สัมมนา


ประวัติของปลาตะเพียนจากใบลานอยุธยา

หมวดหมู่: เรื่องทั่วไป

ประวัติความเป็นมาของปลาตะเพียนในอยุธยา

ปลาตะเพียนใบลานเป็นงานหัตถศิลป์ฝีมือชาวมุสลิมในท้องที่ท่าวาสุกรี บ้านหัวแหลมที่อยู่คู่อยุธยามาเป็นเวลาร่วมร้อยปีจนถึงวันนี้ ก็ยังนับได้ว่าอยุธยาเป็นแหล่งผลิตปลาตะเพียนสานใบลานใหญ่ที่สุดในประเทศ คนไทยคุ้นเคย และใกล้ชิดกับปลาตะเพียนมานานแล้ว ถือกันมาแต่สมัยก่อนว่าปลาตะเพียนเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ เพราะช่วงที่ปลาโตเต็มที่กินได้อร่อยเป็นช่วงที่ข้าวตกรวงพร้อมเก็บเกี่ยวพอดีเรียกว่าเป็นช่วง "ข้าวใหม่ปลามัน" นั่นเอง ด้วยความเชื่อในเรื่องดังกล่าว จึงมีผู้นิยมนำใบลานแห้งมาสานขดกันเป็นปลาตะเพียนจำลองขนาดต่างๆ แล้วผูกเป็นพวง ๆ แขวนไว้เหนือเปลนอนของเด็กอ่อนเพื่อให้เด็กดูเล่น และถือเป็นสิ่งมงคลสำหรับเด็ก เท่ากับอวยพรให้เด็กเจริญเติบโตมีฐานะมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ดุจปลาตะเพียนในฤดูข้าวตกรวงดังกล่าวมา นอกจากนี้ปลาตะเพียนยังมีเรื่องราวเกี่ยวโยงกับพระเจ้าแผ่นดินอยุธยาอีกด้วย ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระปรมานชิตชิโนรสมีบันทึกไว้ว่าสมเด็จพระเจ้าท้ายสระโปรดเสวยปลาตะเพียนมาก ถึงกับมีรับสั่งให้ตั้งเป็นพระราชกำหนดห้ามมิให้ราณฎรทั้งปวงรับประทานปลาตะเพียนเป็นอันขาด หากผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องถูกปรับสินไหมเป็นเงินตราถึง 5 ตำลึง

ปลาตะเพียนสานมี ๒ ชนิด คือ

  • ชนิดที่เขียนเป็นลวดลายตกแต่งสวยงามสำหรับแขวนเหนือเปลลูกผู้มีบรรดาศักดิ์ และ
  • ชนิดเป็นสีใบลานเรียบๆ ไม่มีการตกแต่งอย่างใด

            ใช้แขวนเหนือเปลลูกชาวบ้านธรรมดาสามัญ ปลาตะเพียนใบลานที่มีลวดลายสีสันต่างๆ อย่างที่เห็นในปัจจุบัน เป็นปลาตะเพียนที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 นี้เอง สืบทราบได้เป็นเลาๆ ว่าหลวงโยธาฯ ข้าราชการเกษียณผู้มีนิวาสสถานอยู่ใกล้สะพานหัน ตำลบวังบูรพา กรุงเทพฯ เป็นผู้ประดิษฐ์คิดทำให้สวยงามขึ้นแล้วนำออกจำหน่ายตามงานวัดต่าง ๆ นับแต่นั้นมาคนก็หันมานิยมปลาตะเพียนสานมากขึ้น ปัจจุบันการสานปลาตะเพียนกลายเป็นอุตสาหกรรมครัวเรือนที่สร้างรายได้อย่างน่าพอใจ แหล่งผลิตปลาตะเพียนแขวนที่สำคัญในอยุธยาอยู่ที่ตำบลหัวแหลม อำเภอเมือง ส่วนใหญ่เป็นปลาตะเพียนสานที่แต่งแต้มสีสันสดใสงดงามแต่สีลานธรรมชาติยังพอมีอยู่

หมายเลขบันทึก: 314073เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2009 10:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2012 21:03 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท