ท.ณเมืองกาฬ
นาย ทรงศักดิ์ พิราบขาว ภูเก้าแก้ว

การฟังอย่างมีมารยาท


รับรู้

                                   

                          ทักษะการฟัง

         

                     ความสำคัญของการฟัง

               ในชีวิตประจำวันของคนเรา  ต้องฟังเรื่องราวต่างๆ  ที่อยู่รอบตัวเราตลอดเวลา ทั้งเรื่องราวของตัวเองและผู้อื่น การฟังเป็นการสื่อสารที่ช่วยให้รับรู้เรื่องราวต่างๆ   เกิดความเข้าใจเรื่องราว แล้วนำไปปฏิบัติหรือถ่ายทอดเรื่องราวที่ได้ฟังให้ผู้อื่นทราบได้ตรงตามเรื่องราวที่ได้ฟัง

           การฟังกับการได้ยินมีความแตกต่างกัน การได้ยินเป็นการฟังเสียงของผู้พูด เมื่อเสียงผ่านหู กระดูกหูซึ่งอยู่ในช่องหู จะทำหน้าที่รับเสียงผ่านไปยังสมองเกิดการรับรู้  เป็นการได้ยินเสียง  ยังไม่เป็นการฟัง เพราะยังไม่มีการตีความ แปลความเสียง ที่ได้ยินให้เกิดความเข้าใจและเกิดการสนองตอบเป็นการรับรู้เรื่องราวที่ได้ฟัง การฟังจะเกิดขึ้นได้ ผู้ฟังจะต้องมีสมาธิหรือมีจิตใจจดจ่ออยู่กับเรื่องที่ฟัง  นำประสบการณ์เดิมมาเชื่อมโยงกับเรื่องที่ฟัง เพื่อวิเคราะห์  ตีความ แปลความ และประเมินค่าสิ่งที่ได้ฟังเป็นการรับรู้เรื่องราว  ดังนั้น การได้ยินอาจจะได้ยินเสียง  แต่ไม่เกิดการรับรู้เพราะขาดการวิเคราะห์ ตีความ  แปลความและประเมินค่าสิ่งที่ฟัง ทำให้เกิดการรับรู้เรื่องราว...

               ซึ่งในชีวิตจริงของคนเรา จะใช้การฟังมากกว่าการพูด การอ่านและการเขียนเสมอ

                               ประโยชน์ของการฟัง

                   ประโยชน์ส่วนตน

๑. ฟังเพื่อเป็นเครื่องมือของการเรียน  ผู้ที่เรียนหนังสือได้ดีต้องมีการฟังที่ดีด้วย 

๒. การฟังช่วยให้ผู้ฟังพัฒนาความสามารถในการพูด การอ่านและการเขียนและยังช่วยพัฒนาความสามารถในการใช้ภาษาด้วย

๓. การฟังช่วยปูพื้นฐานความคิดที่ดีให้กับผู้ฟังด้วย

๔. การฟังช่วยให้ผู้ฟังมีมารยาทในการฟังด้วย

                  ประโยชน์ทางสังคม

๑. การฟังทำให้เกิดความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง เช่นการฟังประกาศต่างๆ

๒. การฟังช่วยทำให้ผู้ฟังประพฤติดีปฏิบัติชอบ ทำให้สังคมเป็นสุข

 

                  วิธีการพัฒนาสมรรถภาพการฟัง

             

              การฟังจะต้องได้รับการฝึกฝนจึงจะทำให้มีสมรรถภาพการฟัง  ขั้นแรกจะต้องฝึกฟังสิ่งที่ง่ายและสนุกสนานเพลิดเพลินก่อน  แล้วจึงฝึกฟังเรื่องที่ยากและซับซ้อนขึ้น  การฟังที่มีสมรรถภาพนั้น  ผู้ฟัง จะต้องหมั่นเพิ่มเติมประสบการณ์จากการอ่านหนังสือต่างๆให้มีความรู้กว้างขวาง  จะได้นำประสบการณ์จากการอ่านมาเป็นพื้นฐานในการฟัง  จะช่วยให้ฟังได้เข้าใจง่ายขึ้น   นอกจากนั้นควรศึกษาความรู้เกี่ยวกับภาษาโดยเฉพาะคำศัพท์ต่างๆ ควรรู้ความหมายตลอดจนต้องมีความเข้าใจสำนวนโวหาร จึงจะทำให้ฟังเรื่องราวต่างๆได้เข้าใจยิ่งขึ้น

                         วิธีการพัฒนาสมรรถภาพการฟัง

๑.  สร้างความสนใจและความต้องการที่จะฟัง

๒.  ฟังด้วยความตั้งใจ

๓.  จับใจความสำคัญของเรื่องและคิดวิเคราะห์วิจารณ์เรื่องราวที่ฟัง

๔.  จดบันทึกเรื่องที่ฟังเป็นหัวข้อหรือใจความสั้นๆ ที่เป็นประเดนสำคัญในขณะฟัง แล้วจึงนำไปเรียบเรียงใหม่ภายหลังเป็นการขยายใจความให้สัมพันธ์ต่อเนื่องกัน

                       มารยาทการฟัง

                     มารยาทการฟังเป็นเรื่องสำคัญ  เพราะนอกจากจะทำให้ผู้ฟังเป็นผู้มีมารยาทในการเข้าสังคมแล้ว   ยังทำให้การฟังมีประสิทธิภาพอีกด้วยไม่ว่าจะฟังคู่สนทนา หรือฟังการประชุม

            ๑.  มารยาทในการฟังทั่วไป

-   ฟังด้วยความตั้งใจและมีสมาธิในการฟัง

-   แสดงความสนใจต่อเรื่องที่ฟังและต่อผู้พูด ตาควรมองผู้พูด ไม่คุยกับผู้อื่นเวลาฟัง

-   ฟังด้วยความอดทน แม้จะมีความคิดเห็นขัดแย้ง

-   ไม่พูดสอดแทรกขณะที่ฟัง ควรฟังให้จบก่อน ค่อยซักถาม หรือแสดงความคิดเห็น

-   ไม่หัวเราะเสียงดัง หรือกระทืบเท้า  เป่าปาก แสดงความพอใจ

-    เมื่อจะซักถามต้องเลือกโอกาสที่ผู้พูดเปิดโอกาสให้ซักถาม

-    ไม่แสดงกิริยาก้าวร้าว เบื่อหน่าย  หรือลุกออกจากที่นั่งโดยไม่จำเป็นขณะฟังการพูด

-    เมื่อฟังผู้ใหญ่พูดต้องอยู่ในอาการสำรวม

            ๒.    มารยาทการฟังในที่ประชุม

-    ปรบมือให้เกียรติเมื่อพิธีกรแนะนำผู้พูด และปรบมือให้แก่ผู้พูด เมื่อผู้พูดพูดถูกใจ  หรือพูดจบลง

-    ระหว่างที่ผู้พูดกำลังพูด ผู้ฟังควรรักษาความสงบ ไม่ให้เสียงรบกวน หรือพูดคุยกัน และลุกเดินไปมาโดยไม่จำเป็น

-    ไม่รบกวนผู้อื่นโดยเคาะโต๊ะ  สั่นขา หรือรับประทานอาหาร  ในที่ประชุม

-     สำรวมกิริยาอาการแม้จะไม่สบอารมณ์ก็ไม่ส่งเสียงโห่ฮา

-    การซักถามผู้พูดควรปฏิบัติดังนี้

-    ซักถามเมื่อผู้พูดเปิดโอกาสให้ซักถาม

-    ยกมือขึ้นขออนุญาต  หรือแสดงความประสงค์ในการซักถาม

-    ถามด้วยถ้อยคำสุภาพ

                                 -     ใช้คำถามสั้นๆเข้าใจง่าย

                                 -      ไม่ถามนอกเรื่อง

                                 -       ถามด้วยเสียงดัง  ฟังชัด แต่ไม่ใช่ตะโกน ...   

 

     หวังว่าข้อมูลที่นำแสนอ คงจะเกิดประโยชน์ กับผู้ที่สนใจได้บ้างนะครับ

                                                                                                   

                                                                                              

หมายเลขบันทึก: 314912เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2009 17:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 16:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณมากคะ ได้ประโยขน์มากจริงคะ

ต่อไปจะได้ฟังได้อย่างมีความสุข

หายป่วยหรือยังคะ

  • ขอบคุณมากๆครับคุณหมอ ประกาย
  • ที่แวะมาเยี่ยม  ถามทุกข์สุข และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
  • ทุกวันนี้ก็คิดว่าสุขภาพ กาย ใจ คงปกติแล้วครับคุณหมอ
  • มีความสุขกับวันศุกร์นะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท