การจัดการเรียนรู้ตามแนวเจตนารมณ์กระทรวงศึกษาธิการ “2549 ปีแห่งการปฏิรูปการเรียนการสอน”


สถานศึกษาต้องจัดทำสาระของหลักสูตรที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ดังนั้นจึงเป็นบทบาทหน้าที่ของสถานศึกษาต้องจัดทำรายละเอียดของสาระการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น

การจัดการเรียนรู้ตามแนวเจตนารมณ์กระทรวงศึกษาธิการ
“2549 ปีแห่งการปฏิรูปการเรียนการสอน”

      การจัดการเรียนรู้ตามแนวทางการปฏิรูปการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 สถานศึกษาต้องจัดให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของท้องถิ่น ทั้งด้านประวัติความเป็นมา ศิลปะ วัฒนธรรม การกีฬา ภูมิปัญญาไทย และการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญา โดยสถานศึกษาต้องจัดทำสาระของหลักสูตรที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ดังนั้นจึงเป็นบทบาทหน้าที่ของสถานศึกษาต้องจัดทำรายละเอียดของสาระการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น แนวทางการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับท้องถิ่นสามารถทำได้หลายแนวทาง กล่าวคือ

1. สอดแทรกสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ

2. จัดทำสาระการเรียนรู้เพิ่มเติม

3. สอดแทรกสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

4. จัดทำในรูปของสื่อ แหล่งการเรียนรู้ท้องถิ่น

      ในการจัดทำสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นนี้โรงเรียนอนุบาลกองบัญชาการช่วยรบที่ 2 ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ ปีการศึกษา 2547 จนถึง ปีการศึกษา 2549 โดยผู้เขียนและคณะครูได้ร่วมกันจัดทำและพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของโรงเรียน สังคม ศิลปวัฒนธรรม ที่แสดงถึงความเป็นท้องถิ่นโคราช ซึ่งในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2548 ได้ร่วมกันกำหนดหน่วยการเรียนรู้บูรณาการที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมท้องถิ่นและความสนใจของนักเรียนทั้งชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 2  โดยได้จัดทำหลักสูตรบูรณาการทั้งการจัดทำสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ การจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ การวัดและประเมินผลตามสภาพจริง ตามแนวทางการปฏิรูปการเรียนการสอน ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์กระทรวงศึกษาธิการ โดยดำเนินการ ดังนี้

1. สรุปผลการจัดการเรียนการสอนของภาคเรียนที่ 1

2. วิเคราะห์สาระการเรียนรู้ที่จะจัดการเรียนการสอนในภาคเรียนที่ 2 ของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ เพื่อให้ทราบถึงสาระการเรียนรู้ที่ต้องการจัดการเรียนการสอนในภาคเรียนที่ 2

3. วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของสาระการเรียนรู้ของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ เพื่อนำไปจัดทำเป็นหน่วยการเรียนรู้บูรณาการ

4. กำหนดหน่วยการเรียนรู้บูรณาการ ให้สอดคล้องกับสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น โดยนำรายละเอียดของสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นสอดแทรกในหน่วยการเรียนรู้บูรณาการ เช่น หน่วยการละเล่นของไทย (เดินโถกเถก) หน่วยจากเมืองเสมาสู่เมืองโคราช หน่วยสมุนไพรไทย หน่วยลอยกระทง หน่วยของเล่นของใช้เป็นต้น

5. กำหนดกิจกรรมและภาระงาน (Learning Task) ที่เอื้อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้โดยการลงมือ ปฏิบัติด้วยตนเอง เพื่อให้สร้างความรู้ด้วยตนเอง ให้สอดคล้องกับหน่วยการเรียนรู้ดังกล่าว

6. เขียนแผนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะการคิด

7. ลงมือจัดการเรียนการสอน โดยจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติตามกิจกรรมหรือภาระงานที่กำหนดไว้ในแผนการจัดการเรียนรู้

8. วัดและประเมินผลการจัดการเรียนการสอน โดยวัดผลตามกิจกรรมและภาระงาน    ต่าง ๆ ที่กำหนดให้นักเรียนลงมือทำว่าผู้เรียนมีคุณภาพตามจุดประสงค์หรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวังหรือไม่

9. ปรับปรุง พัฒนาให้แผนการจัดการเรียนรู้ให้เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และสามารถสร้างองค์ความรู้ บรรลุผลตามจุดประสงค์การเรียนรู้และผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง

10. ประเมินผลการจัดการเรียนรู้ (ประเมินผลการใช้หลักสูตรรายหน่วย) ประเมินเกี่ยวกับผลการเรียนรู้ของผู้เรียน คุณภาพที่เกิดกับผู้เรียน สอดคล้องตรงกับผลการเรียนรู้ที่คาดหวังหรือไม่ มากน้อยเพียงใด กิจกรรมหรือภาระงานที่ครูกำหนดไว้สอดคล้องเหมาะสมกับจุดประสงค์การเรียนรู้หรือผลการเรียนรู้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด สื่อและแหล่งการเรียนรู้ แผนการจัดการเรียนรู้เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด

      หน่วยการละเล่นของไทย (เดินโถกเถก) เป็นหน่วยบูรณาการที่บูรณาการข้ามกลุ่มสาระ  การเรียนรู้ ประกอบด้วย วิทยาศาสตร์ มีสาระการเรียนรู้ ดังนี้ แรงกับการเคลื่อนที่ ผลของการออกแรง ชนิดของการเล่น อุปกรณ์ประกอบการเล่น ประโยชน์ของการเล่น ผลของการเล่น สังคมศึกษาฯ มีสาระการเรียนรู้ ดังนี้ ประวัติความเป็นมาการละเล่นของไทย (เดินโถกเถก) การอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อมทางสังคม(วีถีชีวิต และศิลปวัฒนธรรม) สุขศึกษา มีสาระการเรียนรู้ ดังนี้ อุบัติเหตุและการป้องกันอุบัติเหตุ ความปลอดภัยในการเล่น การปฐมพยาบาล กฎกติกาในการเล่น ภาษาไทย มีสาระการเรียนรู้ ดังนี้ การอ่าน การค้นคว้า การเขียน ประวัติความเป็นมา การละเล่นแบบไทย คำคล้องจอง ศิลปะ มีสาระการเรียนรู้ ดังนี้ การกล้าแสดงออกอย่างมั่นใจ คณิตศาสตร์ มีสาระการเรียนรู้ ดังนี้ การเปรียบเทียบความยาว ความสูง  การวัดความยาว เวลา การนับเพิ่ม ภาระงานที่ต้องทำได้แก่ ศึกษา ค้นคว้า ประวัติความเป็นมาการละเล่นของไทย นำเสนอวิธีการเล่น แต่งประโยค ออกแบบขาโถกเถก ลงมือทำขาโถกเถก เปรียบเทียบขาโถกเถก การวัดความยาว ทดสอบการทรงตัว เล่นเกมเดินโถกเถก กิจกรรมรณรงค์การอนุรักษ์การละเล่นไทย สรุปและประเมินผล รวมเวลาในการเรียนรู้ 6 ชั่วโมง
      สำหรับในปีการศึกษา 2549 ก็เช่นเดียวกันคณะครูได้ร่วมกันกำหนดหน่วยบูรณาการตามความสนใจของนักเรียน เช่น หน่วยคุณย่าโม ครูได้วางแผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเพื่อพัฒนาการคิด ตามรูปแบบซิปปาโมเดล (CIPPA Model) เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้ประวัติคุณย่าโม ภาษาโคราช เพลงโคราช อาหารการกินของคนโคราช เด็กจะได้ไปศึกษาจากสถานที่จริง ศึกษาจากครูเพลงโคราช ศึกษาค้นคว้าจากเอกสาร ลงมือปฏิบัติ วาดภาพระบายสี ฝึกร้องเพลงโคราช ภาษาโคราชวันละคำ

หมายเลขบันทึก: 32261เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2006 05:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 20:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท