น้ำหนาว


วิวสวย
อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวจังหวัดเพชรบูรณ์

   อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว อยู่ในท้องที่อำเภอหล่มเก่า อำเภอหล่มสัก อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เป็นอุทยานแห่งชาติที่สวยที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นแนวเขตกั้นระหว่างภาคอีสานและภาคเหนือ สภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นเทือกเขาสูง มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ เป็นต้นน้ำลำธาร มีทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง มีเนื้อที่ประมาณ 603,750 ไร่ หรือ 966 ตารางกิโลเมตร
   ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2502 ให้กำหนดป่าน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ และป่าอื่นๆ ในท้องที่จังหวัดต่างๆ รวม 14 ป่า เป็นอุทยานแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2511 กรมป่าไม้ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปทำการสำรวจเบื้องต้นเกี่ยวกับสภาพพื้นที่บริเวณป่าน้ำหนาว ปรากฏว่า มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ มีทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง ตลอดจนเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด กรมป่าไม้จึงได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติซึ่งได้มีมติในคราวประชุมครั้งที่ 1/2513 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2513 เห็นชอบให้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 142 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2515 กำหนดบริเวณป่าน้ำหนาวในท้องที่ตำบลบ้านโคก อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ ตำบลบ้านกลาง ตำบลบ้านติ้ว ตำบลห้วยไร่ อำเภอหล่มสัก ตำบลน้ำหนาว อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ และตำบลห้วยยาง อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เป็นอุทยานแห่งชาติ เนื้อที่ประมาณ 603,750 ไร่ โดยประกาสในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 89 ตอนที่ 71 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2515 เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งที่ 5 ของประเทศ
   ต่อมากองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้มีหนังสือที่ กส 0708/2214 ลงวันที่ 1 เมษายน 2523 ให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทุกแห่งได้ตรวจสอบพิจารณาชื่อตำบลที่ตกหล่นในอุทยานแห่งชาติที่รับผิดชอบ ซึ่งอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวได้มีหนังสือที่ กส 0708(นน)/223 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2525 รายงานว่า ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 142 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2515 ได้กำหนดแนวเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งครอบคลุมถึงท้องที่ตำบลปากช่อง และตำบลท่าอิบุญ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ด้วย แต่มิได้ระบุชื่อตำบลทั้ง 2 ไว้
   กรมป่าไม้จึงได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้มีมติในคราวประชุมครั้งที่ 3/2523 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2523 เห็นชอบให้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดขยายเขตอุทยานแห่งชาติเพิ่มเติมตำบลที่ตกหล่นได้ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกาขยายเขตอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวในท้องที่ตำบลท่าอิบุญ และตำบลปากช่อง อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ พ.ศ. 2525 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 99 ตอนที่ 137 ลงวันที่ 26 กันยายน 2525
ลักษณะภูมิประเทศ
   อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นเขตกั้นระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ สภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นเทือกเขาสูงทอดยาวผ่านจังหวัดชัยภูมิและจังหวัดเพชรบูรณ์ มีลักษณะเป็นเนินยอดป้านที่เกิดจากการยกตัวของเปลือกโลกบริเวณนี้ในอดีต มีความสูงอยู่ระหว่าง 650-1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล ประกอบด้วย ภูผาจิต ภูกุ่มข้าว โดยภูด่านอีป้องเป็นจุดสูงสุด มีความสูง 1,271 เมตรจากระดับน้ำทะเล ประกอบขึ้นเป็นป่าต้นน้ำลำธาร ต้นกำเนิดของลำธารสายยาว เช่น แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำพอง แม่น้ำเลย ห้วยขอนแก่น ห้วยน้ำเชิญ ซึ่งไหลลงสู่เขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนจุฬาภรณ์
ลักษณะภูมิอากาศ
   โดยทั่วไปอากาศหนาวเย็นในตอนดึกและตอนเช้า ส่วนใหญ่ตอนกลางวันอากาศเย็นสบาย จึงกล่าวได้ว่า อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวมีอากาศหนาวเย็นตลอดปี อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 25 องศาเซลเซียส ในฤดูฝนจะมีฝนตกชุกระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม ส่วนใหญ่ฤดูหนาว อากาศหนาวเย็นมาก จนบางครั้งน้ำค้างจะกลายเป็นเกล็ดน้ำแข็ง อากาศจะหนาวเย็นที่สุดในเดือนธันวาคมและมกราคม ซึ่งในบางปีอุณหภูมิจะลดต่ำถึง 0 องศาเซลเซียส
พืชพรรณและสัตว์ป่า
   ป่าน้ำหนาวเป็นป่าไม้ผืนใหญ่ติดต่อกัน ประกอบด้วยป่าหลายชนิดประกอบด้วย
ป่าดิบชื้น พบบริเวณหุบเขาและริมลำห้วย ชนิดพันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ยาง ตะเคียนทอง มะหาด ยมหอม ฯลฯ พืชพื้นล่างเป็นหวาย และปาล์ม เป็นต้น
   ป่าดิบเขา เป็นป่าส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติพบขึ้นบริเวณยอดเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 800 เมตรขึ้นไป พันธุ์ไม้ที่ขึ้นบริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นก่อสกุลต่างๆ เช่น ก่อเดือย ก่อแป้น ก่อตาหมูน้อย ก่อตาหมูหลวง เป็นต้น
   ป่าเบญจพรรณ พบขึ้นตามไหล่เขาต่อจากป่าดงดิบทางด้านทิศตะวันตกของอุทยานแห่งชาติ และกระจัดกระจายเป็นหย่อมๆ ทางด้านตะวันออกของอุทยานแห่งชาติ พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ประดู่ แดง ตะแบก งิ้วป่า ยอป่า ชิงชัน ซ้อ เป็นต้น
   ป่าสนเขา พบในที่ประมาณ 700-900 เมตรจากระดับน้ำทะเล ลักษณะเป็นป่าโปร่งมีสนสามใบ และส่วนใหญ่จะขึ้นปะปนอยู่กับป่าเต็งรัง พืชพื้นล่างส่วนใหญ่เป็นหญ้าคา พบทางตอนใต้ของอุทยานแห่งชาติบริเวณสวนสนภูกุ่มข้าว ดงแปก และที่ทำการอุทยานแห่งชาติ
   ป่าเต็งรัง เป็นป่าโปร่งขึ้นอยู่บริเวณที่แห้งแล้ง ความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ หน้าดินตื้น เป็นกรวดหรือลูกรัง ทำให้ต้นไม้แคระแกร็น พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ เต็ง รัง เหียง กราด รกฟ้า ฯลฯ พืชพื้นล่างส่วนใหญ่เป็นหญ้าเพ็ก พบบริเวณตอนกลางของอุทยานแห่งชาติทั้งสองข้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 และทุ่งหญ้า ประกอบไปด้วยหญ้าคา หญ้าเพ็ก มีพันธุ์ไม้ใหญ่ปะปนอยู่บ้าง เช่น ติ้ว กระโดน และแต้ว เป็นต้น
   เนื่องจากป่าส่วนหนึ่งเป็นป่าโปร่งสลับกับทุ่งหญ้าและป่าดิบ มีดินโปร่งและน้ำไหลผ่านตลอดปี จึงทำให้ป่านี้มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างชุกชุม เช่น ช้างป่า กระทิง วัวแดง กวางป่า เก้ง เสือโคร่ง เสือดาว ค่าง หมีควาย หมีคน เลียงผา หมาป่า กระจง เม่น หมูป่า กระต่ายป่า ค้างคาวมงกุฎหูโตมาร์แชล ค้างคาวไอ้แหว่งน้อย เต่าปูลู และเต่าเดือย สำหรับช้างป่านั้นมีอยู่ทั่วไป ซึ่งเราจะเห็นกองมูลช้างที่ถ่ายไว้ริมทางหลวงอยู่เสมอ นอกจากนี้ ยังมีนกชนิดต่างๆ มากว่า 200 ชนิด ตามทางเดินในป่าจะพบนกสีสวยๆ อยู่เสมอ เช่น นกแก้ว นกขุนแผน นกหก นกพญาปากกว้าง นกเดินดง นกแต้วแร้ว นกโพระดก นกหัวขวาน นกเหงือก นกกระจ้อย นกกินแมลงชนิดต่างๆ ไก่ฟ้าพญาลอ และไก่ป่า เป็นต้น และยังมีความหลากหลายของผีเสื้อมากกว่า 340 ชนิด
สถานที่ท่องเที่ยว
   จุดชมทิวทัศน์ถ้ำผาหงษ์ ทางเข้าอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 39 ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (ดอยหล่มสัก-ชุมแพ) ระยะทางเดินเท้าประมาณ 300 เมตร มีลักษณะเป็นเขาสูง มีทางเท้าเดินขึ้นยอดเขาประมาณ 200 เมตร เพื่อชมทิวทัศน์และชมพระอาทิตย์ตกในตอนเย็น เป็นถ้ำขนาดเล็ก ภายในมีช่องหลืบแคบๆ ซับซ้อน มีหินงอกหินย้อยที่สวยงาม เป็นที่อยู่อาสัยของค้างคาวหลายชนิด โดยเฉพาะค้างคาวมงกุฎมาร์แชล ซึ่งเป็นสัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์ พื้นที่โดยรอบเป็นป่าไผ่และชะง่อนหินแหลมคม
   สวนสนบ้านแปก หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ดงแปก มีทางเข้าอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 49 ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (ดอยหล่มสัก-ชุมแพ) ระยะทางเดินเท้าประมาณ 5 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นป่าสนสองใบขึ้นอยู่เป็นกลุ่มใหญ่เพียงชนิดเดียวตามธรรมชาติ ต้นไม้พื้นล่างประกอบด้วยทุ่งหญ้าและหญ้าเพ็กเป็นจำนวนมาก มีความสวยงาม ประกอบกับเส้นทางเดินเข้าสวนสนบ้านแปกได้ผ่านป่าที่หลากหลายทั้งป่าดิบชื้นและป่าดิบเขา ระหว่างทางจะมีโอกาสพบสัตว์ป่าและนกนานาชนิด และในช่วงฤดูร้อนประมาณเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม ระหว่างทางจะมีกล้วยไม้ป่าและพันธุ์ไม้หลายชนิดออกดอกสวยงาม
   สวนสนภูกุ่มข้าว ทางเข้าอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 53 ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (ดอยหล่มสัก-ชุมแพ) มีทางลูกรังมาตรฐานจากแยกกิโลเมตรที่ 53 ถึงสวนสนภูกุ่มข้าว ระยะทาง 15 กิโลเมตร เป็นป่าสนสามใบ มีต้นสนขนาดใหญ่มีความสูงตั้งแต่ 30-40 เมตร ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติอย่างหนาแน่นแทบไม่มีไม้อื่นปะปนอยู่ มีพื้นที่ประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร ไม้พื้นล่างประกอบด้วยทุ่งหญ้าคา หญ้าเพ็ก จำนวนมากเช่นเดียวกัน ในฤดูแล้ง ทุ่งหญ้าใต้ต้นสนจะค่อยๆ เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีน้ำตาลแก่ พอถึงฤดูฝนใหม่ทุ่งหญ้าเหล่านี้ก็จะกลับเขียวอีกครั้งหนึ่ง เป็นเช่นนี้เรื่อยๆ ไป โดยเฉพาะฤดูฝนตามทุ่งหญ้าจะมีพันธุ์ไม้หลากสีนานาพรรณขึ้นอยู่อย่างสวยงามมาก
  
บริเวณสวนสนนี้ มีเนินเขาเตี้ยๆ ลูกหนึ่ง เรียกว่า “ภูกุ่มข้าว” สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 880 เมตร เป็นเนินเขาที่เป็นจุดเด่นจุดหนึ่งท่ามกลางสวนสน เมื่อขึ้นไปยืนบนเนินเขาภูกุ่มข้าว จะเห็นแนวยอดสนอยู่ในระดับสายตา สามารถมองเห็นแนวยอดสนเป็นแนวติดต่อกันพืดทั้งสี่ด้านของภูกุ่มข้าว ดูแล้วจะเห็นคล้ายๆ ท้องทะเลของยอดสน เมื่อมองไปทางทิศใต้จะเห็นอ่างน้ำเขื่อนจุฬาภรณ์ (น้ำพรม) ที่กว้างใหญ่
   น้ำตกเหวทราย ทางเข้าอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 67 ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ดอนหล่มสัก-ชุมแพ) ระยะทางเดินเท้า 1 กิโลเมตร เป็นน้ำตกที่เกิดจากลำห้วยสนามทรายซึ่งมีต้นน้ำที่ป่าดงดิบชื่อดงแหน่งไหลผ่านป่าซำผักคาว ลำห้วยสนามทรายนี้เป็นแนวธรรมชาติที่แบ่งเขตแดนระหว่างกิ่งอำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ กับอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ น้ำตกเหวทราย เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่มีความสูงประมาณ 20 เมตร บริเวณด้านใต้น้ำตกมีแอ่งน้ำลึกสามารถลงเล่นน้ำและใต้น้ำตกมีชะง่อนหินขนาดใหญ่เป็นเพิงสามารถพักแรมหลบฝนได้ บรรยากาศบริเวณลำห้วยน่าเดินเล่น มีต้นไม้ปกคลุมตลอด ในฤดูฝนน้ำตกมีประมาณน้ำมากและสวยงามมาก
   น้ำตกทรายทอง เป็นน้ำตกที่อยู่ห่างจากน้ำตกเหวทรายประมาณ 500 เมตร มีความกว้างที่สุดประมาณ 30 เมตร สูง 4 เมตร มีบรรยากาศร่มรื่นเหมาะแก่การนั่งเล่นพักผ่อนหย่อนใจ โดยเฉพาะในฤดูฝนน้ำตกมีประมาณน้ำมากตกลงมาเป็นหน้ากว้าง 30 เมตร สวยงามมากเช่นเดียวกัน
   ภูผาจิต หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ภูด่านอีป้อง ทางเข้าอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 69 ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (ดอนหล่มสัก-ชุมแพ) ระยะทางเดินเท้าประมาณ 10 กิโลเมตร ทางค่อนข้างลำบาก ใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 6-7 ชั่วโมง สภาพป่าสวยงามมาก ลักษณะเด่นตั้งโดดเดี่ยวบนที่ราบสูง ลักษณะสัณฐานคล้ายภูกระดึงแต่เล็กกว่า เป็นภูเขาที่มียอดราบแบบโต๊ะ มีไม้สนขึ้นอยู่ประกอบด้วยป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ มีต้นไม้มีค่าหลายชนิด ภูเขานี้มียอดสูงสุดในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว สูง 1,271 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
   ผาล้อมผากอง ทางเข้าอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 40 ทางหลวงสายบ้านห้วยสนามทราย-อำเภอหล่มเก่า หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ นน.2 (ภูผากลางดง) ระยะทางเดินเท้าประมาณ 5-7 กิโลเมตร ลักษณะเป็นภูเขาสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ประมาณ 1,134 เมตร เป็นเขาหินปูนเมื่อขึ้นไปบนยอดเขาสามารถมองเห็นทิวทัศน์รอบๆ บริเวณได้ สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าดงดิบและป่าเบญจพรรณ ประกอบด้วยพรรณไม้ที่มีค่ามาก บริเวณใกล้เคียงยังมีผากลางโหล่น มีความสูงประมาณ 850 เมตร ผาต้นฮอม มีความสูงประมาณ 900 เมตร ซึ่งมีทิวทัศน์สวยงามมากเช่นเดียวกัน
   ถ้ำใหญ่น้ำหนาว หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าภูน้ำริน มีทางเข้าอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 60 ทางหลวงสายบ้านห้วยสนามทราย-อำเภอหล่มเก่า บ้านหินลาด มีทางรถยนต์เข้าถึงหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ นน.6 (ถ้ำใหญ่น้ำหนาว) ประมาณ 3 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นเขาหินปูนสูงประมาณ 955 เมตรจากระดับน้ำทะเล ถ้ำใหญ่น้ำหนาวเป็นถ้ำใหญ่มีความงามวิจิตรพิศดารโดยธรรมชาติ มีหินงอกหินย้อยและที่แปลกที่สุดคือ มีน้ำไหลหรือน้ำรินออกจากปากถ้ำ ภายในถ้ำยังเป็นที่อาศัยของค้างคาวจำนวนมากอีกด้วย โดยมีชนิดที่เป็นสัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์คือ ค้างคาวมงกุฎมาร์แชล ค้างคาวหูหนูยักษ์ และค้างคาวท้องน้ำตาลใหญ่ ภายในถ้ำสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วง ช่วงแรกระยะทางประมาณ 400 เมตร มีทางเดินเท้าไปตามคูหาต่างๆ ซึ่งมีหินงอกหินย้อยและเสาถ้ำ ทางเดินจะไปสุดที่คูหาซึ่งมีม่านหินงดงาม ช่วงที่ 2 จากระยะทาง 400-1,000 เมตร จะมีทางลัดเลาะ บางครั้งต้องมุดและปีป่ายเข้าไป ช่วงที่ 3 ระยะทางจาก 1,000 เมตร เข้าไป จะมีลำธารน้ำรินไหล ถ้ำมีความลึกประมาณ 4.5 กิโลเมตร
   น้ำตกตาดพรานบา ทางเข้าอยู่ใกล้ที่ว่าการกิ่งอำเภอน้ำหนาว กิโลเมตร 20 ทางหลวงสายบ้านห้วยสนามทราย-อำเภอหล่มเก่า เป็นทางลูกรังรถยนต์เข้าถึงน้ำตก มีลักษณะเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ปานกลาง ตกจากหน้าผาสูงประมาณ 20 เมตร น้ำตกจากหน้าผาสูงพุ่งเป็นลำสู่เบื้องล่างเป็นสองชั้น มีน้ำซึ่งเกิดจากลำน้ำเชิญตลอด สาเหตุที่น้ำตกมีชื่อว่า ตาดพรานบา เนื่องจากพรานบาเป็นผู้เข้าไปพบน้ำตกแห่งนี้เป็นคนแรก สำหรับคำว่าตาดนั้นเป็นภาษาพื้นบ้านท้องถิ่นหมายถึง น้ำตก
   จุดชมทิวทัศน์ภูค้อ ตั้งอยู่บริเวณ กม. 46 ของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (หล่มสัก-ชุมแพ) เป็นจุดชมทิวทัศน์ที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวสามารถชมพระอาทิตย์ขึ้นอยู่ในยามเช้า สามารถมองเห็นผืนป่าสวนสนภูกุ่มข้าวสลับกับป่าดงดิบ โดยมีฉากหลังเป็นภูกระดึงและภูผาจิต นอกจากนี้ทางอุทยานแห่งชาติยังได้จัดทำเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร ไปยังศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอีกด้วย
   ป่าเปลี่ยนสี บริเวณกิโลเมตรที่ 63-70 ของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 สายหล่มสัก-ชุมแพ ในประมาณเดือนธันวาคม-มกราคมของทุกปี ผืนป่าบริเวณนี้ซึ่งเป็นป่าผสมผลัดใบ ก่อนที่พันธุ์ไม้จะผลัดใบจะมีปรากฏการณ์ธรรมชาติของป่าเปลี่ยนสีที่สวยงามน่าชมยิ่ง โดยเฉพาะที่ภูหลังกงเกวียน จุดที่มองเห็นภูหลังกงเกวียนได้ชัดเจนที่สุดคือ บริเวณ กม.ที่ 61 บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12
   เส้นทางศึกษาธรรมชาติ อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวได้จัดทำทางเดินเท้าสำหรับเที่ยวชมธรรมชาติในป่าไว้หลายสาย เพื่อให้นักท่องเที่ยวผู้ชอบเดินป่าสามารถชมธรรมชาติได้ทั่วถึง ก่อนการเดินศึกษาธรรมชาติต้องแจ้งเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทราบก่อน ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเอง ดังนี้
   เส้นทางเดินสายที่ 1 เป็นระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร เริ่มต้นจากทางแยกใกล้ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ระหว่างทางจะได้เห็นสัตว์ป่าบางชนิด ได้แก่ หมาไม้ และนกชนิดต่างๆ โดยเฉพาะในฤดูฝนจะพบรอยช้างจำนวนมาก เส้นทางนี้วนกลับออกมาสู่บริเวณทางเข้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติ
   เส้นทางเดินสายที่ 2 เริ่มจากทางเดินตรงข้ามที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ลัดเลาะผ่านป่าเต็งรัง ผ่านบ่อดินโป่งซึ่งมีช้าง กวาง และสัตว์อื่นๆ ไปกินอยู่เสมอ ทางสายนี้จะไปสิ้นสุดที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ นน.4 (ซำบอน) รวมระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร และถ้าเดินกลับที่พักต้องเดินต่ออีกประมาณ 5 กิโลเมตร หากต้องการเดินชมธรรมชาติต่อ สามารถใช้เส้นทางเดินเท้าอันราบเรียบที่ทางอุทยานแห่งชาติจัดไว้ โดยเริ่มต้นจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ เส้นทางนี้ผ่านใจกลางอุทยานแห่งชาติ สุดทางจะเป็นจุดเด่นอยู่ท่ามกลางสวนสน เมื่อขึ้นไปยืนอยู่บนเนินภูกุ่มข้าวจะเห็นยอดสนในบริเวณสวนสนอยู่ในระดับสายตาเป็นแนวติดต่อกันเป็นพืดทั้งสี่ทิศ มองดูแล้วคล้ายๆ กับท้องทะเลยอดสนก็มิปาน และระหว่างทางเดินก็อาจจะได้พบสัตว์ป่า เช่น ช้างป่า กวางป่า เก้ง อีกด้วย ระยะทางจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติถึงสวนสนประมาณ 12 กิโลเมตร
   เส้นทางที่ 3 จุดเริ่มต้นอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปประมาณ 800 เมตร เป็นทางเข้าชมป่าสน หรือภาษาพื้นเมืองเรียกว่า ป่าแปก ทางสายนี้นักท่องเที่ยวจะได้ชมไม้สนขึ้นเรียงรายอยู่เป็นระยะๆ และอาจจะได้พบช้างป่า กวางป่า เก้ง รวมทั้งรอยเท้าเสือด้วย
   นอกจากนี้ อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวยังมีเส้นทางเดินป่าระยะไกลอีก 3 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางพิชิตยอดภูผาจิต ระยะทางไป-กลับ ประมาณ 15 กิโลเมตร เส้นทางเที่ยวถ้ำห้วยประหลาด ระยะทางไป-กลับ ประมาณ 15 กิโลเมตร และ เส้นทางเที่ยวป่าผาล้อม-ผากลอง ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร
ที่พัก-บริการ
   มีบ้านพักให้บริการแก่นักท่องเที่ยว, สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์, ร้านอาหาร, ร้านขายของที่ระลึก,
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
การเดินทาง
   รถยนต์ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว อยู่ห่างจากตัวเมืองขอนแก่น 103 กิโลเมตร อยู่ห่างจากอำเภอหล่มสักประมาณ 55 กิโลเมตร เดินทางโดยรถยนต์ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ถึง หลักกิโลเมตรที่ 50 มีป้ายชี้ทางเข้าสู่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ถ้าไปโดยรถประจำทางสามารถขึ้นรถโดยสายจากขอนแก่นหรือหล่มสัก ซึ่งผ่านหน้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติทุกวัน
สถานที่ติดต่อ
   อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ 67260 โทรศัพท์ 0 5672 9002

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 31234เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2006 11:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท