เก็บมาเล่าต่อ


ได้ทั้ง explicit และ tacit knowledge

มีเรื่องราวดีๆ ของกิจกรรมที่ได้ทั้ง explicit และ tacit knowledge เมื่อสัปดาห์ก่อนโน้นที่ยังไม่ได้เขียนเล่าสักที วันนี้ได้โอกาสจึงนำมาเล่าสู่กัน

วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๔๙


มี Case Conference เกี่ยวกับ diabetes foot ที่ รพ.เทพธารินทร์ โดย พญ.ศรีอุไร ปรมาธิกุล นำเสนอกรณีผู้ป่วย ๒ ราย รายแรกเป็นหญิงไทยอายุ ๗๓ ปี เข้า รพ.ด้วยปัญหานิ้วเท้าซ้ายและส้นเท้าดำมาประมาณ ๑ เดือน สาเหตุเกิดจากมีหนังแข็งๆ จึงเอาของแข็งไปถูที่ส้นเท้าแล้วเกิดแผลที่ดำขึ้นเรื่อยๆ อีกรายเป็นชายไทยอายุ ๘๒ ปี มีแผลที่เท้าซ้ายมา ๒ เดือน แผลเกิดจากเท้ามีการสีกับรองเท้า

นพ.ทวี อนันตกุลนธี นำเสนอกรณีผู้ป่วย ๑ รายเป็นชายจีนอายุ ๘๑ ปี มีแผลที่นิ้วเท้าซ้ายมา ๓ เดือนกว่า เกิดจากไปทำสวนแล้วถูกเศษไม้ตำที่นิ้วเท้าซ้าย แผลดำเหมือนตกสะเก็ด แต่ดำกระจายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

ผู้ร่วมอภิปรายและให้ความรู้หลักๆ คือ นพ.ประเสริฐ ไตรรัตนวรกุล ศัลยแพทย์ผู้ทำ vascular bypass ผศ.พญ.สุวิภาภรณ์ ศิริพรพิทักษ์ รังสีแพทย์ และนพ.วรศักดิ์ โฆวินวิพัฒน์ ผู้รู้ด้าน Hyperbaric Oxygen Therapy งานนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมเกือบ ๑๐๐ คน ได้เรียนรู้หลายเรื่องดังนี้

- ได้เรียนรู้ว่าปัญหาแผลที่เท้ามักเกิดจากเหตุที่ธรรมดาๆ แต่การดูแลรักษาใช้เวลาและค่าใช้จ่ายมหาศาล
- ได้รู้ว่าแผลที่ส้นเท้าเป็นแผลที่ “หินมาก” เพราะ fat pad เยอะและเลือดไปเลี้ยงได้ไม่ดี
- อาจารย์ประเสริฐบอกว่าการ save ขาเป็นเรื่องของ culture ที่ของบ้านเราต้อง save ให้มากที่สุดแม้ว่าจะเดินไม่ได้ ต่างจากฝรั่งที่ถ้าเดินไม่ได้ก็ให้ทำ amputation ไปเลย
- ได้ความรู้ที่ลึกมากเกี่ยวกับการใช้ Non invasive vascular imaging เพื่อตรวจเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงขาและเท้า มีการเปรียบเทียบผลและค่าใช้จ่ายระหว่างการทำ Angiography, MRA และ CTA
- รู้ว่าเดี๋ยวนี้การตรวจต่างๆ ที่ รพ.ใหญ่ๆ รับทำกันตลอด ๒๔ ชม.

การ conference ในวันนี้กว่าจะเสร็จสิ้นก็ใช้เวลาล่วงเลยไปจนเกือบ ๒๐.๐๐ น.

ผศ.ดร.นิโรบล กนกสุนทรรัตน์ มาร่วม conference นี้ด้วย หลังเลิกประชุมแล้วเรานั่งรถไปด้วยกัน อาจารย์นิโรบลเล่าว่าได้นำเทคนิควิธีการที่ได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมกิจกรรม “เพื่อนช่วยเพื่อน” ไปใช้กับกลุ่มผู้ร่วมงานและกลุ่มผู้ป่วยที่มีทวารเทียม ผู้ร่วมงานชื่นชอบบอกให้จัดบ่อยๆ ส่วนกิจกรรมในกลุ่มผู้ป่วยทำให้ได้ “ความรู้ปฏิบัติ” มากมายเกี่ยวกับการควบคุมการขับถ่ายที่ผู้ป่วยใช้แล้วได้ผลดี แม้แต่วิธีการ deep breathing ที่ผู้ป่วยทำได้แบบง่ายๆ อาจารย์นิโรบลบอกว่ามีเวลาเมื่อใดจะเขียนมาเล่ารายละเอียด (ใครอยากรู้เร็วช่วยเรียกร้องเข้ามาหน่อย) กิจกรรมแบบนี้ทำให้การทำงานและการดูแลผู้ป่วยมีบรรยากาศที่ดีจริงๆ

วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๙


ช่วงเช้าดิฉันได้ไปสังเกตการณ์ประชุมของ “เครือข่ายสถานพยาบาลในโครงการการพัฒนารูปแบบการจัดบริการบูรณาการและผสมผสาน เพื่อป้องกันและควบคุมโรคอ้วนในเด็กปฐมวัย” ที่โรงพยาบาลลพบุรี มีแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข พนักงานทันตสาธารณสุข เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน จาก รพ.ลพบุรี รพ.อินทร์บุรี และ รพ.ชัยบาดาล มาร่วมประชุมด้วยเกือบ ๓๐ คน

ช่วงเช้าเป็นการบรรยายวิชาการโดย ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำและอาจารย์ศัลยา คงสมบูรณ์เวช เกี่ยวกับการป้องกันโรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือด ที่ต้องเริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โภชนาการสำหรับเด็กวัย ๐-๕ ปี อาจารย์ศัลยาเล่าเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมตนเองจนคนฟังประทับใจ หลายคนอยากย้อนเวลากลับไปเลี้ยงลูกเล็กๆ ใหม่ทีเดียว เพราะอาจารย์ศัลยามีวิธีการดีสามารถให้นมแม่แก่ลูกได้นานเป็นปีๆ

ตกเย็นกลับมาที่ รพ.เทพธารินทร์ ตามปกติจะมี Journal Club แต่วันนี้ นพ.วุฒิชัย สุทธถวิล ได้มาคุยเรื่อง Interventional Pulmonology ให้ฟัง ได้ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับ Laser Bronchoscopy, Cryotherapy, Airway Stents และ Electromagnetic Navigation โดยเห็นภาพประกอบที่ชัดเจน

ต่อจากนั้น ศ.นพ.บุญส่ง องค์พิพัฒน์กุล ได้นำเสนอ Interesting Case เป็นผู้ป่วยชายอายุ ๕๓ ปีที่มา รพ.ด้วยอาการขาทั้ง ๒ ข้างอ่อนแรงขึ้นมาทันที มีการซักถาม อภิปราย ชักชวนให้ค้นหาปัญหาของผู้ป่วยจนในที่สุดก็รู้ว่าผู้ป่วยมีปัญหา Primary Aldosteronism

ดิฉันเห็นการเปรียบเทียบการปฏิบัติของแพทย์กับ explicit knowledge ที่มีอยู่อย่างน่าสนใจ

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๔๙

หมายเลขบันทึก: 31833เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2006 18:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 06:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท