อนคลาย  การนั่งสมาธิ  การทำกิจกรรมอาสาสมัครช่วยเหลือผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวกับกิจกรรมในกลุ่มผู้ป่วย  ก็สามารถลดอาการอ่อนเพลีย และเพิ่มความสดชื่นในผู้ป่วยได้มาก ดังนั้นการรักษาอาการอ่อนเพลียโดยไม่ใช้ยา  จะใช้การดูแลรักษาโดยวิธี  Self Management เป็นการดูแลรักษาจาก นักกิจกรรมบำบัด โดยตรง นักกิจกรรมบำบัดจะให้คำแนะนำและสอนวิธีการ เรียนรู้เพื่อจัดการพลังงานของผู้ป่วยมะเร็ง  ประโยชน์ที่ได้รับจากการเรียนรู้แบบ

การจัดการตัวเอง (Self Management)  คือการที่ผู้ป่วยสามารถจัดการบริหารการดำเนินชีวิตของตัวเองในแต่ละวันได้โดยไม่อ่อนเพลียจนเกินไปและมีกำลังใจในการที่จะต่อสู้และจัดการกับโรคที่กำลังเป็นอยู่   หรือการลดความอ่อนเพลียโดยการจัดการกับพลังงานที่มีอยู่ของผู้ป่วยให้เพียงพอในการจะทำกิจกรรมให้สำเร็จ  โดยการพักผ่อนหรือใช้เครื่องมืออุปกรณ์ช่วยให้ใช้พลังงานน้อยลง  หรือการแบ่งกิจกรรมที่กำลังทำเป็นช่วงๆ ไม่หนักมากเกินไปที่จะทำให้สำเร็จภายในระยะเวลาอันสั้น    หรือการกำหนดกิจกรรมที่จะทำในแต่ละวันขึ้นมาก่อนแล้วเลือกทำกิจกรรมที่สำคัญและคาดว่ามีพลังงานพอที่จะทำได้ก่อนเป็นต้น   สำหรับกิจกรรมที่สำคัญรองลงมาอาจเลื่อนไปทำในวันอื่นที่เหมาะสมต่อไป   ถ้าทำได้ดังนี้จะทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจไม่ท้อแท้และพยายามต่อสู้ต่อไป  

วงจรความเหนื่อยล้า

อุปสรรคของการใช้ชีวิตหลังโรคมะเร็ง > ความเหนื่อยล้าจากโรคมะเร็ง > ความรู้สึกเบื่อ เครียด ซึมเศร้า > ความเหนื่อยล้าเพิ่มขึ้นจากกิจวัตรประจำวัน  > ชีวิตไม่เป็นสุข ไม่มีความมั่นใจในสมรรถนะของตนเอง และรู้สึกมีอุปสรรคมากขึ้นจากโรคมะเร็ง 

2. การรักษาด้วยยา  ข้อสำคัญที่สุดคือการหยุดใช้ยา  การลดการใช้ยา  โดยพิจารณาหยุดยาที่ส่งผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลางซึ่งจะทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย 

การจัดการกับพลังงาน

ร่างกายของคนเราเปรียบเสมือนธนาคาร  แต่เป็นธนาคารพลังงานโดยปกติร่างกายของเราสามารถเก็บพลังงานได้มากพอควร เมื่อเราใช้พลังงานออกไปโดยการทำกิจกรรมเราก็จำเป็นต้องมีการเพิ่มพลังงานเข้าสู่ร่างกายโดยการทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และการผักผ่อนในที่นี้จะเน้นเรื่องการพักผ่อน (Rest)

ความสำคัญของการพักผ่อน

ถ้าคุณทำงาน(กิจกรรม)อย่างหนักต่อเนื่องกันโดยไม่พักผ่อน  ไปได้ระยะเวลาหนึ่งคุณจะไม่สามารถทำงานได้ต่อไป เปรียบเสมือนคุณใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอร์รี่ติดต่อกันเมื่อไฟฟ้าอ่อนลงเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นจะทำงานผิดเพี้ยนไปหรือหยุดทำงานลงในที่สุด

การพักผ่อนคืออะไร

การพักผ่อนคือทุกวิธีการที่ทำให้ร่างกายมีพลังงานสะสมในร่างกายไว้ทำกิจกรรมต่างๆต่อไปได้  การพักผ่อนเป็นการป้องกันการซ่อมแซมสิ่งสึกหรอที่เกิดขึ้นกับร่างกายของมนุษย์ให้กลับสู่สภาพปกติ

ข้อที่ต้องปฏิบัติสำหรับการพักผ่อน

1. พักผ่อนก่อนที่รู้สึกเพลียสามารถป้องกันการเพลียต่อเนื่อง

2. พักผ่อนก่อนที่รู้สึกเพลียช่วยให้การใช้เวลาในการพักน้อยลง

3. แบ่งการพักผ่อนเป็นช่วงๆ ในระยะเวลาสั้นๆหลายครั้ง

4. เปรียบเทียบการพักผ่อนนานๆ กับการแบ่งเวลาพักผ่อนสั้นๆบ่อยๆ

5. ทำงานที่ชอบแล้วพักผ่อน

6. จดกิจกรรมที่จะต้องทำ การวางแผนการพักผ่อน จัดทำตารางกิจกรรมล่วงหน้าเป็นวันเป็นสัปดาห์

รูปแบบของการพักผ่อน

การนอนพักผ่อน  การนั่งพักผ่อน  การนอนหลับ  การทำกิจกรรมที่ชอบ  การชมภาพยนตร์ การดูโทรทัศน์ การฟังวิทยุ  การอ่านหนังสือ การฟังเพลงที่ขอบ การสวดมนต์  การนั่งสมาธิ

ผลประโยชน์ที่ได้รับในการพักผ่อน

1. สามารถทำงาน(กิจกรรม) ได้เพิ่มขึ้น

2. มีความรู้สึกดีขึ้น

3. มีความสุขจากการทำงาน

โดยปรกติผู้ที่เป็นโรคมะเร็ง  เมื่อได้รับการผ่าตัดเอาชิ้นเนื้อที่เป็นมะเร็งออกแล้ว บวกกับการที่รับรังสีบำบัดหรือเคมีบำบัด หรือทั้งสองอย่างด้วยแล้ว  ในระยะที่กำลังรักษาอยู่ผู้ที่ได้รับการรักษาจะมีผลข้างเคียง น้อยบ้าง มากบ้างแล้วแต่กรณี  แต่ที่มีผลอย่างมากคืออาการอ่อนเพลีย หมดแรง ไม่อยากทำกิจกรรมเลย  วิธีการแก้ไขคือการพักผ่อน เมื่อร่างกายเริ่มดีขึ้นแล้วผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งควรจะทำกิจกรรมบ้างเพื่อจะได้ทำให้มีความรู้สึกว่าชีวิตยังมีคุณค่าอยู่และได้สะสางงานที่ยังไม่ได้ทำหรืออยากทำให้สำเร็จไปได้   ถ้ายังรู้สึกเพลียอยู่บ้างแต่มั่นใจว่าพอทำได้ให้ทำ

การกำหนดตารางการพักผ่อน

 1. รายการ (List) ที่อยากจะทำหรือต้องทำโดยจดรายการที่ต้องทำและอยากทำในกระดาษหรือสมุดบันทึกส่วนตัว

 2. วางแผนการพักผ่อน (Plan Your Rests) ทำการแบ่งเวลาในตารางเป็นช่วงเช้า ช่วงบ่าย และช่วงเย็นของแต่ละวัน โดยการกำหนดเวลาที่ต้องการพักผ่อนลงไปในตารางที่อยากพักแต่ละช่วงที่คิดว่าจะให้ผลดีแก่ตัวคุณมากที่สุด (คาดการณ์ช่วงเวลาที่ต้องการพักผ่อนและแบบของการพักผ่อนที่คิดว่าดีที่สุด)

 3. เมื่อทำตารางทั้ง 1 และ 2 ข้อข้างต้นแล้วให้ปฏิบัติดู โดยการปรับตารางการพักผ่อนได้เต็มที่ถ้าอยากพักผ่อนเพิ่มเพื่อให้สามารถทำกิจกรรมต่อไปได้

 4. เอากิจกรรมที่กำหนดและทำในตารางที่ 1 มาให้คะแนนการใช้พลังงานในแต่ละวัน(โดยให้คะแนนทุกกิจกรรมที่กำหนดไว้และได้ทำจริง  การให้คะแนนขึ้นอยู่กับพลังงานที่ใช้ในการทำกิจกรรม) โดยการให้คะแนนตั้งแต่ น้อยสุดคือ 1 ไปจนถึงใช้พลังงานสูงสุดคือ 10

การสื่อสารกับตัวเอง

การสื่อสารกับร่างกายคือการที่คุณบอกกับตัวของคุณก่อนที่คุณจะทำกิจกรรมที่คุณอยากจะทำ  การที่คุณบอกกับร่างกายก่อนทำกิจกรรมจริงเป็นการช่วยให้คุณใช้พลังงานน้อยลงในการทำสิ่งที่คุณอยากทำ  คุณก็สามารถทำกิจกรรมได้เพิ่มขึ้นหรือ  ทำให้คุณเกิดความอ่อนล้าน้อยลงเป็นการประหยัดพลังงานให้คุณมีต้นทุนพลังงานเหลือมากขึ้น

การที่เราสามารถทำกิจกรรมโดยใช้พลังงานน้อยลงเนื่องจากใช้อวัยวะทุกส่วนของร่างกายอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นสาเหตุที่ใช้พลังงานน้อยลงขณะทำกิจกรรมเนื่องจากมีการสื่อสารกับร่างกายก่อนทำจริง ทำให้สามารถใช้กล้ามเนื้อได้มากขึ้นแข็งแรงขึ้น  ความเครียดเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ใช้พลังงานมากขึ้นแต่ถ้าคุณทำกิจกรรมด้วยความสุขจะให้พลังงานน้อยลง  ตัวอย่างขณะที่เราทำงานอดิเรกที่เราชอบ  เราจะทำด้วยความสุขไม่รู้สึกเหนื่อยแสดงว่าเราใช้พลังงานน้อย

ผู้ป่วยที่รู้จักการใช้ส่วนต่างๆของร่างกายอย่างถูกต้องสมารถลดการใช้พลังงานที่ทำกิจกรรมได้ซึ่งนำไปสู่การลดความอ่อนเพลียได้เป็นผลพลอยได้เช่น

1. การยืน  ถ้าเราต้องยืนนานๆ  เราสามารถลดความเมื่อยล้าได้โดยการสวมใส่รองเท้าที่สบายเหมาะสมกับเท้าที่สวมใส่  การถ่ายน้ำหนักไปที่ขาทั้งสองข้างแทนที่ให้ข้างใดข้างหนึ่งรับน้ำหนักมากกว่าอีกข้าง  แขนทั้งสองปล่อยตามสบายแต่ชิดกับร่างกาย  ศีรษะตั้งตรง  และปรับเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง

2. การนั่งทำงาน  นั่งตัวตรงหลังแนบกับพนักเก้าอี้  ขาทั้งสองวางแนบกับเบาะนั่ง  นั่งติดกับโต๊ะทำงาน

3. การนั่งเพื่อพักผ่อน  อาจหาเก้าอี้นั่งสบายๆ ตัวโปรดเพื่อเป็นการนั่งพักทำอะไรที่ชอบเช่นอ่านหนังสือ

4. การนอน  นอนในที่สบายที่นอนไม่นิ่มหรือแข็งจนเกินไปหมอนไม่สูงจนเกินไปอาจใช้หมอนอีกใบวางใต้ขา

5. การยกของ ไม่ยกของหนักเกินกำลัง  การยกของจากพื้นให้ย่อตัวลงแล้วยกขึ้นไม่ก้มหลังยกของ ยกของแนบตัวขณะเคลื่อนที่

สถานที่ทำกิจกรรม

ผู้ป่วยที่ต้องทำงานประจำระหว่างการรักษาโรคจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ใช้ประจำในการทำงานเพื่อให้เหมาะสมในการทำงานให้ใช้พลังงานน้อยที่สุด

อุปกรณ์ที่ติดตั้งถาวรเช่นโต๊ะทำงานให้มีขนาดพอเหมาะกับผู้ใช้งาน  ตัวอย่างถ้าเรายืนทำงานไม่ควรต้องก้มตัวลงตลอดเวลา ซึ่งทำให้มีความรู้สึกไม่สบายในการทำงานเกิดอาการปวดเมื่อย หรือการนั่งทำงานโต๊ะที่ใช้ทำงานไม่ควรจะต่ำเกินไป  การยกของไม่ควรต้องก้มเพื่อยกของแต่ควรวางสิ่งของที่จะยกให้อยู่ในระดับในการยกเคลื่อนย้ายได้สะดวก

เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ช่วยให้ทำงานสะดวกขึ้น

อุปกรณ์ที่ช่วยให้ผู้ป่วยทำงานสะดวกและใช้พลังงานน้อยลง ได้แก่อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ เช่น สว่านไฟฟ้า เลื่อยไฟฟ้า และอื่นๆ

อุปกรณ์การเคลื่อนที่ต่างๆ  เช่นช่วยยกของที่ต้องการขนย้ายโดยใช้ล้อเข้ามาช่วยแทนการยกด้วยแรงของผู้ป่วย  รวมทั้งการที่ป่วยต้องการเคลื่อนย้ายตัวเองจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งอาจใช้รถจักรยานยนต์ รถยนต์   

 การดูแลผู้ป่วยระยะยาวไปตลอดชีวิต

 เมื่อผู้ป่วยมะเร็งได้รับการรักษาจากแพทย์แผนปัจจุบันแล้วไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดการให้เคมีบำบัดหรือการฉายแสง อย่างใดอย่างหนึ่งหรือสองอย่าง  รวมทั้งการใช้ทั้งสามอย่างร่วมกันแล้วก็ตามผู้ป่วยจะแน่ใจว่าหายจากมะเร็งเด็ดขาดแล้วไม่ได้  ผู้ป่วยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตัวเองจากที่ปฏิบัติก่อนการเกิดโรคจึงจะมีโอกาสในการใช้ชีวิตต่อให้ยืนยาวที่สุดได้ได้แก่

1. ปรับเรื่องอาหาร   มีผู้กล่าวไว้ว่าคุณจะเป็นอะไรก็ขึ้นกับอาหารที่คุณกินเข้าไป  การที่คุณเป็นมะเร็งเพราะภูมิคุ้มกันของคุณน้อยหรือไม่ทำงานเซลล์มะเร็งจึงสามารถโจมตีคุณได้  ถ้าอยากหายจากมะเร็งจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนอาหารเสียใหม่  เพื่อให้ภูมิต้านทานฟื้นสภาพกลับมาเหมือนเดิมก่อนเป็นให้ได้  เซลล์มะเร็งก็จำเป็นต้องการอาหารในการเติบโตเช่นกันเพราะฉะนั้น ต้องทำให้มะเร็งไม่มีโอกาสโตได้อาหารที่ไม่ควรกินได้แก่ เนื้อสัตว์ทุกประเภท ไขมันทุกประเภท  อาหารที่ปรุงไม่มีรสเค็ม  ให้กินผักสดและผลไม้สดมากๆ  กินสาหร่ายทะเลทุกมื้อ สาหร่ายเป็นแหล่งเกลือแร่เสริมภูมิต้านทานที่ร่างกายจำเป็นต้องใช้

2. การกินวิตามิน  การจะฟื้นภูมิต้านให้ได้เร็วจำเป็นต้องอาศัยวิตามินมาช่วยได้แก่

วิตามินเอ มาจากเบต้าแคโรทีน ส่วนมากอยู่ในผักสีเขียนจัด เหลืองจัดแดงจัด ได้แก่หัวแครอท ฟักทอง มันเทศสีเหลือง ข้าวโพดเหลือง บรอกโคลี ผักบุ้ง

วิตามินบี มาจากโปรตีนของพืชที่หมักโดยวิธีธรรมชาติ เช่นมิโซะ(เต้าเจี้ยวญี่ปุ่น) โชยุ(ซีอิ๊วญี่ปุ่น)

วิตามินซี มีมากใน ส้ม มะนาว ในผักเช่นมันฝรั่ง ถั่วพู มะเขือเทศ กะหล่ำปลี คะน้า หัวหอม

3. การปรับภูมิต้านทานให้สูงขึ้น

การออกกำลังกาย  จะต้องออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 20 – 30 นาทีและต้องออกสม่ำเสมอและต้องออกแรงพอควรไม่น้อยกว่า 60 – 70 ของความสามารถสูงสุดของผู้ป่วยจึงจะเพียงพอที่จะเพิ่มภูมิต้านทานให้สูงขึ้น

การสวดมนต์ ไหว้พระแล้วนั่งทำสมาธิ  เพราะสมาธิสามารถสร้างพลังกายและเสริมกำลังใจ สมาธิจะส่งเสริมร่างกายให้แข็งแรง

การใช้ความร้อน ความเย็น

การอาบแดด การอบสมุนไพร ซาวน่าสลับร้อนเย็นเพื่อให้ความร้อนมากระตุ้นทำให้ภูมิต้านทานเพิ่มสูงขึ้น

หมายเลขบันทึก: 324578เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2010 12:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2012 11:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบคุณสำหรับเนื้อหาดี ๆ ที่ประยุคใช้ได้ครับ

สัวสดีปีใหม่ครับอาจารย์ POP

ขอบคุณสำหรับพรปีใหม่และคำชื่นชมครับ จริงๆ แล้วเนื้อหาในบันทึกนี้ผู้มีประสบการณ์โรคมะเร็งเป็นผู้เขียนหลังจากเรียนรู้โปรแกรมกิจกรรมบำบัดด้วยการจัดการตนเองครับ

สวัสดีปีใหม่ครับคุณหมอโรจน์

ขอบคุณมากนะค่ะ สำหรับข้อมูลดีๆๆ พ่อเราเจอก้อนเนื้อในสมอง (หมอคิดว่าเป็นเนื้อร้าย) แต่ไม่ผ่าตัด (อายุมากแล้วค่ะ) รักษาด้วยยา ถ้ามีอะไรแนะนำเราได้นะค่ะ แล้วเราจะมาแวะเยี่ยมบล็อคคุณบ่อยๆๆ ค่ะ

ขอบคุณมากครับคุณ Noina

ตอนนี้แนะนำให้ส่งเสริมกำลังใจและการจัดการเวลา การพักผ่อน และการทำกิจกรรมที่ชอบ ให้กับคุณพ่อมากๆ นะครับ

หากมีสิ่งใดแนะนำเพิ่มเติมได้ ก็สอบถามทางอีเมล์ก็ได้ครับ

อบรมฟรี กิจกรรมบำบัดจิตสังคมกับการจัดการมะเร็ง 17 ก.ย. 54

คลิกอ่านประชาสัมพันธ์ที่ http://www.gotoknow.org/classified/ads/1623

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท