ช่วงวันที่ 23 – 26 พฤษภาคม ผมมีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานด้านการศึกษากับศิลปวัฒนธรรมทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กับคณะศึกษานิเทศก์ และ บุคลากรทางการศึกษา สพท.นบ.ข.1 ซึ่งถือป็นรูปแบบหนึ่งของการพัฒนาบุคลากร ที่ไม่ใช่เพียงอบรมกันในห้องประชุมเท่านั้น แต่เป็นการไปสัมผัสกับสภาพจริง ๆ ในเรื่องนั้น ๆ
ผมมีความเชื่อตามปรัชญานิรมิตนิยม ( Constructivism ) ว่าการสร้างองค์ความรู้เป็นหน้าที่ของบุคคลแต่ละคนที่ต้องสร้างพัฒนาขึ้นด้วยตนเอง โดยการเชื่อมโยงระหว่างประสบการณ์เดิมของแต่ละคนกับข้อมูลใหม่ (data) แล้วนำไปสู่การจัดระบบข้อมูล (Information ) คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ให้เกิดเป็นความรู้ใหม่ขึ้นมา (Knowledge) แล้วพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ให้เกิดสติปัญญา ( Wisdom )
บรรยากาศระหว่างเดินทางบนรถ และการอยู่ร่วมกันของสมาชิก ถือเป็นกระบวนการพัฒนาบุคลากรทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการพัฒนาปัญญาทางอารมณ์ (EQ) ร่วมกัน ใครมีอะไรก็มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน แบ่งปันความรู้กัน รู้เขารู้เรา อย่างเป็นธรรมชาติ โดยไม่มีหัวโขน (ระบบราชการ) มาขีดคั่น ช่วงไหนที่มีสาระสำคัญก็จะมีวิทยากร หรือมีผู้นำเสนอ แล้วมีการซักถามกัน ก็จะได้ข้อมูลตรง
เช่น เมื่อไปที่โรงเรียนพิมายวิทยาซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบโรงเรียนในฝัน ที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ก็ได้รับความรู้ถึงรูปแบบการบริหารเชิงระบบที่มีความเป็นองค์รวม และมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยมีวิสัยทัศน์ร่วมของทุกคนเป็นตัวนำ แล้วใช้มาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นเครื่องนำทางในการทำแผน/โครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งแต่ละมาตรฐานจะมีเจ้าภาพรับผิดชอบ แต่ละคนมีมาตรฐานการปฏิบัติงานของตนเอง การบริหารจึงมีความเป็นองค์รวม โดยทุกคนเกิด Awareness ที่สอดคล้องกับมาตรฐานด้านผู้เรียน โดยมีการพัฒนาตามวงจร PDCA อย่างต่อเนื่อง
จึงไม่น่าแปลกใจว่าทุกอนูของโรงเรียนนี้จึงเห็นความน่าอยู่น่าเรียน ทั้งบรรยากาศด้านกายภาพ บรรยากาศด้านวิชาการ และบรรยากาศด้านการบริหารจัดการ ที่คนผ่านเข้าไปสามารถสัมผัสได้ด้วยความรู้สึกของความน่าอยู่น่าเรียน จึงเป็นโรงเรียนต้นแบบที่โรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศต่างมาดูงานกันมากมาย
ตอนต่อไปจะบันทึกการไปประเทศลาว ครับ...
ไม่มีความเห็น