ปัจจัยความสำเร็จในช่วงต้นของชีวิตการทำงาน


ปัจจัยที่ตั้งใจและความบังเอิญครับ

ในช่วงต้นๆ ของชีวิตการทำงาน ผมยังไม่ค่อยมีจุดมุ่งหมายมากนัก ได้แต่ทำงานไปวันๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย หรือมีคนสั่ง หรือมีคนมาขอความช่วยเหลือเท่านั้นเอง แต่ว่ามีปัจจัยอยู่จำนวนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตผมเปลี่ยนไป และทำให้เราแตกต่างจากคนอื่นครับ

1.จุฬาฯ มีการอบรมอาจารย์ใหม่ โดยหัวข้ออบรมก็เป็นเรื่องสัพเพเหระ แต่มีอยู่ตอนหนึ่งที่เขาให้อาจารย์รุ่นพี่มาเล่าเรื่องเส้นทางอาชีพให้ฟัง คนที่ผมจำได้คือ ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญญาแก้ว ท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านใช้เวลาเพียง 7 ปีเท่านั้นจากตำแหน่ง อ.ดร. ขึ้นไปเป็น ศ.ดร. ท่านคุยว่าเป็นสถิติที่เร็วที่สุดในจุฬาฯ จากนั้น ท่านก็ท้าทายให้อาจารย์ใหม่ทำลายสถิติท่าน ผมฟังแล้วในใจก็รับคำท้าทันที... (อย่างไรก็ตาม นี่ก็ผ่านมา 10 ปีแล้ว ผมยังเป็น รศ.ดร. อยู่นะครับ... ถึงจะไม่ทำลายสถิติอาจารย์สมศักดิ์ ผมก็ยังทำผลงานเพื่อขอ ศ. อยู่อย่างแข็งขันต่อไป)

2.บ้านผมอยู่ไกลจากจุฬาฯ มาก ประมาณ 35-40 กิโลเมตร ขับรถประมาณชั่วโมงครึ่งถึงสองชั่วโมงกว่า ตอนนั้นเหนื่อยและเพลียมาก บางวันก็หลับในด้วย เมื่อเห็นว่าไม่ไหวแล้ว ผมจึงมาอยู่ที่หอพักในมหาลัย และได้อยู่ต่อเนื่อง 4-5 ปี ห้องพักไม่มีอะไรเลยนอกจากโคมไฟหนึ่งดวง พัดลม กาต้มน้ำ และที่นอน ซึ่งผมใช้เป็นที่ซุกหัวนอนเท่านั้นเอง ดังนั้น เวลาส่วนใหญ่จึงใช้อยู่ที่ห้องทำงาน เรียกว่าอยู่ในห้องทำงานตั้งแต่เช้าจนถึงเย็นถึงดึกแบบเที่ยงคืนเลยทีเดียว ก่อนที่จะกลับที่พักไปนอน วันหนึ่งๆ อาจทำงานมากถึง 16-18 ชั่วโมงประมาณนั้นเลย

3.เมื่อเรียนจบจากเมืองนอก มีเงินเหลือจำนวนหนึ่ง ผมคิดจะเอาไว้ซื้อบ้านของตัวเอง หรือว่าซื้อรถยนต์ หรือเก็บไว้แต่งงาน แต่สุดท้ายเราก็เจียดเงินจำนวนหนึ่งมาซื้อโน๊ตบุ๊คคอมพิวเตอร์ ราคาตอนนั้น 95,000 บาท โน๊ตบุ๊คเครื่องนั้นทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์เป็นเวลา 7 ปีก่อนที่จะเริ่มพังและโดนขโมยไปในที่สุดตอนที่เดินทางไปเมืองจีน แต่ 7 ปีนั้นเป็นเวลาที่รุ่งเรืองมาก มีผลงานมากมาย มีทุนวิจัยเต็มกระเป๋า แถมมีความร่วมมือกับต่างประเทศด้วย และคอมพิวเตอร์เครื่องนี้ก็ทำให้ผมได้ตำแหน่งวิชาการทั้ง ผศ. และ รศ. ครับ

4.ผมชอบตีแบดมินตันตั้งแต่ตอนที่เรียนอยู่เมืองนอก เมื่อกลับมาทำงานจึงพยายามหาเพื่อนไปตีแบดด้วย ซึ่งเพื่อนๆ ในกลุ่มที่เล่นแบดกันประจำนั้นมาจากหลากหลายคณะในมหาลัย และดูเผินๆ เหมือนเป็นคนเฮฮาไปเรื่อยเปื่อย แต่ปรากฏว่าทุกคนมีตำแหน่งวิชาการสูงๆ กันหมดแล้วทั้งที่อายุยังไม่มาก เรียกว่า "work hard, play hard" อย่างนั้นเลยทีเดียว ดังนั้น สำหรับผมแล้ว วันที่ไปตีแบดนอกจากจะได้ออกกำลังกายแล้ว ยังเป็นวันที่ไปเติมเชื้อไฟให้ตัวเองด้วย โดยพยายามไม่ให้เพื่อนในแก๊งค์ทิ้งกันห่างเกินไปในมุมของตำแหน่งวิชาการครับ

5.ชีวิตตอนนั้นมีแรงกดดันหลายอย่างนะครับ ทั้งเรื่องครอบครัว เรื่องรายได้ เรื่องชีวิตในอนาคต ฯลฯ รวมทั้งการที่เป็นพนักงานมหาลัยไม่ใช่ข้าราชการ ทำให้ต้องได้รับการประเมินอย่างเข้มข้น และต้องทำงานหนักกว่าคนอื่น อย่างไรก็ตาม ความกดดัน ความอึดอัด ความที่อยู่ไม่สบายทั้งหลายเหล่านั้นกลับกลายเป็นแรงผลักดันที่ทำให้มุ่งมั่นทำงานอย่างเข้มแข็งไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ทำให้ทำงานได้มากกว่าคนอื่น และไปได้ไกลกว่าคนอื่นครับ

6.ในสมัยยุคหนึ่ง การขอทุนทำวิจัยดูเหมือนจะเป็นภาระหนักมากสำหรับบางคน เพราะต้องทำงานวิจัยให้สำเร็จให้ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด เมื่อผมทำงานใหม่ๆ พยายามจะขอทุนวิจัย ก็มีผู้หวังดีมากมายเตือนถึงความยากลำบากนี้และเตือนว่าอาจจะเสียชื่อถ้าทำงานไม่สำเร็จ แต่ด้วยความดื้อบวกความบ้า ผมก็ไม่สนคำเตือนมากนัก... ทุกวันนี้ การวิจัยกำลังจะกลายเป็นกระแสหลักของมหาลัยชั้นนำของประเทศ เพราะการวิจัยตอบทั้งโจทย์ของมหาวิทยาลัยและโจทย์ของประเทศครับ คนที่เคยเตือนผม วันนี้ต้องมานั่งหัดทำงานวิจัยครับ

7.ตอนนั้น ผมได้มีโอกาสทำงานกับคนหนุ่มที่มุ่งมั่นอย่าง รศ.ดร.เดวิด รูฟโฟโล (จริงๆ ท่านเป็น ศ. มาได้หลายปีแล้ว) นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีมาก ตอนที่ทำงานใหม่ๆ ไม่มีห้องทำงาน ท่านก็หาห้องทำงานให้ ผมไม่มีงานวิจัยทำ ท่านก็ชวนทำงานวิจัยด้วย ผลงานที่ตีพิมพ์กับท่านนั้นตอนนี้มีคนมาอ้างอิง 65 ครั้งแล้ว นอกจากนี้ ผมยังมีโอกาสได้เจออาจารย์อาวุโสที่เอ็นดูอาจารย์ไก่อ่อนอย่างผมอีกมากมายหลายท่าน เรียกว่าชีวิตนี้มีทั้งฝีมือบวกโชคบวกร่มเงาที่ท่านผู้อาวุโสทั้งหลายได้ทอดเอาไว้ให้น่ะครับ

8.เรื่องที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องของกำลังใจครับ ทั้งแม่และภรรยาของผมทำหน้าที่นี้ได้อย่างดีไม่มีที่ติเลยที่เดียว ผมได้เขียนถึงแม่ไว้บ้างแล้ว สำหรับคุณภรรยาที่พิเศษคือเขาไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์แต่เป็นสถาปนิก แต่ว่าเธอได้พยายามเข้าใจงานของผมรวมถึงงานวิจัยและความสำคัญในการขอตำแหน่งวิชาการด้วยครับ แม้ว่าบางครั้ง ชีวิตจะเครียดเกินความจำเป็น แต่โดยเฉลี่ยแล้วความเครียดในชีวิตอยู่ในระดับที่ต่ำมากทีเดียวครับ

9.ปัจจุบัน ผมเป็นห่วงตัวเองเล็กน้อยเพราะชีวิตค่อนข้างสบาย มีรายได้แบบพอกินพอใช้ ซึ่งมันก็ดีในแง่หนึ่ง แต่สิ่งที่ตามมาคือความมุ่งมั่นที่ลดลง รักสบายมากขึ้น ทำงานหนักน้อยลง เริ่มขี้เกียจ กินเยอะขึ้น ออกกำลังกายน้อย โรคคนแก่เริ่มถามหาน่ะครับ ลึกๆ เราก็รู้ว่ายังไปไม่สุดทาง ยังไงก็ต้องสู้กันต่อไป แต่ว่ามันก็เนื่อยๆ ลงไปเยอะ... ก็ขอให้ผู้อ่านช่วยติดตามว่าผมจะไปถึงจุดหมายอย่างที่ฝันไว้หรือไม่แล้วกันนะครับ 

หมายเลขบันทึก: 313860เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2009 12:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

อาจารย์คะ

อ่านบันทึกนี้แล้วสนุกดีจัง แถมยังได้กำลังใจ และแรงพลังจากเรื่องที่อาจารย์เล่า บันทึกนี้เลยถือเป็นบันทึกเรื่องเล่าเร้าพลังที่ปลุกระดมความกระตือรอร้นของหนูให้สูงขึ้น

ขอบคุณมากค่ะ ^_^

เป็นข้อคิดที่ดีมาก ขอบคุรมากค่ะ จะนำไปเป็นแบบอย่างและพัฒนาตนค่ะ

ขอบคุณทั้งสองท่านมากครับ ผมก็มีกำลังใจในการเขียนมากขึ้นเช่นกันครับ...

เป็นกำลังใจให้อาจารย์นะครับ

ผมชอบบทความของอาจารย์ เป็นแรงบันดาลใจที่ดีให้ผมด้วยเช่นกันครับ

You can do it! There's no doubt about it!

I'm proud of you! :)

อายุเป็นเพียงตัวเลขค่ะ และเรื่องของการรักสบายมากขึ้น ก็คาดว่าเป็นกันทุกคน ไม่ใช่เฉพาะอาจารย์คนดียว

เพราะฉะนั้น สู้สู้ค่ะ

ตอนนี้แป้งดูแล ทั้ง ฉลาดล้ำโลก และ ฉลาดสุดสุด ส่วนคนทำคาดว่าจะโง่ลงเรื่อยๆ ขี้เกียจมากขึ้นเรื่อยๆๆ เลยค่ะ ^^ ''

  • สวัสดีครับ อาจารย์อุดมศิลป์
  • อ่านแล้วมีความสุข ครับผม

ขอบคุณมากค่ะสำหรับข้อเขียนที่ทำใหเรามีแรงบันดาลใจจะสู้งานหนักได้อีก...มีมุมมองชีวิตที่พร้อมจะ workhard and play hard not pay hard....ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท