โครงงานคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติ"เยาวชนไทย ทำดี ถวายในหลวง"2549


การพัฒนาการเรียนรู้และคุณธรรมของผู้เรียนผ่านการทำโครงงานคุณธรรมนั้น จะเกิดขึ้นควบคู่กันไป จากกระบวนกัลยาณมิตร กระบวนการรวบรวมประมวลข้อมูลความรู้ กระบวนการคิดพิจารณาอย่างแยบคาย(โยนิโสมนสิการ) เพื่อให้เกิดปัญญาตระหนักรู้ในสถานการณ์หรือสภาพปัญหาและสืบสาวถึงสาเหตุ ปัญญาคิดสร้างสรรค์วางแผนร่างโครงงานและปัญญาแก้ไขปัญา จากกระบวนการลงมือปฏิบัติงานจริง(learning by doing)

ขั้นตอนการทำโครงงานคุณธรรม
         โครงงานคุณธรรมนั้นเป็นกิจกรรมที่จะต้องคิดและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการเรียนรู้และการพัฒนาคุณธรรม โดยอาศัยพระสงฆ์ ครู หรือ ผู้บริหารเป็นกัลยาณมิตร ตั้งแต่เริ่มต้นไปจนเสร็จสิ้นโครงงาน ในการให้คำปรึกษา เสริมสร้างพลังและแรงบันดาลใจ สนับสนุน ปัจจัยทรัพยากรข้อมูลและองค์ความารู้ต่างๆ ให้แก่ผู้ดำเนินการโครงงานอย่างใกล้ชิด ในทุกขั้นตอนของการทำโครงงาน ซึ่งมี 6 ขั้นตอนสำคัญคือ
1. ขั้นตอนที่ 1 การตระหนักรู้และพิจารณาเลือกหัวเรื่องหรือประเด็นปัญหา
2. ขั้นตอนที่ 2 การรวบรวมประมวลข้อมูลและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง
3. ขั้นตอนที่ 3 การจัดทำร่างโครงงาน
4. ขั้นตอนที่ 4 การดำเนินการโครงงาน
5. ขั้นตอนที่ 5 การสรุปประเมินผลและเขียนรายงาน
6. ขั้นตอนที่ 6 การนำเสนอโครงงาน

ขั้นตอนที่ 1  การตระหนักรู้และพิจารณาเลือกหัวเรื่องหรือประเด็นปัญา
                 ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด ที่ต้องอาศัยภาวะการตระหนักรู้ในสถานการณ์หรือสภาพปัญหาด้วยสติปัญญา หรือภาวะที่มีแรงบันดาลใจที่จะทำสิ่งดีงามอะไรบางอย่างที่เป็นความฝันหรืออุดมคติ ซึ่งอาจจะเกิดจากผู้เรียนเองโดยตรง หรืออาจจะเกิดจากการแนะนำหรือชี้ชวนจากผู้อื่น เป็นเงื่อนไขภายนอกที่กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความตระหนักรู้หรือแรงบันดาลใจขึ้นก็ได้ การสร้างความตระหนักรู้นั้นเป็นขั้นตอนที่ยาก เพราะโดยทั่วไปสภาพการณ์ที่เป็นปัญหาต่างๆนั้นมักจะเกิดขึ้นอยู่แล้วแต่มักจะถูกละเลยมองข้ามหรือชาชินเคยชินจนมองไม่เห็นปัญหาหรือไม่รู้สึกว่าตนเองมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหานั้นอย่างไรในทำนอง"เส้นผมบังภูเขา"หรือ "ปลาอยู่ในน้ำมองไม่เห็นน้ำ"จึงต้องอาศัยเหตุปัจจัยภายนอก จากกัลยาณมิตรที่กระตุ้นปัจจัยภายในใจของผู้เรียนได้ถูกตรงกับจริตนิสัย ในเงื่อนไขสถานการณ์แวดล้อม และจังหวะเวลาที่พอเหมาะพอดี จนเกิดฉันทะร่วมกันที่จะรวมกันเป็นกลุ่มเพื่อดำเนินการโครงงาน

ขั้นตอนที่ 2 การรวบรวมประมวลข้อมูลและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง
                เมื่อสมาชิกทุกคนในกลุ่มเห็นพ้องกันและตัดสินใจเลือกประเด็นปัญหาหรือหัวเรื่องได้แล้วและได้รับความเห็นชอบจากที่ปรึกษาแล้ว ก็จะเป็นขั้นตอนของการระดมความคิดวางแผนงานในเบื้องต้น โดยเริ่มจากการร่วมกันพิจารณาวิเคราะห์สภาพปัญหาแล้วสืบสาวไปหาสาเหตุและปัจจัยร่วมต่างๆ การวางเป้าหมายและวิธีการแก้ปัญหา ซึ่งจะพบว่ายังมีข้อมูลของสภาพปัญหาและปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไม่เพียงพอหรือยังมีรายละเอียดที่ไม่ชัดเจน ตัวแปรสนับสนุนและองค์ความรู้ต่างๆที่จะนำมาใช้ในการวางแผนแก้ปัญหาก็ยังมีไม่ครบถ้วนหรือยังไม่ชัดเจนเป็นต้น จึงต้องมีการรวบรวมข้อมูลและองค์ความรู้เพิ่มเติม (ซึ่งอาจจะได้มาจากการสำรวจโดยละเอียดหรือประมาณการโดยคร่าวๆก็ได้)จากการพบปะสนทนาขอความร่วมมือจากบุคคลต่างๆและจากการค้นคว้าหาความรู้จากหนังสือตำราและแหล่งเรียนรู้ต่างๆ แล้วนำข้อมูลที่รวบรวมได้ทั้งหมดมาประมวลเพื่อจัดเตรียมสำหรับคิดวางแผนทำร่างโครงงานต่อไป

ขั้นตอนที่ 3 การจัดทำร่างโครงงาน
                ขั้นตอนนี้   เป็นการคิดพิจารณาวางแผนในรายละเอียดและภาพรวมทั้งหมด โดยนำข้อมูลที่รวบรวมและประมวลได้ทั้งหมดนั้นมาจัดหมวดหมู่และเรียบเรียงลำดับเนื้อหา แล้วนำมาจัดทำเป็นเอกสารร่างโครงงานที่มีหัวข้อต่างๆตามที่กำหนดไว้ อย่างน้อย 12 หัวข้อ ดังนี้
(1) ชื่อโครงงาน(ชื่อโครงงานเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ)
(2) กลุ่มเยาวชนผู้รับผิดชอบโครงงาน
(3) ที่ปรึกษาโครงงาน
(4) ผังสรุปมโนทัศน์
(5) วัตถุประสงค์
(6) สถานที่และกำหนดระยะเวลาดำเนินการ
(7) การศึกษาวิเคราะห์
(8) ลำดับขั้นตอนและวิธีการดำเนินงาน
(9) งบประมาณและวิธีการดำเนินงาน
(10) ผลที่คาดว่าจะได้รับ
(11) ความคิดเห็นเชิงวิเคราะห์และข้อเสนอแนะของครูผู้บริหารหรือพระสงฆ์ที่ปรึกษา
(12) ความคิดเห็นและความรูสึกของประธานกลุ่มเยาวชนผู้รับผิดชอบโครงงาน

ขั้นตอนที่  4 การดำเนินการโครงงาน
                 ขั้นตอนนี้เป็นการนำร่างโครงงานมาปฏิบัติจริงไปตามลำดับขั้นตอนและวิธีการดำเนินงานซึ่งจะมีทั้งในส่วนที่แบ่งงานและดำเนินงานกันในระหว่างสมาชิกในกลุ่มผู้รับผิดชอบโครงงานและงานในส่วนที่สร้างการมีส่วนร่วมให้กับเพื่อนนักเรียนอื่นหรือบุคคลต่างๆ ที่เข้ามาช่วยทำงานในด้านต่างๆ ตลอดจนการจัดกิจกรรมรณรงค์ขยายการมีส่วนร่วมออกไปสู่ชุมชน การดำเนินงานในช่วงนี้อาจมีข้อมูลย้อนกลับมาที่เป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งทราบ หรือคลาดเคลือนไปจากที่คาดการณ์ไว้ หรือเกิดสถานการณ์ที่ยุ่งยากเป็นอุปสรรคข้อขัดข้องหรือข้อขัดแย้งให้ต้องเผชิญหน้าและแก้ปัญหาอยู่เสมอๆ อันอาจจะนำมาซึ่งความอ่อนล้า ความเหนื่อยหน่ายท้อแท้ ได้บ่อยๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นแบบฝึกหัดสำคัญของการเรียนรู้และการพัฒนาคุณธรรมของผู้รับผิดชอบโครงงานและผู้มาช่วยงานทั้งสิ้น และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการติดตาม สนับสนุน ดูแลให้ความช่วยเหลือทั้งทางทรัพยากรภายนอกและทางจิตใจ  จากคณะที่ปรึกษาอย่างใกล้ชิด ตลอดระยะเวลา 3 - 4 เดือนที่ดำเนินการโครงงาน
                  ผู้รับผิดชอบโครงงานพึงระลึกไว้ว่า  การทำงานจริงอาจมีหลายสิ่งที่ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์และระบุไว้ในร่างโครงงาน  และหลายครั้งอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนงานไปจากเดิม ก็ไม่เป็นไร  แต่ต้องเข้าใจว่าเพราะอะไร  สามารถอธิบายได้ถึงเหตุผลของการที่ผิดพลาดไปจากแผนงานที่วางไว้ได้  อย่าทำงานเพียงเพื่อให้ได้ผลตามร่างโครงงานที่วางแผนไว้เท่านั้น  แต่ทำงานเพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาคุณธรรมของตนเองและทุกคนที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก  ทำแล้วคุณธรรมความดีต้องเพิ่มขึ้นและควรมีความสุขจากการทำความดีนั้น  ทำโครงงานและความดี  เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิใช่เพื่อรางวัลการประกวด

ขั้นตอนที่  5  การสรุปประเมินผลและเขียนรายงาน
                  จัดพิมพ์รายงานโครงงานฉบับสมบูรณ์ ให้มีจำนวนหน้า 20 - 40 หน้ากระดาษขนาด A4 ไม่รวมปก โดยมีหัวข้อต่างๆ ตามที่กำหนด ดังนี้ (ดูรายละเอียดในภาคผนวก)
(1) ปกหน้า
(2) กิตติกรรมประกาศ
(3) บทคัดย่อ
(4) ผังสรุปมโนทัศน์
(5) บทที่ 1 บทนำ
(6) บทที่ 2 การดำเนินงานโครงงาน
(7) บทที่ 3 ผลการดำเนินงาน
(8) บทที่ 4 การศึกษาวิเคราะห์
(9) บทที่ 5 บทสรุปและข้อเสนอแนะ
(10) เอกสารอ้างอิง(ถ้ามี)
(11) ภาคผนวก (ถ้ามี)

ขั้นตอนที่  6  การนำเสนอโครงงาน
                  นอกจากการจัดทำรายงานโครงงานฉบับสมบูรณ์แล้ว  สถานศึกษาต้องสนับสนุนให้กลุ่มเยาวชนผู้รับผิดชอบโครงงาน จัดทำสื่อนำเสนอโครงงาน อีก 3 รายการ ดังนี้
                  (1) แผ่นพับสรุปย่อโครงงาน(1 แผ่นกระดาษ เอ 4 )จำนวน 3 ชุด
                  (2) สื่อ CD (นำเสนอในระยะเวลาไม่เกิน 10 นาที)จำนวน 3 ชุด
                  (3) แผ่นป้ายนิทรรศการโครงงาน จำนวน 1 ชุด
                  โดยสมาชิกทุกคนในกล่มเยาวชนผู้รับผิดชอบโครงงานควรทำความเข้าใจในรายละเอียดและภาพรวมของโครงงานทั้งหมด  แล้วซักซ้อมการนำเสนอในประเด็นสำคัญๆ ไว้เพื่อเตรียมตัวสำหรับการสัมภาษณ์และการนำเสนอหน้าแผ่นป้ายนิทรรศการให้คณะกรมการและผู้มาชมนิทรรศการโครงงานสามารถเข้าใจได้ในระยะเวลาอันจำกัด

 

คำสำคัญ (Tags): #erkm
หมายเลขบันทึก: 31924เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2006 09:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 22:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท