ฟอนต์.คอม… ศิลปะเส้นสายปั้นอักษรไทยบนหน้าเว็บ


"ไม่ว่าคุณจะเป็นนักเรียน หรือมนุษย์ที่มีการทำงานเกี่ยวพันอยู่กับตัวอักษร ภาษา ในการทำงานบนคอมพิวเตอร์ คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักฟอนต์อย่าง Angsana หรือ Cordia ที่นิยมใช้กันจนกลายเป็นรูปแบบภาษามาตรฐานทั่วไป แต่ถ้าตัวอักษรแต่ละบรรทัดมีสัดส่วน ลวดลาย เส้นสายโค้งเว้าของฟอนต์เก๋ๆ แล้วอักษรไทยจะมีหน้าตาเป็นอย่างไรนะ"

ฟอนต์.com/ICT/โซน 6

ฟอนต์.คอม… ศิลปะเส้นสายปั้นอักษรไทยบนหน้าเว็บ

 

          หนังสือแต่ละเล่ม  นิตยสารแต่ละหน้า  รายงานแต่ละฉบับ  จะอัดแน่นไปด้วยเนื้อหาสาระและตัวอักษรไทยมากมายดูละลานตา  กว่าจะมาเป็นตัวหนังสือได้ ทั้งเขียน ทั้งเคาะแป้นพิมพ์ดีดเสียงดังรัวกระทบโต๊ะ  ตัวพิมพ์ก็มีไม่กี่แบบ  พิมพ์ผิดแก้ไขไม่ได้นอกจากใช้น้ำยาลบคำผิด   ไม่มีปุ่มดีลีต (Delete) ไม่มีปุ่มแบ็กสเปซ (Backspace) ให้เริ่มต้นใหม่เหมือนพิมพ์จากเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างทุกวันนี้  ที่มีรูปแบบตัวพิมพ์ไทยยุคใหม่ที่สอดแทรกความงามศิลปะและเติมเต็มวิญญาน โดยมันถูกปลุกให้มีชีวิต มากกว่าการเป็นแค่อักษรไทยธรรมดา เมื่อ คุณปรัชญา สิงห์โต   (แอน)   ผู้ก่อตั้งและเว็บมาสเตอร์ฟอนต์.คอม ( f0nt.com ) บัณฑิตปริญญาตรีจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร  เปิดประตูความฝันอันซุกซน ก้าวแรกของความคิดในการสร้างศิลปะบนตัวอักษรว่า

       "ไม่ว่าคุณจะเป็นนักเรียน  หรือมนุษย์ที่มีการทำงานเกี่ยวพันอยู่กับตัวอักษร ภาษา ในการทำงานบนคอมพิวเตอร์ คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักฟอนต์อย่าง Angsana หรือ Cordia ที่นิยมใช้กันจนกลายเป็นรูปแบบภาษามาตรฐานทั่วไป แต่ถ้าตัวอักษรแต่ละบรรทัดมีสัดส่วน ลวดลาย เส้นสายโค้งเว้าของฟอนต์เก๋ๆ  แล้วอักษรไทยจะมีหน้าตาเป็นอย่างไรนะ"

            ความคิดที่อยากจะสร้างสรรค์ตัวอักษรไทยให้พ้นจากกรอบเดิมๆ เริ่มขึ้น...  “ตอนผมเรียนอยู่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาหาวิทยาลัยศิลปากร  (เป็นคณะที่ผลิตสถาปิกออกแบบบ้านล้วนๆ ไม่ได้มีวิชานิเทศศิลป์แต่อย่างใด) ปี 2546 ผมต้องทำงานส่งอาจารย์หรือที่รู้จักกันว่า “งานวิทยานิพนธ์” โดยมีขั้นตอนของการสเก็ตช์แบบ  ที่ส่วนใหญ่จะทำด้วยคอมพิวเตอร์ แต่มาวันหนึ่งนึกอยากให้มีลายมือตัวเองอยู่ในงานบ้าง ให้ดูเหมือนการสเกตช์งานแบบหยาบๆ  บวกกับเริ่มรู้ว่ามีวิธีทำลายมือเราด้วยคอมพิวเตอร์ได้ จึงลองทำดู โดยไม่มีความรู้แต่อย่างใด จนได้ฟอนต์ออกมาตัวหนึ่ง ก็นำไปใส่ในงาน อาจารย์และเพื่อนๆ ก็ฮือฮา เลยลองให้เพื่อนๆ โหลดไปใช้กัน และนั่นเป็นที่มาของฟอนต์ iannnnnnUBC  ”  (มีชื่อเรียกเล่นๆว่า UBC คือตั้งใจจะล้อชื่อฟอนต์ Angsana ครับ )

            เมื่อมีอาจารย์และเพื่อนๆ สนใจในการใช้ฟอนต์ที่เราปั้นมากับมือ  ใจเริ่มฮึกเหิมอยากลองของขึ้นมาทันทีเลยครับว่า ...อยากจะให้คนอื่นได้ลองมีโอกาสใช้ฟอนต์ตัวนี้ด้วย เลยเอามาใส่ในเว็บของตัวเอง (เป็นที่มาของเว็บฟอนต์) ยังเป็นแค่เว็บจิ๋วๆ  ปรากฏว่ามีคนโหลดไปใช้กันเยอะแยะ ความภูมิใจและความรักในการทำงานจึงเกิดขึ้น ณ จุดนั้น ผมจึงทุ่มเทในการนั่งปั้นฟอนต์อย่างเดียวมันส์กว่าเยอะ

            ยิ่งรักในสิ่งที่ทำ ยิ่งทำยิ่งสนุก  ยิ่งสนุกก็ยิ่งมันส์ บล็อกผมกลายเป็นศูนย์รวมคนคอเดียวกันที่มีความรู้เรื่องฟอนต์ หลายท่านมาร่วมวงคุยกัน แลกเปลี่ยนวิชากัน  ผมเลยพอได้วิธีการใช้โปรแกรมออกแบบตัวอักษรมาบ้าง ยิ่งไปเจอชุมชนชาว Freemac.net  ยิ่งคุยเรื่องการออกแบบฟอนต์ได้อย่างออกรสออกชาติ ก็ยิ่งอยากจะทำฟอนต์ให้มากขึ้น  เพราะในสมัยนั้นมีเว็บไซต์ที่มีฟอนต์สร้างสรรค์แจกให้ดาวน์โหลดไปใช้งานได้ฟรีมีไม่กี่แห่ง ผมเลยตั้งปณิธานว่า จะผลิตฟอนต์ในนาม  “ไอ้แอนนนนน (iannnnn)” ขึ้นมาเดือนละตัว ซึ่งมีเพื่อนฝูงคุยภาษาเดียวกันมาขึ้นเรื่อยๆ และมีผู้เข้ามาใช้บริการกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง เรียกได้ว่าเกินโควต้าที่กำหนด  ผมต้องตัดสินใจย้ายบ้านใหม่จากบล็อกเดิมมาเปิดเว็บใหม่ขึ้นมา   โดยผมวางโครงการไว้ว่าอยากให้บ้านเราได้มีแหล่งรวบรวมฟอนต์ภาษาไทยแจกฟรีเยอะๆ โดยมีลักษณะคล้ายกับสหกรณ์ของคนที่สนใจในเรื่องฟอนต์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ออกแบบ ผู้ที่ต้องการใช้ หรือผู้ที่อยากได้ความรู้ด้านกราฟิกดีไซน์

            หัวใจสำคัญของฟอนต์.คอม คือเน้นเกี่ยวกับการสร้างฟอนต์ใช้เอง และเอามาแบ่งปันกัน อยากให้เว็บนี้เกิดเป็นวงการใหม่  ในขนาดพื้นที่เล็กๆ ก็พอที่เรียกว่า “วงการฟอนต์”   โดยให้เว็บนี้เป็นห้องสมุดมีชีวิต และมีพื้นที่พูดคุยเกี่ยวกับงานกราฟฟิก และงานออกแบบสาขาใกล้เคียงกัน  ปัจจุบันฟอนต์.คอม ด้วยความร่วมมือของเพื่อนๆ ชาวฟอนต์ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงเว็บตลอดเวลา ล่าสุดได้มีการนำระบบ Wordpress ที่เป็น Blogging Software ตัวหนึ่งที่ช่วยในการสร้าง เขียน และบริหารจัดการบล็อกให้ทันสมัยและรองรับความต้องการได้มากขึ้น โดยผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์มีตั้งแต่ระดับนักเรียน นักศึกษา ไปจนถึงนักออกแบบ นั่นคือกลุ่มเป้าหมายที่คาดหวังไว้ นอกจากนี้ยังได้กลุ่มเหนือความคาดหมายจากแทบทุกสาขาอาชีพ อย่างครู ทหาร พยาบาล ตำรวจ เกษตรกร แพทย์ สถาปนิก วิศวกร ฯลฯ ทุกคนเข้ามาที่นี่ด้วยความคิดที่คล้ายกันว่า ‘ถ้ามีลายมือของตัวเองอยู่บนคอมพิวเตอร์มันก็คงจะเท่ดี’ 

            จนถึงวันนี้ ฟอนต์.คอม มีพันธมิตรมากมาย เข้ามาสร้างฟอนต์ให้ชาวโลกได้ใช้กันฟรีๆ โดยไม่คิดเงิน ถือเป็นข้ออนุญาตร่วมกัน และฟอนต์แต่ละตัวก็จะเป็นลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์เอง โดยตัวเว็บไซต์ก็จะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการเผยแพร่งานออกแบบฟอนต์และสื่อสารกับผู้สนใจ ดังนั้นเมื่อเทคโนโลยีปัจจุบันมีความหลากหลาย และเอื้ออำนวยให้เกิดการต่อยอดทางความคิดสร้างสรรค์ไม่รู้จบ เราจึงไม่จำเป็นต้องเปิดคอมพิวเตอร์ แล้วเก่งโปรแกรมนั้นโปรแกรมนี้เหมือนกันไปหมด เพราะจริงๆ แล้วคุณค่าและตัวตนของเรา ก็อาจจะเป็นเรื่องใกล้ตัวง่ายๆ อย่างลายมือของเราเอง ที่อาจจะไปโลดแล่นสร้างสีสันบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ของใครๆ และปรากฎเป็นตัวหนังสือในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ก็เป็นได้ ใครจะไปรู้ !!

            หากคุณเบื่อ Cordia หากคุณเพลีย Angsana หากคุณล้า JS  หากคุณเข็ด PSL(ฮา) ขอเชิญได้ที่ฟอนต์.คอมนะครับ

 

 

โครงการวิจัยและพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนา (ICT Socity)

นายปรัชญา สิงห์โต "แอน"  เว็บมาสเตอร์ ฟอนต์.คอม (www.f0nt.com)

e-mail:  [email protected]

หมายเลขบันทึก: 312939เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2009 10:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณที่สร้างสรรค์สิ่งดีๆออกมาให้ใช้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท