TU LIBS
นาง ศรีจันทร์ จันทร์ชีวะ

IATUL E-science Seminar ที่ Hong Kong Polytechnic University


งานวิจัยกับห้องสมุด

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2552 ได้รับคำเชิญจาก Mr.Choy Fatt Cheong ผู้อำนวยการห้องสมุด Nanyang Technological University ให้เข้าร่วมประชุม e-science seminar ของ IATUL (International Association of Scientific & Technological University Libraries <http:www.iatul.org>) ที่ฮ่องกง เป็นการสัมนาวันเดียวเพื่อพบปะและแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับบทบาทของห้องสมุดกับการสนับสนุนและส่งเสริมงานวิจัยสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ก่อนได้รับคำเชิญนี้ Reiner (Dr.Reiner Kallenborn) หนึ่งในพันธมิตรอีกคนของสำนักหอสมุดได้เชิญอย่างไม่เป็นทางการมาก่อนหน้านี้แล้วเพราะ Reiner เป็นหนึ่งใน speaker ในการสัมมนาครั้งนี้ด้วย

การสัมมนาครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง IATUL, Nanyang และ Hong Kong Polytechnic University โดยแบ่งความรับผิดชอบเป็นสามส่วน คือ IATUL รับผิดชอบเกี่ยวกับวิทยากร, Nanyang ดูแลเกี่ยวกับการแจ้งข่าว, เชิญชวนเข้าร่วมสัมมนาและ HKPU ดูแลเรื่องสถานที่ อาหารกลางวัน การดูงาน

ขอเล่าตั้งแต่เริ่มตกลงจะไปร่วมสัมมนาว่าได้ตอบรับเข้าร่วมในหน้าเว็บการประชุมและได้รับเมล์ตอบรับในวันรุ่งขึ้นโดยบรรณารักษ์ของ Nanyang หลังจากนั้นได้เริ่มสอบราคาตั๋วเครื่องบินที่ประหยัดที่สุด พบว่าการบินไทยเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดด้วยราคา และเวลา ขั้นต่อมาคือที่พัก ผู้จัดการประชุมเสนอให้หลายแห่งแต่ผู้เข้าประชุมส่วนใหญ่จะพักที่ Park Hotel ซึ่งไม่ไกลจาก HKPU สามารถเดินไปได้สะดวก

กำหนดการก่อนวันสัมมนาจะมีการไปดูงานห้องสมุดเซินเจิ้นในวันเสาร์ที่ 14 พ.ย.52 แต่ไม่ได้ไปในวันนั้นเพราะจะต้องเดินทางตั้งแต่วันศุกร์ที่ 13 ซึ่งมีประชุมที่นัดไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว ไปถึงฮ่องกงวันเสาร์บ่าย ช้ากว่ากำหนดเวลาเดิมไปหนึ่งชั่วโมงเพราะ Flight delayed 1 ชั่วโมงที่สุวรรณภูมิ

ฮ่องกงในวันนั้นอากาศเริ่มเย็นประมาณ 17 องศาเซลเซียส เช้าวันจันทร์เดินไป HKPU ประมาณ 10 นาที เริ่มลงทะเบียนหน้าห้องประชุม 1603 ชั้น 16 ของตึก Li Ka Shing เวลา 8.45 น. ประมาณ 9 โมงเป็นการกล่าวต้อนรับโดย Mr.Steve O'Connor ผู้อำนวยการห้องสมุด HKPU และกล่าวแนะนำการสัมมนาโดย Ms.Maria Heijne ประธาน IATUL

Maria เล่าให้ฟังว่า IATUL ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.1955 เพื่อเป็นเวทีแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความรู้ของบรรณารักษ์ในห้องสมุดสาขาเทคโนโลยีทั่วโลก ปัจจุบันมีสมาชิกใน ประเทศต่าง ๆ ประมาณ 50 ประเทศ มีกิจกรรมหลักคือการประชุมสามัญประจำปีและการประชุมย่อยทุก ๆ สองปี มีการนำเสนอความรู้ใหม่ ๆ บนหน้าเว็บ IATUL เป็นประจำ โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ มีโครงการ Twinning Initiative ซึ่งสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้กับ NTU & Technical University of Munich

ต่อมาเป็นการบรรยายของ Prof.Tsoi รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาสถาบันของ Hong Kong Baptist University บรรยายเกี่ยวกับการวิจัยและห้องสมุด โดยสรุปท่านบอกว่าห้องสมุดต้องปรับตัวให้สามารถเต้นไปตามจังหวะของพัฒนาการใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ให้ได้ ห้องสมุดในฐานะของผู้ดูแลรักษาข้อมูลในโลกอิเล็กทรอนิกส์จะต้องสามารถรักษารูปแบบเดิมของงานบริการคือการจัดหา จำแนก จัดเก็บ ให้บริการข้อมูลไปพร้อม ๆ กับสามารถรับรองคุณภาพและความถูกต้องของข้อมูล ห้องสมุดควรตระหนักถึงความสำคัญของความจำเป็นในการลงทุนเพื่อนวัตกรรม หลังการบรรยายมีคำถามว่า ทำอย่างไรบรรณารักษ์ถึงจะทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อนักวิจัยได้มากขึ้น นี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเกือบทุกแห่งทั่วโลก เป็นวิธีการที่ค่อนข้างจะยากสำหรับบรรณารักษ์ในการก้าวไปร่วมกับโลกของนักวิจัย Prof.Tsoi ตอบว่า ข้อมูลคือแรงขับที่สำคัญโดยเฉพาะข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ท่านยกตัวอย่างตัวท่านเองที่จำเป็นต้องค้นหาข้อมูลและค้นไม่พบ ต้องขอความช่วยเหลือจากบรรณารักษ์จนได้ข้อมูลนั้นมา ท่านย้ำว่าห้องสมุดควรทำ marketing more เพื่อสื่อสารกับผู้ใช้ให้มากขึ้น สร้างความร่วมมือระหว่างบรรณารักษ์เพื่อแสวงหาข้อมูลสนับสนุนผู้ใช้ให้ได้ในเวลาที่ผู้ใช้ต้องการข้อมูล

หลังจากนั้นเป็นการบรรยายของ Prof.Ainslie Dewe ในเรื่องพัฒนาการของ E-Science ในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์  การบรรยายเกี่ยวกับออสเตรเลียเป็นความร่วมมือในรูปแบบที่ได้รับทราบเมื่อครั้งเดินทางไปดูงานห้องสมุดออสเตรเลีย ส่วนของนิวซีแลนด์เป็นพัฒนาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เช่น KRIS = Kiwi Research Information Service ที่มีหน้าที่จัดเตรียมข้อมูลงานวิจัยคุณภาพให้บริการ กับ KAREN = Kiwi Advanced Research & Education Network ที่เป็นศูนย์รวมบริการข้อมูลของนิวซีแลนด์

ระหว่างพักรับประทานอาหารว่าง ได้คุยกับ Peter Sidorko ผู้ช่วยของ Dr.Ferguson ที่ HKUL ได้สอบถามเรื่องการขนส่งหนังสือเพื่อบริการยืมระหว่างห้องสมุด Peter บอกว่ามีปัญหาบ้างเหมือนกันเรื่องเวลาที่ได้รับหนังสือเพราะบางครั้งห้องสมุดผู้ให้ยืมได้รับคำขอและเตรียมหนังสือไม่ทันกับเวลาที่รถวิ่งไปรับในวันนั้น ผู้ใช้อาจได้รับหนังสือหลังจากร้องขอแล้วสองถึงสามวันขึ้นอยู่กับห้องสมุดผู้ให้ยืม ได้เล่าให้ Peter ฟังว่าเรามีบริการแบบนี้เหมือนกันระหว่างศูนย์ต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย ถ้าเป็นต่างจังหวัดต้องใช้เวลานานขึ้น Peter บอกว่าการร่วมมือลักษณะนี้ขึ้นอยู่กับทัศนคติของบรรณารักษ์ในการไว้ใจกันและกันเป็นเบื้องต้น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานนี้แบ่งกันระหว่างห้องสมุดทั้งแปดแห่งที่ร่วมมือกันซึ่งก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนอาคารคลังหนังสือยังไม่คืบหน้าไปมากนัก ที่แน่ ๆ คือปี 2012 HKUL จะมีอาคารใหม่เป็น Leaning Commons ให้กลับมาเยี่ยมเขาในปีนั้นด้วย

การบรรยายต่อไปเป็นของ Reiner ที่ย้ำว่า e-research ทำให้มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันมากขึ้น ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้มาก ในเยอรมันก่อนปี 2004 เป็นความร่วมมือที่เรียกว่า UNICORE (Uniform Interface to Computing Resources) หลังปี 2004 เป็น D-GRID ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลสามร้อยล้านยูโรเพื่อดำเนินการ ปี 2005-2008 D-GRID มีผลงานสำคัญคือสร้าง toolkit for e-science ปี 2008 -2010 สร้างความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมหลัก ๆ  เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ของเยอรมัน ทำให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ เช่น Benz, BMW เข้าร่วมโครงการ สร้าง e-science services ให้โรงงานต่าง ๆ เป็นความพยายามสร้างความเชื่อมโยงของงานวิจัยที่ใช้จริงกับข้อมูลทางทฤษฎีที่มีในห้องสมุด

ต่อมาเป็นการบรรยายของ Mr.Louis Houle เรื่อง Cyberinfrastructure ในแคนาดา เล่าถึง "Above", "Below" และ "Middle" cyberinfrastructure ว่าเป็นรูปแบบที่ควรคำนึงเพื่อการให้บริการ กล่าวถึง Google Palimpsest ที่พยายามเก็บข้อมูลมหาศาลจากทุกสาขาวิชาให้บริการสาธารณะ เขาเล่าเพิ่มเติมอีกว่าในการศึกษาพบว่า ค่าใช้จ่ายเพื่อ R&D ของหลาย ๆ ประเทศมีนัยสำคัญที่น่าสนใจเช่น ในจีนหลังปี 1996 ค่าใช้จ่ายนี้สูงขึ้นกว่า 22% ในอเมริกา, ไต้หวันสูงขึ้น 3%, ส่วนในแคนาดาลดลงตั้งแต่ปี 2002 แสดงว่าทิศทางการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาเน้นในประเทศภูมิภาคนี้มากขึ้น Mr.Hould กล่าวแนะนำ Synergies ว่าเป็น A not-for-profit platform for the publication and the dissemination of research results in social sciences and humanities published in Canada ดูข้อมูลได้จาก www.synergiescanada.org ข้อมูลใน Synergies มาจากมหาวิทยาลัย 5 แห่งคือ Université de Montréal, University of New Brunswick, University of Toronto, University of Calgary, and Simon Fraser University ข้อมูลส่วนใหญ่เป็นข้อมูลฉบับเต็มและให้บริการทั่วไป

ระหว่างพักกลางวัน ได้พบกับMr.Amir Hussain bin Md.Ishak ผู้อำนวยการห้องสมุดมหาวิทยาลัย Putra Malaysia ถามถึงเรื่องจะมาดูงานศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทยซึ่งในเบื้องต้นนัดไว้ว่าจะเป็นวันที่ 8 ธันวาคม ท่านบอกว่าจะต้องขอเลื่อนไปก่อนเพราะวันนั้นท่านรัฐมนตรีจะมาเยี่ยมมหาวิทยาลัยเนื่องจากมหาวิทยาลัยได้รับโจทก์จากรัฐบาลว่าให้จัดทำ blueprint ของการมีศูนย์การอ้างอิงในมาเลย์เซียให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้และมีกำหนดการจะไปดูงานของ ISI ที่สิงคโปร์ด้วย

หลังอาหารกลางวันเป็นการเยี่ยมชมห้องสมุด HKPU ที่มีทั้งหมด 6 ชั้น ชั้นล่างสุดมี 24-hour study center ซึ่งก็คือ tutoring zone แบบที่หอสมุดป๋วย ฯ ได้จัดให้บริการไปแล้วแต่ที่ HKPU เปิดบริการ 24 ชั่วโมงโดยมีทางเข้าเฉพาะหลังห้องสมุดปิดบริการ ในห้องนี้มีโต๊ะกลมเป็นส่วนใหญ่ มีห้องเฉพาะกลุ่มให้บริการ มีผู้ใช้บริการแน่นขนัดกว่าส่วนอื่น ๆ ของห้องสมุด ทุกชั้นจะมีเครื่องถ่ายเอกสารหยอดเหรียญให้บริการ มีตู้รับคืนหนังสือ โดยรวมสภาพทั่วไปของห้องสมุดค่อนข้างเก่า มีการจัด workshops ให้ผู้ใช้เป็นการจัดกิจกรรม IL ด้วยเรื่องต่าง ๆ เป็นโปสเตอร์แผ่นเล็ก ๆ ปิดไว้ตามที่ต่าง ๆ ในห้องสมุด เช่นหน้าห้องถ่ายเอกสาร ในห้องน้ำ ฯลฯ

หลังการดูงานเป็นจบการสัมมนา ระหว่างทางเดินกลับโรงแรม ได้คุยกับ Lek Li Keng ผู้ช่วยของ Mr.Choy เรื่องความร่วมมือระหว่างธรรมศาสตร์กับ NTU ได้คุยกันว่าหากผู้ใช้ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับไทยที่ไม่สามารถค้นหาได้ ให้บอกมาจะช่วยดูให้ Lek ก็บอกว่าหากธรรมศาสตร์ต้องการความช่วยเหลือก็ให้บอกไปจะช่วยเหมือนกัน เป็นบรรยากาศความตกลงระหว่างทางที่ไม่จำเป็นต้องประกาศเพิ่มเติมจาก Declaration ที่ได้ทำไปแล้ว ที่ดีคือ ผู้ใช้จะสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการได้โดยความร่วมมือ ร่วมใจของบรรณารักษ์เพื่อนร่วมวิชาชีพนั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 314293เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2009 08:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 13:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท