ระบบอุดมศึกษากับความรับผิดชอบต่อสังคม (๒) ประเด็นสำคัญ ๔ ประเด็นแรก


ตอนที่ ๑

          หนังสือเชิญประชุม retreat บอกว่าจะนำเสนอประเด็นสำคัญ ๑๐ เรื่อง   แต่เอาเข้าจริงกลายเป็น ๑๔ เรื่อง   ซึ่งมากเกินไปที่จะนำเสนอและอภิปรายกันลงสู่ประเด็นเชิงปฏิบัติได้ภายในเวลา ๑ วัน

          อย่างไรก็ตาม   ๔ เรื่องแรกที่นำเสนอช่วงเช้า และมีเวลาเพียงพอสำหรับอภิปรายให้ความเห็นสู่ภาคปฏิบัติ   ก็ให้ความรู้สึกชื่นชมทีมงานของท่านเลขาธิการ สกอ. ดร. สุเมธ แย้มนุ่น ที่ได้เตรียมการณ์มาอย่างดี ในเรื่อง

๑. การดำเนินการตามกรอบแผนอุดมศึกษาระยะยาว ๑๕ ปี (พ.ศ. ๒๕๕๑ – ๒๕๖๕)


๒. การสังเคราะห์การประชุมคณะกรรมการการอุดมศึกษา ปี ๒๕๕๒


๓. แผนปฏิบัติการของ สกอ. ในปีงบประมาณ ๒๕๕๓


๔. ทิศทางการทำงานของ สกอ. ที่สอดคล้องกับ กกอ.

 


          ผมคิดว่าหากยึดความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นหัวใจ   กลไกสำคัญคือความเชื่อมโยงกับ real sector แล้วนำเอาประเด็นอื่นๆ มาเป็นปัจจัยเป้าหมายในการทำงานเชื่อมโยงรับใช้ real sector   ซึ่งจะมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ   และต่อความยั่งยืนของสังคมภายใต้เศรษฐกิจพอเพียง

          เมื่อสังเคราะห์การทำงานของ กกอ. ในช่วง ๑ ปีที่ผ่านมา    ก็สรุปได้ว่า กกอ. ทำงานกำกับดูแลใน Mode I, Fuduciary Mode เป็นหลัก   ทำงานกำกับดูแลใน Strategic และ Generative Mode น้อยมากหรือแทบไม่มีเลย   เป็นเครื่องเตือนว่า ในปี ๒๕๕๓ และปีต่อๆ ไป เราต้องตั้งหลักทำงานเชิงสร้างสรรค์ให้แก่ระบบอุดมศึกษา

          น่าชื่นชมที่ท่านเลขาสุเมธ นำเอาแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๓ มาให้ดู   เพื่อนำมาทาบเข้ากับประเด็นการทำงานของ สกอ. ที่สอดคล้องกับ กกอ.   สำหรับนำมาขอความเห็น แล้วทีม สกอ. จะนำไปคิดงบประมาณและแผนปฏิบัติราชการ ปี ๒๕๕๔ ที่สอดคล้องกับแนวทางของ กกอ. ยิ่งขึ้น 

          ภาพสรุปภารกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วง ๓๐ ปี ของ สกอ. ทำให้เราเห็นชัดเจนว่า    สกอ. ถูกใช้ให้ทำงานเป็น implementer ของนโยบายระยะสั้นของฝ่ายการเมือง ที่ต่อมาก็คงค้างอยู่แบบไร้วิญญาณ เพราะฝ่ายการเมืองเปลี่ยนขั้ว หรือเปลี่ยนคนไปแล้ว    งานเหล่านี้พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ จนกินเวลาและแรงงานของคน สกอ.   จนในที่สุดคนเหล่านี้พร่องทักษะในการทำงานใหญ่ที่เป็นหน้าที่หลัก คืองานบริหารระบบอุดมศึกษา 

          เป็นสภาพที่ข้าราชการถูกกระทำจากระบบ    จากการทำงานแบบมุ่งผลระยะสั้นของฝ่ายการเมือง 

          โจทย์สำคัญที่สุดของ สกอ. คือ จะสลัดภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักอะไรบ้างออกไป    เพื่อจะได้ทำงานหลักที่ก่อความเข้มแข้งให้แก่ระบบอุดมศึกษา    เพื่อให้ระบบอุดมศึกษาเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมไทยได้อย่างแท้จริง

          เป็นช่วงเวลาที่ สกอ. จะต้องหา identity ของตนเองให้พบ   หา core business ของตนให้พบ   และสลัดงานฝากที่รกรุงรังออกไป   พร้อมๆ กับเรียนรู้ทักษะเพื่อทำงานหลักของตนให้ได้ผลดีจริงๆ เกิดประสิทธิผลจริงๆ ต่อบ้านเมือง

          จากข้อมูลงบประมาณปี ๒๕๕๓ ที่เอามาให้เราดู   กรรมการ กกอ. ตลึงที่มีงบประมาณอุดหนุนหน่วยงานในกำกับถึง ๑,๔๙๐.๒ ล้านบาท   ได้แก่

   AIT                                          ๙๕     ล้าน
    สถาบันคลังสมองของชาติ            ๒๐      ล้าน
    โครงการวิจัย CRI                    ๓๙๕.๕  ล้าน
    ศูนย์วิจัยบำบัดรักษาโรคมะเร็ง    ๖๖๘.๔  ล้าน
    ศูนย์โรคลมชัก                         ๑๓๒.๓   ล้าน
    มจธ. เงินเดือนข้าราชการ          ๑๐๓.๖   ล้าน

          ขอย้ำว่า บันทึกชุดนี้ (มี ๕ ตอน) ไม่ใช่การสรุปมติการประชุม retreat ของ สกอ.   แต่เป็นบันทึกส่วนตัวของผม   ไม่ผูกมัด กกอ. ว่าจะต้องเห็นด้วย

 

วิจารณ์ พานิช
๑๔ ธ.ค. ๕๒
         

 

หมายเลขบันทึก: 323394เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2009 11:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 14:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท