พัฒนาชีวิตด้วยดนตรี (2)


เมื่อมีเงินอยู่สองบาท จงใช้หนึ่งบาทซื้อข้าวและอีกหนึ่งบาทซื้อดอกไม้

เรื่องเล่านอกห้องเรียน
เล่าเรื่องโดย : คุณครูขจรศักดิ์ กิตติเมธาวีนันท์ (Chorus Master) คุณครูดนตรีชีวิต

“เมื่อมีเงินอยู่สองบาท จงใช้หนึ่งบาทซื้อข้าวและอีกหนึ่งบาทซื้อดอกไม้”
Guten Arben* เพลงสุดท้ายที่หวานไพเราะจับใจได้ถูกนำมาร้องปิดท้ายในการแสดงคอนเสิร์ต Bangkok Voices Campus Tour
จัดขึ้นเมื่อค่ำวันที่ ๑ ธันวาคมที่ผ่านมา ณ หอศิลป์ วังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยวง Bangkok Voices**

เป็นการแสดงดนตรีรูปแบบการขับร้องประสานเสียงโดยไม่ใช้เครื่องดนตรีประกอบการร้อง (A Cappella)
บทเพลงกว่า ๒๐ เพลงได้ถูกนำมาร้อยเรียงตามยุคสมัยของดนตรีโดยเริ่มจากยุค Renaissance (ค.ศ.๑๔๕๐-๑๖๐๐)
ไปยังยุค Baroque (ค.ศ.๑๖๐๐-๑๗๕๐), Classical (ค.ศ.๑๗๕๐-๑๘๒๐), Romantic (๑๘๒๐-๑๙๐๐)
เรื่อยไปจนถึงยุค Modern (๑๙๐๐-ปัจจุบัน) ซึ่งเป็นยุคในปัจจุบันนั่นเอง

โดยแต่ละยุคนักประพันธ์เพลง (Composer) จะมีเอกลักษณ์และเทคนิคที่นิยมใช้แตกต่างกันออกไป
เราจะได้ ยินแนวทำนอง (Melody) หลากหลายแนวถูกร้องสอดประสานสลับกันไปมาในบทเพลงยุค Renaissance
หรือเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนาที่นิยมเรียกกันว่า Motet ในยุค Baroque ซึ่งแตก
ต่างกับบทเพลงที่ได้ยินแนวทำนองชัดเจน ฟังดูมีแบบแผนอย่างเพลงในยุค Classical
แต่ไม่ได้แสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้ประพันธ์ได้ชัดเจนเท่ากับเพลงในยุค Romantic
และก็ยังไม่มีเพลงในยุคใดที่ฟังดูแปลกใหม่ทั้งในเรื่องรูปแบบ (Form) และเสียงประสาน (Harmony) ได้เท่าบทเพลงในยุค Modern

ยิ่งไปกว่านั้นคือ เมื่อเทคนิคและลักษณะเด่นของบทเพลงในยุค Modern
ถูกนำเสนอผ่านทางเสียงร้องของมนุษย์บวกกับลีลาท่าทางการเต้นของนักร้องในรูปแบบกลุ่มแล้ว
ยิ่งทำให้ผู้ชมแทบจะลุกขึ้นมาเต้นไปพร้อมๆ กันเลยทีเดียว

แต่ ทั้งนี้ทั้งนั้นนักร้องก็ไม่ลืมที่จะทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีโดยฟังซึ่งกันและกัน
เวลาร้อง การถ่ายทอดอารมณ์ของบทเพลงไปยังผู้ชมผ่านทางสีหน้าและท่าทาง
และที่สำคัญที่สุดคือการแสดงที่สอดคล้องพร้อมเพรียงกันภายใต้การนำของผู้อำนวยเพลง (Conductor) ในขณะแสดง
ทักษะเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดการฝึกฝนและเตรียมตัวมาอย่างดี

เวลา เกือบสองชั่วโมงผ่านไปอย่างรวดเร็ว เสียงปรบมือและรอยยิ้มของผู้ชมในค่ำคืนนั้น
ทำให้นักร้องกว่า ๓๐ ชีวิตรู้สึกมีความสุขไปด้วย
สิ่งต่างๆ เหล่านี่กระมังที่ทำให้เงินอีกหนึ่งบาทของเราต้องหมดไปกับการซื้อดอกไม้
แทนที่จะเอาทั้งสองบาทไปซื้อข้าวเพื่อดำรงชีวิตของเราอย่างเดียว

รอยยิ้มและความสุขของเพื่อนมนุษย์ที่ได้รับจากเรา (ดอกไม้ของเรา)
มันเป็นเหตุผลให้เรามีชีวิตต่อไป เพราะเราทุกคนเชื่อว่า
ไม่มีความรู้สึกใดในโลกนี้ที่ดีไปกว่าการที่เราได้รู้ ว่าชีวิตของเรามีค่า

หันกลับมาดูในโรงเรียนของเราบ้าง
บรรยากาศการเรียนในชั่วโมงเรียนวิชาดนตรีชีวิตของนักเรียนชั้น ๗-๑๒
ไม่ได้เข้มข้นน้อยไปกว่าการซ้อมของนักดนตรีมืออาชีพเลย
เด็กได้รับการฝึกในรูปแบบเดียวกัน โดยฝึกเด็กให้ดูและสื่อสารกับคอนดักเตอร์
การฟังซึ่งกันและกันขณะร้อง รวมทั้งวินัยของการอยู่ร่วมกันเป็นวง
เพราะเราเชื่อว่าถ้าเด็กได้รับการอบรมในทางที่ถูกต้อง
เมื่อโตขึ้นเขาก็จะไม่ละจากทางนั้น

และแน่นอนพวกเขากำลังจะมีผลงานให้ เห็นกันในวันที่ ๒๓ ธันวาคมนี้
ประกอบด้วยบทเพลงที่จะแสดงรวมแล้ว ๕ เพลงด้วยกัน
ซึ่งส่วนใหญ่มีเนื้อหาโดยรวมอยู่ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปี ใหม่

ที่พิเศษกว่านั้นคือได้มีการประพันธ์ขึ้นเป็นพิเศษสำหรับการร้องครั้งนี้โดยเฉพาะ
เพื่อให้เหมาะสมกับเด็กมากที่สุด
และเช่นเคยว่าไม่ได้แต่การแสดงของเด็กนักเรียนเท่านั้น
ใครที่มาร่วมงานลมข้าวเบาฯ คงจะพอนึกภาพออกกับการแสดงของวงครูดนตรีชีวิตทุกท่าน

โดยการแสดงครั้งนี้ทีมครูได้ขะมักเขม้นกับการซ้อมเช่นกัน
เพลงคริสต์มาส เพลงพระราชนิพนธ์ และเพลงทำนองไทยหวานๆ รวม ๓ เพลง
จะถูกบรรเลงเพื่อแต่งเติมสีสันให้กับการแสดงประจำภาคเรียนนี้อย่างแน่นอน...

การขับร้องประสานเสียงในครั้งนี้เป็นการแสดงเพื่อการสอบ และ ประเมินผลการเรียนรู้ในหน่วยวิชาดนตรีชีวิตของนักเรียนช่วงชั้นมัธยม
โดยจะเริ่มแสดงตั้งแต่เวลา ๑๖.๓๐ น. ณ ห้องอเนกประสงค์ใหญ่
ขอเชิญชวนผู้ปกครองที่ชื่นชอบดนตรีเข้าร่วมรับชมและรับฟังการแสดงในครั้งนี้ได้ครับ

แล้วดอกไม้ดอกเดียวกันก็ถูกส่งต่อไปยังเด็กๆ ที่กำลังเพลิดเพลินกับการขับร้องประสานเสียง เพื่อที่พวกเขาจะสร้างดอกไม้แบบเดียวกันนี้มอบให้กับคนอื่นๆ บ้างในอีกไม่กี่วันอันใกล้นี้


* เพลง Lullaby (เพลงกล่อมนอน) เวอร์ชั่นภาษาเยอรมันที่หมายถึง “ราตรีสวัสดิ์”
**วงขับร้องประสานเสียงระดับแนวหน้าของประเทศ เจ้าของผลงานและเหรียญรางวัลมากมายทั้งในระดับเอเชียและระดับโลก

หมายเลขบันทึก: 323258เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2009 17:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มาติดตามต่อจากตอนแล้วครับ...

คุณหนานเกียรติคะ ขอบคุณที่ติดตามค่ะ

Pa Daeng คะ สวัสดีปีใหม่เช่นกันค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท