Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

รู้จักพระสงฆ์ และทำบุญ ณ วัดทองนพคุณ 2


“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเที่ยวจาริก เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ พวกเธออย่าได้ไปร่วมทางเดียวกันสองรูป จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ ครบบริบูรณ์ บริสุทธิ์”

วัดทองนพคุณเดิมเป็นวัดที่เน้นทางด้านการภาวนา ทั้งสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ดังขอให้สังเกตราชทินนามของอดีตเจ้าอาวาส เช่น พระญาณรังษี พระครูกสิณสังวร และพระสุธรรมสังวรเถร ฯลฯ   หอไตรของวัดทองนพคุณ  เกิดขึ้นในสมัยเมื่อวัดนี้หันมาเน้นทางด้านคันถธุระ ตอนปลายสมัยพระครูเหมนพคุณเป็นเจ้าอาวาส ในรัชกาลที่ ๖ ตอนที่พระสังฆรักษ์ (ชุ่ม) ย้ายจากวัดอนงค์มาบริหารงานแทนท่านพระครูเหมฯ เพราะท่านชรามากแล้ว และท่านพระสังฆรักษ์ (ชุ่ม) นี้แล ที่มาเริ่มบุกเบิกการพระปริยัติศึกษา ตามแนวทางของวัดอนงคาราม ซึ่งรับอิทธิพลมาจากสมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส แห่งวัดบวรนิเวศ

วัดทองนพคุณมีชื่อเสียงเกียรติคุณทางด้านการศึกษามานาน ดังบุคคลสำคัญๆ ที่มาเรียนภาษาไทยไปจากวัดนี้ บางท่านเป็นคนสำคัญในระดับชาติเอาเลย เช่น สมเด็จพระสังฆราช ( แพ ) วัดสุทัศน์ พระยาอุภัยพิพากษา ( เกลื่อน ชัยนาม ) พระยาสารสินสวามิภักดิ์ (เทียนเลี้ยง สารสิน) เป็นต้น

เมื่อพระสังฆรักษ์ (ชุ่ม) ได้เป็นเจ้าอาวาสนั้น ท่านได้เป็นพระครูวิเศษศีลคุณ แล้วได้เป็นพระสังวรวิมล จนได้เป็นพระเทพวิมลในที่สุด แม้ท่านจะไม่ได้เป็นเปรียญ แต่ท่านก็เป็นผู้บุกเบิกทางด้านการพระปริยัติศึกษาของวัดนี้ โดยที่ท่านเองก็เคยไปเรียนภาษาบาลี ที่สำนักสมเด็จพระวันรัต ( เฮง ) วัดมหาธาตุด้วย แม้ท่านจะเกิดปีเดียวกันก็ตาม องค์ท่านเองก็เตรียมสองเปรียญ หากปีนั้นในหลวงรัชกาลที่ ๕ สวรรคต สนามหลวงงดสอบเปรียญ ท่านจึงพลาดโอกาสไป แต่คณะสงฆ์ก็ทราบถึงความสามารถของท่าน จึงยกให้ท่านเป็นเปรียญ ๔ ประโยค เป็นอย่างกิตติมศักดิ์ ทั้งท่านยังแนะให้ท่านล้อม เหมชะญาติไปขอพระเปรียญจากวัดมหาธาตุมาช่วยสอนภาษาบาลีที่วัดทองนพคุณอีกด้วย คือ พระมหาป่วน ซึ่งเมื่อลาสิกขาแล้ว ได้เป็นหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ โดยที่เมื่อท่านล้อมสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมหลังแรกให้วัดนั้น เจ้าคุณสมเด็จแห่งวัดมหาธาตุ ก็ตั้งชื่อให้ว่าโรงเรียนล้อมวิทยาประสิทธิ์อีกด้วย

พระมหาอิ๋น สัตยากรณ์ได้เป็นเปรียญรูปแรกของวัดทองนพคุณ ทั้งยังได้เป็นเปรียญเอกอุ ๙ ประโยคเป็นรูปแรกอีกด้วย ดังต่อมาท่านได้เป็นผู้ครองพระอารามต่อจากเจ้าคุณพระเทพวิมล พระมหาอิ๋นได้เป็นพระราชาคณะ ในราชทินนามว่าพระภัทรมุนีจนตลอดชนม์ชีพ แม้จะได้เลื่อนขึ้นเป็นชั้นเทพแล้วก็ตาม

สำหรับพระมหากี มารชิโนนั้น ก็ได้เป็นเปรียญเอกอุ ๙ ประโยครูปที่สองของวัดนี้ และได้ครองพระอารามสืบต่อจากท่านเจ้าคุณพระภัทรมุนี โดยได้รับสมณศักดิ์ด้วยการเปลี่ยนราชทินนามมาทุกขั้นตอน แต่แรกเป็นพระกิตติสารโสภณ และเลื่อนเป็นพระราชเวที พระเทพเมธี และพระธรรมเจดีย์ในที่สุด

การปริยัติศึกษาของวัดนี้ มีชื่อลือชาสูงสุด แต่สมัยที่พระมหากี ป . ๙ ทุ่มเทชีวิตและจิตใจให้กับศิษยานุศิษย์ จนท่านสามารถสอนให้ลูกศิษย์ท่านได้เป็นสามเณรเปรียญ ๙ เป็นรูปแรกในรัชกาลปัจจุบัน และเป็นรูปแรกแต่เกิดการสอบแบบข้อเขียนแทนการสอบปากเปล่าดังแต่ก่อน ใช่แต่เท่านั้น ศิษย์ของท่านที่สอบได้เป็นเปรียญเอกอุนั้นมีถึง ๔๕ รูป เท่ากับปีที่พระบรมศาสดาทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์ นับได้ว่าไม่มีใครเทียบเท่า ดังศิษย์ของท่านที่ยังบริหารการพระศาสนาในระดับสูงก็ยังมีอยู่ในปัจจุบัน

ที่สำคัญในปัจจุบัน  วัดทองนพคุณ คณะ ๗  ยังเป็นที่ตั้งของศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมเพื่อพัฒนาสังคม โดยมีพระครูวิสุทธินพคุณ (กรณ์ ปญญาวโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ  เป็นประธานศูนย์ โดยรวบรวมกำลังสมาชิกพระสงฆ์อาสาไปดำเนินการโครงการต่าง ๆ  ตามเจตนารมณ์ที่ได้จัดตั้งศูนย์ขึ้น คือ เพื่อเผยแผ่หลักพุทธธรรมในสถานศึกษาและหน่วยงานทั่วไป  มุ่งเน้นให้นักเรียนนักศึกษาและประชาชนทั่วไปมีความรู้ความเข้าใจในหลักพุทธธรรม  ขนบธรรมเนียม  ประเพณี  วัฒนธรรม  ระเบียบปฏิบัติของชาวพุทธ และสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง  เพื่อจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการปลูกฝังศีลธรรมคุณธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์แก่นักเรียนนักศึกษา และประชาชนทั่วไป   ให้รู้จักรับผิดชอบต่อตนเอง และบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม

ในการเผยแผ่ธรรมนั้น  ทางศูนย์พระสงฆ์  ยังต้องการสมาชิกที่มีจิตอาสาอีกมาก ทั้งภิกษุ  สามเณร  อุบาสก อุบาสิกา เข้ามาร่วมงานเผยแผ่ธรรมเพื่อพัฒนาสังคมด้วยกัน

เพราะในปัจจุบัน ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมเพื่อพัฒนาสังคม ได้จัดรายการธรรม 2 รายการ คือ รายการรู้ ตื่น เบิกบานและรายการศีลธรรมศึกษา  พัฒนาชีวิตยั่งยืน  ทางสถานีโทรทัศน์โลกพระพุทธศาสนา เฉลิมพระเกียรติ วัดยานนาวา  เพื่อเทิดทูนสถาบันชาติ  พระพุทธศาสนา และพระมหากษัตริย์  เพื่อสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาแก่พุทธศาสนิกชน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและปฏิบัติตนตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา

หากเพื่อนๆท่านใด  สนใจที่จะเข้ามาช่วยงานทางด้านเผยแผ่ธรรม  เพื่อตอบแทนพระคุณขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า 

หรือสนใจเรียนธรรมศึกษาและประสงค์จะเข้าสอบธรรมศึกษาสนามหลวงกับทางศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมเพื่อพัฒนาสังคม 

หรือต้องการทำบุญ  ถวายสังฆทาน  ถวายภัตตาหาร

หรือต้องการสนับสนุนรายการธรรมเพื่อพัฒนาสังคม

ขอเชิญติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่

ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมเพื่อพัฒนาสังคม

วัดทองนพคุณ คณะ ๗

ถนนสมเด็จเจ้าพระยา แขวงคลองสาน

เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร ๑๐๖๐๐
โทร. ๐ ๒๔๓๗ ๒๒๖๘
, ๐๘๑-๙๔๖-๖๘๘๑, โทรสาร ๐ ๒๔๓๘ ๘๙๗๓

หรืออีเมลล์ด้านล่างนี้ได้เลยน่ะค่ะ  

[email protected]

 

ขออนุโมทนาบุญกับเพื่อนๆทุกคนด้วยนะคะ

 

บุญรักษา  ธรรมคุ้มครองค่ะ

หมายเลขบันทึก: 314913เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2009 17:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 09:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่าน


ความเห็น
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

สำนวนนี้คุ้นมากเลยเห็นจะเป็นข้อเขียนอาจารย์สุลักษณ์

สามเณรเปรียญ ๙ รูปแรกในรัชการปัจจุบันคือราชบัณฑิตนั่นเอง

ผิดแล้วครับท่านมหาแลอาจารย์สุลักษณ์บวชเป็นแค่สามเณรพรรษาเดียวครับ แต่ที่เป็นสามเณรรูปแรกที่สอบได้ในราชการปัจจุบันคือ อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก ครับ ที่อยู่วัดทองนพคุณครับ จากมหาวชิร วัดทองนพคุณครับ

ขอบพระคุณมากๆนะคะ ที่พระอาจารย์ทั้ง 2 เมตตาให้ความคิดเห็น

เนื้อหาส่วนหนึ่งได้มาจากการค้นคว้าทางอินเตอร์เนตค่ะ

เนื่องจากโยมเป็นผู้หญิง จึงไม่สามารถรู้เรื่องต่างๆในวัดได้ดีเท่าพระสงฆ์และสามเณรที่อยู่ในวัด

โยมเป็นคนนอกก็แนะนำวัดทองนพคุณหรือวัดอื่นๆ ด้วยสายตาของคนนอกที่ผ่านไปในวัด

ได้มีโอกาสไหว้พระ ฟังธรรม ทำบุญ ถวายสังฆทาน แล้วนำมาบอกต่อค่ะท่าน

ได้อ่าน ได้รู้ ได้เห็น จึงนำมาแนะนำญาติโยมค่ะ เผื่อใครมีโอกาสจะได้แวะไปทำบุญกันค่ะ

ไม่ได้มีเจตนาอื่นใด นอกจากตั้งใจจะชวนเพื่อนๆในโลกอินเตอร์เนท ไปทำบุญด้วยกันค่ะ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ขออนุโมทนาขอบคุณคุณแพรภัทรที่ได้ช่วยเผยแผ่ธรรมทางอินเตอร์เน็ต ขอให้บุญรักษา

ขอบคุณท่านมหาวชิระอย่างมากนะครับที่ได้ให้รายละเอียดเกียวกับเรื่องอาจารย์ ส.ศ.ษ.และอาจารย์ไต้ตามทาง

อันที่จริงผมเองสื่อสารคลุมเครือไปหน่อยหนึ่งครับทำให้ผู้อ่านเข้าใจไปแบบนั้น

ประโยคนี้"สำนวนนี้คุ้นมากเลยเห็นจะเป็นข้อเขียนอาจารย์สุลักษณ์" ผมหมายถึงข้อเขียนอาจารย์ ส.ศ.ษ.(ปัญญาชนสยาม)

ส่วนประโยคนี้"สามเณรเปรียญ ๙ รูปแรกในรัชการปัจจุบันคือราชบัณฑิตนั่นเอง" ผมหมายถึงอาจารย์ไต้ตามทาง(ราชบัณฑิต)ครับ

ขอบคุณอีกครั้งนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท