การตัดสินใจ ( Decision )


คุณคือ ความอยู่รอด ความมั่นคง และความเจริญเติบโตขององค์การ

การตัดสินใจ  ( Decision )

                               การตัดสินใจมีผลต่อองค์การอย่างไร หากท่านได้อ่านเรื่อง มหาภารตะยุทธ วรรณคดีของอินเดีย มีอยู่ตอนหนึ่งที่บ่งบอกถึงความสำเร็จของการตัดสินใจของผู้บริหารหรือผู้นำทัพ เมื่ออรชุนผู้นำของฝ่ายปาณนพ เมื่อได้ยกทัพมาเผชิญหน้ากับกองฝ่ายเการพที่ทุ่งกุรุเกษตรก็ไม่กล้าออกรบ เนื่องจากมองไปในกองทัพเการพเห็นว่าทั้งหมดนั้นล้วนแต่เป็นญาติพี่น้องของตนทั้งสิ้น ไม่อาจตัดสินใจทำสงครามได้ ด้วยมีคุณธรรมในความรักและเมตตาต่อญาติทั้งหลาย ทำให้กฤษณะนายสารถีขับรถรบเห็นว่า กองทัพฝ่ายปาณนพจะต้องพ่ายแพ้และถูกสั่งหารสิ้นแน่นอน จึงกล่าวยกเหตุผล ถึงการกระทำโดยหน้าที่ เพื่อมนุษย์โลกและหน้าที่โดยชอบธรรม ในการกำจัดฝ่ายอธรรมจะได้รับสรรเสริญจากมนุษย์และเทพเจ้า เมื่ออรชุนได้ข้อมูลความคิดดังนั้น จึงตัดสินใจทำสงครามและชนะฝ่ายเการพในที่สุด
                             ในประวัติศาสตร์จีนการตัดสินใจที่ดีของผู้บริหาร นำมาสู่ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของกองทัพแดงคือ การตัดสินใจอพยพกองทัพที่ถูกปิดล้อมโดยกองทัพเจียงไคเช็ค จากเมืองรุ่ยจินภาคใต้ของจีน ไปยังตะวันตกเฉียงเหนือของจีนเป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตรตั้งฐานที่มั่นในมณฑลส่านซี จีนเรียกว่า”การเดินทาง 25,000 ลี้” ตัดสินใจเสี่ยงครั้งนี้ดีกว่าอยู่ในที่มั่นเก่าซึ่งไม่เอื้อต่อการรบ มีแต่ความพ่ายแพ้ประการเดียว เหมา เจ๋อ ตุง จึงตัดสินใจสั่งการเดินทางไกลเสี่ยงตายเอาดาบหน้า เส้นทางที่เดินไปนั้นทุรกันดารมาก เป็นภูเขา เขตแห้งแล้ง และภูเขาที่ปกคลุมไปด้วยหิมะ แต่มีความจำเป็นเนื่องจากต้องหลีกเลี่ยงกองทัพก๊กมินตั๋ง และต้องถูกตามตีด้านหลัง ตลอดทางกองทัพแดง 100,000 คน เหลือเพียง 30,000 คน ที่รอดชีวิตมาตั้งฐานที่มั่นที่มณฑลส่านซี ใช้รัสเซียเป็นหลังพิง ขยายมวลชนได้มากขึ้น และมีเสบียงอาวุธเสริมจากรัสเซีย จนสามารถยืนหยัดต่อสู้ได้รับชัยชนะและขับไล่ก๊กมิ่นตั๋งออกจากแผ่นดินใหญ่ได้ การตัดสินใจครั้งนี้ถือว่าเสี่ยงและหวาดเสียวอย่างยิ่ง แต่นำไปสู่ชัยชนะอันยิ่งใหญ่
จึงเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าผู้บริหาร เป็นบุคคลหรือคณะบุคคลที่มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่และอนาคตขององค์การ เนื่องจากผู้บริหารมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อการกำหนดทิศทางในอนาคตขององค์การผ่านการตัดสินใจในปัญหาหรือโอกาสสำคัญซึ่งการตัดสินใจของผู้บริหารโดยเฉพาะ

ผู้บริหารระดับสูง (Top Executive)บริหารจะมีผลไม่เพียงต่อการดำเนินงานในระยะสั้น แต่ครอบคลุมถึงความอยู่รอด ความมั่นคง และความเจริญเติบโตขององค์การ นอกจากนี้การตัดสินใจของผู้บริหารจะมีคุณลักษณะที่แตกต่างจากการตัดสินใจของบุคลากรอื่นขององค์การ ไม่ว่าผู้บริหารระดับกลาง หัวหน้างาน ตลอดจนบุคลากรระดับปฏิบัติการ เพราะผู้บริหารระดับสูงจะต้องปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับปัญหาหรือรูปแบบที่มีความซับซ้อน หลากหลายและท้าทาย โดยเราสามารถจำแนกการตัดสินใจในการทำงานของผู้บริหารออกเป็น 4 ลักษณะต่อไปนี้

1.การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ (Strategic Decision) เป็นการตัดสินใจที่เกี่ยวกับอนาคตขององค์การ ตั้งแต่การกำหนดวิสัยทัศน์ ทิศทาง และภารกิจในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้องค์การมีตำแหน่งเชิงกลยุทธ์และความได้เปรียบในการแข่งขัน ซึ่งจะเป็นผลต่อความมั่นคงและการเจริญเติบโตขององค์การ โดยการกำหนดแผนกลยุทธ์จะเป็นแนวทางสำหรับการตัดสินใจในด้านสำคัญและแนวทางปฏิบัติสำหรับบุคลากรระดับต่างๆภายในองค์การ
2.การตัดสินใจทางยุทธวิธี (Tactical Decision)เป็นการตัดสินใจว่าองค์การจะทำอะไรที่ไหน เมื่อไร อย่างไร เพื่อให้สามารถบรรลุถึงภารกิจและวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในแผนกลยุทธ์ แผนยุทธวิธีจะกำหนดยุทธวิธีการดำเนินงานเฉพาะเรื่อง เพื่อสร้างเอกลักษณ์การดำเนินงานและความก้าวหน้าของงาน อย่างไรก็ตามผู้บริหารจะไม่เจาะลึกถึงรายละเอียดในการปฏิบัติงานเพียงแต่มุ่งถึงการกำหนดแนวทางการดำเนินงาน เพื่อให้บุคลากรในระดับต่อไปรับมาปฏิบัติให้บรรลุความสำเร็จตามที่ผู้บริหารกำหนดเอาไว้
3. การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ( Fire-fighting ) เป็นการตัดสินใจแก้ปัญหาหรือวิกฤตที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ปัญหาลักษณะนี้เกิดขึ้น กะทันหันโดยผู้บริหารมิได้คาดการณ์ไว้ บางครั้งผู้ผู้บริหารต้องตัดสินใจที่จะดำเนินกิจกรรมต่อไป หรือยุติการดำเนินการในส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมด
4. การควบคุม (Control) เป็นหน้าที่สำคัญทางการจัดการ (Management Functions) ที่ผู้บริหารต้องตรวจสอบและควบคุมการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชาให้เป็นตามความเหมาะสมและสอดคล้องกับแผนงานและสถานการณ์ เนื่องจากการปฏิบัติงานอาจเบี่ยงเบนจากแผนงานที่กำหนด ซึ่งผลมาจากการวางแผนที่คลาดเคลื่อน ข้อจำกัดของทรัพยากรบุคคลหรือทรัพยากร การดำเนินงานอื่น ตลอดจนความผันผวนของสถานการณ์ ผู้บริหารต้องทำการตัดสินใจเกี่ยวกับผลการดำเนินงานขององค์การ หลังจากที่องค์การได้เริ่มปฏิบัติงานตามแผนที่วางไว้ไประยะหนึ่งแล้ว ผู้บริหารย่อมมีความสนใจต้องการจะทราบว่าผลการดำเนินงานนั้นเป็นอย่างไร มีแนวโน้มว่าจะบรรลุความสำเร็จตามที่ต้องการหรือไม่ หรือต้องปรับปรุงอย่างไรให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง ดังนั้นผู้บริหารจะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลที่ได้จากการปฏิบัติงานเป็นระยะๆ แล้วนำมาทำการเปรียบเทียบกับแผนที่วางเอาไว้ เพื่อจะได้แก้ไข ปรับปรุงหรือพัฒนาให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ต่อไป

             สรุป ผู้บริหารแต่ละคนจะมีสัดส่วนการตัดสินใจในแต่ละลักษณะแตกต่างกันตามงานของตน หรือสถานการณ์ขององค์การ แต่ลักษณะร่วมในการตัดสินใจของผู้บริหารที่เหมือนกันคือ ผู้บริหารที่มีศักยภาพภาพต้องสามารถตัดสินใจในปัญหาหรือวิกฤตการณ์ขององค์การได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำองค์การฝ่าวิกฤตและดำเนินไปสู่จุดมุ่งหมายที่ต้องการอย่างราบรื่น

หมายเลขบันทึก: 320112เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2009 22:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านแล้วเยี่ยมไปเลยพี่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท