ข้อคิดเศรษฐกิจพอเพียงของชาวลาว


                      วันที่ 24  พฤษภาคม ข้ามฝั่งไปศึกษาดูงานที่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  ภาพที่ผมเปรียบเทียบกับ 10 กว่าปีที่แล้วที่ผมเคยมา  ช่วงนั้นยังไม่ได้สร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว  ซึ่งดูสงบเงียบเชียบและถ้าเปรียบเทียบความเจริญทางวัตถุจะห่างไกลจากบ้านเราหลายเท่า

                                มาวันนี้ประเทศลาวเริ่มพัฒนามากขึ้นระบบการตรวจคนเข้าเมืองเข้มงวด รัดกุม มีการฉีดยาฆ่าเชื้อโรคล้อรถยนต์ก่อนเข้าเมือง  เมื่อผ่านเข้าสู่เมืองเวียงจันทร์ผ่านถนนล้านช้าง ซึ่งเป็นถนนสายหลัก(คงเทียบได้กับถนนราชดำเนินของเรา) มีตึกราม  อาคารธุรกิจ  ธนาคารตั้งเรียงราย  เป็นหย่อม ๆ  ตลอดสาย
                                แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงเอกลักษณ์ไว้คือ ศิลปวัฒนธรรมของชาติที่เป็นจุดดึงดูดให้คนต่างชาติมาเยือน เช่น วัดวาอาราม อย่างน้อยก็    วัดหลวง  วัดพระแก้ว ฯลฯ  ความมีน้ำใจที่ใสซื่อ  การพูดจาด้วยภาษาที่ไพเราะของคนลาว  การแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ (สุภาพสตรีนุ่งผ้าซิ่น) การไว้ผมยาวของหญิงสาวลาว เป็นต้น
                                สิ่งที่เป็นแบบอย่างที่น่าศึกษาอีกประการหนึ่ง คือ การดำรงชีวิตด้วย “เศรษฐกิจพอเพียง”  กินง่าย อยู่ง่าย ปลูกผัก ทำนา จับปลา  เลี้ยงสัตว์กินกันเอง  ข้าราชการเงินเดือนคิดเป็นเงินไทยโดยเฉลี่ยเพียง  1,000 กว่าบาท  ( 1 บาท = 260 กีบ )  ก็สามารถดำรงชีวิตแบบพอเพียง ท่ามกลางค่าครองชีพในตัวเมืองที่สูงลิ่ว  หนุ่มสาวจีบกันไม่ต้องไป               ค๊อฟฟี่ช้อปหรือศูนย์การค้าเหมือนบ้านเรา เพียงแค่พากันไปทานน้ำเต้าหู้ในตลาดกลางคืนคนละถ้วยก็หวานแหววพอแล้ว

                          ผมเห็นความขัดแย้งกันระหว่างการเติบโตทางธุรกิจเชิงวัตถุกับวิถีชีวิตของชาวลาวที่อยู่อย่างพอเพียง ที่ชาวบ้านไม่สามารถปฏิเสธกระแสโลกาภิวัตน์และความเจริญทางวัตถุได้  เนื่องด้วยความได้เปรียบทั้งด้านการศึกษา เทคโนโลยี และทุนนิยมจากกระแสภายนอก  จึงทำให้คิดว่า “ เศรษฐกิจแบบพอเพียง” ที่นี่ถ้าไม่แข็งแกร่งพอก็จะถูกกลืนด้วยกระแสทุนนิยมที่คืบคลานเข้ามา ซึ่งการที่ชาวลาวเคยถูกปลูกฝังให้รักความสบาย  ไม่ต้องเรียนหนังสือ  ให้นอนกลางวัน ฯลฯ เมื่อถูกปกครองโดยชนต่างชาติในอดีต ก็เป็นจุดอ่อนที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ถูกกลืนได้ง่ายเข้า
                                การจะดำรงวิถีชีวิตที่พอเพียงของชาวลาวให้อยู่ได้จึงขึ้นอยู่กับนโยบายการบริหารประเทศ ที่จะมี จุดพอดี ณ จุดใด  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมุ่งมั่นพัฒนาด้านการศึกษาที่จะทำให้คนมีปัญญา  เกิดความสำนึกที่ดีต่อบ้านเมือง และทักษะการดำรงชีวิต   ก็น่าจะเป็นปัจจัยชี้ขาดในเรื่องนี้…
 
 
<div>
 </div>  
 

หมายเลขบันทึก: 31575เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2006 07:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท