ระบาดวิทยากับแนวโน้มผู้สูงอายุ


ระบาดวิทยากับแนวโน้มผู้สูงอายุ

 

การได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องระบาดวิทยา ( epidemiology) โดยเฉพาะจากผู้ที่มีประสบการณ์จริงจากการนำแนวคิดของระบาดวิทยาไปประยุกต์ใช้จนก่อให้เกิดคุณประโยชน์มากมายต่อประชาชนนับว่าเป็นโอกาสที่ดีมากและหาได้ยากซึ่งต้องขอขอบคุณ คณะเวชศาสตร์ชุมชน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มอบโอกาสอันดีนี้ให้ จากกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวทำมีความเข้าใจและมีมุมมองต่อระบาดวิทยาที่กว้างขึ้นและที่สำคัญที่สุดคือความเข้าใจต่อการนำแนวคิดทางระบาดวิทยามาประยุกต์สู่แนวทางปฏิบัติเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนางานและคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวบ้านต่อไป 

มีอยู่ประเด็นหนึ่งของการนำเอาระบาดไปใช้และสมควรที่จะนำไปทบทวน คือการคาดการณ์แนวโน้มของกลุ่มประชากรที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้  จากการใช้องค์ความรู้ทางระบาดวิทยาทำให้ทราบได้ว่า แนวโน้มของผู้สูงอายุนับวันจะมีมากขึ้น และจะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตถ้าไม่มีการวางแนวทางการดูแลปัญหานี้อย่างจริงจังและเหมาะสมตั้งแต่วันนี้   

สำหรับผมเองมีความผูกพันกับผู้สูงอายุคือคุณย่าของผมมานาน จำได้ว่าสมัยเด็กๆผมโตมากับข้าวต้มมะนาวดองของคุณย่า ซึ่งเป็นอาหารโปรดของผมสมัยเด็กๆ คุณย่าต้องตื่นแต่เช้าเพื่อต้มข้าวต้มและเดินไปตลาดระยะทางไปกลับประมาณสองกิโล เพื่อซื้อมะนาวดองให้กับหลานคนโปรด ซึ่งถือว่าเป็นระยะทางที่ไกลมากสำหรับผู้หญิงวัย65ปีในขณะนั้น  ผมยังจดจำความรักที่คุณย่ามีต่อผมได้เป็นอย่างดี ย่าจะเก็บของที่ดีที่สุดที่พอจะหาได้ในขณะนั้นให้หลานได้กินก่อนเสมอโดยย่าแทบจะไม่ได้กินของดีๆเลย  จากวันนั้นเวลาผ่านมาแล้ว 30 ปี ทุกวันนี้คุณย่าผมอายุ 95 ปี   จดจำใครไม่ได้แล้ว ต้องนอนอยู่บนเตียงได้รับอาหารเหลวทางสายยาง ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เลยแม้กระทั่งการขับถ่าย ทุกวันนี้ครอบครัวของเราต้องช่วยกันในการดูแลคุณย่าโดยผลัดเปลี่ยนกันดูแลอย่างใกล้ชิดตลอด24ชั่วโมงโดยมีผู้ช่วยเหลือผู้สูงอายุ1คนที่เราจ้างมาในการร่วมดูแลโดยหวังว่าจะทำให้คุณย่ามีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดในช่วงเวลาสุดท้ายที่เหลืออยู่ของคุณย่าโดยเราจะดูแลเองที่บ้านและพึ่งพาโรงพยาบาลให้น้อยที่สุดเพราะคุณย่าเคยบอกว่าอยากอยู่ที่บ้าน ไม่อยากไปโรงพยาบาล ถ้าใครเคยมีโอกาสได้ดูแลผู้สูงอายุไม่ว่าจะเป็นเครือญาติตนเอง หรือมีโอกาสได้ทำงานเกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุจะทราบว่าในผู้สูงอายุแต่ละคนมีปัญหาที่จะต้องได้รับการดูแลอย่างมาก เช่น การช่วยเหลือตนเองได้น้อยลงในกิจวัตรประจำวัน สภาพความพิการของร่างกายที่เกิดขึ้น ความรู้สึกท้อแท้และซึมเศร้ากับสมรรถภาพร่างกายที่ลดลง โรคเรื้อรังต่างๆและความเจ็บป่วยที่เป็นผลแทรกซ้อนของโรคนั้นๆ  แผลเรื้อรังต่างๆจากการที่นอนนานๆ  ความน้อยอกน้อยใจจากการที่ต้องเป็นภาระให้ผู้อื่น และปัญหาอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งการที่จะดูแลได้อย่างดีนั้นจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรและความดูแลเอาใจใส่อย่างต่อเนื่องในผู้สูงอายุแต่ละคน  แต่ตอนนี้ปัญหาที่เรากำลังเผชิญไม่ใช่เป็นเพียงการดูแลผู้สูงอายุ1ถึง2คน แต่เรากำลังต้องเผชิญกับสภาพปัญหาของแนวโน้มผู้สูงอายุที่จะทวีจำนวนมากขึ้นตามแนวโน้มการคาดการของระบาดวิทยา  ครอบครัวของผมยังโชคดีที่เรายังพอมีรายได้ มีองค์ความรู้ มีทรัพยากรและมีช่องทางในการดูแลคุณย่า แต่ในสภาพความเป็นจริงโดยเฉพาะในสังคมชนบท ไม่มีทรัพยากรดังที่ครอบครัวผมมี ในขณะเดียวกันลูกหลานก็ต้องทำมาหากินเพื่อดำรงชีวิตต่อไป ดังนั้นสิ่งที่เราพบเห็นอยู่เสมอๆคือการที่ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง บางคนเป็นผู้สูงอายุที่ดูแลตนเองไม่ได้และมีความพิการ แต่กลับถูกปล่อยปะละเลยไม่มีคนดูแลอย่างต่อเนื่อง บางคนไม่มีคนทำความสะอาดร่างกายให้เป็นเดือนๆ บางบ้านอยากดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ที่บ้านแต่ด้วยข้อจำกัดทั้งปวงสุดท้ายต้องปล่อยให้ผู้สูงอายุขาดการดูแลเพราะไม่รู้จะทำอย่างไรและยอมจำนนกับสภาพปัญหาในที่สุด  สิ่งที่ควรจะใคร่ควรคือเราจะมีแนวทางในการจัดการกับปัญหานี้อย่างไรเพื่อนำไปสู่การดูแลผู้สูงอายุที่มีคุณภาพและมีความเหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของผู้สูงอายุและตรงกับสภาพบริบทของแต่ละพื้นที่ภายใต้สิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้จริง  ผมคิดว่าเป้าหมายหลักของเราในเรื่องนี้อยู่ที่จะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดการดูแลผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง รอบด้านและครอบคลุมจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด และผมคิดว่าแนวทางหลักหรือหัวใจในการจัดการเรื่องนี้อยู่ที่การบูรณการกันระหว่างสองระบบหลักซึ่งได้แก่ ระบบการดูแลโดยชุมชน (Community care)  ร่วมกับ ระบบสนับสนุนทางด้านวิชาการและทรัพยากรอื่นๆโดยยิ่งมีหน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆมาร่วมยิ่งมากยิ่งดี โดยผมมีความเชื่อว่าหน่วยงานที่เป็นตัวทำให้เกิดการบูรณการและผลักดันให้เกิดกระบวนการนี้ได้อย่างเป็นจริงคือโรงพยาบาลชุมชน  ทั้งหมดคือแนวคิดที่ได้จากการเรียนรู้ในช่วงสองวันที่ผ่านมา  และถ้ามีโอกาสผมจะขอแลกเปลี่ยนประสบการณ์จริงและการแปรแนวคิดไปสู่การปฏิบัติที่สามารถทำได้จริง ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในอำเภอลำสนธิ โดยเรามีเป้าหมายร่วมกันทั้งอำเภอในการคืนคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้สูงอายุซึ่งเป็น พ่อแม่ปู่ย่าตายายและร่มโพธ์ร่มไทรของพวกเราต่อไป

คำสำคัญ (Tags): #ระบาด
หมายเลขบันทึก: 317686เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2009 16:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 13:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท