แผลเท้าเบาหวาน..เหตุเพราะ..ก๋วยเตี๋ยว


ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไปมีโอกาสถูกตัดขาถึงร้อยละ 11 และผู้ที่เคยถูกตัดขาไปแล้วข้างหนึ่ง มีโอกาสถูกตัดขาอีกข้างหนึ่งภายใน 2 ปี ขอให้ดูแลเท้าของคุณให้ดี..ก่อนที่จะไม่มีเท้าให้ดูแลค่ะ

       การเกิดแผลที่เท้าเป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญและพบบ่อยในผู้ป่วยโรคเบาหวานโดยพบว่าผู้ป่วยเบาหวานเป็นแผลที่เท้ามากกว่าผู้ที่ไม่เป็นโรคเบาหวาน15-40 เท่าและผู้ที่เป็นโรคเบาหวานตั้งแต่ 25ปีขึ้นไปมีโอกาสถูกตัดขาถึงร้อยละ 11และผู้ที่เคยถูกตัดขาไปแล้วข้างหนึ่งมีโอกาสถูกตัดขาอีกข้างหนึ่งภายใน 2 ปีค่ะ (ปัทมา สุริต, 2550)

สาเหตุ/ปัจจัยของการเกิดแผลที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวาน 

       ผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจเกิดแผลที่เท้าได้จากหลายปัจจัยซึ่งสามารถสรุปได้ ดังนี้ค่ะ

               1.การเสื่อมของเส้นประสาทส่วนปลายเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดของการเกิดแผลที่เท้าในผู้ป่วยโรคเบาหวานโดยภาวะน้ำตาลในเลือดสูงจะทำลายหลอดเลือดที่ลำเลียงออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงเส้นประสาททำให้สารสื่อประสาทถูกทำลายส่งผลให้ระบบรับความรู้สึกผิดปกติทำให้การรับสัมผัสที่เท้าเสียไปคือ มีอาการชา ไม่รู้สึกต่อความเจ็บปวด ไม่รู้สึกต่อความร้อนหรือเย็นผิวหนังจะแห้งและแตกง่าย

กรณีตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งหลังจากซื้อก๋วยเตี๋ยวใส่ถุงจะกลับไปรับประทานที่บ้านแต่บังเอิญขณะขับรถกลับบ้านได้วางถุงก๋วยเตี๋ยวไว้ใกล้ๆเท้าตัวเองโดยไม่รู้สึกร้อน   กระทั่งกลับถึงบ้านจึงพบว่าบริเวณหลังเท้าบวมแดงและพุพองสุดท้ายจึงเป็นแผลดังภาพค่ะ

  

    2.การติดเชื้อการที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงทำให้ผู้ป่วยเบาหวานติดเชื้อได้ง่ายโดยเฉพาะเชื้อราส่วนมากมักจะเกิดที่เล็บเท้าทำให้เล็บกุดเข้าหรือบานออกเล็บแข็งแตกง่าย ทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานเป็นแผลที่เท้าในที่สุด

     3.การสวมใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม  เช่นรองเท้าแตะ ซึ่งเสี่ยงต่อการเหยียบของมีคม หรือถูกทิ่มตำทำให้เกิดแผลที่เท้าได้ง่าย รองเท้าบูทซึ่งภายในเปียกแฉะมีน้ำขังทำให้เท้าติดเชื้อราเรื้อรังและเป็นแผลที่เท้าในที่สุด

    4. ปัจจัยอื่นๆ เช่นควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ ขาดการออกกำลังกาย มีความดันโลหิตสูงสูบบุหรี่ ตามัว การเคลื่อนไหวไม่สะดวกทำให้เท้าถูกทิ่มตำได้ง่ายและบ่อยครั้ง

คำแนะนำในการดูแลเท้าสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน

    เพื่อป้องกันการเกิดแผลที่เท้าผู้ป่วยโรคเบาหวานและครอบครัวควรมีความรู้และสามารถปฏิบัติการดูแลเท้าได้อย่างถูกต้องครอบคลุม ดังนี้

1.การรักษาความสะอาดของผิวหนัง

       1.1ควรทำความสะอาดเท้าด้วยน้ำและสบู่ ทุกวัน

       1.2หลังทำความสะอาดเท้าควรเช็ดและซับเท้าให้แห้งโดยเฉพาะระหว่างซอกนิ้ว

      1.3ถ้าผิวหนังที่เท้าแห้งควรใช้ครีมหรือโลชั่นทาบางๆแต่ถ้าผิวหนังอับชื้นควรเช็ดให้แห้งแล้วใช้แป้งฝุ่นโรยบางๆ

     1.4 ไม่ควรให้เท้าเปียกน้ำเกิน 15นาทีเพราะอาจจะทำให้เท้าเปื่อยได้

     1.5 ไม่ควรใช้ขนแปรงที่แข็งขัดเท้า

2.การตรวจเท้าเพื่อค้นหาความผิดปกติ

      ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรตรวจเท้าทุกวันอย่างน้อยวันละ1 ครั้ง บริเวณหลังเท้า ฝ่าเท้าและส้นเท้าและซอกนิ้วเท้าเพื่อดูว่ามีอาการปวด บวมแดง ร้อน มีแผล มีรอยช้ำมีรอยแตกของผิวหนัง  มีแผลพุพองเป็นต้น

3.การป้องกันการเกิดแผลที่เท้า

      3.1การตัดเล็บควรตัดเล็บภายหลังการทำความสะอาดเท้าเพราะเล็บเท้าจะอ่อนนุ่มตัดเล็บด้วยความระมัดระวังไม่ควรแคะชอกเล็บและห้ามตัดตาปลาหรือจี้หูดด้วยตนเอง

      3.2 การสวมรองเท้าและถุงเท้าควรสวมถุงเท้าทุกครั้งเพื่อลดการเสียดสีที่เท้าและสวมรองเท้าที่ทำจากวัสดุที่นิ่มซับเหงื่อได้ดี  เช่น ผ้าฝ้ายและหุ้มปลายนิ้วเท้าได้ทุกนิ้วเพื่อป้องกันการกระแทกทิ่มแทงและเมื่อซื้อรองเท้าใหม่ต้องป้องกันปัญหารองเท้ากัด

      3.3หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดความร้อน เย็นเกินไปเช่นห้ามเอากระเป๋าน้ำร้อนวางบนเท้าของผู้ป่วยโรคเบาหวานเป็นอันขาด

4.การส่งเสริมการไหลเวียนของเลือดบริเวณเท้า

      4.1หลีกเลี่ยงการนั่งไขว่ห้างหรือนั่งยองๆเพราะจะทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก

      4.2 ในที่มีอากาศหนาว เย็นควรใส่ถุงเท้าทุกครั้ง

      4.3 งดสูบบุหรี่เพื่อป้องกันเส้นเลือดอุดตัน

      4.4 ออกกำลังกายบริหารขาและเท้าทุกวัน อย่างสม่ำเสมอ

5.การดูแลรักษาเท้าเมื่อเป็นบาดแผล

      หากมีบาดแผลเกิดขึ้นเล็กน้อยควรล้างในน้ำต้มสุกอุ่นๆและซับให้แห้ง ถ้าแผลมีการอักเสบ ปวด บวม แดงร้อน หรือเกิดเชื้อรา  ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที

ขอให้ดูแลเท้าของคุณให้ดี..ก่อนที่จะไม่มีเท้าให้ดูแลค่ะ

ด้วยความขอบคุณ

จาก ผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูงสาขาอายุศาสตร-ศัยลศาสตร์โรคเบาหวาน

 

คำสำคัญ (Tags): #apn#dm#dm foot#dm ulcer#foot care
หมายเลขบันทึก: 314290เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2009 08:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • น่ากลัวเหมือนกันนะครับ
  • เพิ่งไปทำเรื่องเบาหวานมา
  • เอามาฝากพี่
  • ตรวจไขมัน

P ขอบคุณ ท่าน อ.ขจิต

การทำสปา เท้า เป็นการบำบัดแบบใหม่และกำลังเป็นที่นิยมของการดูแลผู้ป่วยเบาหวานค่ะ

ที่สำคัญต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ควบคุมน้ำหนักและควบคุมความเครียด ร่วมด้วยค่ะ

สำหรับอาจารย์ พี่เป็นห่วง รอบเอว ค่ะ..ดูเหมือนเสี่ย  ขึ้นทุกวัน อย่าให้เกิน 34 นิ้วนะคะ

สวัสดีค่ะน้องดา

  • แวะมาเยี่ยม พี่ยังไม่มีโอกาสไปรับน้ำพริกของฝากพี่คิมเลยคะ

P
พี่ ไก่...กัญญา ที่รัก
ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยม ค่ะพี่
โอกาสหน้า ออกทริป ด้วยกันอีกนะคะ พี่
ตอนนี้ มี money และ มี Energy..ใช้ให้คุ้มค่ะ
หมด Energy แล้วค่อยนั่งเฝ้า money นะคะ
แต่ถ้าหมด money ก่อน..ก็ตัวใครตัวมัน..เอิ๊กกๆๆ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท