มาตรการบันทึกคะแนนผู้ขับขี่


(เผยแพร่ทาง Learners.in.th เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2552)

สวัสดีครับ พ.ต.ท.สุพจน์ มัจฉา สวป.สภ.พาน ครับผม  


วันนี้ที่อำเภอพานอากาศหนาวมากๆ เรียกว่าคนทางนี้ที่ค่อนข้างจะชินก็ยังเอาตัวแทบไม่รอด หนึ่งในนั้นก็ผมด้วยคน หลังจากออกไปพบปะพี่น้องแจกจ่ายเอกสารแผ่นพับที่ตำบลหัวง้มแล้วกลับไปที่โรงพักพานเอาข้อมูลลงเสร็จก็มีอาการเหมือนจะเป็นไข้ยังไงยังงั้น ไม่ไหวครับ จะเรียกว่า ไม่สบาย(มาก) ก็คงได้ เลยขอตัวลูกน้องว่าวันนี้ที่ว่าจะออกตรวจตอนกลางน่ะขอ แปะ ไว้ก่อน (แปะ เป็นคำทางเหนือซึ่งถ้าจะเรียกเป็นภาษากลางก็จะประมาณคำว่า ผัด หรือ ผัดผ่อน นั่นแหละครับ) เอาไว้หายดีก่อนแล้วค่อยว่ากันใหม่ ล่ำลาลูกน้องแล้วก็กลับเข้าบ้าน กินหยูกกินยาแก้ไขแล้วก็นอนสักงีบ ตื่นมาค่อยยังชั่ว แต่ยังไงก็คงออกตรวจไม่ไหวอยู่ดี ก็อย่างว่าแหละครับคนมันเคยน่ะ วันๆ อย่างน้อยถ้าไม่ได้ออกตรวจก็จะต้องหาอะไรมาขีดเขียนสักหน่อยไม่งั้นนอนไม่หลับแน่ นึกไปนึกมา เอ้อ ตอนนี้พี่น้องบ้านเรา (บางคนนะครับ) ไม่ค่อยเคารพกฎจราจรกันเลย ทำให้แต่ละวันมีคนเจ็บคนตายจากเรื่องนี้มากมายแทบไม่น่าเชื่อ (สถิติเรื่องนี้ตอนหลังจะเก็บมาเล่าให้ฟังครับ) เลยคว้าคอมฯ ที่บ้านแล้วขออนุญาตนำความรู้ในส่วนที่เกี่ยวข้องมาบอกกันก่อนนอน เรื่องนั้นก็คือมาตรการบันทึกคะแนน อบรมทดสอบผู้ขับขี่รถที่กระทำผิดและการพักใบอนุญาตขับขี่ครับ

 
   
 

ท่านเชื่อไหมครับว่าปัจจุบันนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้รถใช้ถนนมีอัตราสูงมากและเกิดขึ้นแทบจะทุกวัน บางครั้งมีผู้ได้รับบาดเจ็บ ทรัพย์สินเสียหาย บางครั้งก็ถึงขนาดเสียชีวิตกันก็มาก ซึ่งจากการตรวจสอบนั้นพบว่าส่วนใหญ่มาจากผู้ขับขี่หรือใช้ยวดยานพาหนะเสียมากกว่าสภาพอื่นๆ พูดง่ายๆ ก็คือมาจาก "คน" นั่นเอง ถึงแม้ว่าจะมีกฎจราจรหรือกฎหมายอื่นๆ มาบังคับใช้นานแล้ว และคิดว่าคนส่วนใหญ่ก็มีความรู้เรื่องนั้นๆ พอสมควรก็ตามแต่ก็ยังมีเหตุเกิดขึ้นอยู่แทบจะตลอดเวลา ดังนั้น เพื่อเป็นการควบคุมและป้องกันมิให้ "คน" มีการกระทำผิดกฎจราจรกันมากขึ้น สำนักงานงานตำรวจแห่งชาติจึงได้ออกข้อกำหนดเรื่องการดำเนินการบันทึกคะแนน อบรม ทดสอบผู้ขับขี่ที่กระทำผิดและการพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ฉบับลงวันที่ 20 เมษายน 2542 และฉบับลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2547 ขึ้นมา โดยหากมีการกระทำผิดผู้เกี่ยวข้องจะถูกทำการบันทึกคะแนนไว้ดังต่อไปนี้ครับ  

 

1. บันทึก 10 คะแนน จำนวน 5 ข้อหา คือ                    
1.1 ขับรถในลักษณะกีดขวางการจราจร
1.2 ขับรถบนทางเท้าโดยไม่มีเหตุอันควร
1.3 ขับรถไม่ชิดซ้าย ( รถที่มีความเร็วช้า รถบรรทุก รถบรรทุกคนโดยสารและรถจักรยานยนต์ )
1.4 ขับรถจักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกนิรภัย
1.5 ขับรถยนต์โดยไม่รัดเข็มขัดนิรภัย หรือโดยไม่จัดให้คน โดยสารซึ่งนั่งที่นั่งตอนหน้าแถวเดียวกับผู้ขับรัดเข็มขัดนิรภัย

2. บันทึก 20 คะแนน จำนวน 9 ข้อหา คือ
2.1 แซงรถข้างซ้ายและไม่มีความปลอดภัย
2.2 แซงรถเมื่อมีทางชัน ขึ้นสะพาน หรือในทางโค้ง
2.3 แซงรถในระยะ 30 เมตร ก่อนถึงทางข้าม ทางร่วมทางแยก วงเวียน หรือเกาะที่สร้างไว้
2.4 แซงรถเมื่อมีหมอก ฝน ฝุ่นหรือควันจนไม่อาจเห็นทางข้างหน้าได้ในระยะ 60 เมตร
2.5 แซงรถเมื่อเข้าที่ขับขันหรือเขตปลอดภัย
2.6 แซงรถในที่มีเครื่องหมายแสดงเขตอันตราย
2.7 จอดรถในทางเดินรถหรือไหล่ทางโดยไม่เปิดไฟในเวลาที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอ
2.8 ขับรถแท็กซี่ปฏิเสธไม่รับจ้างบรรทุกคนโดยสาร
2.9 ขับรถแท็กซี่พาคนโดยสารไปทอดทิ้งระหว่างทาง

   

 

3. บันทึก 30 คะแนน จำนวน 5 ข้อหา คือ
3.1 ขับรถในขณะหย่อนความสามารถ
3.2 ขับรถประมาทหรือหวาดเสียว
3.3 ขับรถในลักษณะที่ผิดปกติวิสัยของคนขับรถตามธรรมดา
3.4 ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น
3.5 ขับรถเร็วเกินกำหนด

4. บันทึก 40 คะแนน จำนวน 4 ข้อหา คือ
4.1 ไม่หยุดรถหลังเส้นให้รถหยุด
4.2 ขับรถในขณะเมาสุรา
4.3 ขับรถชนแล้วหนี
4.4 แข่งรถในทาง
 
   
 
ครับนั่นก็คือ 23 ข้อกล่าวหาหลักที่หากท่านกระทำผิดแล้วจะต้องถูกบันทึกคะแนนตามข้อกำหนดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ออกมา ในเรื่องนี้นั้นพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ได้บัญญัติมาตรการในการยึดใบอนุญาตขับขี่และการบันทึกคะแนนสำหรับผู้กระทำความผิดบางกรณีหรือการกระทำความผิดซ้ำโดยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดฐานความผิด ซึ่งต่อมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ออกข้อกำหนดมาตรการบันทึกคะแนน อบรม ทดสอบผู้ขับขี่รถที่กระทำผิด และการพักใช้ใบอนุญาตขับขี่กรณีที่ผู้ขับขี่กระทำผิดฐานความผิดที่กล่าวข้างต้นและมีมาตรการในการดำเนินการดังนี้
 
1. การยึดใบอนุญาตขับขี่ เมื่อผู้ขับขี่กระทำความผิดในฐานความผิดดังกล่าว เมื่อชำระค่าปรับแล้วจะถูกยึดใบอนุญาตขับขี่มีกำหนดครั้งละไม่เกิน 60 วัน
2. การบันทึกคะแนน เมื่อทำการยึดใบอนุญาตขับขี่แล้ว หลังจากนั้นจะถูกบันทึกคะแนนตามฐานความผิดโดยบันทึกไว้ด้านหลังใบอนุญาตขับขี่และในเครื่องบันทึกข้อมูล
3. การอบรมทดสอบผู้กระทำผิด การดำเนินการอบรมทดสอบผู้ขับขี่มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
    (1) กฎหมายเกี่ยวกับการจราจร
    (2) สาเหตุและการป้องกันอุบัติเหตุจากการจราจร
    (3) ความรับผิดของผู้ขับขี่ในทางแพ่งและทางอาญา
    (4) มารยาท คุณธรรมและความมีน้ำใจในการขับรถ
    (5) อื่น ๆ ที่จำเป็นต่อปัญหาการจราจร
4. การทดสอบ ให้ทดสอบความรู้และความเข้าใจตามแบบทดสอบที่ผู้ดำเนินการอบรมจัดทำขึ้น ในกรณีที่ทดสอบแล้วได้คะแนนน้อยกว่าร้อยละ 50 ให้มีการอบรมตามข้อ 3.1 แล้วทดสอบซ้ำจนกว่าจะผ่านการทดสอบ
5. การถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ เมื่อผู้ขับขี่ได้กระทำความผิดและถูกบันทึกคะแนนไว้มีคะแนนรวมกันแล้วเกินกว่า 60 คะแนน หลังจากชำระค่าปรับแล้ว ผู้ขับขี่จะต้องถูกพักใช้ใบอนุญาตแต่ละครั้งมีกำหนดไม่เกิน 90 วัน
หากผู้ขับขี่กระทำความผิดซ้ำในข้อหาเดียวกัน 2 ครั้ง ในกำหนดหนึ่งปี และถูกบันทึกคะแนนไว้ มีคะแนนรวมกันเกิน 60 คะแนน ผู้กระทำความผิดจะต้องถูกอบรม ทดสอบ และถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไปพร้อมกัน
6. การขับรถในระหว่างถูกยึดหรือพักใช้ใบอนุญาตขับขี่
- ผู้ขับรถในระหว่างถูกยึดใบอนุญาตขับขี่ มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
- ผู้ขับรถในระหว่างถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคงจะเกิดประโยชน์กับท่านบ้างตามสมควรนะครับ แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่ากฎหมายจะกำหนดโทษเอาไว้หนักเบาเพียงใด ถ้าท่านใช้รถใช้ถนนโดยเคารพและปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัดแล้วบทลงโทษเหล่านั้นก็คงไม่สำคัญสำหรับท่าน รวมไปถึงผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกันจะมีความปลอดภัย อีกทั้งตัวท่านเองก็ไม่ต้องมาเสียเวลาหรือเสียความรู้สึกเมื่อถูกบันทึกคะแนนในใบขับขี่ ถูกอบรม หรือถูกยึดใบขับขี่อย่างแน่นอน อย่าลืมนะครับ กฎจราจรคือกฎแห่งความปลอดภัย ปฏิบัติไว้สบายใจทุกคน
 

************************

ติดตามการทำงานทั้งหมดของผมได้ที่
คำสำคัญ (Tags): #2503
หมายเลขบันทึก: 321033เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2009 19:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณครับ ท่านสารวัตร สุพจน์ มัจฉา ;)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท