รายงานการประชุมแนวร่วมการศึกษาผู้ใหญ่ระดับอุดมศึกษา (AHEA) ประจำปี 2009


          ปีนี้เป็นปีที่สองที่ผมได้ไปร่วมการประชุมประจำปีของแนวร่วมการศึกษาผู้ใหญ่ระดับอุดมศึกษา (Adult Higher Education Alliance - AHEA) ปีที่แล้วมีมหาวิทยาลัยเซาท์อลาบามา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ เป็นเจ้าภาพ (ผมเขียนรายงานปีที่แล้วไว้ที่ http://gotoknow.org/blog/surachetv/219209)

          การประชุมประจำปีนี้มีแนวเรื่องว่า The Spirit of AHEA: Engaging Communities and Enlivening Practice (จิตวิญญาณของแนวร่วม: การมีส่วนร่วมของชุมชนและการปฏิบัติอย่างมีชีวิตชีวา-มีพลัง) จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๖ – ๙ ตุลาคม ๒๕๕๒ โดยมี National-Louis University ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนเป็นเจ้าภาพ มหาวิทยาลัยนี้มีวิทยาลัยเขตหลายแห่ง โดยที่ใช้จัดนี้เป็นศูนย์กลางของเขาอยู่ที่ชิคาโก ในรัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา

          ผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาปีนี้มี ๘๑ คน เกือบทั้งหมดมาจากอเมริกา ที่มาจากต่างประเทศมีผมจากประเทศไทย และมีมาจากมาเลเซียคนหนึ่ง

          AHEA มีสมาชิกประเภทสถาบันการศึกษาและสมาชิกประเภทบุคคล
สถาบันการศึกษาที่เป็นสมาชิกคือสถาบันที่มีหลักสูตรสำหรับผู้ใหญ่ที่ทำงานแล้ว
กลับสู่ระบบการศึกษา ทั้งในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา
ส่วนสมาชิกบุคคลซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาจารย์สถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน
ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาผู้ใหญ่ (ดูเว็บไซต์ของ AHEA ได้ที่ http://www.ahea.org)

          การประชุมมีทั้งการบรรยายโดยวิทยากรรับเชิญ(Keynote Speaker)
การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ(Workshop) การนำเสนองานวิจัยและประสบการณ์
จากการปฏิบัติงานจัดการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ในระดับอุดมศึกษา ที่เปิดโอกาสให้
ผู้เข้าร่วมสัมมนาสามารถเลือกเข้าร่วม session ต่างๆ ได้ตามความสนใจ

การบรรยายโดยวิทยากรรับเชิญ 

          ปีนี้มีวิทยากรรับเชิญ ๒ คน เป็นผู้อาวุโสทั้งคู่ คนหนึ่งบรรยายเปิด อีกคนบรรยายปิด

          ผู้บรรยายเปิดชื่อ Amy D. Rose เป็นศาสตราจารย์ด้านการศึกษาผู้ใหญ่ระดับอุดมศึกษาจากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นอิลลินอยส์ เป็นผู้ที่มีผลงานวิจัยเรื่องการศึกษาต่อเนื่องของผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่เป็นสตรี   เคยเป็นประธานสมาคมการศึกษาต่อเนื่องของผู้ใหญ่แห่งอเมริกา  และเป็นผู้หนึ่งในคณะบรรณาธิการวารสาร Adult Education เป็น “ผู้รู้ผู้เล่น” ในเรื่องการศึกษาผู้ใหญ่ระดับอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีคนหนึ่งในอเมริกา (คำ “ผู้รู้ผู้เล่น” เป็นสำนวนของ รศ.คนองยุทธ กาญจนกูล ประธานหลักสูตร ป.โท สาขาสุขภาพชุมชน สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน)

          หัวข้อที่บรรยายในพิธีเปิดในวันนั้น คือ อนาคตของ AHEA ซึ่ง Prof. Rose บอกว่าจะรู้อนาคตต้องมองย้อนไปในอดีตว่า AHEA เกิดขึ้นมาอย่างไร ปัจจุบันเป็นอย่างไรก่อน จึงจะรู้ว่าอนาคตควรจะไปทางไหน อย่างไร โดยสรุปคือ AHEA เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของผู้ทำงานการศึกษาผู้ใหญ่ระดับอุดมศึกษาที่ต้องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานด้านนี้ของตนหลังจากพบว่าไม่อาจจัดการศึกษาแก่ผู้ใหญ่แบบเดียวกับที่จัดสำหรับเด็ก ซึ่งในอเมริกาเรียกว่า การศึกษาแบบดั้งเดิม(traditional education) ได้ โดยจัดให้มีการประชุมประจำปีเพื่อนำเสนองานวิจัยหรือประสบการณ์การจัดการศึกษาผู้ใหญ่แบบใหม่(non-tradition) ซึ่งการประชุมตลอด ๓๐ ปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความรู้ การพัฒนาเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านแนวคิดและวิธีการในการจัดการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ในระดับอุดมศึกษาขึ้นมากมาย ตั้งแต่เรื่องวิธีการสร้างหลักสูตร วิธีการเรียนการสอน วิธีการประเมินผล การบริหารจัดการ การบริการการศึกษา ฯลฯ เป็นการบรรยายแบบเล่าประวัติ พร้อมไฮไลท์การประชุมสัมมนาบางปีที่มีการค้นพบความรู้สำคัญๆ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงแนวคิดและวิธีการเรียนการสอนผู้ใหญ่ของอเมริกา ไล่มาจนถึงปัจจุบันที่กำลังสนใจกันเรื่องที่ว่า เมื่อเรารู้กันดีว่าผู้เรียนทุกคนกลับเข้ามาเรียนพร้อมประสบการณ์ชีวิตและประสบการณ์ทำงานมากมาย เราจะมีวิธีการในการประเมินผลงานและประสบการณ์ของเขามาเทียบให้เป็นผลการเรียนได้อย่างไร ซึ่งในการประชุมครั้งนี้มี pre-conference workshop ๒ หัวข้อ เรื่องนี้เป็นหัวข้อหนึ่งด้วย รวมทั้งมีผู้นำงานวิจัยและประสบการณ์ที่ตนทำในเรื่องนี้มานำเสนอกันหลายคน

         ผู้บรรยายปิดการประชุม คือ Tim Riordan เป็นศาสตราจารย์สาขาปรัชญาจาก Alverno College (ผู้เข้าร่วมประชุมคนหนึ่งบอกผมว่าวิทยาลัยนี้มีชื่อเสียงในด้านการเป็นตัวแบบที่ดี - role model ในด้านวิธีจัดกระบวนการเรียนรู้ให้นักศึกษา) ท่านเป็นผู้ที่สนใจและลงมือพัฒนาหลักสูตรและการสอนในฐานะที่เป็นผู้หนึ่งที่ร่วมรับผิดชอบงานวิชาการของวิทยาลัยนี้ (Academic Affair) มาตั้งแต่ปี ๑๙๗๖ รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาด้านนี้แก่สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง เป็นวิทยากรรับเชิญในที่ประชุมสัมมนาต่างๆ มากมายทั้งในอเมริกาและประเทศอื่นๆ มีผลงานเขียนหนังสือและบทความลงวารสารในหัวข้อเกี่ยวกับการสอนปรัชญาและการเรียนการสอนทั่วไปมากมาย (ผมฟังท่านแล้วจึงได้ความรู้สึกแบบเดียวกับเวลาฟัง รศ.ดร.เสรี พงศ์พิศ คือฟังเข้าใจง่าย ได้ทั้งความรู้และพลัง เพราะเป็นเนื้อหาที่เกิดจาก “การตกผลึก” จากประสบการณ์ของผู้พูด)

          หัวข้อการบรรยายปิดการประชุมในวันสุดท้ายปีนี้ คือ Taking Student Learning Seriously: Reflecting on Our Teaching Practice (เอาใจใส่การเรียนรู้ของนักศึกษาอย่างจริงจัง: สะท้อนจากประสบการณ์การปฏิบัติของเรา) วิธีการนำเสนอของศาสตราจารย์ Riordan เป็นการบรรยายแบบ “เล่าเรื่อง” โดยใช้วิดีโอที่สัมภาษณ์นักศึกษามาประกอบ และเป็นการบรรยายที่มีลักษณะเป็นการสนทนาถาม-ตอบกับผู้ฟังไปด้วย โดยเชิญชวนให้ถามได้ตลอดเวลาระหว่างบรรยาย สำหรับผมแล้ว วิธีการบรรยายของผู้อาวุโสท่านนี้น่าสนใจมาก ไม่ทำให้ใครหลับ และเป็นประสบการณ์จากการทำงานจริงอย่างยาวนาน ท่านได้ถ่ายทำวิดีโอสัมภาษณ์นักศึกษาตั้งแต่ปีแรกที่เข้าเรียน สัมภาษณ์ระหว่างเรียน และสัมภาษณ์เมื่อจบการศึกษา และติดตามไปสัมภาษณ์อีกหลังจากจบการศึกษาแล้วไปทำงานอย่างไร ได้พัฒนาตนเองและการงานอาชีพอย่างไร ซึ่งผมรู้สึกว่าคล้ายๆ กับที่เราพยายามทำอยู่ในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิต ที่ผมอยากให้อาจารย์ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ของเราในทุกศูนย์เรียนรู้ทำเช่นนี้บ้างกับนักศึกษาเป็นรายบุคคล “ทุกคน”

          Prof. Riordan บรรยายโดยใช้วิธีตั้งคำถามให้ตนเองตอบง่ายๆ เช่น ทัศนคติอะไรบ้างที่ผมต้องการให้เกิดขึ้นในตัวนักศึกษา? ผมทำอย่างไรให้นักศึกษาของผมสามารถคิด?  ผมต้องการให้นักศึกษาของผมสามารถทำอะไรได้บ้าง? แล้วท่านก็ตอบเองพร้อมแสดงหลักฐานโดยให้นักศึกษาพูดเองในวิดีโอ บางคนก็พูดเรื่องว่าเขาสามารถสื่อสารกับคนอื่นดีขึ้นอย่างไร พัฒนาความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวในที่ทำงานได้ดีขึ้นอย่างไร สามารถคิดวิเคราะห์ได้ดีขึ้นอย่างไร แก้ปัญหาในชีวิตและงานได้ดีขึ้นอย่างไร ตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้ถูกต้องขึ้นได้อย่างไร ทัศนะที่มีต่อชีวิตตน(self perception - ชีวทัศน์) และที่มีต่อคนอื่นและโลกภายนอกตน(world view - โลกทัศน์) เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร? แล้วท่านก็บอกว่าทั้งหมดนี้ท่านทำอย่างไร ทั้งในกระบวนการตลอดหลักสูตรและในแต่ละรายวิชา ซึ่งก็ได้ความรู้สึกว่า “ต้องทำอย่างประณีตมาก” ซึ่งนอกจากการออกแบบวิธีการเรียนการสอนรวมทั้งวิธีการประเมินผลอย่างประณีตแล้ว ที่สำคัญที่ท่านยึดถือปฏิบัติมาตลอดคือท่านจะหาโอกาสคุยกับนักศึกษาของท่านทุกคนเป็นรายบุคคลอยู่อย่างสม่ำเสมอ

          ท่านสนใจรู้อย่างจริงจังว่าผู้เรียนแต่ละคนของท่านเป็นใคร นอกจากนี้ท่านฟังเขาเพื่อให้แน่ใจว่าแต่ละคนชัดเจนจริงๆ ว่าเขาต้องทำอะไรบ้างในวิชานั้นๆ เขามีปัญหาอะไรไหมและท่านจะช่วยอะไรได้บ้าง ในการคุยกับนักศึกษานั้นท่านเน้นที่ “การฟัง” ท่านใช้คำว่า Teaching as Listening ท่านบอกว่าอาจารย์ที่อัลเวอร์โนทุกคนก็ทำแบบนี้

          ที่อัลเวอร์โนทุกบ่ายวันศุกร์จะไม่มีการเรียนการสอน อาจารย์และพนักงานฝ่ายสนับสนุนทุกคนต้องเข้าประชุมเพื่อสรุปงานกัน ท่านบอกว่าทุกคนจะถูกถามตั้งแต่ตอนสมัครงานแล้วว่ายินดีจะเข้าร่วมประชุมทุกบ่ายวันศุกร์หรือไม่ (คล้ายกับว่าถ้าไม่ยินดีก็ไม่รับเข้าทำงาน) เพราะความสำเร็จของการเรียนการสอนเป็นการทำงานร่วมกันของทุกคน (Collective Responsibility)

การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ 

          ปีนี้มี ๒ หัวข้อ คือ การเรียนรู้ด้วยสติ (Mindfulness Learning) และ การประเมินเพื่อเทียบโอนประสบการณ์ก่อนเรียน (Prior Learning Assessment – PLA)

           Workshop #1 การเรียนรู้ด้วยสติ (Mindfulness Learning) หัวข้อนี้มีผมกับ ดร.เอเลียต เลาเดอเดล จากศูนย์การศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยเซาท์อลาบามาเป็นวิทยากร จุดมุ่งหมายก็เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ตระหนักถึงความสำคัญในวัตถุประสงค์ด้านจิตพิสัย (Affective Domain) ของการศึกษาผู้ใหญ่ เพราะการศึกษาที่ดำเนินอยู่(ไม่เฉพาะในอเมริกา) จะเน้นหนักด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain เช่น ความรู้ความจำความเข้าใจการวิเคราะห์-สังเคราะห์) และทักษะพิสัย (Skill หรือ Psychomotor Domain) กระทั่งอาจารย์ทั่วไปก็ไม่ทราบว่าจะสอนอย่างไรให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านทัศนคติ เห็นคุณค่าของตน เคารพในศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์ของตนและผู้อื่น ไม่รังเกียจเพศ ผิว เผ่าพันธุ์ ความเชื่อที่ต่างจากตน กระทั่งเกิดความรู้แจ้งแห่งตน (Self-actualization) หรือเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น ประเด็นสำคัญที่ต้องการนำเสนอก็คือการให้เขาได้เห็นตัวอย่างการเรียนการสอนเพื่อการเปลี่ยนแปลงตน หรือ transformational learning (ซึ่งต่างจาก informational learning ที่เรียนเพื่อรู้ข้อมูล-ความรู้ใหม่)

         ผมกับ ดร.เลาเดอเดล วางแผนเรื่องนี้กันตั้งแต่หลังการประชุมประจำปีที่แล้ว ระหว่างที่ผมไปพักอยู่บ้านเขา ๒ วัน ก่อนเดินทางกลับประเทศไทย โดยเห็นด้วยกันว่าเราจะทำเวิร์คช็อปนี้แบบ interactive workshop โดยบรรยายน้อยที่สุด ให้ผู้เข้าร่วมทำกิจกรรมเดี่ยว กลุ่ม เกม บทบาทสมมุติ แล้วสะท้อนประสบการณ์ของตน (self-reflection) หลังแต่ละกิจกรรมจบลง โดยเราจะช่วยกันตั้งคำถาม จากนั้นก็ช่วยประมวลสรุป (debriefing) โดยในเวลา ๒ ชั่วโมง เราเตรียมไว้สิบกว่ากิจกรรม (แต่ไม่ได้ทำทั้งหมด) ที่ผู้เข้าร่วมอาจสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนของเขาได้หลังผ่านประสบการณ์การเข้าร่วมด้วยตนเองในครั้งนี้ โดยก่อนเริ่มกิจกรรมได้ให้ผู้เข้าร่วมที่มาถึงสถานที่ก่อนเวลาช่วยกันย้ายโต๊ะออกไปชิดผนังทั้งหมด เหลือแต่เก้าอี้จัดเป็นวงกลมหันหน้าเข้าหากัน เพื่อให้มีพื้นที่เปิดตรงกลางเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน กิจกรรมที่ทำประกอบด้วย

๑)   ทักทายต้อนรับผู้เข้าร่วมสัมมนา แนะนำวิทยากร แล้วแจ้งวัตถุประสงค์และกระบวนการสัมมนา โดยผมแจ้งว่าเราเลือกบางกิจกรรมที่อาจารย์ของเราใช้ในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตมาทำเวิร์คช็อปที่นี่

๒)   ผ่อนพักตระหนักรู้ โดยผมบอกว่าการนอนหลังอาหารเที่ยงเป็นการพักผ่อนที่ดีมาก ใช้เวลาห้านาทีเท่ากับนอนกลางคืนเป็นชั่วโมง ตื่นขึ้นมาแล้วจะสดชื่น ไม่ง่วงอีกเลยตลอดทั้งบ่าย แล้วก็ชวนให้ทุกคนนั่งหลับหรือนอนลงไปบนพื้นพรมเลย พร้อมเปิดดนตรีที่ไพเราะเบาๆ ช่วยกล่อม ซึ่งส่วนใหญ่ก็นั่งเอนพิงเก้าอี้ บางคนก็นั่งฟุบ บางคนก็ลงไปนอนกับพื้น(ที่เป็นพรม) ครบ ๑๕ นาทีแล้ว ผมก็เคาะระฆังปลุกให้ตื่นขึ้นมาทำกิจกรรมต่อไป

๓)   ดร.เลาเดอเดล นำทำชี่กง (เขาเคยอยู่ประเทศจีน ๔ ปี มีภรรยาเป็นคนจีน)

๔)   ผมนำทำกิจกรรมนับเลข โดยให้นับแบบข้ามตัวเลขบางตัวซึ่งต้องใช้สมาธิสูงขึ้นกว่าการนับแบบปกติ เพื่อให้ทุกคนได้ทดสอบ mindfulness หรือสติของตน

๕)   ผมนำทำกิจกรรมกระต่าย-กระแต (โดยเปลี่ยนเป็น skunk กับ squirrel) ซึ่งได้ทั้งความสนุกสนาน ละลายพฤติกรรม สร้างสัมพันธ์ และทดสอบ mindfulness

๖)    กิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมแต่ละคนแนะนำตนเองโดยใช้เฉพาะภาษาท่าทาง (ไม่ให้พูด) ซึ่งสนุกสนานกันมาก ซึ่งที่สุดแล้วสามารถเข้าใจกันได้หมดว่าใครทำงานอะไร

๗)   กิจกรรมสร้าง Self-esteem ให้แต่ละคนนั่งหลับตาอยู่กับตนเองหนึ่งนาที คิดถึงสิ่งที่ตนประทับในตนเองที่สุด จากนั้นให้ลุกขึ้นไปทักทายกันและกันทั้งห้อง โดยบอกชื่อแล้วบอกความประทับใจที่ตนมีต่อตนเองต่อคนอื่น ซึ่ง reflection ออกมาดีมาก ทำให้แต่ละคนเกิดทั้ง self-appreciation และความประทับใจในกลุ่มผู้เข้าร่วมด้วยกัน

๘)   ฝึกการฟังลึก (deep listening) โดยการจับคู่ผลัดกันถามซ้ำๆ ด้วยคำถามเดียวกับคู่ของตนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดเวลา ๒ นาที ว่า “What type of persons are you?” ใช้กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมกิจกรรมต่อไปด้วย

๙)    แจกเอกสารการจำแนกประเภทคนตามธาตุ (ดิน น้ำ ลม ไฟ) ซึ่งผมแปลขึ้นเป็นภาษาอังกฤษจากเว็บไซต์เยาวชนจิตอาสา ในนั้นได้บอกจุดแข็งจุดอ่อนของแต่ละธาตุ โดยทุกคนมีทุกธาตุอยู่ในตัว เพียงแต่อาจมีบางธาตุที่มักแสดงออกชัดเจนบ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ลองวิเคราะห์ตนเองแล้วเลือกด้วยตนเองดูว่าตนเป็นคนประเภท(ธาตุ)ใด?

๑๐)  กิจกรรมบทบาทสมมุติ โดยทุกคนร่วมแสดงท่าทางประจำธาตุต่างๆ คนธาตุไฟ (โทสะจริต) ทำท่าเท้าสะเอวชี้นิ้วใส่คนอื่น คนธาตุลม (ราคะจริต) ทำท่าบินไปรอบๆ คนอื่น คนธาตุดิน (โลภจริต) ทำท่ายืนเท้าชิดกอดอกตนเองแน่น คนธาตุน้ำ (โมหะจริต) คุกเข่าลงทำท่าร้องขออ้อนวอนคนอื่น เป็นต้น reflection ออกมาดีมาก บางคนบอกว่าเขาพบว่าตนเองมีพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้ในชีวิตประจำวันทั้งที่บ้านและที่ทำงาน (เห็นภาพของตนเองที่สะท้อนผ่านกิจกรรมนี้ชัดขึ้น)

๑๑)  การบิดเบือนตนเอง (self-distortion) ไม่ได้ทำกิจกรรม (ประเภทตาบอดคลำช้าง)เนื่องจากเวลาไม่พอ ผมเลยใช้วิธีบรรบายสั้นๆ ว่า คนทั่วไปไม่สามารถเห็นความเป็นจริงทั้งของตนเองและของโลกได้ทั้งหมดเนื่องจากมุมมองของธาตุจำกัดสายตาเรา การเจริญสติช่วยให้เราเปิดใจเปิดมุมมองได้กว้างขึ้น กระทั่งสามาสามารถเห็นความจริงได้ตามธรรมชาติ ไม่ใช่ความจริงอย่างที่ธาตุ(หรือกิเลส)ของเราบอก

๑๒)  ดร.เลาเดอเดล พาทำเดินสมาธิแบบชี่กง (คล้ายๆ เดินจงกลม) โดยเดินตามหลังกันเป็นวงกลมรอบห้อง reflection ที่ออกมาคือ บางคนบอกว่ารู้สึกสงบและอยู่กับปัจจุบันขณะ (be present) ก็ขอให้ทุกคนไปฝึกเดินด้วยตนเองที่บ้านต่อไป

๑๓)  เปิดการสนทนาทั่วไปด้วยคำถามสามข้อ

       (๑) เราจำเป็นต้องมีประสบการณ์ตรงเรื่อง mindfulness ก่อนที่จะช่วยนักศึกษาของเราหรือไม่? (เราสามารถสอนคนอื่นในสิ่งที่เราเองไม่เคยทำได้หรือไม่?)

       (๒) เราจะนำประสบการณ์จากเวิร์คช็อปนี้ไปช่วยนักศึกษาผู้ใหญ่ให้ “เติบโต” ขึ้นอย่างไร?

       (๓) Mindfulness จะช่วยการเรียนรู้ของนักศึกษาผู้ใหญ่อย่างไร?

๑๔)  ประเมินการสัมมนาโดยขอให้ทุกคนรวมทั้งวิทยากร ยืนล้อมเป็นวงจับมือไขว้กัน (cross-hands) แล้วพูด “สิ่งที่ฉันได้เรียนรู้ในวันนี้” เพียงคนละประโยคจนครบทุกคนในวง

การนำเสนองานวิจัยและประสบการณ์จากการปฏิบัติ (session)

          ปีนี้มีผู้นำเสนองานวิจัยและประสบการณ์จากการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาผู้ใหญ่ระดับอุดมศึกษา ครอบคลุมทั้งด้านหลักสูตรและการสอน ด้านการบริหาร และด้านการบริการการศึกษา ๓๘ เรื่อง ขนานกันไปในเวลาเดียวกัน ซึ่งผู้เข้าร่วมการประชุมสามารถเลือก session ที่ตนสนใจได้  ผมได้เข้าร่วม ๗ เรื่อง ดังนี้

          ๑)  Incorporate Emotions in Adult Learning Experiences งานวิจัยจาก Montana State University ที่สัมภาษณ์ลึกอาจารย์ ๑๒ คน ที่ได้รับรางวัลสอนดี  ที่ได้บูรณาการเรื่องทักษะทางอารมณ์ในการสอน สรุปว่าการบูรณาการทักษะนี้มีประโยชน์มาก (มีเอกสารสรุปวิธีการอย่างย่อแจกด้วย) พร้อมแนะนำให้ดูวิธีการในหนังสือ Significant Learning (Oklahoma Univ.) และหน้งสือ Everyone has feeling of what he learns.

          ๒)  Reading Phyllis Cunningham Together โดย Elliott Lauderdale จากมหาวิทยาลัยเซาท์อลาบามา ร่วมกับ Alan Mandell จาก SUNY Empire State College นิวยอร์ค นำผู้เข้าร่วมอ่านบทความของ Phyllis Cunningham นักการศึกษาที่เสียชีวิตไปแล้ว เรื่อง Let’s Get Real: A Critical Look at the Practice of Adult Education เพื่อดูว่าเราคิดอย่างไรกับความเห็นของผู้เขียน โดยคันนิงแฮมตั้งคำถามที่คมๆ กับระบบการศึกษาผู้ใหญ่ในอเมริกาที่ไม่มีอะไรช่วยพัฒนาผู้เรียนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ (Self-actualization) เพราะเป็นการศึกษาเพื่อเพิ่มรายได้ เป็นการศึกษาที่ไม่ได้นำผู้เรียนไปสู่การลดช่องว่างทางชนชั้น การรู้แจ้ง ความเป็นอิสระ แม้จะปรากฏเรื่องเหล่านี้เป็นคำหรูในเอกสารอยู่บ้าง เช่น การเรียนรู้ตลอดชีวิต แต่ก็เป็นการ “พูดอย่างหนึ่งแต่ทำอีกอย่าง”  

          ๓)  Dewey’s 2009 Lab School for Adults: An exploration เป็นการนำเสนอผลจากการประยุกต์ใช้แนวคิดทางการศึกษาของดิวอี้ เช่น การเรียนรู้ไม่ใช่กิจกรรมที่ทำตอนนี้แล้วค่อยนำไปประยุกต์ใช้ในภายหลัง การศึกษาไม่ใช่การเตรียมการสำหรับชิวิต แต่เป็นชีวิตในตัวของมันเอง (Education is not preparation for life, but life itself.) สถาบันการศึกษาต้องสะท้อนสังคม(ท้องถิ่น)ที่สถาบันตั้งอยู่ เป็นต้น

          ๔)  Facebook, Blogs, & Friendly Treehouses: Mentoring Adult Learners Using Social Media เป็นการเล่าประสบการณ์การใช้ ICT สนับสนุนการเรียนรู้ พร้อมเข้าสู่เว็บไซต์ให้ดูของจริง โดยผู้นำเสนอสรุปว่าในความคิดของเธอ Facebook ใช้สนับสนับการเรียนรู้ได้ดี 

          ๕)  Insight into Lived Experience of Graduates on an Accelerated Undergraduate Degree Completion Program: A Phenomenological Study งานวิจัยแนวปรากฏการณ์วิทยาที่เก็บข้อมูลจากนักศึกษา ๑๒ คน ที่นำประสบการณ์ชีวิตเข้ามาใช้ในการเรียนระดับบัณฑิตศึกษา โดยผู้สอนต้องเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ (Learning facilitator)  

          ๖)  Educational Choices and Academic Behaviors of Adult Students Who are Mothers งานวิจัยโดย Stephanie A. Wilsey, Ph.D. จาก School for Social Change, Carlow University, PA ที่ศึกษานักศึกษาผู้ใหญ่ที่เป็นผู้หญิงที่เป็นแม่ที่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาระดับปริญญาตรี ในขณะที่ต้องรับผิดชอบลูก งานอาชีพ และงานบ้านไปพร้อมกัน พบว่าผู้หญิงเหล่านั้นประสบความสำเร็จในการศึกษาเช่นกัน และยังมีความสามารถในการเชื่อมโยงทฤษฎีกับการปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตจริง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในชีวิตจริง ผมได้แบ่งปันโดยให้ดูรูปที่เราให้นักศึกษาที่เป็นแม่พาลูกมาเรียนด้วย (มหาวิทยาลัยชีวิตไม่มาเรียนโดยทิ้งลูกอยู่ที่บ้าน) ทำให้เขาแปลกใจ แต่เขาก็เห็นว่าดี

          ๗)  Focus Group – Adults Speak Out about Services and Programs โดย Tessa McDonnell, Ph.D. จาก Granite State College เป็นการนำเสนอประสบการณ์การหาข้อมูลการบริการการศึกษา ว่าบริการไหนบ้างที่นักศึกษาพอใจและไม่พอใจ ต้องการให้สถาบันทำอย่างไร โดยใช้วิธี Focus Group ผ่านอินเทอร์เน็ต เมื่อนำเสนอจบ ผมถามว่าทำไมต้องใช้อินเทอร์เน็ต เทสสาตอบว่า เพราะสถาบันมีศูนย์การศึกษากระจายอยู่ในหลายพื้นที่ ผมถามว่าอาจารย์เดินทางไปสอนหรือเปล่า เธอตอบว่าอาจารย์จาก Granite ไม่ได้ออกไปสอน ทำหน้าที่จัดทำหลักสูตรและออกแบบการเรียนการสอน ทุกศูนย์เรียนรู้ใช้วิธีจ้างอาจารย์พิเศษในท้องถิ่นหมดเลย ผมถามว่าไม่มีหน่วยงานของรัฐ(แบบเดียวกับ สกอ.บ้านเรา)คุมหรือ เช่น ให้มีสัดส่วนอาจารย์ต่อนักศึกษา 1:30 อะไรทำนองนั้น เธอบอกว่า อเมริกาไม่มี สกอ. แต่ละสถาบันต้องสร้างมาตรฐานของตนเอง อย่างเรื่อง การเทียบประสบการณ์ผู้เรียนผู้ใหญ่ก็ต้องทำกันเอง หลายเรื่องมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ต้องมาประชุมเพื่อปรึกษาหรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน รวมทั้งมีกลไกที่เป็นสมาคมต่างๆ สรุปคือการศึกษาระดับอุดมศึกษาในอเมริกาไม่มีหน่วยงานของรัฐคุม รวมทั้งไม่มีหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐาน แต่ละแห่งต้องทำกันเองและ/หรือทำร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย.

หมายเลขบันทึก: 317323เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2009 23:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 13:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เข้ามาอ่านบทความดีดี ของท่านสุรเชษฐ เวชชพิทักษ์ ครับ

ขอชื่นชม...

ผมเอาสิบล้อมาบรรทุกความรู้ครับ

การศึกษา เพื่อการพัฒนาการเเห่งชีวิต

พัฒนาทางด้านกาย

จิตใจ

สังคม

และปัญญา

ชีวิตจึงเป็นชีวิตที่สมดุล

เป็นเรื่องแปลกที่ว่า มนุษย์ทราบสิ่งที่ดีแต่

มักจะเชื่อมากกว่า..........

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท