ประสบการณ์สอนนักศึกษาต่างแดน


วันนี้รู้สึกว่างงานเป็นพิเศษเลยอยากเล่าเกี่ยวกับการที่ได้มีโอกาสไปสอนและเป็นวิทยากรที่ประเทศอื่นๆบ้าง ที่แรกคือที่ สปป ลาว พอดีทาง อ.ชวลิตได้รับเชิญจากองค์การอนามัยโลกให้ไปช่วยทำหลักสูตรรังสีเทคนิคที่ประเทศลาว ทางอ.ชวลิตจึงมาขอให้ผมกับ อ.มานัสไปช่วยสอน ในปีแรก (ธ.ค. 2548) ผมรับสอนวิชา radiation protection และ radiation physics ซึ่งก่อนไปนี่รู้สึกมึนเล็กน้อยว่าจะสอนเขารู้เรื่องไหม ปรกติเด็กไทยก็ฟังเราไม่ค่อยจะรู้เรื่อง นี่ไปลาวจะไหวไหมนี่พอคิดได้ก็เอ เอาไงดี เลยลองหา textbook ที่ simple ที่สุดแล้วเอาไฟล์สอน radiation protection ที่ได้จาก IAEA มาดัดแปลงดู

วันแรกที่บินไปถึงรู้สึกดีใจมาก คือจริงๆตัวเองมีเชื้อสายลาวเวียงจันทน์มาจากทางคุณยาย ที่บรรพบุรุษมาอยู่ที่สยามสมัยรัชกาลที่ 3 พอได้ไปบ้านเมืองของบรรพบุรุษอีกสาแหรก (นอกจากที่เมืองจีน) เลยดีใจเป็นพิเศษ วันแรกก็ไปพบกับนักเรียน นัดแนะกันก่อนว่าจะเรียนกันอย่างไร ปรากฏว่า นักเรียนทั้งชั้นไม่มีใครเด็กกว่าเราเลย

นักศึกษารังสีเทคนิคลาวรุ่น 1วิทยาลัยสาธารณสุข สปป ลาว

vientaineThatLuang

พอถึงเวลาสอนสนุกมาก คือว่า powerpoint ที่ทำไปไม่ได้ใช้เลยเนื่องจากนักเรียนอ่านภาษาอังกฤษไม่ออก คนสอนเลยต้องทำการเขียนกระดาน ตั้งแต่เช้า จรดเย็น แถมเขียนภาษาไทย ต้องตัวบรรจง ไม่งั้นนักเรียนอ่านไม่ออกเนื่องจากตัวเขียนต่างกัน และภาษาลาวไม่มีควบกล้ำ ไม่มี ร เรือ เขียนไปต้องอ่านไปช้าๆ กว่าจะจบ photoelectric effect ใช้เวลา ครึ่งวัน วันแรกสอนเสร็จเลยต้องไปสปา (spa) ที่เวียงจันทน์สปาเขาดีมาก แถมถูกกว่า กรุงเทพเสียอีก เลยเข้าสปาแทบทุกวันจนผิวดีไปหมด

จากนั้นอีก 2 สัปดาห์ การเรียนการสอนก็ราบรื่นขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากคุ้นเคยกับนักเรียน ดีที่เอา computer notebook ไปด้วย เวลานักเรียนเบื่อก็เปิดรูปที่ไปเที่ยวที่ต่างๆให้ดู บางทีก็แอบเมาท์นักเรียนไทยว่า ชอบโดด ชอบหลับ ประมาณนั้น จากสิ่งที่ได้พบเห็นก็คือว่าทางลาวยังขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างมาก อีกอย่างคือพื้นฐานของนักเรียนยังไม่ค่อยดีนัก เมื่อเทียบกับบ้านเรา ทั้งนี้อาจเนื่องมาจาดนักเรียนรุ่นแรกเป็นพวกที่อายุค่อนข้างมาก ทำงานมานานแล้ว คงต้องลองดูรุ่นหน้าที่เขาจะรับเด็กจบ ม. 6 เข้ามาเรียนดู หากเขายังเชิญไปสอนอีก

เวียงจันทน์เป็นเมืองที่สงบ น่ารักมาก ผู้คนก็ดี เสียอย่างเดียวของแพง ขนาดก๋วยเตี๋ยวร้านธรรมดาชามละ 50-60 บาท เงินเดือนคนที่นั้นก็แค่สัก 2000 เขาจึงอยู่อย่างลำบาก แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือความรู้สึกดีๆ ที่ครั้งแรกในชีวิตที่รู้สึกตัวว่าเราเป็นครู

อีกที่ที่ได้ไปสอนนี่คนละโลกเลยครับ คือที่ไต้หวัน คือไต้หวันหากนับเขาเป็นประเทศ ประเทศเขาพัฒนาแล้ว ที่ไปไต้หวันนี่เดือน ก.พ.  49 นีเอง พอดีไปงานแต่งงานของเพื่อนชาวไต้หวันที่เรียนด้วยกันมาสมัยอยู่อเมริกา เพื่อนอีกคนที่เป็นอาจารย์อยู่ที่ มหาวิทยาลัยฉางเกิง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำที่เปิดสอนสาขารังสีเทคนิคเชิญไปบรรยาย ฉางเกิงนี่ใหญ่มากเป็นเข้าของธุรกิจมากมาย เช่นสายการบินอีว่า และ โรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวันที่ทันสมัยมากๆ เอกซเรย์นี่เป็น DR หมดเลย อาจารย์ที่สอนก็จบปริญญาเอกจากอังกฤษ อเมริกา กันทุกคน เห็นแล้วน่าอิจฉามาก โดยเฉพาะเงินเดือนอาจารย์ที่นั่นซึ่งสูงมาก รวมทั้งบรรยากาศการทำวิจัยที่ดีมากเช่นกัน

classroom Taipeilab taipeitaipeitanshui

เรื่องที่ได้รับเชิญไปพูดคือเรื่องหากิน เอ้ยย เรื่องเกี่ยวกับการปรับปริมาณรังสีให้เหมาะสมในการทำ CT scan พอดีตัวเองพูดภาษาจีนกลางได้บ้าง 2-3 ประโยคแรกที่บรรยายเลยส่งภาษาไปทำให้นักเรียนยิ้มดีใจ เนื่องจากภาษาอังกฤษของเด็กนักเรียนไต้หวันไม่ได้ดีไปกว่าเด็กเราเลย พอหมดภูมิภาษาจีนกลางเลยกลายเป็นภาษาอังกฤษ เด็กเลยเหวอไปบ้างจนเราต้องพูดช้าๆ เด็กนักเรียนที่นั่นคล้ายๆกับเด็กเรา ต่างที่เขาไม่ต้องแต่งชุดนักศึกษา เลยแต่งตัวกันเดิร์นมาก อาจารย์ที่นั่นเข้าฟังบรรยายกันหลายคนก็สนใจกันดี อยากหาทางทำงานร่วมกัน เลยกะว่าจะเชิญมาสอนที่บ้ายเราบ้าง สิ่งที่ไต้หวีนต่างจากเราคือสภาพบรรยากาศการทำงาน นักรังสีเทคนิคที่นั่นรายได้ค่อนข้างดี นักเรียนจบมาก็ทำงานโรงพยาบาลกันเสียส่วนใหญ่ อีกอย่างคืองบวิจัยของเขาเยอะ อาจารย์ไม่ต้องดิ้นรนมาก อย่างบ้านเราเงินเดือนเหลือขอเหลือเกิน ยังจะให้ทำวิจัยมากๆ งบไม่มี (เอ บ่นไปทำไมนี่) ที่นั่นเพื่อนผมกลับไปทำ clinical residency ที่ MD Anderson Cancer Center, TX จนที่นั่นชวนเป็นอาจารย์ยังไม่อยู่ กลับมาไต้หวัน เพราะสภาพชีวิตดีกว่าอเมริกาเสียอีก (ขอแอบบอกว่าเพื่อนเงินเดือนเกือบสามแสน ก๋วยเตี๋ยวที่นั่นชามละ 50 บาท รถ Toyota Altis แค่หกแสนอยู่อย่างสบาย อาจารย์ได้สิทธิเช่าบ้านสามห้องนอนแค่เดือนละหมื่นห้า) เอ้อออ เลิกบ่นดีกว่านะ เอาเป็นว่าคราวหน้าจะมาเล่าเรื่องไปทำงานที่มาเลเซียละกัน
<p> </p>

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 31458เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2006 01:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอบคุณอาจาร์ยมากครับที่นำเอาประสบการณ์ในต่างแดนมาเล่าสู่กันฟัง อยากทราบว่าถ้าอยากไปทำงานที่ต่างประเทศ (อเมริกา ไต้หวัน ) เขาจะรับนักรังสีไทยหรือไม่ครับ

เรียนอาจารย์โอ๊ป ชวนท่านชวลิต เปิด Blog หน่อยครับ ท่านมี Tacit Knowledge มากมาย มาแบ่งปันกันบ้าง ท่านมนัส ก็เปิดแล้วครับ

ถ้ารังสีเทคนิคไทยจะไปทำงานต่างประเทศ คงต้องไปสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพที่ประเทศนั้นๆครับ ไม่น่ายาก หากภาษาเราดี จริงๆเราเรียนยากกว่ารังสีเทคนิคที่อเมริกาเสียอีก ส่วนไต้หวันต้องสอบภาษาจีนครับ

สำหรับ อ.ชวลิต เปิดบล้อคไว้จะบอกท่านให้นะครับ

เรียนอาจารย์โอ๊บ

 ตอนนี้หลักสูตร ป.ตรี ภาษาอังกฤษ ๑๒ หน่วย น่าจะทำให้ภาษาต่างประเทศดีขึ้นครับ

ผมก็หวังอย่างนั้นอ่ะครับอาจารย์ เรียนเยอะแยะ แต่ทำไมพูดไม่ได้ ฟังไม่ออก แถมเขียนไม่เป็นอีก คงต้องปรับระบบการสอนภาษาครับ

ยิ่งตอนนี้หลักสูตร ป โท ที่มหิดลให้เปิดแต่นานาชาติ เด็กรังสีเห็นคำว่า inter ปุ๊บ วิ่งหนีกันหมดครับ

 

สวัสดีครับ พี่โอ๊ป,

 

 ถ้าจำไม่ผิด ใน USA จะรับเด็กที่จบป.ตรี ไม่แน่ใจว่าจำกัดเฉพาะสายวิทยาศาสตร์หรือเปล่านะครับ เพราะเคยเจอทั้งพวกจบกฏหมาย จบบัญชี แล้วมาเรียน 1 ปี พร้อมฝึกงาน แล้วก็สอบเอา ใบอณุญาติ ก็จะเป็นนักรังสีเทคนิคได้เลย ถ้าสอบไม่ผ่านก็รอสอบรอบใหม่เอา ไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปหรือยัง

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท