บางทีชาติหน้า.. ก็มาถึงก่อนวันพรุ่งนี้..


เมื่อปลายฝนผ่านพ้นไป  ความหนาวเย็นก็เริ่มเข้ามาเยือน เมืองเล็กๆแห่งนี้ เริ่มมีหมอกเบาบางในยามเช้า  อากาศกำลังเย็นสบาย   ทางสังฆะของโรงพยาบาลเริ่มต้นเดือนพฤศจิกายนด้วยการจัดภาวนาที่ทำเป็นประจำทุกเดือนในตอนค่ำๆ   และนิมนต์พระอาจารย์จากแดนไกลทางอีสาน  ที่ได้มาเยือนเมืองสามหมอกเป็นครั้งแรกของท่าน พระมหากีรติ ธีรปัญโญจากวัดป่าบุญล้อม  จังหวัดอุบลราชธานี

ด้วยความโชคดีของทางสังฆะเราที่ได้รู้จักกับแม่ครูและอาจารย์พิทักษ์  ซึ่งเป็นผู้ช่วยแนะนำและแจ้งข่าวการมาของท่านให้รับทราบ  และพระอาจารย์มาจำวัดที่วัดบ้านใหม่ซึ่งอยู่ใกล้ๆ  สนามบินและอยู๋ใกล้ๆโรงพยาบาลนี่เอง  แถมท่านก็พอจะมีเวลาให้ทางสังฆะในการนิมนต์ท่าน มานำภาวนาและแสดงธรรมในยามค่ำของวันที่ 5 พฤศจิกายน  ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังเทศกาลงานลอยกระทง  และพระจันทร์ยังส่องสว่างเต็มดวง  ทางสังฆะจึงจัดให้มีการภาวนาขึ้นที่ลานหน้าหลวงพ่อขาว   และมีการจุดเทียนโดยรอบฐานของพระพุทธรูป  ซึ่งเป็นภาพที่งดงามมากทีเดียว

ก่อนหน้านี้ข้าพเจ้าพูดเล่นๆ กับกัลยาณมิตรว่า  ข้าพเจ้ากำลังเดินทางทวนกระแสกลับมายังเถรวาท   เพราะเมื่อต้นเดือนตุลาคม  ข้าพเจ้าไปภาวนากับพระลามะชาวธิเบตแบบพุทธวัชรยาน    มากลางเดือนตุลาคมก็ภาวนาตามแนวทางเซนมหายานแบบหมู่บ้านพลัมกับหลวงพี่พิทยา   จากนี้ก็เป็นช่วงเวลาของการเข้าสู่แนวทางภาวนากับเถรวาท   โดยข้าพเจ้าตั้งใจไปฝึกภาวนาแบบเข้มข้นที่เมืองปายกับหลวงพ่อธี  ในช่วงต้นเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้  และเป็นความตั้งใจอย่างมากที่จะฝึกเข้มเป็นเวลา  7 วัน  7 คืน  เลยทีเดียว

แต่ด้วยเหตุและปัจจัยอันดีมาก ทางสังฆะเราก็มีโอกาสได้พบกับครูบาอาจารย์สายเถรวาท  จากเมืองอุบลราชธานี ที่บังเอิญเดินทางมาเมืองนี้   และท่านคือลูกศิษย์ของท่านชยสาโร  แห่งวัดป่านานาชาติ  ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อชาที่หลายๆคนรู้จักดี  นามท่านคือพระมหากีรติ  ธีรปัญโญ   

การมาของพระอาจารย์กีรติได้เปิดมุมมองอีกด้านหนึ่งของเราทั้งหลาย ให้ได้รับทราบว่า  พุทธศาสนาในบ้านเมืองเรากำลังดำเนินไปอย่างไร   อีกทั้งความเป็นมาของพระอาจารย์นั้นก็เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจยิ่ง  เพราะแต่เดิมทีท่านเป็นหมอ  จบแพทย์เฉพาะทางจากอเมริกา  แถมเรียนต่อเฉพาะทางด้านโรคต่อมไร้ท่อเด็ก  มีความรู้ความก้าวหน้าในอาชีพการงานทางโลกไม่น้อย  แต่ปัจจุบันท่านกลับมาเป็นเพียงพระรูปหนึ่ง  ที่มีวิถีแบบเถรวาท และเคร่งในวัตรปฎิบัติ  และดูเหมือนประสงค์ที่จะบวชตลอดชีวิต

ข้าพเจ้าได้รับทราบมาว่า  ผู้ที่ยังติดข้องในทางโลกต่างออกอาการเสียดาย ความรู้ทั้งหลายของท่านในด้านการแพทย์  แถมออกปากว่า ถ้าท่านยังเป็นหมออยู่  ท่านจะช่วยคนไข้ได้เยอะทีเดียว  เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ท่านออกบวช 

แต่แกนนำสังฆะมาเล่าให้ฟังทีหลังว่า   พระอาจารย์กีรติกล่าวว่า  ในเมืองไทยมีหมอเก่งๆ อยู่มากมายแล้ว  แต่การรักษาแก้ไขโรคภัยต่างๆนั้น บางส่วนคือการแก้ที่ปลายเหตุ  ทว่าหมอด้านจิตใจด้านจิตวิญญานมีไม่กี่คน  และหายากเหลือเกินในปัจจุบัน  นั่นคือเหตุผลหนึ่งในการออกบวชของท่าน

 

ในช่วงค่ำของวันนั้น อากาศกำลังเย็นสบายๆ  เบื้องหน้าหลวงพ่อขาว  เราทั้งหลายได้สวดมนต์ทำวัตรเย็นแบบเถรวาท เป็นการสวดมนต์ที่ยาวนานมาก  และข้าพเจ้าเองก็ไม่คุ้นเคยในการปฎิบัติเช่นนี้นัก  แถมรู้สึกประหลาดใจที่ครั้งหนึ่งผู้ที่เคยเป็นหมอระดับผู้เชี่ยวชาญ  กำลังเป็นผู้นำการสวดมนต์ด้วยภาษาบาลีพร้อมคำแปล อยู่  งานการนี้บรรดาผู้เป็นหมอส่วนใหญ่ไม่เคยทำและอาจจะไม่คิดที่จะทำเลยด้วยซ้ำ   และข้าพเจ้าก็สังเกตตัวเองว่า  ในการสวดมนต์วันนั้น ถ้ากายและจิตข้าพเจ้าไม่ดำรงอยู่ตรงนั้น ข้าพเจ้าก็จะเริ่มสวดผิด แม้จะดูบทสวดจากหนังสือสวดมนต์อยู่ก็ตาม 

ในวิถีของการเป็นหมอ  ข้าพเจ้าพบว่าหมอรุ่นใหม่  ห่างไกลพุทธศาสนามาก ข้าพเจ้าเคยถามหมอจบใหม่ที่มาทำงานที่นี่ว่า นับถือศาสนาอะไร  พวกเขาต่างบอกว่าถือพุทธ แต่เมื่อถามลึกๆ ลงไป  แม้แต่พุทธประวัติเขาก็ไม่รู้  พอถามว่าพ่อแม่พระพุทธเจ้าชื่ออะไร  (ถามด้วยภาษาแบบโลกๆ นี่แหละ) เขาก็ไม่รู้  พวกเขาไม่รู้จักพระสารีบุตร  ไม่รู้จักองคุลีมาล  แถมไม่รู้จักท่านพุทธทาส   ไม่รู้จักหลวงพ่อชา  แม้กระทั่งท่าน ว.วชิรเมธี   พวกเขาก็ไม่รู้จักกัน

เมื่อถามเข้ามาใกล้อีกหน่อยว่า  รู้จักพระราชบิดาไหม๊  พวกเขาตอบว่ารู้จัก  เป็นบิดาแห่งวงการแพทย์ไทย  แต่พอถามว่าแล้วท่านเป็นใคร  มีลูกหลานเป็นใคร น้องหมอจบใหม่ที่นี่  หลายคนไม่รู้จักด้วยซ้ำว่า  พระราชบิดามีความเกี่ยวพันอะไรกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา  และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสมเด็จย่าคือใคร และมีความเกี่ยวพันอะไรกับพระราชบิดา  โรงพยาบาลที่ข้าพเจ้าทำงานอยู่  ได้รับพระราชทานนามว่า  “ ศรีสังวาลย์ “ แต่น้องๆ ก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า  ชื่อนี้มีคุณค่าอะไรในการทำงานอยู่ที่นี่  และประวัติความเป็นมาของที่นี่โรงพยาบาลนี้คืออะไร

 

หมอยุคใหม่ ที่ข้าพเจ้าพานพบ   บางส่วนเลิกสนใจในรากเหง้าของตนเอง  ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์อันล้ำยุคทำให้เขาต้องเรียนรู้มากมาย แต่เขาไม่ได้เรียนรู้สิ่งสำคัญที่สุดอันหนึ่ง  ก็คือรากเหง้าและความเป็นมาของบรรพบุรุษ   จึงไม่ต้องแปลกใจถ้าพวกเขาไม่ภูมิใจในอาชีพ  ไม่เข้าใจในวิถีชีวิตแบบไทยๆ และเป็นคนที่รู้จักศาสนาของตนแต่เพียงเปลือกนอกเท่านั้น 

ในวิถีแห่งหมู่บ้านพลัม  ตอนที่หลวงพี่พิทยามานำภาวนาที่นี่ ในช่วงที่มีการกราบสัมผัสพื้นดิน  พวกเราหลายๆคน มีความซาบซึ้งใจมาก จนถึงกับร้องไห้ออกมาเลยทีเดียว  หลวงพี่กล่าวว่าไม่ว่าเราจะอยู่ในเชื้อชาติใด  ศาสนาอะไร  เราควรจะรู้จักเรียนรู้เพื่อกลับสู่รากเหง้าของตนเองและบรรพบุรุษ  เพื่อจะได้เข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงทุกๆสิ่ง ในผืนแผ่นดินตน เราควรกลับมาสู่รากเหง้าของแผ่นดินเกิด 

เมื่อไม่นานมานี้ หลังจากพูดคุยและซักถามหมอๆ จบใหม่ทั้งหลายแถวๆ นี้ ข้าพเจ้าก็พบว่า พวกเขาไม่รู้จักเรื่องราวพื้นๆ  และธรรมดาๆ ที่เป็นพื้นฐานของการใช้ชีวิตและการดำรงอยู่กับคนอื่นๆ   ชีวิตพวกเขาสับสนและอยู่ไปวันๆ  กับการงานของตนเอง วิ่งไปข้างหน้าและไม่เข้าใจในคุณค่าของพุทธศานา  การภาวนายังเป็นเรื่องที่ห่างไกลจากพวกเขามาก  และอาจจะไม่สามารถเข้าถึงได้เลย แม้พวกเขาจะเรียนจบและกลายเป็นแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ และสุดท้ายออกจากราชการไปเมื่อถึงวัยชรา   ศาสนาพุทธก็คงยังเป็นสิ่งไกลตัวอยู่นั่นเอง   พวกเขาอาจจะไปวัดทำบุญทำกุศลต่างๆ  แต่ก็ไม่สามารถเข้าใจได้ว่า การภาวนาและการน้อมนำคำสอนของพระพุทธองค์มาปฎิบัติจะก่อเกิดประโยชน์แก่ชีวิตอย่างไร   ข้าพเจ้าก็เคยเป็็นเช่นนั้น  และเสียเวลาไปเกือบครึ่งชีวิตกับเรื่องโลกๆ  และก็ยังคงมีคนมากมายที่รายรอบยอมเสียเวลาไปเรื่อยๆ ในการวิ่งไปกับโลก

ในค่ำวันนั้น พระอาจารย์กีรตินำสวดมนต์ ทำวัตรเย็น แล้วสอนนั่งสมาธิหน้าหลวงพ่อขาว  หลังจากนั้นก็มีธรรมบรรยาย  มีเรื่องเล่าอันน่าสนใจมากมายของท่าน  โดยเฉพาะเกี่ยวกับวิถีของชาวพุทธในสยามประเทศ เทียบกับวิถีชาวพุทธแบบชาวตะวันตก

ท่านบอกเล่าถึงการเดินทางไปทอดกฐินที่ประเทศบังคลาเทศ  กับท่านชยสาโร และได้พบเห็นชาวพุทธที่มาร่วมพิธีหลายหมื่นคน  ประเทศนี้ประชากรส่วนใหญ่นับถืออิสลาม  มีชาวพุทธอยู่ไม่มากนัก ด้วยความที่เป็นประเทศอิสลาม การจะมีพระพุทธรูปอันเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าไว้กราบไหว้นั้น ใช่จะมีกันได้ง่ายๆ   ผิดกับเมืองสยามเราที่มีพระ  มีวัดวาอาราม  มีพระพุทธรูปอยู่มากมายให้ระลึกถึงพระพุทธองค์   แต่ชาวสยามทั้งหลายยังคงสนใจอยู่แต่เปลือกของพระพุทธศาสนาเท่านั้น

ท่านกล่าวถึงคำปรารภของหลวงพ่อชาว่า   พุทธศาสนา ที่มีในบ้านเรานั้น เหมือนการเลี้ยงไก่  เราเป็นคนเลี้ยงไก่  ชาวตะวันตกมาเอาไข่ไก่ไปกิน   แต่ชาวเรานั้นกลับชอบกินขี้ไก่ แทน

ท่านว่าชาวตะวันตกสนใจการภาวนาและเอาจริงเอาจังมาก  เขาอาจจะไม่ค่อยเน้นเรื่องการทำบุญ แต่เน้นเรื่องการปฎิบัติมาก  บางคนถึงขนาดกะบรรลุธรรมให้ได้ เอาจริงเอาจังมาก   ท่านเลยพูดติดตลกว่า  ถึงขนาดไม่บรรลุก็บรรลัยไปเลยงานนี้ 

ท่านว่าพิธีกรรมต่างๆที่มีอยู่ในบ้านเมืองเรานั้น ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องไม่ดี ไม่สำคัญ แต่เราควรจะรู้จักเข้าใจว่าเป้าหมายของพิธีกรรมนั้นคืออะไร  มีความสำคัญอย่างไร  มุ่งหมายอย่างไร ไม่ใช่สักแต่ว่าทำตามๆ กันไป การมีเปลือกไม้ก็มีประโยชน์อยู่หลายประการ  แต่แก่นของไม้นั้น ชาวพุทธบ้านเราส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง  ติดอยู่ที่เปลือกไม้นั่นเอง  จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายยิ่ง

ท่านว่าการได้เกิดมาเป็นคน  แถมเกิดมาไม่พิการหูหนวกตาบอด และได้เกิดมาในช่วงที่มีพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  แถมได้เกิดในดินแดนพระพุทธศาสนา เช่นเมืองไทย    ถือว่าเป็นสิ่งหายากยิ่งแล้ว 

มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจก็คือ  ในขณะที่ท่านเป็นฆราวาส และเป็นหมอคนไทยคนเดียวในสาขานั้นที่ไปเรียนที่อเมริกา  ท่านเล่าว่า ในวันหนึ่งมีการสอนข้างเตียงผู้ป่วย  แพทย์ฝึกหัดต้องรู้เรื่องราวเกี่ยวกับคนไข้ที่กำลังศึกษาอยู่  เพราะอาจารย์หมอจะถามความรู้ต่างๆ    วันนั้นท่านจึงไปแต่เช้า และศึกษาเรื่องราวการเจ็บป่วยของคนไข้อย่างละเอียดละออ แถมเตรียมตัวอย่างดีที่จะตอบคำถามของอาจารย์  ดูเหมือนว่าอาจารย์ชาวฝรั่งท่านนี้เป็นคนที่เ่ก่งมากและมีภูมิความรู้สูงยิ่งในระดับที่มีชื่อเสียงทีเดียว   พระอาจารย์กีรติยืนอยู่เป็นคนท้ายๆ  ในขณะที่เพื่อนแพทย์นานาชาติตอบคำถามอาจารย์ไปเรื่อยๆ  สุดท้ายก็มาถึงตาท่านตอบ  อาจารย์หมอชาวฝรั่งถามว่า

“ เธอมาจากไหน “

ท่านตอบว่า “ มาจากเมืองไทย “

อาจารย์ถามต่อว่า “ เธอเป็นชาวพุทธ ใช่ไหม๊ “

ท่านตอบว่า  “ ใช่  ผมเป็นชาวพุทธ “

อาจารย์หมอชาวฝรั่งท่านนี้จึงถามทันทีว่า

 “ งั้นบอกฉันหน่อยได้ไหม๊ว่า  นิพพาน คืออะไร “

 

ท่านกล่าวว่า  ในโลกตะวันตกอาจจะมีสิ่งที่พวกเขารู้มากมาย  แต่มีอีกหลายๆสิ่งที่พวกเขาอยากจะรู้    ท่านบอกว่า แม้ทางตะวันตกจะมีความเจริญก้าวหน้ามากมาย ทางวัตถุและเทคโนโลยี แต่ความทุกข์ไม่เคยลดน้อยลงไปเลย  กลับเพิ่มพูนมากขึ้นเรื่อยๆ   ในภายหลัง เมื่อท่านบวชเป็นพระและเป็นพระธรรมทูตอยู่ที่นั่น ท่านเล่าว่า  มีคนไข้คนหนึ่งป่วย   รักษาด้วยยาอะไรๆ ก็ไม่ดีขึ้น  สุดท้ายหมอที่นั้นเขียนในใบสั่งยาว่า  ให้ไป Meditation  เพื่อรักษา       การ meditation กลายเป็นส่วนหนึ่งในใบสั่งยาของแพทย์ที่นั่นไป  ….

 

ในช่วงถามตอบก็มีประเด็นที่น่าสนใจอีกเช่นกัน   มีคนกล่าวถามถึง เรื่องนิพพาน  กล่าวถึง 31 ภพภูมิ   พระอาจารย์ก็บอกเล่าถึงเรื่องนี้  ตอนนั้นข้าพเจ้าคิดเห็นในใจว่า การที่คนผู้หนึ่งซึ่งเรียนรู้เรื่องราววิทยาศาสตร์มามากมาย กำลังอธิบายเรื่องราวใน 31 ภพภูมิก็ไม่ใช่สิ่งที่จะพบเจอได้ง่ายๆ เช่นกัน  เพราะในบรรดาหมอๆ ทั้งหลายนั้น  พอกล่าวถึงเรื่องนี้  หลายคนอาจหัวเราะจนฟันหัก เพราะสิ่งที่พวกเขาชื่อถือคือสิ่งที่จับต้องมองเห็นได้เท่านั้น   หมอส่วนใหญ่ไม่มีความเชื่อเรื่องของโลกนี้โลกหน้า  พวกเขาเชื่อเรื่องของสมองและกายภาพที่จับต้องได้ และต้องพิสูจน์ได้ในทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น   การที่พูดถึงเรื่องเทวดา พรหมโลก  เปรต  สัตว์นรกอะไรต่างๆ  กลายเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระไปแล้วในความคิดเห็นของพวกเขา

ในช่วงท้ายๆ อาจารย์พิทักษ์ก็ช่วยตั้งคำถามที่ใครต่อใครอยากรู้กัน  คือคำถามที่ว่า  การที่ท่านอาจารย์มีความรู้ในทางโลกมากมาย และเป็นหมอด้วย  แต่กลับมาบวชเป็นพระ  ท่านไม่เสียดายความรู้ทั้งหลายเหล่านั้นหรือ ?

ท่านจึงเล่าว่า  ตอนเด็กๆ อาตมาใฝ่รู้ชอบอ่านหนังสือมาก  และอ่านทุกอย่างที่สนใจ  เมื่อมาเรียนหมอก็สนใจทุกอย่างในสาขาอาชีพ นี้  ตอนอยู่อเมริกาก็ชอบไปฟังนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายมาพูดมาบรรยาย  บางคนเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลด้วยซ้ำ   แต่สุดท้ายของการพูดบรรยายนั้น พวกเขามักจะพูดว่า  นี่คือสิ่งที่เรารู้บางส่วน ยังมีอีกหลายๆสิ่งที่เรายังไม่รู้   ตอนนั้นท่านคิดเห็นในใจว่า ดูเหมือนสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายรู้นั้น ไม่มีที่สิ้นสุดเอาเสียเลย และยังคงต้องแสวงหาอยู่เรื่อยไป   more and more   ไม่เหมือนความรู้ของพระพุทธองค์ 

ความรู้ต่างๆ ในทางโลกนั้น ไม่ได้มีประโยชน์อันใดในชีวิตเลย  มีแต่รู้มากก็ทุกข์มาก  ของบางอย่างถ้ารู้แล้วยิ่งทุกข์ก็อย่าไปรู้เลยจะดีกว่าท่านว่างั้น  ท่านจึงไม่รู้สึกเสียดมเสียดายอะไรเลย  แต่จะเสียดายมากกว่าถ้าได้เกิดมาเป็นคน แต่ไม่ได้เรียนรู้ในพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์  เพราะถ้าเป็นดังนั้นคงจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากที่สุดในชีวิต …

 

ในค่ำวันนั้นข้าพเจ้าจึงถามท่านถึงเรื่องคนที่ไม่ยอมภาวนา  และเห็นว่าการภาวนาเป็นเรื่องของคนแก่  คนกำลังจะตาย   หรือไม่ก็กำลังมีทุกข์เท่านั้น แถมบางคนคิดเห็นไปว่า การนั่งสมาธิจะทำให้ตนเองกลายเป็นคนบ้าได้    พระอาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไร

 ท่านตอบว่า  เราควรเข้าใจคำว่า  "การภาวนา "ให้ถูกต้อง  การภาวนาไม่ได้หมายถึงการนั่งสมาธิ แต่อย่างเดียว  แต่หมายถึงการรู้ตัวอยู่เสมอในการทำสิ่งต่างๆ   สมัยก่อนมีคำว่า สิกขา  ซึ่งเราเอามาใช้ว่าศึกษา  ท่านกล่าวว่า ในสมัยก่อนการศึกษาอยู่ในวัด แต่หลังๆ เราไปแยกวัดออกจากการศึกษา  เพราะเอาตามฝรั่ง   ปัจจุบันเราก็เจอปัญหาว่า คนมีการศึกษาแต่ไม่มีคุณธรรมได้ก่อเรื่องขึ้นมากมาย   จนต้องมีคำว่า “ความรู้คู่คุณธรรม” เกิดขึ้น   แต่ดูเหมือนว่าก็ยังแก้อะไรไม่ได้ และปัจจุบันก็เปลี่ยนมาเป็น  “คุณธรรมนำความรู้  “  ไปแล้ว   การภาวนาคือการฝึกฝนตนเอง  คือการพัฒนาตนเอง ไม่ใช่เรื่องอะไรที่ไหน  ถ้าจะรอให้มาภาวนาตอนแก่  จะนั้งก็โอย จะลุกก็โอย แล้วจะทำอย่างไร กัน  รอให้ไม่สบายเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายแล้วจะทำอย่างไรเล่า  ตอนนั้นก็ทุกข์อย่างมากอยู่แล้ว จะมีกำลังทำอะไรได้  คนที่คิดเห็นแบบนั้น และไม่สนใจภาวนาเลย คือคนที่ตั้งอยู่ในความประมาทอย่างมากทีเดียว  เพราะทุกอย่างไม่เคยมีอะไรแน่นอน   ถ้ามัวแต่ผลัดวันประกันพรุ่งไม่ยอมภาวนา.... บางทีชาติหน้าของเรา อาจจะมาถึงก่อนวันพรุ่งนี้  นะ … ( เพราะเราอาจจะตายลงเสียก่อนในวันนี้  จึงไม่มีโอกาสพบเจอวันพรุ่งนี้อีกต่อไป  )

และเมื่อข้าพเจ้ากล่าวถามว่า  ในวิถีของผู้ภาวนาก็มีความอยากจะก้าวหน้า อยากจะบรรลุธรรมขั้นนั้นขั้นนี้  และเป็นทุกข์ว่าตนเองจะไปไม่ถึงไหน    พระอาจารย์มีข้อแนะนำหรือไม่   ท่านกล่าวว่า การภาวนาคือการสละ การละทิ้งสิ่งต่างๆไป  เราไม่ได้มาภาวนาเพื่อจะได้อะไรหรือจะเอาอะไร  ถ้าเราเริ่มต้นด้วยความอยากก็เริ่มต้นผิดทางแล้ว เพราะอันที่จริงไม่ควรมีผู้ที่อยาก เพราะไม่มีอะไรเป็นตัวตนที่แท้จริง  ทุกอย่างเป็นอนัตตา

   เราจะก้าวหน้าหรือไม่ ไม่ต้องไปถามใคร ให้ดูที่จิตที่ใจเราว่า   ใจเราเบิกบานหรือไม่  จิตอกุศลมีลดน้อยถอยลงไหม๊   ถ้าใจเราเป็นกุศลมากขึ้น  สร้างความทุกข์ความเบียดเบียนให้คนอื่นๆน้อยลง  ก็แสดงว่ามาถูกทาง  ในการภาวนาเราควรสนใจในปัจจุบัน ไม่ควรมุ่งหวังผลมาก  ให้ขยันสร้างเหตุ และให้สนใจเป้าหมายน้อยลง    จากสิ่งที่ท่านกล่าวสอนนั้น  ดูเหมือนว่า ถ้าเราละทิ้งสิ่งต่างๆได้มากเท่าไหร่  เป้าหมาย ก็จะมาถึงเร็วเท่านั้น  . 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #เถรวาท
หมายเลขบันทึก: 311884เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2009 15:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (23)

สวัสดีค่ะ

แวะมาเยี่ยมชม

ยินดีที่ได้รู้จักนะคะ

ขอบคุณค่ะ^^

สวัสดีค่ะน้องต้นเฟิร์น

ยินดีที่รู้จักค่ะ  และขอบคุณที่แวะมา เยี่ยมชม blog.นี้นะคะ

"ให้ขยันสร้างเหตุ และให้สนใจเป้าหมายน้อยลง" ตอนนี้ เราเข้าใจการขยันสร้างเหตุมากขึ้นเรื่อยๆ ค่ะพี่ยา แต่สนใจเป้าหมายน้อยลงนี่ ยากจริงๆ คนเรานี่โลภะ โทสะ โมหะ มากเหลือเกิน

ดีจังค่ะที่มีตัวอย่างที่เห็นได้จับต้องได้ ให้ ฆราวาสที่มัวเมาในสังสารวัฏอย่างเรา ได้มีจุดที่มาย้อนคิดถึงตัวตนอีกครั้ง และมีความเพียรลดอัตตาตัวตนต่อไป สำหรับผู้ที่ไม่ได้ตระหนักอาจมีอะไรสะกิดใจเขาบ้างก็ยังดี

ปฏิบัติบูชา คือสุดยอดแห่งการบูชา สัมมาสติ คือ ยอดแห่งสติ สัมมาสมาธิ คือ ยอดแห่งสมาธิ สัมมาปัญญา คือ ยอดแห่งปัญญา อริยะสัจจะ 4 ประการ คือ ยอดแห่งความจริง ยอดแห่งความรู้ พวกเราชาวพุทธ คือ ยอดแห่งมวลมนุษย์ที่ได้มาพบ ได้มายิน ได้มายล และได้มาปฏิบัติ ขอให้มีกำลังอันเข้มแข็งถึงพร้อมด้วยบารมี 10 ประการ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายอันงดงามของมวลชาวพุทธด้วยเทอญ ขออนุโมทนา สาธุ และขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านได้ห่างไกลออกจากความเศร้าหมองทั้งปวง ปราศจากอาสวะทั้งปวงด้วยเทอญ

หลานคนหนึ่งแห่งตระกูลแก่นแก้ว

ขอบคุณจ้าพี่ยา ที่เขียนอะไรดีๆมาให้อ่านเสมอๆ นิดเพิ่งกลับจากไปแสวงบุญที่อินเดีย ไปสักการะสังเวชนียสถานมา เพิ่มศรัทธามาเต็มเปี่ยมเลย ขออนุญาตเอาบลอกพี่ไปเผยแพร่ต่อเน้อ ขอบคุณล่วงหน้าเลยละกันค่า

ขอขอบคุณหมอนิดที่นำพาเรามาพบกัน...สาธุๆๆ...เราจะก้าวหน้าหรือไม่ ไม่ต้องไปถามใคร ให้ดูที่จิตที่ใจเราว่า   ใจเราเบิกบานหรือไม่  จิตอกุศลมีลดน้อยถอยลงไหม๊   ถ้าใจเราเป็นกุศลมากขึ้น  สร้างความทุกข์ความเบียดเบียนให้คนอื่นๆน้อยลง  ก็แสดงว่ามาถูกทาง ...

 

สาธุครับ

ขออนุโมทนาบุญด้วยนะครับ

สวัสดีค่ะคุณจตุภพ

ขอบคุณที่แวะมาแลกเปลี่ยนและแบ่งปันด้วยกันค่ะ

 

 

สวัสดีค่ะKead

ยินดีที่ได้รู้จักค่ะ  และขอบคุณมากที่แวะมาเยี่ยมเยือนที่ Blog. นี้

 

และขอบคุณ  คุณสามารถค่ะที่แวะมาเยี่ยมเยือนกัน ..

 

 

หมอนิด

เอารูปและเรื่องราว การไปเยือนสังเวชนียสถานมาแบ่งปันด้วยจ้า  อยากไปมากแต่ยังไม่มีโอกาสได้ไปเสียที 

 

น้องวี

ค่ำวันนั้น  ท่ามกลางสนามหญ้าหน้าหลวงพ่อขาว  คนเป็นร้อยทีเดียว  เบาะที่นั่งไม่พอ  จนคนที่มาช่วงหลังๆ ต้องนั่งกลางสนามหญ้า   ตอนนี้ถ้าเราจัดภาวนา  จะมีคนสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ  เราต่างดีใจที่สามารถทำให้ผู้คนทั้งหลายกลับมาสนใจการภาวนามากขึ้น    การมีสังฆะทำให้เรามีกลุ่ม  มีกัลยาณมิตร  และได้รู้จักผู้คนที่สนใจการภาวนาในเมืองนี้มากขึ้นด้วย   เป็นเรื่องที่ดีค่ะ

 

อะพี่ยาเอารูปพุทธคยาเลยจ้า

สาธุๆ อนุโมทนาบุญกับกลุ่มสังฆะด้วยค่ะ ขอให้กองทัพธรรมแตกกิ่งก้านสาขาไปทั่วทุกมุมโลก

พี่ยาคะปีหน้าเราไปกันมั่งให้พี่นิดเป็นผู้นำทัพดีมั๊ยคะ ^_^

สาธุกับกิจกรรมของสังฆะนะครับ

การปฏิบัติอาจมีหลายสาย แต่ถ้าตรงตามหลักแล้วย่อมถึงยอดเดียวกัน

ในส่วนตัว พบก็เลือกศึกษาทั้งเถรวาท มหายาน วัชรยาน แต่ภาวนาตามแนวเถรวาทที่เรียนมาจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์เป็นหลักครับ

ความรู้ที่เป็นไปเพื่อมีก็คือ อวิชชาดีดีนี่เอง

ความรู้ที่เป็นไปแค่รู้ กาย รู้ ใจ เป็นความรู้ที่นำไปสู่ปัญญา

อนุโมทนาสาธุครับ

สวัสดีครับ

จากที่คุณ sunny เคยกล่าวถึงหนังสือ แทบธุลีดิน

ผมได้สั่งหนังสือมาศึกษาเพิ่มเติมแล้วครับ

ขอบคุณมากนะครับ

ยินดีที่เห็นพี่้น้องยังคงมีการปฏิบัติร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ขอบคุณที่อยู่ตรงนั้น และทุกคนก็อยู่ตรงนี้กับหลวงพี่เสมอ ไม่ว่าทางไหน ถ้ามีเป้าหมายเดียวกัน คือสิ่งเดียวกัน อยู่กับตนแบบไม่มีตัวตน โลกที่ควรศึกษา แค่ กว้าง วา หนา คืบ และเมื่อใดจบการศึกษา เมื่อนั้นก็เป็นสิ่งล้ำค่าแ่ก่สรรพชีวิต

สวัสดีค่ะคุณ Phornphon

ดีใจที่สนใจหนังสือแทบธุลีดินค่ะ  ตัวเองนั้นอ่านแล้วรู้สึกทึ่งมากจริงๆ ในศรัทธาอันแก่กล้าของอาจารย์กฤษดาวรรณ

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีโอกาสไปประชุมที่ กทม. ได้ไปฟังธรรมะบรรยายของพระอาจารย์ปราโมทย์ที่ศาลาปันมี บ้านอารีย์ด้วยค่ะ ผู้คนเยอะมาก    ดูท่านผ่องใสและมีเมตตาจริงๆ  ^ - ^

นมัสการหลวงพี่ค่ะ

การภาวนาในชีวิตประจำวัน และมีการงานอันยุ่งวุ่นวาย  แถมมีการกระทบอารมณ์อยู่ตลอดเวลา  บางทียากลำบากจริงๆค่ะ   ตอนนี้ทางสังฆะก็พยายามจัดให้มีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อสืบเนื่องการปฎิบัติ  และพอถึงช่วงเวลาที่ยุ่งยากลำบากใจ  ตนเองก็พยายามกลับมาสู่ลมหายใจบ่อยครั้งขึ้น  " การอยู่กับตนแบบไม่มีตัวตน"   ช่างเกิดขึ้นได้ยากเหลือเกินในช่วงหลัง   บางครั้งเผลอบ่อยค่ะ  เผลอวิ่งไปกับสิ่งวุ่นวายภายนอก  แต่รู้สึกดีตรงที่เมื่อกลับมาสู่ลมหายใจและช้าลง  ก็เหมือนหลวงพี่อยู่ที่นี่กับพวกเราด้วย ขอบพระคุณหลวงพี่ที่มาเป็นระฆังแห่งสติให้พวกเราค่ะ ...   

น้องวี

เราเก็บตังค์  เพื่อหาโอกาสไปสังเวชนียสถานกันเถอะ  น่าจะเป็นสักครั้งในชีวิตที่จะได้ไปที่นั่นนะ  ว่าไหม๊ ?

อนุโมทนาบุญด้วยนะครับ

หลวงพ่อจะไปแสดงธรรมที่เชียงใหม่ในเดือนธันวาคมด้วยนะครับ

ดูรายละเอียดได้ที่ หลวงพ่อปราโมทย์แสดงธรรม

ปี 2554 มั๊ยคะพี่ยา จะได้สร้างเหตุ และปัจจัยไงคะ ^_^

ไม่น่าเชื่อว่า ผมเคยมาแสดงความคิดเห็นที่นี่ เมื่อ พฤศจิกายน 2552 และเมื่อเดือนมกราคม 2555 ที่ผ่านมา ผมได้รับหนังสือชื่อเดียวกัน หรือคล้าย ๆกัน จากพี่แป๋ว พรทิพา เวชชธรรม อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี ("บางทีชาติหน้า อาจมาถึงก่อนวันพรุงนี้" หมายถึง เราอาจต้องตายเสียก่อน ทั้ง ๆ ที่ยังไม่อยากตาย เลยไม่ได้ทำความดีที่ตั้งใจเอาไว้ว่า จะทำในวันพรุงนี้ ซึ่งผมก็เห็นด้วยนะว่า อย่ารอเลยวันพรุ่งนี้ เพราะมันไม่เคยมาถึงสักที สุดท้ายก็ได้แค่ตั้งใจ แต่ไม่ได้บุญ เพราะไม่ได้ทำ) ชีวิตเราก็แค่ยังมีลมหายใจอยู่เท่านั้นเอง หมดสิ้นลมหายใจ ก็หมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง ชีวิตนี้มีค่าเท่ากับศูนย์จริงๆ ครับ.....(ขอขอบคุณ "ชีวิตมีค่าเท่ากับศูนย์" วลีเด็ดของท่านอาจารย์สุรพล พิมพ์สาร ผู้ประสาทความรู้ให้แก่ลูกศิษย์คนนี้.....โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล พ.ศ.2526-2527)

ขอบคุณที่แบ่งปันเพื่อเป็นกำลังใจซึ่งกันและกันอยุโมทนาค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท