ติดตามเรื่องการบ้าน


การใช้บริการ การเข้าถึงบริการอย่างเหมาะสมตามความจำเป็น

เรียน นักศึกษาทุกท่าน

นักศึกษาทุกท่าน คงจำได้ว่า วันที่เราพบกันเดือนที่ 28-29 พ.ย แล้ว ผมได้แลกเปลี่ยนกับท่านเกี่ยวกับวิชา PHID 688 Public Health Skill Development ได้ทบทวนกันถึงมุมมองสุขภาพ ในฐานะที่เป็น “สถานภาพ” (State) และมุมมองในฐาน ศักยภาพ(Capacity) หรือทรัพยากร (Resource) และได้อภิปรายกันถึง ระบบสุขภาพ โดยอ้างถึง กรอบนิยามตาม พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ 2550 รวมทั้งได้นำเสนอธรรมนูญสุขภาพที่เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนา ทั้งเชื่อมโยงให้เห็นนัยยะของการกำหนดนโยบายตามมุมมองสุขภาพเป็นสถานะ ที่มักจะเน้นการใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยน “สถานะด้านสุขภาพของประชากร” ในขณะที่การมองสุขภาพในฐานะที่เป็น “ศักยภาพ”หรือ”ทรัพยากร”นั้น จะมีผลต่อการกำหนดยุทธศาตร์การพัฒนาที่เราต้องมองถึงปัญหาในระดับโครงสร้าง ที่มีผลต่อความเหลื่อมล้ำในการ “ศักยภาพของมนุษย์” โดยเฉพาะในแง่โครงสร้างทางสังคม ที่เอื้อและไม่เอื้อต่อการเข้าถึงทรัพยากร และบริการ ในการที่จะสร้างและเพิ่มพูนทุนมนุษย์ (Human Capital) เพราะการสร้างทุนมนุษย์ในส่วนที่ติดตัวมาแต่กำเนิด (Innate Human Capital) นั้น มีผลส่วนหนึ่งจากพันธุกรรม (Heredity) และอีกส่วนหนึ่งคือวัฒนธรรม ที่เกิดจากกระบวนการเรียนรู้ และวิถีชีวิตของบรรพบุรุษ ถ่ายทอดสู่บุตรหลาน ที่มีผลต่อพฤติกรรมการเลือกคู่ พฤติกรรมในระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอด และหนีไม่พ้นที่จะกระทบต่อทุนมนุษย์ด้านสุขภาพของทารกตั้งแต่ในครรภ์ ในส่วนของทุนมนุษย์ที่ได้มาจากการสร้างเสริมหลังคลอด (Acquired Human Capital) จะเป็นผลจากการเลี้ยงดู โอกาสทางการศึกษาและการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน ฯลฯ ซึ่ง ทั้งหลายทั้งปวงนี้ จะถูกกำหนดโดยตำแหน่งแห่งหนในสังคม (Social Position) ของ ตนและครอบครัว ซึ่งทำให้มีผลต่อความเสมอภาค (Equality) และความเป็นธรรม (Equity) ด้านสุขภาพของประชากรด้วย ผมยังได้แนะนำให้นักศึกษาได้อ่าน เอกสารของ Commission on Social Determinants of Health เรื่อง A Conceptual Framework for Action on the Social Determinants of Health เพิ่มเติม ซึ่งการมองสุขภาพโดยมุมมองนี้ เราจะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนามุษย์ (Human Development) ที่จะเสริมสร้างโอกาสให้มนุษย์สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ จึงเน้นการเสริมสร้างพลังชุมชน (Empowerment) เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาซึ่งจะเป็นกระบวนการเสริมสร้างศักยภาพของคนให้มีอำนาจควบคุมกระบวนการตัดสินใจ การเลือกการดำเนินชีวิตและการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ

การสะท้อนภาพความไม่เป็นธรรมด้านสุขภาพที่มอบหมายให้นักศึกษาได้นำเสนอกรณีศึกษา คนละ 1 กรณี จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เรามองเห็นสถานการณ์ด้านสุขภาพของประชากร นอกจากนี้ ผมยังให้นักศึกษาได้พัฒนา Contact Sheet เพื่อการศึกษาเพิ่มเติมให้เห็นถึงการรับรู้ด้านความรุนแรงของโรค และการใช้บริการสุขภาพ โดยให้เก็บข้อมูลจากผู้ที่มาใช้บริการ เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับการแสวงหาแหล่งบริการการรักษาโรค ซึ่งจะสัมพันธ์กับการรับรู้ความรุนแรงของโรคด้วยตนเอง (Self Perception of seriousness of illness) ซึ่งข้อเสนอนี้ นักศึกษาได้แย้งว่าอาจไม่เห็นภาพรวมที่แท้จริง เพราะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของยอดภูเขาน้ำแข็ง (Tip of Iceberg) ซึ่งถูกต้อง แต่ที่ให้ทำเพราะจะเป็นการหาชิ้นส่วนที่จะต่อให้เห็นภาพรวม ที่เริ่มจากการใช้ข้อมูลหรือหาข้อมูลจากงานประจำ (Routine) ที่จะนำไปสู่การทำวิจัย (Research) หากเราทำการจัดระเบียบการเก็บรวบรวมข้อมูลที่ไม่มีอคติ และแม้ว่าจะเป็นตัวอย่างที่เป็นกลุ่มผู้ใช้บริการที่โรงพยาบาล แต่เราอาจจะเห็นถึงแบบแผนของการใช้บริการของผู้ป่วย ว่าเกิดขึ้น “อย่างเหมาะสม ตามความจำเป็น”หรือไม่? เพียงใด?

อย่าลืมว่า การที่เราเร่งรัดการพัฒนาคุณภ่าพบริการปฐมภูมิ เหตุผลสำคัญข้อหนึ่งคือ “การให้ประชาชนสามารถมีโอกาสเข้าถึง (Access) บริการ อย่าง เหมาะสม ตาม ความจำเป็น” เราก็จะต้องตีความว่า การเข้าถึงอย่างเหมาะสมตามความจำเป็นนั้นหมายความว่าอย่างไร? ผู้ที่มาใช้บริการที่โรงพยาบาล จะมีเท่าไหร่ที่ ใช้บริการอย่างไม่เหมาะสมตามความจำเป็น แน่นอน ในมุมมองของชาวบ้าน ย่อมคิดว่า การที่ตนมาใช้บริการที่โรงพยาบาล ก็ย่อมเห็นว่า มีความจำเป็นแน่นอน แต่ในแง่ความรุนแรงของพยาธิสภาพ โดยความคิดเห็นของแพทย์ อาจจะไม่สอดคล้องกัน และหากผู้ที่มาใช้บริการ เป็นประเภท Hypersensitive และ Hypochondriac การใช้บริการแม้จะเข้าถึงแต่อาจไม่เหมาะสมตามความจำเป็น ที่เป็นความจำเป็นเพื่อการรักษาจริงๆ (Medically need) ดังนั้น การทำการศึกษาง่ายๆ ในสถานบริการ จะทำให้เราเห็นภาพเหล่านี้ชัดขึ้น และจะเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์ระบบสุขภาพชุมชน ตามนัยยะของ พระราชบัญญัติสุขภาพต่อไป

ชนินทร์

หมายเลขบันทึก: 318876เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2009 14:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 11:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

มันคงจะเป็นการยากที่จะบอกว่า การมารับบริการนั้น"เหมาะสมตามความจำเป็นหรือไม่"

แต่ผมคิดว่า เราคงจะต้องเป็นผู้ให้ความรู้,ความเข้าใจกับคนไข้ให้มากขึ้น เพื่อเขาจะได้รู้ว่าอะไรเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม

เป็นภารกิจของพวกเราอยู่แล้วครับ

นพ.สุพัฒน์ ธาตุเพชร

ความเหมาะสมและจำเป็น ตามนัยของ ผู้รับบริการหมายถึงเจ็บป่วยเมื่อใดต้องไปหาหมอ ที่ไหนก็ได้ ตามสโลแกน"เจ็บป่วย ไปพบแพทย์ทันที" แต่สำหรับผู้ให้บริการนั้น อยากให้ประชาชน selfcare ก่อนแล้วค่อยไปรักษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้านหรือเหมาะสมต่อไป แต่ประชาชนไม่รู้ว่าคือเหมาะสม เช่น ถ้าไข้ ไปรักษาที่สถานีอนามัย ไม่หาย แล้วไปต่อ ร.พ แพทย์บอกเป็นmeningitis ทำไมมาช้าจัง ประชาชนก็เรียนรู้ คราวหน้าถ้าไข้อีกก็ไป ร.พ ทันที ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการที่จะสื่อสาร ให้ความรู้ประชาชนก่อน ว่าเหมาะสมและจำเป็น คืออะไร ก่อนที่จะตั้งความหวังกับประชาชน

การใช้บริการอย่างเหมาะสมตามความจำเป็นนั้นในความคิดของผม เราคงต้องพิจารณาคำว่าความจำเป็นนั้นเป็นความจำเป็นของใคร

เพราะความจำเป็นของผู้รับบริการและญาติหรือสังคม ก็ไม่ตรงกับความจำเป็นของผู้ให้บริการ หรือความจำเป็นของผู้จัดระบบบริการ(ผู้บริหาร,ราชการ,สปสช,การเมือง.....)แต่เราคงต้องดูในภาพใหญ่ของประเทศหรือของพื้นที่ว่ามีการใช้บริการอย่างฟุ่มเฟื่อยมากขึ้นปริมาณเท่าใด หรือมีผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการเพราะเหตุผลต่างๆปริมาณเท่าใด

จากนั้นจึงวางแผนในการปรับการใช้บริการของผู้รับบริการให้เหมาะสมตามความจำเป็นอย่างมีเหตุมีผลเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายซึ่งคงต้องเป็นแผนที่มีมาตรการระยะสั้น กลาง ยาว เพื่อลดภาระด้านสุขภาพของประเทศในอนาคต

ตัวอย่าง การใช้บริการอย่างฟุ่มเฟื่อยมากขึ้น เราพบผู้ป่วยที่มารับบริการหลังจากเจ็บป่วยไม่นาน(ปวดศรีษะที่ไม่รุนแรง 1 ชั่วโมงและ ไม่มีอาการอื่น หรือ พาญาติมา เลยขอใช้บริการด้วย..........) ผู้จัดระบบ อาจใช้มาตรการทางการเงิน หรือ empowerment ประชาชน ในการดูแลสุขภาพตั้งแต่ยังไม่ป่วย ขณะเริ่มป่วย การ selfcare เบื้องต้น การพัฒนา primary care....................

ในด้านตรงข้ามเราพบผู้ป่วยที่มารับบริการที่ล่าช้า(ไม่มีรถนำส่ง,ไม่มีเงิน,ไม่มีคนดูแล..............)ในคนกลุ่มนี้ผู้จัดระบบคงต้องดำเนินการจัดระบบและพัฒนาบริการให้ focus group นี้เช่น เชิงรุกในการสำรวจหาคนที่ด้อยโอกาสในการใช้บริการ,การจัดรถนำส่ง..............

อ่านข้อคิดเห็นแล้ว ประเด็นเรื่อง ความเหมาะสม ตามความจำเป็นนั้น คำถามคือ เหมาะสมของใคร ความจำเป็นของใคร ซึ่งจะมีความแตกต่างกันระหว่าง ผู้รับบริการ กับ Professional และความแตกต่างกันนี่แหละที่ทำให้เกิดปัญหา ทั้งในแง่การสื่อสารระหว่างผู้ให้บริการกับชาวบ้าน การแสวงหาบริการล่าช้า ฯลฯ

อยากให้พวกเราดูตัวอย่าง Contact Sheet ในบล๊อค เผื่อว่าจะช่วยให้เราเห็นความแตกต่างในการรับรู้ความรุนแรงของโรค ระหว่างผู้รับบริการและแพทย์ ผู้ให้บริการ ตลอดจนแนวทางในการปรับพฤติกรรมการใช้บริการให้เหมาะสมมากขึ้น

ขอความกรุณาส่งข่าวต่อๆ ให้พวกเราได้เข้ามาแลกเปลี่ยนกันหน่อยนะครับ และอย่าลืมการบ้านด้วย

รัก

ชนินทร์

เห็นด้วยครับ อาจารย์ ผมจะลองเก็บข้อมูลตาม contact sheet มาวิเคราะห์ ดู

และในแต่ละพื้นที่ จะแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน

เราจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้้น

และปัญหาความแตกต่าง เรื่องการมองปัญหา ระหว่างผู้ป่วยกับ เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ จะช่วยให้เราผู้ให้บริการ เข้าใจและจัดการปัญหาซึ่งเป็น ต้นทุน มนุษย์ที่แตกต่างกันได้แค่ไหน

เอกชัย

ความเหมาะสมและความจำเป็นของคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน ทำให้ขณะนี้เกิดความขัดแย้งต่างๆมากมาย ทุกๆสายงาน สำหรับด้านการบริการทางการแพทย์ แพทย์ กับประชาชน เช่นเดียวกัน การฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าเสียหายเกิดขึ้นมากมาย เนื่องมาจากความต้องการที่ไม่เหมือนกัน และต่างก็เข้าใจถึงความเหมาะสมและความจำเป็นที่ไม่เท่ากัน ทั้งนี้ทั้งนั้นส่วนใหญ่น่าจะเกิดมาจากการสื่อสารที่ไม่ดี หรือมีน้อยจนเกินไป สำหรับการที่เราจะมาตีความว่าความเหมาะสม ความจำเป็นแบบใดที่ประชาชนจะเข้าถึงบริการได้ดีหรือ ความจำเป็นแบบใดที่ต้องมาโรงพยาบาลนั้น เราควรมีการสำรวจความต้องการทั้งสองฝ่ายก่อน เช่นการที่อาจารย์ได้เสนอการทำ contact sheet ถือว่าเป็นการสื่อสารอย่างหนึ่ง เพื่อที่เราได้เข้าใจคนไข้ มากขึ้น เข้าใจความคิด ความรู้สึกที่มีต่อตัวโรค ความรุนแรง ความต้องการเกี่ยวกับโรคแต่ละโรคของผู้ป่วย เพื่อที่เราจะได้นำมาปรับปรุงการให้บริการ ให้เกิดความพึงพอใจทั้งสองฝ่าย ขณะนี้ นโยบายมีการเร่งรัดให้พัฒนาปฐมภูมิ แต่ถ้าประชาชนในพื้นที่ยังไม่มีความเชื่อถือในปฐมภูมิ การรักษาตัวของผู้ป่วยยังให้ความสำคัญแก่คลินิก โรงพยาบาลขนาดใหญ่ การพัฒนาย่อมไม่สำเร็จ ดังนั้นการที่เราจะได้ลองค้นหาความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในเรื่องการเข้ารับการรักษา การเข้าถึงสถานพยาบาล อะไรเป็นสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ประชาชนเข้ารับบริการสถานีอนามัยน้อย ย่อมเป็นโอกาสที่จะทำให้การพัฒนาระบบปฐมภูมิเป็นที่ยอมรับมากขึ้น สมัยก่อนแพทย์เหมือนพระเจ้า จะว่าอะไร จะสั่งอะไรไม่เคยมีการโต้ตอบจากคนไข้ ขณะนี้ไม่เหมือนก่อน เอาตนเองเป็นที่ตั้งไม่ได้ต้องมีการปรับจูนทั้งสองฝ่าย เราจะให้อย่างเดียวไม่ได้ต้องรับฟังจากอีกฝ่ายด้วย และคนที่ปรับตัวคงไม่ใช่ใคร แต่ต้องปรับที่ตัวเราก่อน

ผมเห็นด้วยกับพี่ประเสริฐในประเด็นเกี่ยวกับ self care โดยที่ประชาชน หรือชาวบ้านทั่วไปควรต้องมี basic knowledge เกี่ยวกับ อาการและอาการแสดงที่เป็น อันตราย (dangerous signal) ยกตัวอย่างเช่น ตอนนี้ชาวบ้านมีการรับรู้มากขึ้นว่าการปวดท้องน้อยด้านขวา ให้นึกถึงไส้ติ่งอักเสบ และก็จะรีบมาหาหมอเพื่อตรวจวินิจฉัย ในขณะที่เมื่อเจ็บป่วยที่ลิ้นปี่ก็จะหายาธาตุน้ำขาวกินก่อนที่จะมาหาหมอ แต่การที่จะบอกว่าอะไรเหมาะสมหรือ optimum ก็อาจไม่สามารถชี้ชัด ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่นระดับการศึกษา การเดินทาง การเข้าถึงข้อมูล ศักยภาพของสถานบริการ รวมทั้ง risk ทางสิ่งแวดล้อม ทำให้ในบางชุมชนต้องการอาจจะมีอัตราการเข้ารับบริการสูง ซึ่งถือว่าเหมาะสม แต่ถ้าในชุมชนหนึ่งอัตราการเข้าบริการเดียวกัน อาจถือว่ามากเกินไป แต่อย่างไรก็ตามคนในชุมชนต้องสามารถเข้าถึงได้เท่าเทียมกัน(Equaltiy)อย่างที่อาจารย์กล่าวไว้ข้างต้น แพทย์ก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้เกิด optimal reach ที่จะทำให้เกิด quality ในการบริการและ quantity ที่เหมาะสมและคุ้มค่า ที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการบริการสูงสุด กสิวัฒน์

ประเด็นการใช้บริการ การเข้าถึงบริการอย่างเหมาะสมตามความจำเป็น คงจะต้องแยกพิจารณาในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

1.ความรุนแรงของโรค ตามการรับรู้ของกลุ่มผู้รับบริการและผู้ให้บริการเนื่องจากระดับการรับรู้ในเรื่องประเด็นของความรุนแรงของโรคในทั้ง 2 กลุ่มไม่เท่ากัน ยกตัวอย่าง เช่น มีผู้ป่วยมา ร.พ. เวลา ตี สองด้วยเรื่องคันตามร่างกายมา 1 สัปดาห์ คืนนี้คันมากจนนอนไม่หลับ จึงมา ร.พ.เพื่อให้แพทย์ตรวจรักษาอาการคัน แพทย์อาจจะมองว่าอาการคันไม่ใช่เรื่องฉุกเฉินที่จะต้องมาตรวจกลางดึก เป็นการใช้บริการและการเข้าถึงบริการอย่างไม่เหมาะสมและไม่จำเป็น แต่ในด้านของผู้ป่วยอาการคันมากจนนอนไม่หลับ ถือเป็นทุกข์อย่างยิ่ง เมื่อได้รับการรักษาจนหายจากอาการคันก็ถือว่าเป็นการใช้บริการและเข้าถึงบริการอย่างเหมาะสม ตามความจำเป็น

2.สิทธิตามระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปัจจุบันพบว่าความครอบคลุมของสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลในกลุ่มต่างๆ เช่น UC ประกันสังคม ข้าราชการ ของประชาชนไทยเพิมมากขึ้นจนเกือบถึง 100 % ทำให้มีการเพิ่มการใช้บริการด้านรักษาพยาบาลมากยิ่งขึ้น เนื่องจากรักษาฟรี ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้ง่ายและมากขึ้น เนื่องจากมีการพัฒนาศักยภาพของสถายบริการระดับปฐมภูมิ(บริการใกล้บ้านใกล้ใจ) ให้สามารถดูแลรักษาโรคที่ได้มาตรฐานและมีการดูแลอย่างต่อเนื่องในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

3.ความเสมอภาคและความเป็นธรรม (equity) ในการใช้บริการ และการเข้าถึงบริการแตกต่างกันในแต่ละบุคคล ถึงแม้ว่าจะมีสิทธืในการักษาพยาบาลเหมือนกัน เนื่องจากศักยภาพของแต่ละบุคคลและครอบครัวไม่เท่าเทียมกัน ตัวอย่างเช่นผู้ป่วยโรคมะเร็งในครอบครัวที่มีเศรษฐานะและความรู้สูง จะสามารถไปตรวจรักษาตามระบบและแผนการรักษาของแพทย์ได้อย่างครบถ้วน มีความรู้ในการดุแลตนเองได้อย่างเหมาะสม จึงถือว่าเป็นการใช้บริการและเข้าถึงบริการอย่างเหมาะสมตามความจำเป็น แต่ผู้ป่วยที่มีเศรษฐานะและความรู้ต่ำ จะไม่สามารถไปรักษาตามระบบและแผนการรักษาของแพทย์ได้ครบถ้วน เนื่องจากมีปัญหาด้านค่าใช้จ่าย( financial problem) และคนดูแลที่มีความรู้(self care) จึงเป็นการใช้บริการและไม่สามารถเข้าถึงบริการได้อย่างเหมาะสม ถึงแม้จะมีความจำเป็นก็ตาม ซึ่งก็จะทำให้ผลการรักษของผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มมีความแตกต่างกัน

อาจารย์คะ งาน contact sheet ที่อาจาย์ให้มานั้นหนุได้เก็บข้อมุลและปลุกปล้ำกับ SPSS (เป็นครั้งแรก (ด้วยตัวเอง)) เมื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์จึงพบว่ายังไม่คำถามการวิจัย สมมติฐาน จึงทำให้ยังไม่สามารถนำผลงานมาส่งอาจารย์ได้ ขอเวลาอีกสักระยะหนึ่งนะคะ กราบขออภัยมา ณ ที่นี้ ขอบคุณค่ะ...ภัทรี

พยายามต่อไป Learning by doing จะช่วยพัฒนาทักษะของเราได้ดีที่สุด ทำเอง ลองผิดลองถูก แล้วจะเก่งเอง การเรียนรู้เชิงประสบการณ์ จากการทำเอง ทำให้เรากล้าในการตัดสินใจมากขึ้น เพราะเราผ่านการทำผิดพลาดมาแล้ว ซึ่งเป็นบทเรียนที่สำคัญ ต่อไป พอเราไปทำงานร่วมกับผู้อื่น เราจะให้ใครทำอะไร เราจะได้รู้วิธีการและประเด็นที่จะต้องติดตามตรวจสอบ ขออย่างเดียวอย่าท้อ

ชนินทร์

ประเด็นเหล่านี้เนื่องจากการตั้งโจทย์ที่ไม่เหมือนกันดังนั้นต้องทำความเข้าใจให้ตรงก่อน

คนไข้มาหาบริการด้วย illnesses แต่เราตัดสินความเหมาะสมด้วย diseases อาจารย์ได้เสนอแล้วว่าทุนมนุษย์ไม่เท่ากัน

ทำไมหมอป่วยต้องไปรามาธิบดี แล้วคนไข้คนหนึ่งตัดสินใจว่าไปหาหมออนามัย หรือมาโรงพยาบาลชุมชน หรือไปโรงพยาบาลจังหวัดมีความแตกต่างอย่างไร

ดังนั้นถ้าเราเปลี่ยนวีธีคิดและการวัดให้เหมาะสมอาจช่วยให้ เราจัดระบบให้เอื้อกับผู้มาใช้บริการได้ดียิ่งขึ้น

เช่นมองแบบองค์รวม มีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ระบบก็จะถุกจัดไปอีกแบบ ความเหมาะสมก็จะวัดที่คนไข้ไม่ใช่สถานบริการครับ

ขอบคุณมากครับสำหรับข้อคิดเห็น เรื่อง Illness เป็นการรับรู้ ที่เชื่อมโยงกับปรสบการณ์และมีผลต่อการแปลความหมาย ใน?ศนะของชาวบ้าน จึงเป็นมุมมองที่อาจสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับความคิดเห็นในการวินิจฉัยของ แพทย์ ซึ่งเป็น Professional และใช้ Evidence based ในหารตัดสินใจ ขอบคุณหมอโชคชัยที่ยกประเด็นนี้ขึ้นมา ทำให้เราเห็นที่มาที่ไปของความแตกต่างใน Perception of problem ระหว่าง ชาวบ้านกับนักวิชาชีพ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นเหตุสำคัญของความขัดแย้งในการสื่อความหมาย ซึ่งเราในฐานะนักบริหารบริการสุขภาพจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้

ชนินทร์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท